ตรังเขา ตรังนา ตรังเล

สภาพภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดภูมิปัญญาและเทคโนโลยี ถ้าจะถือเอาสภาพภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง ชุมชนเมืองตรังแบ่งได้ 3 เขต คือ ชุมชนที่ราบเชิงเขา ชุมชนทุ่งนา ชุมชนชายฝั่ง ไม่นับชุมชนเมืองเพราะเป็นชุมชนใหม่ที่เกิดมาจากชุมชนทุ่งนา

แต่ถ้าจะถือเอาชาติพันธุ์เป็นตัวตั้ง สามารถแบ่งได้ 4 หมู่ ดังที่เรียกขานกันมาแต่เก่า ก่อนคือ หมู่แขก หมู่ไทย หมู่จีน และหมู่เงาะป่าซาไก

ไม่ว่าจะถือเอาสภาพภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง หรือกำหนดโดยความเป็นชาติพันธุ์ก็ตาม ลักษณะองค์รวมของเมืองตรังยังคงลักษณะเด่นเป็นพิเศษ 3 ประการ คือ เขาตรัง ตรังนา ตรังเล ทั้งนี้ไม่นับเอาตรังตราด ด้วยเป็นชุมชนที่พัฒนามาจากชุมชนตรังนา เพราะความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็ถูกสังกัดอยู่กับ ตรัังเขา ตรังนา ตรังเล ซึ่งเห็นได้เด่นชัดคือหมู่ไทยแท้ได้แก่พวกตรังเขา – ตรังนา หมู่จีนได้แก่พวกตรังนา (ตรังตราด) หมู่แขกได้แก่พวกตรังเล หมู่เงาะป่าซาไก ได้แก่พวกตรังเขา

ด้วยแผ่นดินเมืองตรังได้หยิบยื่นความดื่นดกแห่งพืชผลและภักษาหารไว้ในที่ราบเชิงเขาน้ำท่าบริบูรณ์และดินดีตามที่ราบทุ่งนา และชายฝั่งที่อุดมไปด้วยกุ้งหอย ปู ปลา

ในความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้ของตรังเขา ตรังนา ตรังเล ยังมีส่วนขาดแคลนไม่พอกินใช้ในบางสิ่งบางอย่างซึ่งมีอยู่ทั้งในหมู่ตรังเขา ตรังนา และตรังเล ด้วยเช่นกัน

ตรังเขา หรือที่คนเมืองเรียกขานกันว่าหมู่เหมก- หมู่เหนือ นั้นอุดมไปด้วยพืชผลและภักษาหาร แต่ทำไร่ปลูกข้าวไม่พอกินไม่พอใช้ตลอดทั้งปี จำต้องพึ่งพาข้าวสารจาก ตรังนาเคย เกลือ จากตรังเล ดังคำพังเพยที่สืบขานกันมาว่า “ข้าวบ้านนา พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” ในทำนองเดียวกันนี้ตรังนา ตรังเล ก็ต้องพึ่งพิงส่วนขาดแคลนจากความอุดมสมบรูณ์เกินกินเกินใช้จากตรังเขาด้วยเช่นกัน

ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารกินส่วนเกินกับความขัดสนขาดแคลนของอาหารการกินของตรังเขา ตรังนา ตรังเล ดังกล่าว คือเหตุปัจจัยที่กำหนดวิถีวัฒนธรรมของเมืองตรังให้ผิดแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ความไม่พอกินพอใช้ในส่วนขาดแคลนได้ขับเคลื่อนนำเอาความสมบูรณ์เกินกินเกินใช้ไปแลกเปลี่ยน นำมาซึ่งส่วนไม่พอกินพอใช้ ผลที่ตามมาจากกระบวนการดังกล่าว ได้ก่อวัฒนธรรมการไปมาหาสู่ คบเพื่อนพ้องต่างบ้าน เกื้อกูล พึ่งพิงกัน ผูกมิตรเป็นเกลอดังหลักฐานปรากฏในนิทานพื้นบ้านตรังเรื่อง ไอ้เกลอเขา – ไอ้เกลอเล

You may also like...