อาจารย์มารศรี ตรีรัตนพันธุ์

อาจารย์มารศรี ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบูรณะรำลึก

“คำว่าครู (ครุ) ก็คือ ‘หนัก’ อยู่แล้ว ต้องยอมรับประการแรก การเป็นครูเป็นงานหนักเพราะไม่ใช่ว่าเราให้วิชาความรู้อย่างเดียว เราต้องอบรมเขา เราต้องชี้แนะเขา และบางรั้งเราต้องทำหลายอย่างที่สวนกระแส เพราะปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามน่ากลัวทั้งสิ้น หมายถึงภัยมาถึงในห้องนอนของเด็กแล้ว ยกตัวอย่างการเล่นพนันในเกมคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นครูต้องมีความอดทน อดทนที่จะสร้างเขา แต่โดยปัจจุบันนี้เราก็เข้าใจ สังคมเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน และสังคมก็ให้ความสำคัญกับครูน้อยลง ทำให้หลายคนไม่อยากเป็นครูทั้งที่จบครูมา”

 

นี่คือคำพูดของอาจารย์มารศรี ตรีรัตนพันธ์ ผู้ที่มีอาชีพและจิตวิญญาณของครูอยู่เต็มเปี่ยม และยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบูรณะรำลึก ทำให้เข้าใจว่าทำไมสถานศึกษาแห่งนี้จึงติดอันดับยอดนิยมและมีชื่อเสียงอันดับต้นของจังหวัดตรัง ส่วนสำคัญคือผลิตทรัพยากรบุคคลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพออกสู่ภาคสังคม

“เราคิดว่าตราบใดที่เรายังมีกำลังที่จะทำเราก็ยังคงทำอยู่ เราก็ยังคงลุย แต่อาจจะลุยไม่ถึงตัวเด็กต่างจากอดีตเพราะตอนนั้นเด็กน้อยเราลุยได้ถึงตัว เราจูงมือมาได้ แต่เดี๋ยวนี้เด็กเยอะ เราไม่สามารถทำได้ทั่วแต่ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุดที่จะแก้เขา”

“ประการหนึ่งคือกฎระเบียบเราไม่เหมือนใคร ประการที่สองเราพยายามสร้างครูที่จะดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลานตัวเอง และเข้าไปช่วยเขาหรือว่าเปิดโอกาสให้เขามาพึ่ง หรือเป็นที่พึ่งของเขา ในปัจจุบันนี้หากเราดูในสังคมทุกสังคมไม่เฉพาะที่ตรังอย่างเดียว บ้านแตกเยอะ ถ้าเขาไม่มีที่พึ่งเขาก็หลุดแต่เราพยายามเข้าใจแต่ขณะเดียวกันเราก็พยายามผลักดันให้เขาสู้เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ในประเทศไทย ต้องผ่านการคัดกรอง ผ่านการสอบแล้วสอบเล่าหลายๆ อย่างแม้กระทั่งตั้งแต่เรื่องการเรียนมาจนถึงเรื่องการทำงาน ฉะนั้นเราพยายามให้โอกาสตรงนั้น และอีกอย่างหนึ่งภาพลักษณ์ที่เขาเห็นจากศิษย์เกล่าทำให้เขาคิดว่าสักวันหนึ่งเขาคงจะเป็นอย่างรุ่นพี่คนนั้นรุ่นพี่คนนี้”

“เราไม่ได้ต้องการเด็กเก่งนะคะแต่เราดูว่าเด็กพร้อมที่จะเรียนไหม เพราะเราไม่มีเนอร์สเซอรี่เราเริ่มอนุบาล 1 เลย ฉะนั้นก็มีการดูตัวเด็ก เพียง 5 นาที 10 นาทีก็ไม่ใช่วิธีการที่มันดูได้ชัด ขณะนี้เราก็ยังเจอเด็กมีปัญหาทุกห้อง เช่น สมาธิสั้น หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูหลายๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราพยายามช่วยคือการประชุมผู้ปกครองบ่อยๆ เราเจอทั้งผู้ปกครองโดยทั่วไปและเจอผู้ปกครองเฉพาะกิจ เราบอกแล้วว่าเมื่อเขาเดินเข้ามาในโรงเรียนเราก็เป็นความรับผิดชอบของเราที่ดูแลเขาออกไปอย่างดีไม่ใช่ไปสร้างปัญหาให้สังคม แต่ถามว่าเด็กเราเก่งทั้งหมดไหม…ไม่ทั้งหมด เพราะว่าหัวกะทิก็ไปอยู่โรงเรียนดังๆ ของกรุงเทพฯ เราคือตรงกลางนิดเดียวและไปติดส่วนล่างด้วยซ้ำ แต่เราบอกครูทุกระดับชั้นว่าพัฒนาเด็กถึงแม้ว่าเขาจะติดลบ 1 ให้เขามาเป็น 0 แล้วเป็น 1 อย่าให้เขาแค่ติดลบอยู่ตรงนั้น หรือว่าคนที่เป็น 2 แล้วต้องให้เขาเป็น 3 เป็น 4”

โรงเรียนบูรณะรำลึกเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อนักเรียนโตขึ้นจึงมักจะต้องไปเรียนต่างถิ่น แต่จน ณ ตอนนี้มีบางรุ่นที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด แต่สิ่งที่อาจารย์มารศรีดีใจก็คือดีใจที่ลูกศิษย์กลับมา ได้กลับมาอยู่บ้าน ได้กลับมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ได้มาช่วยกิจการของที่บ้าน ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ตรงกับใจที่พวกเขาต้องการมากนัก แต่เมื่อเขากลับมาแน่นอนเขาก็ต้องมีส่วนพัฒนาท้องถิ่นที่เขาอยู่

“เราเป็นตัวเล็กแต่ก็มีส่วน เป็นการจุดประกายให้คนไทยได้มามองว่า(ตรัง)น่าอยู่นะถ้าเราช่วยกัน”

 

 

You may also like...