การตั้งถิ่นฐานชุมชนยุคประวัติศาสตร์ – ยุคนครศรีธรรมราช

1.2.3 ชุมชนยุคนครศรีธรรมราชเมื่อพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ แพร่หลายเขามาแทนที่พุทธศาสนานิกายมหายาน (วัชรยาน) อย่างศรีวิชัย ความเป็น ชุมชน ในจังหวัดตรังได้รับการบันทึกไว้ในรูปตำนาน เรื่องเล่า นอกเหนือจากหลักฐานเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ

ถ้าถือตำนานชุมชนเป็นตัวตั้ง จะพบว่ามีชุมชนตั้งอยู่เรียงรายตามลำแม่น้ำตรังสายหนึ่ง และตั้งอยู่ตามแนวเทือกเขาบรรทัดอีกสายหนึ่ง

สายแรกเล่ากันว่าพระภิกษุสงฆ์และอุบาสกจากลังกา นำทรัพย์สมบัติ มี แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นอาทิ ไปบูชาพระบรมธาตุและบูรณะเจดีย์ ตำนานสายนี้ ได้แก่ ตำนานการสร้างวัดย่านเกลื่อน ตำนานการสร้างพระพุทธรูปที่ถ้ำพระองค์กลาง วัดเขาปินะ ตำนานการสร้างวัดหูแกง ฯลฯ

ตำนานเรื่องการไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมรา อ้างยุคสมัยสับสนกันอยู่ บ้างก็ว่าไปบูชาและร่วมก่อสร้าง บ้างก็ว่าไปบูชาและร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์… 22

เมื่อตรวจสอบตำนานลายลักษณ์เรื่องการสร้างพระบรมธาตุ เจดีย์ นครศรีธรรมราช ว่าสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พ.ศ. 1098 (บ้างก็ว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1300) เป็นเจดีย์ทรงแบบศรีวิชัย อย่างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองไชยก่อน ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุให้บูรณปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. 1770

ตำนานพื้นบ้านดังกล่าวเล่าความว่า พระสงฆ์ และอุบาสกนำทรัพย์สมบัติไปบูชาพระบรมธาตุและบูรณะเจดีย์แต่ไปไม่ทัน ทราบว่าพระเจ้าจันทรภาณุบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว นักจาริกแสวงบุญจากดินแดนเหล่านั้น จึงนำทรัพย์สินส่วนหนึ่งซ่อนไว้ พร้อมอธิษฐานว่า ถ้าพระบรมธาตเจดีย์ทรุดโทรมเมื่อใดขอให้ผู้มีบุญพบทรัพย์สินที่ฝังซ่อนไว้นั้นนำไปบูชาและบูรณะ

ชุมชนวัดย่านเกลื่อน ชุมชนเขาปินะ อำเภอห้วยยอด เป็นต้นเหล่านี้ จึงเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางสืบเนื่องต่อมาจากสมัยศรีวิชัย

สายที่สอง เป็นตำนานนางเงือกเลือดขาว ตำนานนางเลือดขาวยังแบ่งออกเป็นสองสายย่อย คือ

สายตำนานพงศาวดารเมืองพัทลุง มีความเกี่ยวข้องกับเมืองตรังดังนี้

ครั้งปีจอ โทศก พ.ศ. 1493 (จ.ศ. 312) พระยากุมารกับนางเลือดขาวก็เที่ยวไป 7 วัน ถึงตรัง แขวงเมืองนครศรีธรรมราช พระยากุมรก็ทำพระพุทธรูปเป็นบรรทมที่ตรังนั้นองค์หนึ่ง และเมื่อกลับจากลังกาสิงหฬนั้น นางเลือดขาวจึงสร้างอารามพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ ณ ที่พักที่ตรังอีกอารามหนึ่ง เขียนจารึกไว้ ลงวันอาทิตย์ เดือน 6 แรม 5 ค่ำ

สายตำนานพื้นบ้านเมืองตรัง

สายนี้ว่า นางเลือดขาวสร้างวัดและสร้างพระพุทธรูป คือ พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง (องค์ที่เป็นพระประธานอุโบสถวัดพระพุทธสิหิงค์) พระงาม วัดพระงาม พระบรรทมวัดภูเขาทอง พระบรรทม วัดถ้ำพระพุทธ 23

ชื่อชุมชนที่อ้างถึงในตำนานสายที่สอง มีวัดพระพุทธสิหิงค์ อำเภอนาโยง ชุมชนรอบ     วัดพระงาม อำเภอเมืองตรัง ซึ่งถ้าพิจารณาโดยหลักวิชาภูมิศาสตร์กายภาพสถานที่เหล่านี้เป็นที่ราบลุ่มน้ำ มีอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมอำเภอเมืองตรัง ด้านทิศตะวันออกไปถึงอำเภอนาโยงและจรดชายเขาบรรทัด

ตำนานเรื่องนางเลือดขาวเดินทางสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป ตามเส้นทางเลียบชายเขาบรรทัดจากอำเภอนาโยงไปอำเภอห้วยยอด ออกอำเภอรัษฎา เข้าเขตเมืองนครศรีธรรมราชล้วนแล้วไปด้วยชุมชนชายเขา ตั้งแต่วัดภูเขาทอง ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองตรัง ไปถึงวัดถ้ำพระพุทธ อำเภอรัษฎา

การแพร่เข้ามาของพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ถูกบันทึกไว้ในรูป มุขปาฐะ เป็นตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้านพื้นเมือง (บ้างก็ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์ภายหลัง เช่น พงศาวดารเมืองพัทลุง)

การแพร่หลายของพระพุทธศานสนาลัทธิลังกาวงศ์ บ่งบอกความเป็นชุมชนต่างๆ อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานของคนสังคมเกษตรกรรมด้วยแล้ว จะพบว่าทุ่งนาโยง ลุ่มน้ำคลองนางน้อย เป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นมีที่ราบลุ่มน้ำเหมาะสมกับการทำนาปลูกข้าว เป็นอาณาบริเวณกว้าง มีสัตว์น้ำจืด พืชผักพรรณ ไม้ผล ตลอดถึงพืชสมุนไพร พอเพียงแก่การดำรงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตตามหลักเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ (Self-Suffcient) ซึ่งขยายความไปถึงการเอื้อเฟื้อเจือจาน ถ้อยทีถ้อยอาศัย แลกเปลี่ยนแบบ พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้ เป็นลักษณะ Barter System ดั้งเดิม ชุมชนทุ่งนาโยง มีวัดพระพุทธสิหิงค์เป็นศูนย์กลาง 24

ชุมชนแถบลุ่มน้ำจึงมีกายภาพลักษณ์เดียวกันนี้ทั่วทั้งเมือง

วัดสาลิการาม อำเภอเมืองตรัง มีตำนานเล่าว่ามีพะภิกษุปฏิบัติธุดงควัตรชื่อพระกาแก้วกับพระการาม สองรูปจากพัทลุง มาปักกลดอยู่บนโคกกลางทุ่งนา ลุ่มน้ำคลองนางน้อยช่วงปลายก่อนลงสู่แม่น้ำตรัง และสร้างวัด สาลิการาม ณ โคกนั้น ต่อมา รอบๆ วัดสาลิการาม เป็นที่ราบลุ่มน้ำคลองนางน้อยตอนปลาย มีทุ่งนาต่อขึ้นไปทางเหนือน้ำ (ต้นน้ำ) เชื่อมกับทุ่งนาโยงขึ้นไปถึงชายเขาก็มีชุมชนรอบวัดภูเขาทอง 25ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองตรัง

อำเภอเมืองตรัง ยังมีชุมชนดั้งเดิมที่มีวัดพระพุทธศาสนาลัทธ์ลังกาวงศ์ เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ชุมชนรอบวัดพระงาม 26ซึ่งมีแหล่งที่นา ได้แก่ ทุ่งบ้านโพธิ์ ทุ่งนาพละ ไปจรดทุ่งนาโยง

ตำนานพื้นบ้านพื้นเมืองตรัง เล่าขานการเดินทางไปบูชา ก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช กล่าวถึงขบวนช้างจากชุมชนนาโยง เดินทางผ่านชุมชนแถวห้วยยอด เช่น หนองช้างแล่น ไปออกชุมชนแถวอำเภอรัษฎา เช่น ถ้ำพระพุทธ บ้างก็เล่าว่า เดินทางไปออกชุมชนบ้านเกาะเต่า หรือในเตา อำเภอห้วยยอด

ชุมชนรอบวัดถ้ำเขาปินะ วัดคีรีวิหาร วัดหูแกง ลุ่มแม่น้ำตรังตอนบน เขตอำเภอห้วยยอด มีตำนานการก่อสร้างวัดและหลักฐานปูชนียวัตถุ บ่งบอกความเป็นชุมชนดั้งเดิมสมัยนครศรีธรรมราช

ปากอ่าวแม่น้ำตรัง มีชุมชนชายฝั่งชื่อ พระม่วง ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านมุสลิมนอกจากนิทานบอกประวัติชุมชนที่มีแก่นสารคุณธรรมข้อกตัญญูกตเวทีแล้ว ชื่อชุมชนและตำนานการเข้ามาของพระพุทธสิหิงค์สู่เมืองตรังบอกความเก่าแก่ของชุมชนบ้าน พระม่วง ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายทะเลที่เคยเข้าใจกันมาว่าเป็นแหล่งชุมชนมุสลิมตลอดแนว

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>