การตั้งถิ่นฐานชุมชนก่อนประวัติศาสตร์

บทที่ 2 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

 

1. การตั้งถิ่นฐาน

1.1 การตั้งถิ่นฐานชุมชนก่อนประวัติศาสตร์

ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดตรัง มีโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหิน ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะทำจากสะเก็ดหินปูนขนาดใหญ่ และทำจากหินควอร์ตไซต์ (Quartzite) เครื่องมือหินขัดทั้งขวานหินไม่มีบ่าและมีบ่า โบราณวัตถุประเภทดินเผาทั้งแบบเรียบและแบบลายเชือกทาบ และโบราญวัตถุประเภทภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ

แหล่งโบราณคดีที่ปรากฏร่องรอยความเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งผ่านการสำรวจแล้ว ได้แก่

เขาเจ้าไหม   ตำบลเขาลิบง   อำเภอกันตัง

ถ้ำเขาไม้แก้ว   ตำบลเขาไม้แก้ว   อำเภอสิเภา

ถ้ำหมูดิน   ตำบลปากแจ่ม   อำเภอห้วยยอด

เขาหญ้าระ   ตำบลลิพัง   อำเภอปะเหลียน

ถ้ำซาไก   ตำบลปะเหลียน   อำเภอปะเหลียน2

 

ถ้ำเขาปินะ   ตำบลนาวง   อำเภอห้วยยอด

ถ้ำเขาสามบาตร   ตำบลนาตาล่วง   อำเภอเมืองตรัง3

 

ถ้ำตรา   ตำบลปากแจ่ม   อำเภอห้วยยอด

ถ้ำเขาน้ำพราย   ตำบลปากแจ่มอำภอห้วยยอด4

 

ถ้ำหน้าเขา   ตำบลช่อง   อำเภอนาโยง5

ขวานหินขัด ทั้งประเภทไม่มีบ่าและมีบ่า สามารถพบได้ทั่วไปในถ้ำตามภูเขาลูกโดด แถบลุ่มแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียนและคลองนางน้อย หรืออาจพบได้ตามริมตลิ่งตะพังแม่น้ำ ชาวบ้านใช้ขวานหินเหล่านี้เป็นประโยชน์เชิงคติชน โดยนำไปวางไว้บนลอมข้าวในยุ้งฉาง เชื่อว่าป้องกันหนูมิให้มากินข้าว บ้างก็แช่น้ำไว้ในกะละออมน้ำดื่มเพื่อป้องกันโรค อันเกิดจากการดื่มน้ำได้ หมอสวดบ้านพลีเรือน เรียกว่า หินผ่านฟ้า หรือ หินขวานฟ้า ใช้ประกอบพิธีสวดบ้านพลีเรือน ขับไล่อุบาทว์ฟ้าดินได้

ที่หน้าผาเขาแบนะ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีภาพเขียนสี ดูออกชัดเจนว่าเป็นภาพปลากระบอกที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาหล้อบัน และหัวสัตว์ป่าคล้ายเสือ คงเป็นเสือปลาชนิดหนึ่ง

แหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก ถ้ำหน้าเขา เป็นชุมชนเขาป่าเขาอันเป็นต้นน้ำ ถ้ำเขา ไม้แถว ถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาสามบาตร เป็นชุมชนเขตทุ่งราบลุ่มน้ำ ส่วนเขาเจ้าไหม เขาแบนะ เป็นชุมชนเขตชายฝั่งทะเล

ความเป็นหมู่ตรังเขา ตรังทุ่ง ตรังเล จึงมีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเทียบอายุ กับ ถ้ำซาไกได้ว่า “เป็นยุคก่อนยุคหินใหม่ (Pre-ne0lithic)และควรมีอายุอยู่ในระหว่าง 6,000-10,000 ปี ล่วงมาแล้ว”6

การศึกษาทางโบราณคดี ผ่านเครื่องมือกัน ภาชนะดินเผา และร่องรอยวัฒนธรรมอื่นๆ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในจังหวัดตรัง แล้วศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นๆ ในจังหวัดตรังและต่างประเทศ “สร้างมิติใหม่ให้กับวงการโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นการค้นพบข้อมูลการอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลายถึงปลายยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ 25,000 ถึง 4,300 ปี ล่วงมาแล้ว” 7

การศึกษาถ้ำซาไก ของสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ เป็นต้นแบบให้ผู้สนใจได้ศึกษาวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ซึ่งจะได้นำมาเสนอสรุปให้เห็นภาพวิถีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดตรัง

เครื่องมือหินกะเทาะ (Stonetool) เป็นขวานหิน ในชั้นวัฒนธรรมที่ 1 ซึ่งใช้กันในยุคหินเก่าตอนปลาย (LaetPalaeolithic) มีจำนวน 102 ชิ้น เครื่องมือสะเก็ดหิน (Flake) จำนวน 721 ชิ้น และสะเก็ดหิน (Wasteflake) จำนวน 367 ชิ้น

เครื่องมือหินเหล่านี้ใช้ล่าสัตว์ เช่น ควายป่า หมูป่า เก้ง โดยตรง และยังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำเครื่องมือล่าสัตว์อื่นๆ เช่น ไม้ซาง หรือบอเลา – ลูกดอก ตลอดถึงเครื่องดักจับสัตว์ต่างๆ อันเป็นเครื่องมือไม้ (Wood Working)

ผลการวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอยที่พบในถ้ำซาไก ทำให้รู้ว่ามนุษย์บุพกาลบริโภคเนื้อสัตว์ต่างๆ เป็นอาหาร ได้แก่ ค่าง นาก บ่าง กระรอก อ้น เม่น ปลา ลิง หมูป่า หมูหริ่ง พญากระรอกดำ กระรอกบินเล็กแก้มขาว เต่า หอยโล่ หอยน้ำพริก หรือหอยลาย หอยกาบน้ำจืด หอยโข่ง หอยกัน หอยภูเขา หอยเบี้ย หอยบก หอยแมลงภู่

สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ ตีความว่า คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ล่าสัตว์เล็กๆ ที่อยู่บนต้นไม้ เช่น ลิง ค่าง พญากระรอกดำ กระรอกบินเล็กแก้มขาว โดยใช้เครื่องมือไม้ เช่น ไม้ซาง ที่ชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไกนิยมใช้ล่าสัตว์เหล่านั้นในปัจจุบัน ส่วนหมูหริ่งและหมูป่า อาจจะใช่วิธีล่าโดยใช้เครื่องมือดักจับสัตว์เช่นเดียวกันกับชนกลุ่มน้อย เผ่าซาไกในปัจจุบัน และหอยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดยกเว้นหอยจากทะเล เช่น หอยเบี้ยและหอยแมลงภู่แล้ว น่าที่จะตีความโดยใช้พฤติกรรมการล่าสัตว์และจับสัตว์ของชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไกมาอธิบายได้ว่า เป็นการจับหอยต่างๆ โดยใช้มือจับหรืองมจากแม่น้ำลำธาร หรือหนองบึง เป็นต้น ส่วนหอยเบี้ยนั้นเป็นหอยหายากและพบในปริมาณน้อย ซึ่งได้ถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับทุกชิ้น และน่าสังเกตว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้ล่าสัตว์ใหญ่เพียงเล็กน้อย หรือเกือบจะไม่ได้ล่าสัตว์ใหญ่เลย

นอกจากพบตัวอย่างเมล็ดพืชจำนวนมากในกองไฟที่ถ้ำซาไกแล้ว ยังพบแกลบที่ถ้ำแกลบ เขาปินะ แสดงว่าคนสมัยนั้นบริโภคธัญพืชด้วย

ถ้ำต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว (Temporary camp) และโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ตลอดเวลาตามลักษณะฤดูกาลของแหล่งอาหาร (Food seasonality) และในกรณีที่มีสมาชิกตาย หลังจากฝังศพโดยใส่เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้ตายในพิธีกรรมฝังศพแล้วก็จะอพยพโยกย้ายไปทันที

ภาพเขียนสี เขาแบนะ รูปปลาแสดงโครงร่างภายในลักษณะเดียวกับรูปปลาที่เขาเขียน ตำบลเกาะปันหยี จังหวัดพังงา 8และรูปปลาแสดงโครงร่างภายนอกตกแต่งด้วยลายเส้นภายในที่ถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ 9

เศษภาชนะดินเผาหม้อสามขา จากถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาสามบาตร แสดงอารยธรรมมนุษย์ยุคก่อนli

หม้อสามขายังเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ประจำยุคสมัย โดยที่สามารถใช้ไม้ฟืนก่อกองไฟใต้ก้นหม้อ ระบายความร้อนอกทางรูขาหม้อเพื่อป้องกันการแตกร้าว ขาหม้อยังใช้แทนก้อนเส้าได้เป็นอย่างดีอีกต่างหาก

ชนกลุ่มน้อยที่ใช้ชีวิตเร่ร่อน หาของป่าล่าสัตว์ อันเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์หมู่ตรังเขา สามารถศึกษาได้จากชนเผ่าซาไก ซึ่งเร่ร่อนไปตามฤดูแห่งผลผลิตจากป่า เทือกเขาบรรทัด เขตอำเภอปะเหลียน นับว่าเป็นคุณค่ามหาศาลต่อแวดวงวิชาการก่อนประวัติศาสตร์ 10เพราะวิถีชีวิตซาไก ทำให้เห็นร่องรอยมนุษย์ยุคบุพกาล ซึ่งทะลุมิติข้ามมาถึงปัจจุบันอย่างน่าประหลาดใจนัก

ถิ่นฐานก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งได้ 4 ลักษณะ ตามสถานที่ตั้ง คือ

-หมู่เขา ได้แก่ ถ้ำซาไก ถ้ำหน้าเขา

-หมู่ทุ่งชายเขา ได้แก่ ถ้ำเขาน้ำพราย ถ้ำตรา ถ้ำหมูดิน ถ้ำเขาหญ้าระ

-หมู่ทุ่งราบริมแม่น้ำ ได้แก่ ถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำเขาไม้แก้ว

-หมู่เล ได้แก่ ถ้ำเขาเจ้าไหม เขาแบนะ ถ้ำเขาโต๊ะแนะ

เมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดี อธิบายวิเคราะห์ได้ว่าแหล่งชุมชนทั้งหมด มีทั้งในยุคก่อนยุคหินใหม่ (Pre-Neolithic) ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ บุรพชนเหล่านั้นอาศัยถ้ำเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ตามฤดูกาลที่ธรรมชาติให้ผลผลิต พวกเขาบริโภคทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะหอย ผลไม้ เมล็ดธัญพืชและหัวพืชใต้ดิน ซึ่งมนุษย์ปัจจุบันก็ยังบริโภคอยู่อย่างนั้น

การกำหนดแหล่งชุมชนหมู่เขา หมายถึง ผู้ที่อยู่ตามยอดน้ำในเขตป่าเขา เทือกเขาบรรทัด ส่วนหมู่ทุ่งชายเขาได้แก่แหล่งชุมชนชายเขาถัดลงมาจากหมู่เขา หมู่ทุ่งราบริมแม่น้ำเป็นแหล่งชุมชนในที่ราบลุ่มแม่น้ำ และหมู่เล เป็นแหล่งชุมชนชายฝั่งทะเล

ส่วนถ้ำที่อยู่ในหมู่เขาเป็นถ้ำภูเขาเทือกบรรทัด

ถ้ำที่อยู่ในหมู่ทุ่งชายเขาและหมู่ทุ่งราบริมแม่น้ำ เป็นถ้ำในภูเขาเทือกสั้นๆ ชายเทอกเขาบรรทัด และถ้ำในภูเขาลูกโดดกลางทุ่ง

ส่วนถ้ำที่อยู่ในหมู่เล เป็นถ้ำในภูเขาริมทะเล

การยึดเอาถ้ำพำนัก นอกจากอบอุ่นสบายในยามค่ำคืน เย็นสบายในเวลากลางวัน ยังเป็นทำเลเหมาะสมในการหลบภัยธรรมชาติ เช่น พายุ ฝน อุทกภัย ตลอดทั้งอันตรายจากสัตว์ร้าย ทุกถ้ำที่สำรวจแล้วล้วนว่าเป็นแหล่งพักพิงมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 100 – 500 เมตร แม่น้ำท่วมในภาวะปกติ ถิ่นพำนักอันเป็นธรรมชาตินี้ก็ช่วยให้มนุษย์พ้นภัยธรรมชาติได้ด้วย

 

 

                       

 

 

 

You may also like...