รู้จักไหมเอ่ย ลูกหยีทอง อีกหนึ่งของดีเมืองตรัง

ลูกหยีทอง ของดีเมืองตรัง

อีกหนึ่งพันธุ์ไม้พื้นเมืองดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และน่าสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

 

78053096_10220696197377693_3778515616302891008_o

ลูกหยีทอง

75604038_10220696198657725_434460530678169600_o

ลูกหยี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dialium cochinchinense)

ทางภาคใต้เรียก เขล็ง กาหยี หรือ บึ้ง ภาคอีสานเรียกเค็ง หรือนางดำ เป็นพืชท้องถิ่นในรัฐซาบะฮ์และรัฐซาราวัก พบในกัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย และเวียดนาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

ปัจจุบันอยู่ในสถานะไม้อนุรักษ์ เพราะกำลังใกล้สูญพันธุ์

ไม้ของต้นหยี เป็นแก่นไม้เนื้อแข็ง ที่มีระดับความแข็งมากที่สุด ในภาคใต้มีไม้เนื้อแข็งชื่อว่า “ไม้หลุมพอ” ซึ่งได้ชื่อว่าแข็งมากแล้ว แต่ยังแพ้ “ไม้หยี” หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่า “ไม้เค็ง”

คนสมัยก่อนนิยมนำไม้หยีไปทำเรือ เพลาเกวียน ล้อเกวียน ทำโครงสร้างบ้านหลังใหญ่ วงกบ ทำด้ามขวาน ค้อน มีด จอบ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนน้ำได้ดี ปัจจุบันนี้เหลือน้อยมาก

ใบรูปไข่คล้ายใบพิกุล ดอกสีขาว ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อ ผลออกเป็นพวง เมื่อดิบสีเขียว สุกแล้วเป็นสีดำ เนื้อสีน้ำตาล หวานอมเปรี้ยว เมล็ดสีน้ำตาล รูปร่างแบน ผลมีวิตามินซีสูง ไม่รับประทานสดแต่นิยมนำมาแปรรูป เช่น ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน ลูกหยีทรงเครื่อง
.
สำหรับลูกหยีที่เห็นในภาพนี้ เรียกว่า “ลูกหยีทอง” หรือ “ บึ้งยักษ์” เพราะผิวนอกเป็นกำมะหยี่ที่เหลือบสีน้ำตาลทอง มีขนาดใหญ่กว่าลูกหยีทั่วไป เป็นสายพันธุ์หายาก ที่ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยมา
.
ผลสดมีรสหวานออกเปรี้ยวเล็กน้อย หอมอร่อย มีเอกลักษณ์ เหมาะแก่การกินสดๆ ไม่ต้องแปรรูปเหมือนหยีพันธุ์อื่น
.
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ทางทีมงาน IamTrang.com ได้รับความกรุณาจาก คุณสลิล โตทับเที่ยง ส่งผลไม้หายากชนิดนี้จากเมืองตรังมาให้เราได้ลองชิม และชม พร้อมทั้งแนบข้อมูลความรู้มาครบครัน ทั้งในแง่พฤกษศาสตร์ และข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ความว่า…
.
“ผมได้ถามคนเฒ่าคนแก่ ชื่อ ตาแจ้ง ขวัญเมือง อายุ 100 ปี เล่าให้ฟังว่า
.
เมื่อ 70 ปีก่อน ไม้ชนิดนี้มีเยอะมากในพื้นที่ภาคใต้ของเรา แต่ช่วงที่บ้านเมืองกำลังพัฒนา มีการนำไม้หยีหรือไม้เขล็งนี้ มาทำสะพาน ไม้หมอนทางรถไฟ เพลาเกวียน ล้อเกวียน โครงสร้างบ้านหลังใหญ่ เรือ ด้ามค้อน และงานไม้อื่นๆที่ต้องการ เพราะเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็งที่สุด ทนน้ำที่สุด มาใช้จำนวนมาก
.
ช่วงปี ค.ศ. 1940-1943 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้ไม้จำนวนมาก สร้างทางรถไฟจากมาเลเซียไปสู่พม่า ไม้หยีถูกตัดไปใช้งานอย่างหนัก จนปัจจุบันเหลือน้อยแทบใกล้สูญพันธุ์ หากเปรียบเทียบกับไม้หลุมพอซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งเหมือนกัน ถือว่าไม้หลุมพอยังมีเหลือมากกว่าเพราะขึ้นอยู่ในเขตเทือกเขาบรรทัด ในขณะที่ไม้หยีนั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มมากกว่า เข้าถึงง่าย จึงถูกตัดไปใช้มากกว่าไม้หลุมพอ เพราะสะดวกต่อการชักลาก และแข็งกว่าไม้หลุมพอ จึงแทบไม่ค่อยเหลือไม้หยีให้เห็นในปัจจุบัน

.
อย่างไรก็ดี นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่มีผู้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่น คือ “กลุ่มลูกหยี ตำบลนาหมื่นศรี” (ที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง) ได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้”

การขยายพันธุ์

สามารถปลูกกับเมล็ด เพาะง่าย ถ้าปลูกแบบใส่ปุ๋ยดูแลเหมือนยางพารา ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ก็จะออกผล
.
ในการเพาะปลูก ไม่ควรใช้เฉพาะดินถุงสำเร็จรูป ควรใช้ ดินถุง 1 ส่วน ดินร่วน 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน
ในวัสดุปลูก ถ้ามีการผสมขี้เลื่อยจะได้ผลดีมาก เมื่อผสมดินแล้ว นำเมล็ดที่แช่น้ำไว้แล้ว 1 คืนมากลบดินบางๆ รดน้ำทุกเช้า ไม่นานก็จะงอก
.
รอจนต้นกล้วโตสูงประมาณเข่า ก็ค่อยนำไปปลูกลงดิน โดยเหมาะที่จะปลูกในช่วงหน้าฝน ถ้าเป็นหน้าแล้ง แนะนำให้เลี้ยงในถุงหรือกระถางเอาไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นบริเวณที่ดินมีความชื้นสูง มีน้ำเพียงพอตลอดปี สามารถนำปลูกลงดินได้ทุกฤดู

คุณ สลิล โตทับเที่ยง

ขอบพระคุณ คุณสลิล โตทับเที่ยง
ที่กรุณาส่งมาให้ IamTrang.com ได้ชม และชิม พร้อมความรู้ที่เป็นประโยชน์นะคะ

You may also like...