ประวัติ-เมืองตรังที่ควนธานี

๒.๙ เมืองตรังที่ควรธานี

ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการในภาคใต้ เนื่องจากเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ลาออกจากตำแหน่ง พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป ในปีนี้ปรากฏว่า หลวงฤทธิสงครามและเจ้าพระยาสงขลาถึงแก่กรรมทางราชธานีเห็นว่าเมืองตรังจะขึ้นกับสงขลาดังเดิมไม่เหมาะสมแล้ว เพราะหลังจากพม่ามาตีถลางใน พ.ศ.๒๓๕๒ ไม่มีหัวเมืองใดเหมาะสมในการดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกเท่ากับนครศรีธรรมราช จึงให้เมืองตรังขึ้นกับนครศรีธรรมราชดังเดิม และกำชับให้ทำนุบำรุงเมืองตรังและดูแลระมัดระวังป้องกันข้าศึก ดังความในสารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี พ.ศ. ๒๓๕๔ ว่า

เมืองตรังภูรานั้นเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ก่อน ให้ยกเอาเมืองตรังภูรากลับมาขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยานครจัดแจง หลวง ขุน หมื่น กรมการ ที่มีสติปัญญาสัตย์ซื่อมั่นคงไปตั้งเกลี้ยกล่อมแขกไทยมีชื่อให้เขาไปตั้งบ้านเรือนทำนา ปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารทำรั้วโรงไว้เรือรบ เรือไล่ รักษาปากแม่น้ำตรังไว้ขุกมีราชการประการใด จะได้ช่วยรบพุ่งกันทันท่วงที…

พระยานคร (น้อย) ได้ปรับปรุงเมืองตรังตามที่ราชธานีมีสารกำชับไว้ ด้วยการมอบหมายให้หลวงอุภัยราชธานีเป็นผู้พยาบาลเมือง ปรากฏหลักฐานในทำเนียบกรมการเมืองตรัง พ.ศ. ๒๓๕๔ มีการปรับปรุงตำแหน่งต่าง ๆ จัดแบ่งกรมการ เป็นฝ่ายไทยพุทธ ไทยอิสลาม มีนายด่านบกเป็นฝ่ายไทยพุทธและนายด่านทะเลเป็นฝ่ายไทยอิสลาม จัดแบ่งตำบลบ้านเป็นฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกโดยถือแม่น้ำตรังเป็นหลัก นับว่าการปกครองเมืองตรังเริ่มเข้ารูปในช่วงนี้ และกล่าวกันว่าการสร้างศาลหลักเมืองที่ควนธานีคงเป็นในระยะแรกตั้งเมืองนี้เอง

 

ท่าเรือค้า ท่าเรือรบ

การเข้ามาดูแลจัดการของพระยานคร (น้อย) ทำให้เมืองตรังมีฐานะโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้าในช่วงนี้เจริญมาก เพราะมีสินค้าที่ชาวต่างประเทศต้องการ คือ ช้าง และดีบุก ทางราชธานีได้สนับสนุนโดยส่งช้างจากกรุงเทพฯ และสั่งการให้หัวเมืองต่างๆ รวบรวมช้างส่งไปยังปากน้ำเมืองตรัง ในปี พ.ศ.๒๓๕๗ ดังความว่า

ช้างเกณฑ์กำปั้นหลวงมีอยู่ข้างพระราชวังหลวงส่งไปแต่กรุงเทพมหานครสิบสี่ช้าง เมืองไชยาส่งมาสิบสามช้าง พระยานครทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิบห้าช้างกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหกช้าง เท่ากับช้างสี่สิบแปดช้าง ขาดไม่ครบสิบสองช้างให้ พระยาพัทลุงกรมการจัดซื้อช้างเกณฑ์กำปั่น ณ แขวงเมืองพัทลุง ให้ได้ศอกนิ้วส่งมาเมืองนครได้จำหน่ายลงกำปั่น ณ ปากน้ำเมืองตรังให้ทันมรสุม

ในครั้งนี้มีเรือกำปั่นจากอินเดีย ๒ ลำ มาซื้อช้าง และพระยานครฯ(น้อย) ได้แต่งกำปั่นหลวงอีก ๑ ลำ รวม ๓ ลำ บรรทุกช้างดังกล่าวและดีบุกจากเมืองถลางส่งไปขายยังอินเดียเมืองตรังในช่วงนี้จึงเป็นท่าเรือค้าที่ยิ่งใหญ่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกก็ว่าได้ นอกจากจัดการกำปั่นค้าแล้ว พระยานครฯ (น้อย) ยังทำอากรรังนกด้วย แต่พอทำได้ ๒ ปี ก็มีคำสั่งจากทางราชธานีให้พระยาอภัยนุราชน้องพระยาไทรบุร์รับช่วงต่อไป

ฐานะสำคัญของเมืองตรังอีกด้านหนึ่งคือเป็นฐานทัพเรือ เพื่อป้องกันพม่าและควบคุมหัวเมืองมลายูหากเกิดปัญหาก็มีอำนาจจัดการได้ทันที จึงต้องจัดกองเรือไว้ให้พร้อมสรรพเสมอ ในช่วงที่เจอมส์โลว์เข้ามาเมืองตรัง ก็ได้บันทึกถึงการต่อเรือที่เมืองตรังว่า มีคนจำนวน ๑๐๐๐ คน ทำงานต่อเรืออยู่ที่ตรัง มีเรือใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว ๑๕ ลำ  และมีเรือเล็กที่อยู่ในสภาพใช้งานได้อีก ๓๐ ลำ นอกจากนี้ยังมีการต่อเรือที่ปะเหลียนด้วย เรือเหล่านี้จัดทำไว้เพื่อป้องกันโจรสลัด ทำการค้า และควบคุมไทรบุรี เรื่องนี้สอดคล้องกับชื่อสถานที่ริมแม่น้ำตรัง เขตอำเภอเมืองตรัง คือ บ้านทุ่งทัพเรือและอู่ตะเภา ซึ่งเล่ากันมาว่าเป็นที่ต่อเรือของพระยานคร (น้อย) เช่นกัน

ไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยในการควบคุมของนครศรีธรรมราช ได้พยายามเสมอที่จะปลีกตัวเป็นอิสระ บางครั้งไปพึ่งพิงอังกฤษที่เกาะปินัง บางครั้งก็ไปสมคบกับพม่า เมื่อเกิดเหตุกบฏแข็งข้อขึ้น ทางนครศรีธรรมราชก็ต้องยกกำลังไปปราบปราม โดยใช้ทั้งกองทัพเรือและกองทัพบก ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ ก็ยกกองทัพเรือไปจากเมืองตรัง ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๖๙ ไทยและอังกฤษตกลงกันได้เรื่องดินแดนไทรบุรีตามสนธิสัญญาเบอร์นี่ เป็นผลให้อังกฤษงดความช่วยเหลือแก่ไทรบุรี ส่วนทางฝ่ายพม่าที่เคยมารบกวนไทยก็เลิกไปเพราะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การบำรุงกองทัพเรือในเมืองตรังไม่มีความจำเป็นต่อไป กองทัพเรือที่เมืองตรังจึงอ่อนแอลง เห็นได้จากการที่แขกสลัดหวันหมาดหลีสามารถยึดครองเมืองตรังได้ระยะหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๑ ทางกรุงเทพฯ มีงานถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีพันปีหลวง พระยาสงขลา เจ้าพระยานคร (น้อย) เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตนกูมะหะหมัดสะอัด ตนกูมะหะหมัดอาเกบ หลานเจ้าพระยาไทรบุรี และหวันหมาดหลี ซึ่งเป็นหัวหน้าแขกสลัดอยู่ที่เกาะยาว ถือโอกาสยกทัพเรือเข้าตีเมืองไทรบุรีได้ แล้วยกมาตีเมืองตรัง หวันหมาดหลีคุมเรือ ๗๙ ลำ คน ๑๐๐๐ เศษ เข้าตีเมืองตรัง พระสงครามพิชิตเจ้าเมืองตรังไม่สามารถต้านทานได้ ครั้นได้เมืองตรังแล้วจะข้ามไปตีเมืองสงขลา แต่ทางสงขลาและนครฯสามารถปราบปรามได้ทำให้เหตุการณ์สงบลง เหตุการณ์ครั้งนั้นมีเรื่อเล่าอยู่หลายเรื่องได้แก่

หมู่แขกบางกลุ่มที่บ้านฉางหลาง อำเภอสิเกา เล่าว่าบรรพบุรุษของตนเป็นแขกสลัดครั้งนั้น หลังการรบแล้วก็ถือโอกาสตั้งรกรากอยู่ในเมืองตรัง ส่วนที่โค้ง ตูลูลู้ด ริมแม่น้ำตรัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง เป็นที่ตั้งป้อมรบกับแขกสลัด ที่บ้านนาท่ามพวกสลัดเข้ามาเผาบ้านเรือนชาวบ้านต้องหนีไปซุกซ่อนตามในป่า ที่บ้านทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว มีผู้นำทัพจากเมืองนครฯ คือพระณรงค์สงคราม หลวงไกรโสภณบุตรชาย และชีแหวง (อิ่ม) บุตรสาว ตั้งค่ายต่อสู้กับพวกสลัด โดยเฉพาะชีแหวงนั้นเป็นสตรีที่เก่งกล้าจนเป็นที่เลื่องลือและมีผู้ร้อยคำกลอนไว้ว่า เรี่ยวแรงแข็งกล้ายิ่งกว่าชาย อยู่ในทะเลวนเป็นคนร้าย ใครสู้ไม่ได้อีชีแหวง คลองลำเลียง ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านทุ่งค่าย เป็นที่ลำเลียงพลและเสบียงจากทุ่งค่ายออกสู่แม่น้ำปะเหลียน อีกแห่งหนึ่งคืออ่าวบุญคง ที่หาดปากเมง ก็เป็นที่ตั้งทัพรับมือพวกสลัดโดยมีผู้นำชื่อนายบุญคง

 

 

หัวเมืองฝั่งตะวันตก

หลังสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) แล้ว ความสำคัญของเมืองตรังลดน้อยลง ประกอบกับหัวเมืองอื่น ๆ มาฝั่งตะวันตกของภาคใต้ เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง โดดเด่นขึ้น เพราะเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่ทำรายได้สำคัญ เมื่อย่างเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  หัวเมืองทางฝั่งตะวันตกได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากเมืองหลวง โดยจัดให้ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองและบางช่วงก็มาตั้งอยู่ที่เมืองตรัง

การเข้ามามีบทบาทของข้าหลวงฝั่งตะวันตกเริ่มจาก พ.ศ. ๒๔๑๗ กรรมการจีนก่อความไม่สงบในหัวเมืองฝั่งตะวันตก การปกครองหัวเมืองแถบนี้ต้องเอาใจใส่ระมัดระวังมากขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มาเป็นข้าหลวงพิเศษประจำการอยู่ที่เมืองภูเก็ต หลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ของกรรกรจีนในภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เมืองตรังเป็นศูนย์กลางของข้าหลวงพิเศษ แต่ข้าหลวงคนต่อๆไป จะไปประจำการที่ภูเก็ตมากกว่าเมืองตรัง เพราะฉะนั้นการใช้เมืองตรังเป็นศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองฝั่งตะวันตกจึงไม่ประสบความสำเร็จ

พ.ศ.๒๔๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วงบุนนาค) ออกไปตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก คิดจะปรับปรุงเมืองตรังและหมายจะให้เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป โดยมีนโยบายว่า เมืองตรังพื้นภูมิจะเพาะปลูกก็ดี คลองน้ำก็ลึก เรือลูกค้าวาณิชจะไปมาค้าขายก็ได้สะดวกจึงได้คิดสร้างทำนุบำรุงให้เป็นภูมิบ้านเมืองขึ้น

การตรวจราชการของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในครั้งนั้นมีผลต่อระบบการเมืองเมืองการปกครองของเมืองตรัง เพราะได้โอนจากการเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราชมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีการกำหนดเขตแดน การแยกเก็บภาษีอากร และบำรุงการค้า ด้วยความต้องการให้เป็นเมืองท่าค้าขายของเมืองตรังเอง โดยให้พระยารัตนเศณษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนองมารักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเพื่อพัฒนาเมืองตรัง แต่ไม่ทันสำเร็จ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน พ.ศ.๒๔๒๕

ร่องรอยการทำงานของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่ยังปรากฏหลักฐานที่ตำบลควนธานีเมืองเก่า คือรากฐานของตึกที่ทำการรัฐบาลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรียกตึกข้าหลวงและทรงบรรยายว่า ดูใหญ่โตมากยาวเห็นจะสักเส้นหนึ่งได้ กว้างราว ๑๕ วา ก่อพ้นดินขึ้นมาศอกเศษ ความคิดของท่านจะให้เป็นศาลชำระไปด้วยในตัว แต่การค้างเพราะเกินกำลังเมือง… ปัจจุบันยังมีร่องรอยอิฐเก่า ๆ อยู่ในบริเวณดังกล่าว

พระยารัตนเศรษฐีบำรุงการค้าขายด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูก นำกุลีจีนเข้ามาทำไร่อ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลทรายแดงส่งขายปีนัง โดยมีเรือใบ ๓ หลักเข้ามารับถึงคลองโต๊ะหร้า ปัจจุบันร่องรอยปล่องไฟและเตาเคี่ยวน้ำตาลของโรงงานยังมีอยู่ที่บ้านจุปะ ตำบลกันตังใต้ ส่วนหินลูกโม่หีบอ้อยนั้นนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ อำเภอกันตังหินลูกโม่ชนิดเดียวกันนี้ยังมีอยู่ที่ตำบลลำภูรา แสดงว่าโรงงานทำน้ำตาลมีหลายแห่ง

เนื่องจากพระยารัตนเศรษฐีดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ๒ แห่ง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองตรัง ในที่สุดก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ใน พ.ศ.๒๔๒๘ หลังจากนั้นเมืองตรังอยู่ในความปกครองของข้าหลวงฝั่งตะวันตกต่อไปจนถึง พ.ศ.๒๓๓๑ พระตรังคภูมาภิบาล(เอี่ยม) เชื้อสายเจ้าพระยานครฯ ได้เป็นเจ้าเมืองตรังต่อมา สมัยนี้เองที่ราษฎรได้ยื่นฎีกาถวายต่อรัชกาลที่ ๕ ว่าถูกเจ้าเมืองกดขี่ และขอเจ้าเมืองคนใหม่

ใน พ.ศ.๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ทรงเห็นว่าเมืองตรังทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกระ มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง รับบรรดาศักดิ์ใหม่เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

 

ผู้ว่าราชการเมืองตรัง

ชื่อผู้ว่าราชการเมืองตรัง ปรากฏชัดเจนครั้งแรกคือ พระภักดีบริรักษ์ หรือที่รู้จักกันในนามพระยาตรัง หรือพระยาตรังคภูมาภิบาล (สีจัน หรือสีไหน) ผู้เป็นกวี คนต่อมาได้แก่พระยาลิบง (โต๊ะปังกะหวา) และหลวงฤทธิสงคราม เมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๕๔ ก็มีชื่อหลวงอุภัยราชธานีในทำเนียบกรมการเมืองตรังของเก่า พ.ศ. ๒๓๕๕

หลัง พ.ศ.๒๓๕๕ ไม่ปรากฏบทบาทชื่อเสียงของผู้ว่าราชการเมืองตรัง การดูแลการค้าและการทหารของเมืองตรังเป็นบทบาทของนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ เจมส์โลว์ เดินทางเข้ามาเมืองตรังเพื่อจะเจรจาความเมืองกับทางนครศรีธรรมราช ก็มีเพียงปลัดเมืองตรังเป็นผู้ต้อนรับให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ก็ส่งบุตรชายจากนครศรีธรรมราชเป็นผู้แทนมาเจรจาจากจดหมายเหตุ เจมส์โลว์ ตอนหนึ่งกล่าวว่า ตรังถูกกำหนดให้อยู่ใต้การปกครองของข้าราชการผู้หนึ่ง ซึ่งมียศเป็นปลัดและผู้ช่วย ๒ นาย อยู่ที่ควนธานี แสดงว่าบุคคลที่ดูแลเมืองตรังในช่วงนี้ไม่ใช่พระอุภัยราชธานีแล้ว

หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกัลเจ้าเมืองตรัง จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ จึงมีชื่อพระสงครามวิชิต เจ้าเมืองตรังในเหตุการณ์สลัดหวันหมาดหลีตีเมืองตรัง

บุคคลในสกุล ณ นคร ที่สืบทอดมาจากพระอุไทยธานี (ม่วง) กล่าวว่า พระสงครามวิชิตเป็นคนเดียวกับพระอุทัยธานี (ม่วง) โดยอ้างข้อความในทำเนียบข้าราชการนครศรีธรรมราชว่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ บรรดาบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่อยู่รักษาเมืองไทรบุรี ได้แก่ พระภักดีบริรักษ์ นายนุด นายกล่อม นายภู นายม่วง กลับคืนมาอยู่เมือง พระภักดีบริรักษ์(แสง) ได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นพระยาไทรบุรี หลังจากนั้นไม่แน่ชัดว่าปีใด พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ช่วยกันรักษาเมืองไทรบุรีได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางกันทุกคน นายม่วงนั้นน่าจะได้เป็นพระสงครามวิชิตผู้รักษาเมืองตรังในช่วงเวลาพร้อม ๆ กันนี้ และคงได้เป็นพระอุไทยธานีหลังจากเหตุการณ์แขกสลัดตีเมืองตรัง ต่อมาทำความผิดจนถูกปลดจากตำแหน่ง เพราะมีเอกสารระบุชื่อ นายม่วงอุไทยธานีออกนอกราชการ นำเสด็จออกมาเมืองนครศรีธรรมราชแล้วหนีไปเมืองตรัง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวนายม่วงเข้ากรุงเทพฯ โดยด่วน นายม่วงผู้นี้มีธิดาชื่อกุหลาบและอำพันเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ เข้าใจว่าคงจะนำขึ้นถวายตัวในช่วงที่เพิ่งขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ สุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ นายม่วงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไสักเลกเมืองชุมพร และถึงแก่กรรมที่เมืองนั้น

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้แยกได้ว่า หลวงอุภัยราชธานีผู้พยาบาลเมืองตรัง พ.ศ.๒๓๕๔ คงเป็นคนละคนกับนายม่วงอุไทยธานีนอกราชการ ด้วยเหตุผลประการแรกคือ ชื่อ อุภัยราชธานี กับ อุไทยธานี ต่างกัน แต่อาจทำให้สับสนได้เพราะคล้ายกัน อีกประการหนึ่ง นายม่วงอยู่ในกลุ่มพี่น้องรุ่นหนุ่มที่ช่วยกันรักษาเมืองไทรบุรี พระภักดีบริรักษ์ (แสง) ตำแหน่งเจ้าเมืองไทรบุรีตามบันทึกของเจมส์โลว์ที่ได้เข้าพบใน พ.ศ.๒๔๗๖ กล่าวว่ามีอายุเพียง ๑๙ ปีเท่านั้น นายม่วงก็รุ่นราวคราวเดียวกัน คงอายุไม่มากพอที่จะเป็นเจ้าเมืองได้ถ้านับย้อนหลังไปถึง พ.ศ. ๒๓๕๔

หลังสมัยพระอุไทยธานี (ม่วง) แล้ว คงจะมีผู้ว่าราชการเมืองตรังคนใหม่ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเป็นผู้ใด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๙๖ มีหนังสือแต่งตั้งหลวงพิไชยธานีปลัดเมืองตรังให้เป็นพระตรังควิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา ผู้ว่าราชการเมืองตรัง แทนพระตรังผู้ป่วยเป็นไข้ถึงแก่กรรม ในครั้งนั้นยังให้เมืองตรังอยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราช พระตรังที่ถึงแก่กรรมน่าจะเป็นพระตรังนาแขก ซึ่งมีร่องรอยของบ้านเจ้าเมืองและคุกอยู่ที่บ้านนาแขก ตำบลหนองตลุด อำเภอเมืองตรัง เพราะในสมัยก่อนตัวเจ้าเมืองอยู่ที่ใดก็ว่าราชการอยู่ ณ ที่นั้น

พระตรังควิษยานุรักษ์ฯ นั้นชื่อ ทองบาน เป็นต้นตระกูล วิทยารัฐ ดำรงตำแหน่งถึงปีใดไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ยังมีชีวิตอยู่ จากข้อความจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ๒ องค์ ที่วัดประวิทธิชัย กล่าวว่า พระตรังควิษยานุรักษ์ฯ และแม่กิ้มภรรยาสร้างไว้เมื่อ จ.ศ. ๑๒๔๕ ซึ่งในช่วงนี้ระบบการปกครองบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และมีผู้ปกครองจากส่วนกลางในฐานะข้าหลวงหัวเมืองฝั่งตะวันตกเข้ามาดูแลเมืองตรังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระตรังควิษยานุรักษ์ อาจจะออกจากราชการไปแล้ว ตำแหน่งที่ฐานพระคงไม่ต้องมอบหมายหน้าที่กันเช่นนี้ ต่อมา พ.ศ.๒๔๒๕ -   ๒๔๒๘ พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตรัง ต่อจากนั้นเมืองตรังอยู่ในความดูแลของข้าหลวง หัวเมืองฝั่งตะวันตกมา ๒ สมัย คือ พระอนุรักษ์โยธา (กลิ่น) และพระสุรินทรามาตย์ พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ พระตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ถึง พ.ศ.๒๔๓๓ หลังจากนี้ก็ถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊  ณ ระยอง)

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>