ประวัติ-เมืองตรังที่กันตัง

๒.๑๐ เมืองตรังที่กันตัง

เมื่อพระยารัษฎาฯ มารับตำแหน่งใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความทรุมโทรมของเมืองตรัง วิธีการแรกคือการขอผูกขาดภาษีอากรซึ่งเรียกว่าระบบเหมาเมือง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บเงินบำรุงเมือง โดยวิธีการให้พ่อค้าชาวจีนรับช่วงแทน ทำให้สามารถแก้ปัญหาชาวจีนสร้างกลุ่มอิทธิพลไม่ขึ้นต่อบ้านเมืองด้วยการควบคุมผ่านเจ้าภาษี เมื่อมีปัญหาก็ให้เจ้าภาษีว่ากล่าวจัดการกันเอง

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในระยะแรกที่พระยารัษฎาฯเข้ามาบริหารเมืองตรัง คือโจรผู้ร้ายชุกชุม วิธีแก้คือการจัดตั้งกองตำรวจประจำเมืองตรัง จัดให้มีเรือกลไฟลาดตะเวน ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและติดตามจับกุม กำหนดท่าเรือสำหรับจอดเรือ ๖ ท่าเท่านั้น มีกันตัง ลิเกา กะลาเส ท่าพญา หยงสตาร์ เกาะสุกร และยังให้ออกทะเบียนเลขเรือ เพื่อป้องกันการปล้นเรือ ทำให้ปัญหาโจรผู้ร้ายเบาบางลงได้

หลังจากแก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว พระยารัษฎาฯ วางแนวทางพัฒนาเมืองตรังโดยมีนโยบายให้เป็นเมืองเกษตรกรรม ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกพืชหลายชนิด แทนที่จะปลูกพริกไทยเป็นหลักดังที่เป็นมาแต่เดิม พืชที่ปลูกได้แก่มะพร้าว หมาก จันทน์เทศ กาแฟ พร้อมทั้งกะเกณฑ์ให้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ประจำบ้าน ตามที่เล่ากันมาว่าแต่ละบ้านจะต้องปลูกพืชผักต่าง ๆ และพืชผักสวนครัวอย่างละ ๕ ต้น และเลี้ยงไก่ ๕ แม่ ต่อจากนั้นก็ส่งเสริมการจำหน่าย โดยให้จัดตลาดนัดค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนในเมืองด้วยกัน แล้วยังชักชวนพ่อค้าต่างประเทศให้เข้ามารับซื้อสินค้าและตั้งบริษัทการค้าที่กันตัง เพื่อทำการค้ากับปีนังและมลายู

พระยารัษฎาฯทำงานมาระยะหนึ่งแล้วเห็นว่าเมืองที่ควนธานีไม่เหมาะที่จะขยายให้เป็นเมืองท่าค้าขายกับประเทศต่อไป จึงตระเตรียมการสร้างเมืองใหม่ที่กันตัง และกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองตรังไปไว้ที่กันตัง และกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองตรังไปไว้ที่กันตังในปี พ.ศ. ๒๔๓๖

เมื่อย้ายเมืองมาตั้งที่กันตังแล้ว พระยารัษฎาฯ จัดการก่อสร้างสถานที่ราชการต่าง ๆ และวางผังเมืองที่กันตังเป็นอย่างดี ส่งเสริมอาชีพการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการส่งเสริมการนำพันธุ์ยางพาราเข้ามาให้ราษฎรทดลองปลูก ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกทางน้ำให้ดีขึ้น สร้างสะพาน ตัดถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และเมืองใกล้เคียง ถนนสายสำคัญคือถนนสายตรัง – พัทลุง ซึ่งเรียกกันว่าถนนเขาพับผ้า วางโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟที่จะมาจอดที่สถานีกันตัง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก แต่โครงการท่าเรือน้ำลึกไม่เป็นผลสำเร็จ ในครั้งนั้นจึงมีเพียงสะพานท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ใช้ขนถ่ายสินค้าที่ปลายทางรถไฟชื่อสะพานเหล็ก

พ.ศ. ๒๔๓๙ รัฐบาลได้แบ่งท้องที่การปกครองเรียกว่า ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๕ เมืองตรังแบ่งออกเป็น ๕ อำเภอคือ อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเภา มีตำบล ๑๐๙ ตำบล (อำเภอย่านตาขาวเพิ่งแยกไปจากอำเภอกันตังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ) ต่อมาใน พ.ศ. 2444 พระยารัษฎาฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต แต่ยังคงพัฒนาเมืองตรังต่อไป เพราะตำแหน่งนี้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้งหมด ใน พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เสด็จพระราชดำเนินเมืองตรังในขณะที่ดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ประทับแรมอยู่หลายวัน ตั้งแต่วันที่ 8 – 21 พฤษภาคม 2452 แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังนครศรีธรรมราช มีเนื้อความอยู่ในพระราชนิพนธ์ 85 และใน พ.ศ. 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เสด็จประพาสเมืองตรังมาประทับที่ตำหนักผ่อนกลาย พระราชทานทุนทรัพย์สำหรับสร้างโรงเรียน และเมื่อสร้างเสร็จก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า โรงเรียนวิเชียรมาตุ พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินและประทับแรมที่เมืองตรังตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ประทับแรมที่ตำหนักสวนโปร่งหฤทัย เขาช่อง หลายวัน ในวันที่ 3 กรกฎาคม เสด็จฯ ไปทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนเพาะปัญญาที่ตำบลนาโยง แล้วเสด็จฯ ไปยังกันตัง วันที่ 4 พระราชทานพระแสงศัสตราประจำเมืองตรัง ณ วัดตรังคภูมิพุทธาวาสประทับแรมที่ตำหนักจันทน์ ที่กันตัง 3 คืน แล้วเสด็จฯ ต่อไปยังนครศรีธรรมราชโดยทางรถไฟจากสถานีกันตัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>