ประวัติ-อยุธยา และเอกสารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเมืองตรัง

๒.๕ อยุธยา และเอกสารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเมืองตรัง

ตามประวัติพัฒนาการความเป็นรัฐของไทย ที่ต่อเนื่องถึงปัจจุบันนั้น เริ่มจากยุคสุโขทัย และเป็นปึกแผ่นมั่นคงในยุคอยุธยา โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่สามารถรวมสุโขทัยเข้ากับอยุธยาได้สำเร็จ และขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นครศรีธรรมราชนับเป็นเมืองเอกขึ้นต่ออยุธยา และเป็นตัวแทนของราชธานีปกครองกำกับดูแลหัวเมืองในภาคใต้

ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมัยอยุธยา ได้ขยายการค้ากับชาติตะวันตกรวมทั้งโปตุเกสซึ่งเข้ายึดครองมะละกาใน พ.ศ. ๒๐๕๔ ในยุคนี้เมืองตรังมีชื่อในเอกสารต่างประเทศด้วย

บันทึกของ Tome Piresพ.ศ. ๒๐๕๘ ซึ่งติดต่อกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กล่าวถึงเมืองตรังว่าเป็นเมืองท่าฝั่งตะวันตกของอาณาจักรสยาม อันมี ตะนาวศรี จัง ซี ลอน (ถลาง) ตรัง เคดะห์ (ไทรบุรี) อาณาเขตของเคดะห์ติดกับตรัง เมืองท่าฝั่งนี้มีพระยาสุโขทัยเป็นผู้ควบคุมส่วนทางฝั่งตะวันออกนั้นพระยานครศรีธรรมราชเป็นผู้ควบคุม หากถือตามเอกสารนี้อาจกล่าวได้ว่า ช่วงหนึ่งของเมืองตรังมิได้อยู่ในการปกครองของนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ สุวัฒน์ ทองหอม ได้ศึกษาเอกสารของมาเลเซีย พบว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๒๐๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สุลต่านเคดะห์ได้ส่งโอรส ๒ องค์ไปปกครองเกาะในทะเล คือเกาะปินังและเกาะลิบง ผู้ปกครองเกาะลิบงคือ ตนกู อะมัดตายุดดิน มัดรำชะ ซึ่งปกครองอยู่จนถึง พ.ศ.๒๒๔๙ ก็กลับไปเป็นสุลต่านเคดะห์ สำหรับเมืองเกาะลิบงนั้นพระองค์มอบหมายให้มีผู้ปกครองต่อมา เรื่องราวตอนนี้สอดคล้องกับตำนานชาวบ้านที่เล่าสืบต่อกันมา

พระยาแขกที่สร้างเมืองลิบงกับเมืองปินังนั้นมีประสงค์จะทำให้สองเมืองนี้ยิ่งใหญ่คู่กัน แต่โหรได้ทำนายเอาไว้ว่า เมืองทั้งสองนี้จะอยู่คู่กันไม่ได้ หากเมืองหนึ่งเจริญ เมืองหนึ่งก็ต้องร้างผู้คน

การที่สุลต่านเคดะห์ส่งโอรสมาปกครองเกาะลิบงนั้นเป็นไปตามเหตุผลที่ว่า แม้เคดะห์จะอยู่ใต้การปกครองของอยุธยาก็จริง แต่ก็พยายามแยกตัวเป็นอิสระเสมอเมื่ออำนาจของรัฐบาลกลางอ่อนล้า ประกอบกับในท้องทะเลส่วนนี้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญคือรังนก และผลผลิตอื่น ๆ เช่น ปลิงทะเล การเข้าครอบครองย่อมมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงความเป็นชุมชนใหญ่ของเมืองตรังในสมัยอยุธยาคือ จารึกที่ถ้ำเขาสามบาตร กล่าวถึงพิธีการเฉลิมฉลองการบำรุงพระพุทธศาสนา มีทั้งพระภิกษุกรมการเมือง และประชาชนมาร่วมงาน บอกเลขศักราช ๒๑๕๐ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แสดงว่าในยุคนั้นความเป็นชุมชนเมืองและความเป็นพุทธศาสนิกชนของชาวตรังได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง เพราะตามหลักฐานปรากฏว่ามีกรมการเมืองแล้ว

ต่อมาเมื่อถึงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุง เจ้านครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นชุมนุมไม่ขึ้นต่อเมืองหลวง เมืองตรังยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราช

 

 

 

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>