ประวัติ- เมืองท่าทางผ่าน

2.2 เมืองท่าทางผ่าน

จากชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านมาถึงสมัยพุทธกาล เริ่มมีหลักฐานที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานพาดพิงถึงเมืองตรัง แต่ยังไม่อาจกล่าวได้แน่ชัดว่าแท้จริงคือเมืองตรังหรือไม่

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ บ้านเมืองทางตะวันตกและเอเชียกลางเริ่มใช้เส้นทางทะเลเพื่อติดต่อค้าขายกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน เป็นเหตุให้คาบสมุทรมลายูกลายเป็นจุดพักทางผ่านที่เหมาะสมเพราะมีทิศทางลมเป็นปัจจัยส่งเสริม ช่วงนี้เองที่ปรากฏชื่อเมืองท่าสำคัญของชายฝั่งทะเลตะวันตกคือ ตะโกลา

ชื่อตะโลกาปรากฏในเอกสารโบราณชิ้นแรกคือ คัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฏกจุฬาเถระรจนาเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ ต่อจากนั้นก็พบในเอกสารโบราณชิ้นที่ ๒ คือ จดหมายเหตุภูมิศาสตร์ปโตเลมี อายุราว พ.ศ. ๖๙๓ หรือ ๗๐๘ และชิ้นที่ ๓ คือคัมภีร์มหานิทเทสภาษาบาลี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘ นอกจากนี้ยังมีชื่อ ตไลตฺตกฺโกลํ  ในศิลาจารึกเมืองตันซอร์ของพระเจ้าราเชนทร์ ที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๕๕ – ๑๕๘๔) ๓๖ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานถึงที่ตั้งเมืองตะโกลาเป็น ๒ แนว ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ กล่าวว่า ตะโกลาอยู่ตรงบริเวณตะกั่วป่า ในจังหวัดพังงา โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีประกอบ

กลุ่มที่ ๒ กล่าวว่า ตะโกลาอยู่ที่เมืองตรัง กลุ่มนี้อ้างเหตุผลทางภูมิศาสตร์ มีศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ดร.ประเสริฐ วิทยา Paul Wheatley Dr.H.G.Quaritch Wales เป็นต้น ข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์มานิตกล่าวด้วยว่า ที่ตั้งของตะโกลาอยู่ในบริเวณใกล้คลองกะปาง เรียกว่าบ้านหูหนานหรือกรุงธานี ปัจจุบันอยู่ในอำเภอรัษฎา แต่ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี เส้นทางนี้อยู่ไม่ไกลจากหุบเขาช่องคอย แสดงถึงการรับวัฒนธรรมจากอินเดียผ่านทางเมืองตรัง นอกจากนี้ศาสตราจารย์มานิตยังได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ในบันทึกของปโตเลมีแม่น้ำไครโสนาส คือแม่น้ำตรัง แม่น้ำอัตตาบาส์คืแม่น้ำตาปี และแม่น้ำปะลันดาที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำทั้งสอง คือคลองโอ๊กกับคลองมีน เพราะฉะนั้นชื่อ ปะลันดา ที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นเมืองปะเหลียนจึงไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานนี้๓๗

การขนถ่ายสินค้าผ่านคาบสมุทรมลายู ทำให้บ้านเมืองในแถบนี้เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีอาณาจักรชื่อ ศรีวิชัย เป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมที่เหลือเป็นหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน

ในเมืองตรังก็มีหลักฐานการพบพระพิมพ์ดินดิบ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชนิดหนึ่งในกลุ่มศิลปะศรีวิชัย เช่น พระพิมพ์ที่ด้านหลังพิมพ์พระคาถา เย ธมฺมา จากถ้ำเขาสาย อำเภอห้วยยอด พระพิมพ์ลักษณะเช่นนี้ และสถูปดินเผาขนาดเล็ก ๆ ยังมีอยู่ที่ถ้ำอื่น ๆ อีก เช่น ที่ถ้ำเขาปินะ อำเภอห้วยยอด ถ้ำเขาพระวิเศษ อำเภอวังวิเศษ ถ้ำเหล่านี้ล้วนอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำตรัง โดยเฉพาะที่อำเภอวังวิเศษ มีตำนานประจำถิ่นเล่ากันมาว่า มีเรือสำเภาจากอินเดียมาล่มอยู่ในลำน้ำหลักฐานโบราณวัตถุและมุขปาฐะดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามีชุมชนเชียงรายใกล้ลุ่มแม่น้ำตรัง อาจเป็นชุมชนดั้งเดิมที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยเป็นหมู่เขาชาวถ้ำ ลงมาเป็นหมู่ท่งริมน้ำ และมีผู้เดินทางจากแดนไกลที่ล่องเรือผ่านลำน้ำเข้าร่วมหมู่ บางหมู่อาจเลือกเป็นที่ตั้งถิ่นฐานและเผยแผ่ศรัทธาความเชื่อซึ่งตามหลักฐานคือพุทธศาสนามหายานจากอินเดียจนเกิดความผสมกลมกลืนในวิถีชีวิต แจ่ไม่มีร่องรอยของโบราณสถานดังที่ปรากฎในชุมชนใหญ่ ๆ ทางฝั่งตะวันออก แสดงว่าเมืองตรังยังเป็นชุมชนระดับเล็กและเป็นเพียงทางผ่านไปสู่ดินแดนตะวันออกที่เจริญกว่า

นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ยังมีเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่สนับสนุนความเป็นเมืองท่าทางผ่าน จากการวิเคราะห์ของ จิตรา หลีกภัย นักภูมิศาสตร์รุ่นใหม่กล่าวว่า สภาพพื้นที่เมืองตรังส่วนใหญ่เป็นลอนคลื่น ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนใหญ่ แต่ตำแหน่งที่อยู่ในเส้นทางลมที่ใช้ในการเดินเรือสมัยโบราณ แม่น้ำมีขนาดกว้างทำให้เดินเรือเข้าไปตามลำน้ำได้สะดวก เส้นทางน้ำดั้งเดิมนั้นสามารถเชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกได้ และยังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรอุดมสมบรูณ์ เช่น แร่ธาตุ ของป่า และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการของต่างชาติ เหล่านี้ทำให้เมืองตรังเหมาะสำหรับเป็นที่พักเพื่อขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรเท่านั้น ตรงกับที่มีผู้สรุปไว้ว่า เมืองตรังเป็นเมืองท่าที่คุมเส้นทางการค้า ข้ามคาบสมุทรจากทิศตะวันตกด้านที่เป็นมหาสมุทรอินเดียผ่านเขตอำเภอทุ่งสง ไปออกฝั่งทะเลด้านตะวันออกในอ่าวไทยที่เมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้น ความสำคัญของเมืองตรังในยุคร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีวิชัยจึงจัดเป็นเมืองท่าทางผ่านของการค้าข้ามคาบสมุทร และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>