บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์-พระยาตรัง : กวีในประวัติศาสตร์

…ทั้งเมืองตรังและเมืองภูรา แต่เดิมมามีผู้รักษาเมือเมืองละคน ครั้นต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีบริรักษ์(นายจันมีชื่อมหาดเล็ก) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรังกับเมืองภูราเข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองตรังภูรา…

ข้อความในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ตอนนี้เป็นบันทึกย้อนหลัง กล่าวถึงผู้รักษาเมืองตรังชื่อพระภักดีบริรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจกันว่าเป็นผู้เดียวกับพระยาตรังที่เป็นกวี เรียกชื่อเป็น พระยาตรังคภูมาภิบาล พระยาตรังสีไหนบ้าง พระยาตรังสีจัน หรือจัน บ้างขระเมื่อปกครองเมืองตรังอยู่นั้น มีเหตุทำให้ต้องโทษถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ แต่ด้วยเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นเอกในเชิงกวี จึงได้รับราชการอยู่ในราชสำนัก และมีผลงานวรรณกรรมปรากฎต่อมา

งานวรรณกรรมของพระยาตรัง ได้แก่ โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย เข้าใจว่าแต่งเมื่อคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปตีเมืองทวายปี ๒๓๕๐ โคลงนิราศถลาง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า นิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ในคราวที่ตามเสด็จกรมหลวงพิทักษ์มนตรี กรมพระราชวังบวรฯ ไปทัพ โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑ ผลงานอื่นๆ คือโคลงกระทู้เบ็ดเตล็ดและรวบรวมโคลงกวีโบราณ ที่มิได้เป็นโคลง คือเพลงยาวนิราศว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง ซึ่งปัจจุบันไม่อาจหาต้นฉบับได้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวยกย่องพระยาตรังไว้ในหนังสือโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า

พระยาตรังนี้ เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในกรุงรัตนโกสินทร์ครหนึ่ง มีโคลงและกลอนที่พระยาตรังแต่ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ อยู่หลายเรื่อง สำนวนโคลงพระยาตรังเกล้า เป็นอย่างที่เรียกกันว่า โวหารกล้า ผิดกับกวีอื่นๆ…..สำนวนโคลงที่พระยาตรังแต่งควรนับว่าแต่งดีจริง จึงได้นับถือกันในหมู่กวีแต่ปางก่อน

ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนของเมืองตรังก็ก็เคยเล่าถึงพระยาตรังกวีว่า เมื่อเกิดเหตุภรรยาน้อยหนีไปกับชายชู้ ชายชู้ได้เขียนกลอนเยาะเย้ยไว้ที่หน้าประตูว่า ไม่ดีจริงเราไม่พานารีจร ข้ามห้วยข้ามสิงขรชะง่อนผา เมื่อพระยาตรังมาพบก็ให้โมโหเดือด เขียนกลอนซ้ำลงไปว่า ไม่เก่งจริงเราไม่พานารีกลับ จะเฆี่ยนพ่อเสียให้ยับลงกับหวาย ว่าแล้วก็จับชายชู้มาสำเร็จโทษเสียตามวาจาอันเป็นเหตุให้ต้องถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ นั่นเอง

หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทความเป็นผู้ปกครองเมืองของพระยาตรังแทบจะไม่ปรากฎ นอกจากในเอกสารข้างต้น แต่ในเชิงกวี พระยาตรังเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ในฐานะกวีเอกผู้หนึ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>