นิทานพื้นบ้านเรื่องไอ้เกลอเขา – ไอ้เกลอเล

เกลอเขา-เกลอเล

หากนิทานพื้นบ้านยังเป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันว่า ตัวละครในเรื่องคือภาพลักษณ์และพฤติกรรมของสังคมนั้นในยุคนั้น ตัวละครคือสภาพทางสัมคมศาสตร์ อันหมายถึงนิสัยใจคอของผู้คน เรื่องราวไอ้เกลอเขา – ไอ้เกลอเล คือภาพลักษณ์และพฤติกรรมของคนเมืองตรังในครั้งกระโน้น แม้จะไม่ทุกส่วน แต่มีลักษณะเป็นองค์รวมของความเป็นคนเมืองตรังอย่างแน่นอน 

เนื้อหาย่อๆ ของนิทาน เล่ากันว่า เมื่อไอ้เกลอไป วังเกลอ หรือเยี่ยมเยือนไอ้เกลอเขา ก็ได้ของฝากเป็น มูสัง หรือชะมด ติดมือกลับบ้านไปหนึ่งตัว โดยไอ้เกลอเขาบอกไอ้เกลอเลเชิงหยอกกันตามประสาเกลอว่า มูสัง เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย มันกินเพียงขี้ไก่ก็อยู่ได้แล้ว

ด้วยวิถีชีวิตคนอยู่ทะเลที่ไม่เคยรู้จักมูสังจึงนำไปขังไว้ในคอกไก่ตามคำของไอ้เกลอ แต่แล้วก็ต้องสูญเสียไก่ไปทั้งเล้าเพราะถูกมูสังกิน ต่อมาเมื่อไอ้เกลอเขามา วังเกลอ บ้าง ควายเล หรือปูทะเลขนาดใหญ่ก็เป็นของแปลกใหม่ที่ไอ้เกลอเลฝากให้เพื่อนหอบหิ้วกลับบ้าน พร้อมทั้งคำแนะนำเชิงหยอกจากอีกเช่นกันว่า เจ้าควายเลตัวนี้กินน้ำเยี่ยวเป็นอาหาร และถ้าถูกมันฟัน (ปูหนีบ) ก็ให้รีบกัดเขา (ก้าม) อีกข้างของมันทันที เมื่อกลับถึงบ้านไอ้เกลอเขาก็จับเจ้าควายเลใส่กะละมังเอาไว้ บอกให้ภรรยาไปเยี่ยวใส่กะละมังเพื่อเลี้ยงเจ้าควายเลตามคำของไอ้เกลอเล ครั้นเวลาค่ำนางก็ไปให้อาหารสัตว์เลี้ยงตามที่สามีบอก

ปูหรือควายเลของไอ้เกลอ เมื่อมีอะไรเข้าใกล้ตัวมันก็จะหนีบเอาโดยสัญชาตญาณป้องกันตัว นางจึงต้องเรียกสามีให้มาช่วย ไอ้เกลอเขาก็รีบก้มหน้าลง เพื่อจะกัดเขาอีกข้างของมันทันที ตามคำแนะนำของไอ้เกลอ ก็เลยถูกก้ามอีกข้างหนึ่งของเจ้าควายเลหนีบแก้มเข้าให้ ในขณะที่ก้ามอีกข้างหนึ่งก็ยังไม่ปล่อย

สุดท้ายของเรื่องเมื่อไอ้เกลอทั้งสองมาพบกันอีกประโยคที่สัพยอกกันว่า มึงเสียไก่แค่ตัวสองตัวจะเป็นไรไป…กูทั้งเจ็บทั้งเหม็น

ในบางแห่งจึงให้ชื่อนิทานเรื่องนี้ว่า ทั้งเจ็บทั้งเหม็น

การหยอกล้อระหว่างเพื่อนเกลอในเรื่องให้อารมณ์ขันที่อาจโน้มเอียงไปทางสัปดนอยู่บ้าง แต่แท้จริงแล้ว เป็นเพียงสีสันของนิทานที่ห่อหุ้มแก่นเรื่องเท่านั้น หากไอ้เกลอเขาไม่หอบหิ้วความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ราบเชิงเขาที่มีเกินกินเกินใช้ ไปเยี่ยมเยือนไอ้เกลอเล ข้อมูลใดเล่าที่จะให้ความชัดเจนที่มีสีสันและกลิ่นอายเรื่องราวความเป็นอยู่ของตรังเขา ตรังเล ด้วยลักษณะความต่างกันของตรังเขา ตรังนา ตรังเล ได้ถักทอวัฒนธรรมมาจากภูมิปัญญา เป็นภูมิปัญญาองค์รวมของเมืองตรังไว้ให้รับรู้อย่างน้อย 2 ประการ คือ วิถีชีวิตแบบ ข้าวบ้านนา พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้ ถือเป็นต้นแบบของสังคมสงเคราะห์เกื้อกูลระหว่างกัน ที่สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมใหม่ปัจจุบันเริ่มมองเห็นคุณค่าและอยากกลับไปหาวิถีชีวิตเช่นนั้น

 

การไปมาหาสู่ระหว่าง ตรังเขา ตรังนา และตรังเล นอกจากจะก่อสานวัฒนธรรมสังคมสงเคราะห์พึ่งพิงกันแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ระหว่างกัน ถักทอความรัก ความเอื้ออาทรแก่กัน เห็นอกเห็นใจกัน ทำให้คนเมืองตรังได้รับการกล่าวขานจากคนจังหวัดใกล้เคียงกันว่าคนตรังเป็นคนใจใหญ่ (ใจกว้าง) ใจยาว (คบเพื่อน) ด้วยความเป็นคน ใจใหญ่ ใจยาว ของคนเมืองตรังดังกล่าวน่าจะเป็นสายใยชีวิตจิตใจฝังแน่นอยู่ในคำขวัญเมืองตรังที่ว่าชาวตรังใจกว้างสร้างแต่ความดี ตรังเขา ตรังนา ตรังเล ใช่ว่าจะแตกต่างเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะส่วน โดยไม่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันเลย ยังมีความละม้ายคล้ายคลึงกันในองค์รวม เช่น ดำรงอยู่บนหลักเกณฑ์แบบสังคมสงเคราะห์เกื้อกูล พึ่งพิงดังกล่าวแล้ว สำหรับความแตกต่างเฉพาะส่วนที่ปรากฎให้เห็นได้ในบริบทของภูมิปัญญา และเทคโนโลยี ขอแยกกล่าวเป็นส่วนตรังเขา ตรังนา ตรังเล เพื่อยืนยันให้เห็นความเชื่อที่ว่า สภาพภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์กำหนดวัฒนธรรม

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>