เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ-ภูมิประเทศเมืองตรัง

จากเครื่องหมายภูเขา คือตลอดแนวเทือกเขาบรรทัดในเขตภูเขาและเชิงเขา และต่อลงมาถึงพื้นที่เขตลอนลูกฟูกคือที่ราบแคบๆ สลับควนหรือเนิน แทรกด้วยภูเขาหินปูนโดด ที่ลุ่มหนองน้ำอันเกิดจากหลุมยุและหลุมจม ทุกลักษณะมีครบถ้วนในเขตตัวเมืองตรัง กลายเป็นเอกลักษณ์แห่งเมือง พื้นที่ควนที่เหนได้ชัดคือบริเวณที่ตั้งศาล ศาลากลาง และจวนผู้ว่าราชการจังหวัด วัดควนวิเศษ อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ

และเขาหินปูนโดดคือ เขาหนองยวนที่วัดมัชฌิมภูมิ ส่วนที่ลุ่มหนองน้ำนั้นมีหลายแห่ง บางแห่งถูกถมไปด้วยการก่อสร้างต่างๆ ที่เหลืออยู่และใหญ่ที่สุดได้แก่สระกะพังสุรินทร์ อีกทั้งยังมีหนองน้ำขนาดเล็กด้านหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด 1 แห่ง ตรงข้ามกับจวนด้านถนนพัทลุงหนึ่งแห่ง และบริเวณศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย อีกแห่งหนึ่ง

การเลือกที่ตั้งเมืองตรงจุดนี้ คือการเสริมสร้างเอกลักษณ์ด้านภูมิประเทศของเมืองตรังให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เริ่มจากศาลสถิตยุติธรรมที่อยู่ตรงส่วนสูงสุดของใจกลางเมืองศาลากลางที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ และส่วนราชการอื่นๆ รายล้อมอยู่ในควนเดียวกัน ส่วนจวนที่พักผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่อีกควนหนึ่งคล้ายจะคอยดูแลความเป็นไปของเมือง ผู้คนต่างถิ่นที่มาเยือนเมืองตรังมักเอ่ยปากชื่นชมเสมอเกี่ยวกับการเลือกทำเลตั้งเมืองเช่นนี้

ในกลุ่มชาวตรังเชื้อสายจีนซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องชัยภูมิ หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า เต่ลี้ ถือว่าภูมิประเทศเมืองตรังมีชัยภูมิที่เหมาะสมถูกต้องตามโฉลกการตั้งเมือง คือมีแม่น้ำตรังเปรียบเสมือนที่อยู่ของพญามังกร มีขุนเขาเหมือนที่อยู่ของเสือขาว มีสระและหนองน้ำเป็นที่อยู่ของเต่าดำหมายถึงความมีอายุยืนของชาวบ้านชาวเมือง มีท่าอากาศยานเป็นเหมือนหงส์เหินคือมีชื่อเสียงสูงส่ง เช่น ที่เมืองตรังเรามีบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี สุดท้ายคือมีเนินดินเป็นที่ตั้งของชัยภูมิกลาง ซึ่งผู้สร้างเมืองเลือกเป็นที่ตั้งหน่วยราชการและจวนผู้ว่าฯ ดังกล่าวแล้ว

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>