ประวัติ-เมืองตรังที่ทับเที่ยง

2.11 เมืองตรังที่ทับเที่ยง

วันที่ 1 มกราคม 2458 เมืองตรังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัด ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ที่กันตังไม่ปลอดภัยจากศึกสงครามเพราะในขณะนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งอยู่ในกลุ่มที่ลุ่มมักเกิดอหิวาตกโรคทุกปี พื้นที่แคบทำให้การขยายตัวของเมืองเป็นไปได้ยาก และไม่เป็นย่านกลางติดต่อราชการเหมือนที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งมีผู้คนมากและการค้าเจริญกว่าตำบลอื่นๆ ในสมัยนี้เมืองตรังยังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต มีนายพลโทพระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา) เป็นสมุหเทศาภิบาล (เดิมเรียกชื่อตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล เพิ่งเปลี่ยนแปลง ใน พ.ศ. 2456)

ใน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เสด็จพระราชดำเนินเมืองตรังอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนวิเชียรมาตุในวันที่ 3 พฤษภาคม และต่อมาใน พ.ศ. 2464 พระราชทานชื่อ ถนนพระราม 9

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (สิน) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังไปจนถึง พ.ศ. 2461 ต่อจากนั้นพระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) มารับตำแหน่ง ใช้ตำหนักผ่อนกายเป็นศาลากลางชั่วคราว และดำเนินการสร้างศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เปิดสมัยนายเวียง สาครสินธุ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ทำพิธีเปิดวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2508

ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 พระยาสุรินทราชา (นกยูง  วิเศษกุล) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เอาใจใส่ดูแลการพัฒนาเมืองตรังหลายด้าน จึงปรากฏชื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ที่เมืองตรัง เช่น กะพังสุรินทร์ ถนนวิเศษกุล วัดควนวิเศษ ที่ตำบลทับเที่ยง ถ้ำสุรินทร์ ที่อำเภอปะเหลียน

พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยรถไฟพระที่นั่งมายังจังหวัดพัทลุงแล้วเสด็จฯ จังหวัดตรังโดยรถยนต์พระที่นั่งที่ตรังได้เสด็จฯ น้ำตกกะช่อง ประทับแรม ณ ตำหนักผ่อนกาย เสด็จฯศาลากลางจังหวัด ศาล โรงพยาบาลมิชชั่น โรงเรียนอนุกูลสตรี และประทับเรือพระที่นั่งจากท่าเรือกันตังไปยังจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นเสด็จฯ  กลับมาประทับที่ตำหนักผ่อนกาย เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ได้แก่ สระกะพัง ถ้ำเขาปินะ และเสด็จฯ  กลับกรุงเทพฯ  โดยทางรถไฟจากสถานีรถไฟตรัง

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>