การตั้งถิ่นฐานชุมชนยุคประวัติศาสตร์ – ก่อนศรีวิชัย

1.2 การตั้งถิ่นฐาน ชุมชนยุคประวัติศาสตร์

ความเป็นชุมชน (Community) ปรากฏอยู่ในคำพูดของคนตรังว่า หมู่ ซึ่งออกสำเนียงท้องถิ่นว่า โหฺม อันมีความหมายได้สองนัย คือ

หมายถึง หมู่ พวก ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนตามสถานที่อันเหมาะสมกับการดำรงชีพในระบบนิเวศ (eco-system) หนึ่งๆ เช่น หมู่เขา หมู่เล หมู่ทุ่ง หมู่หลาด

หมายถึง หมู่ พวก  โดยกลุ่มชาติพันธุ์ตามความเข้าใจตรงกันของคนในท้องถิ่น (native’s view) เช่น หมู่ไทย หมู่แขก หมู่จีน หมู่เงาะป่าซาไก 11

ความเป็นชุมชนเหล่านี้ เล่าขานโดยตำนานเรื่องเล่าอันเป็นมุขปาฐะ (Oral Literature) และวรรณกรรมลายลักษณ์ในรูปจดหมายเหตุ และเก่าไปกว่านี้เป็นรอยจารึกตัวหนังสือที่ผนังถ้ำ เช่น ถ้ำเขาสามบาตร ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง ถ้ำเขาพระ ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา และหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่านี้อีก คอ พระพิมพ์ดินดิบ วัดคีรีวิหาร ถ้ำเขาสายใกล้วัดหูแกง และถ้ำเขาขาว อำเภอห้วยยอด

ขอไล่เรียงตามยุคสมัยประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในบรรดาผู้สนใจท่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี

1.2.1 ชุมชนก่อนยุคศรีวิชัย ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม อ้างจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ของ Claudius Ptolemy นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งเขียนเรื่องราวบ้านเมืองทางตะวันออกตามคำบอกเล่าของพ่อค้าชาวเมืองนั้น จดหมายเหตุฉบับนี้มีอายุประมาณ พ.ศ. 693 -709 และวิเคราะห์สรุปว่า

แม่น้ำตรัง คือ แม่น้ำ Khrysoanasในจดหมายเหตุฯ นั้น

เมืองตะโกลา ในจดหมายเหตุฯ หรือเมืองตักโกละในคัมภีร์มิลินทปัญหาของพระปิฎกจุฬาภัยเถระ อายุประมาณ พ.ศ. 500 คือ เมืองตรังกรุงธานีเก่า ที่บ้านหูหนาน อำเภอรัษฎา ปัจจุบัน 12

สมมุติฐาน (หรือบางท่านรับว่าเป็นทฤษฎี) ของ ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ยังได้รับการสนองตอบจากนักวิชาการน้อย แต่เป็นแนวคิดที่มีเหตุผลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับในประเด็นว่า บริเวณจังหวัดตรังเป็นแหล่งชุมชนระดับ เมือง มาแล้วตั้งแต่ยุคต้นพุทธศักราช

You may also like...