ภูมิปัญญาตรัง กับหมอยาพื้นบ้านและการใช้สมุนไพร

คงไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า สมุนไพรตัวใด ยาพื้นบ้านขนานใด เป็นการค้นพบโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นตรัง ด้วยความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรรักษาโรคนั้นมีมาช้านาน จากประวัติในสมัยพุทธกาลมีการบัญญัติและกล่าวถึงสมุนไพรในพระไตรปิฎก เช่น ขมิ้น ขิง ดีปลี สมอ มะขามป้อม มหาหิงค์ เป็นต้น จากการที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกตำรายาไว้ที่ฝาผนังวัดพระเชตุพนฯ ถือเป็นการยืนยันความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรเป็นอย่างดี และถือเป็นการตรวจสอบมาตรฐานสรรพคุณไปด้วยในตัว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโรงเรียนแพทย์เปิดสอนครั้งแรก พ.ศ. 2432 โรงพยาบาลศิริราช ใช้ยาสมุนไพรตามแผนโบราณทั้งหมด

การรู้จักใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทำให้มนุษย์ธำรงอยู่ได้ ได้ผ่านการค้นพบ สั่งสม สืบทอด เชื่อว่าหมู่คนตรังเขา ตรังนา ตรังเล ได้ผ่านการค้นพบยาสมุนไพรทั้งด้วยตนเอง และรับรู้สืบทอดมาจากภายนอก

ด้วยข้อจำกัดทางเวลาและความรู้ในเรื่องสมุนไพร ข้อเขียนในบทนี้ไม่อาจลงลึกถึงรายละเอียดในความเป็นภูมิปัญญาตรังกับการใช้สมุนไพรได้เพียงแต่หยิบยกให้เห็นถึงภาพรวมกว้างๆ ของคนตรังกับการใช้สมุนไพร และหมอพื้นบ้านเท่านั้น

จากคำบอกเล่าและการพบเห็นสังเกต คนตรังจำนวนไม่น้อยยังนิยมรักษาโรคภัยไข้เจ็บกับหมอยาพื้นบ้านแบบโบราณ แม้จะไม่ทั้งหมดแต่ก็ควบคู่ไปกับวิธีการรักษาตามแพทย์แผนใหม่ หมอยาพื้นบ้านเท่าที่พบเห็นในเมืองตังมี 3 พวก คือ หมอยาสมุนไพร หมอยาคาถาอาคม หมอคาถาอาคม

 

หมอยาสมุนไพร

เป็นการรับรู้สืบทอดตัวยาสมุนไพรจากปู่ย่าตาทวด สามารถปรุงใช้ หรือนำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยไม่ต้องไปหาหมอยาพื้นบ้าน ขอยกตัวอย่างยาสมุนไพรในครัวเรือนของผู้เขียนมาให้เห็นพอสังเขป ดังนี้

ขี้มันขัน ใช้ทาเพื่อบรรเทา รักษา ผดผื่นคัน และใช้ทาเมื่อถูกเห็บลม ลำเพ็ง (เห็บตัวเล็กๆ สีแดง) กัด ความเล็กที่แทบมองไม่เห็นของตัวเห็บกับจำนวนมากที่ผ่านไปปะหรือลมปลิวมาใส่ ไม่มีวิธีการใดในการรักษา นอกจากใช้ขี้มันขันทา

ลูกหัน (พืชชนิดหนึ่ง) เนื้อเม็ดในลูกหันบดละเอียดประสมกับน้ำมันขัน ใช้ทาแก้หิดตามง่ามมือง่ามเท้า

ใบพลูกับเหล้าขาว ขยี้ใบพลูให้แหลกละเอียดประสมกับเหล้าขาว ใช้ทาแก้ลมพิษ

เปลือกในไม้พะยอมสด นำมาอมแก้ลิ้นเป็นซาง เจ็บปากเจ็บลิ้น

ตับค่างย่างแห้ง ใช้กินแก้โรคลงเลือด (เลือดขึ้น) หลังจากคลอดลูกใหม่ๆ

กิ้งก่า โคนหางแลน นำมาคลุกขมิ้นย่างให้สุก กินแก้โรคผอมแห้ง เรียกตามภาษาพื้นถิ่นว่า โรคเส็ดกัน (ผิวหนังแห้ง แตกเป็นเกล็ด)

 

หมอยาคาถาอาคม

เป็นการรับรู้ สืบทอด ผ่านครูบาอาจารย์ และเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ ศรัทธาว่าเป็นผู้รู้มีคาถาอาคม โรคที่นิยมรักษากับหมอประเภทนี้ เช่น

กระดูกหัก – เอ็นจม มือ – เท้า แพลง ใช้ความรู้แพทย์แผนโบราณ เช่น เข้าเฝือก ตีมัน ควบคู่ไปกับคาถาอาคม ประเภทเสกน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก

แก้พิษงู ฝนหัวไพลทาควบคู่ไปกับการปัดเป่าและห้ามกินของแสลงที่จะนำไปสู่การเปื่อยเน่า

 

หมอคาถาอาคม

เป็นการรักษาด้วยวิธีการใช้คาถาอาคมอย่างเดียว ไม่ใช้วิธีการทางสมุนไพร ที่เห็นและเป็นอยู่ได้แก่ พวกถูกเพทถูกคุณ ถูกผี ใช้คาถาอาคมเรียกโรคร้ายออกจากร่างกาย เป็นต้น

สำหรับหมอยาคาถาอาคม และหมอคาถาอาคม ในมุมมองของโลกวิทยาศาสตร์ล้วนก็คือ ไสยศาสตร์ งมงาย เหลวไหล และกระบวนการหลอกลวงสังคม แต่ถ้าหากจะมองในมุมของนักสังคมมานุษยวิทยา คำตอบคือจิตศาสตร์ ซึ่งเปรียบได้กับจิตแพทย์ในปัจจุบัน นั่นเอง เป็นกระบวนการสร้างขวัญกำลังใจให้ต่อสู้กับโรคภัยที่ร่างกายกำลังถูกกระทำ การที่จะชี้ชัดลงไปว่า หมอยาคาถาอาคม หมอคาถาอาคม เป็นภูมิปัญญาหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาที่จะเยียวยารักษาเป็นหลัก ไม่ใช่หวังผลตอบแทนในการรักษา

ภูมิปัญญาตรัง กับหมอยาพื้นบ้านและการใช้สมุนไพร เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงต้องการชี้ให้เห็นภาพรวมของคนตรังกับการใช้สมุนไพรของหมอยาพื้นบ้านยังคงดำรงอยู่ควบคู่ไปกับการรักษาตามแบบแผนแพทย์สมัยใหม่ และท้าทายให้ลูกหลานเมืองตรัง เมืองไทยได้ค้นคว้าศึกษาลงลึกไปกว่านี้ เพื่อจะได้ยืนยันถึงความเป็นภูมิปัญญาหมอยาพื้นบ้านเมืองตรัง ต่อไป

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>