การตั้งถิ่นฐานชุมชนยุคประวัติศาสตร์ – รัชกาลที่5ถึงปัจจุบัน

1.2.5 ชุมชนตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน :ความเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏสงสาร

หมู่เขา

ผู้คนประกอบอาชีพเกษตรกรรม อยู่ตามชายเขา เชิงควน ทำนาระหว่างช่องควนยาวไปตามคดโค้งช่องควนนั้น ที่นาลักษณะนี้เรียกว่า ข้าวมักขึ้นงามดี เพราได้ปุ๋ยหน้าดินธรรมชาติที่น้ำฝนชะล้างลงมาจากควนเขา

ส่วนสวนผลไม้ก็ทำได้เจริญงอกงามดีเช่นเดียวกัน หมู่เขาที่เป็นชุมชนเก่าสามารถย้อนอดีตไปได้ถึงสมันต้นรัตนโกสินทร์ โดยการสอบถามผู้เฒ่าวัย 80 – 90 ปี ที่ความทรงจำยังเล่าความถึงรุ่นปู่ย่าตายาย และถึงรุ่นทวด ที่ผู้เฒ่าเหล่านั้นเคยได้รับการเลี้ยงดูและรับการสั่งสอน เช่นบ้านเหมก บ้านช่องไม้ไผ่ บ้านสำเภา และบ้านด่าน เป็นต้น

ถ้าดูแผนที่จังหวัดตรัง จะพบชื่อชุมชนชายเขาบรรทัดเรียงราย ตั้งแต่อำเภอวังวิเศษ ห้วยยอด รัษฎา เมืองตรัง นาโยง ย่านตาขาว จนกระทั่งปะเหลียนเป็นที่สุด

หมู่เขาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองขึ้นไปจนเกือบถึงยอดน้ำ มีไม้ผลพื้นเมืองขึ้นเองตามธรรมชาติและปลูกเพิ่มเติมตามสองฝั่งน้ำลำคลอง ตลอดถึงไม้พื้นล่างเป็นพืชผักและสมุนไพร สัตว์ป่า ปลาและสัตว์น้ำจืด มีให้จับหากินได้อุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่สมัยหินมาจนปัจจุบัน เช่น หมูเถื่อน และหอยโล่

หมู่เขามักได้รับการเสียดสีว่าล้าหลังไม่ทันสมัยเนื่องจากการไปมาหาสู่กับหมู่บ้านอื่นค่อนข้างลำบาก เส้นทางทุรกันดาร เป็นทางเดินเท้า เรียงเดี่ยวตามหลังกัน

ช่องเขา เป็นเส้นทางเดินเท้าติดต่อกับผู้คนอีกฟากหนึ่งของเทือกเขาทางกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล แม้เมื่อประมาณสักห้าสิบปีมานี่เอง ชาวพัทลุงจูงวัวตามหลัง ต้อนหมูพันธุ์พื้นเมืองที่รั้งไว้ด้วยสายเชือกรัดอดไปข้างหน้า ผ่านมาทางช่องไม้ไผ่ บ้านด่าน มาขายที่ตลาดทับเที่ยง

หมู่เขา ทำนาลุ่มปลูกข้าวเบา นาดอน (หมู่เขาเรียกว่าไร่ ใช้ไม้แทงสักเป็นหลุมหยอดเมล็ดข้าวเปลือกลงหลุม เรียกว่า น่ำ) ปลูกข้าวไร่และพืชไร่หลากหลายพันธุ์ ตามฤดูกาลจนกระทั่งเกิดวิถีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันเริ่มด้วยสวนยางพาราก่อน แล้วมาเป็นปาล์มน้ำมัน วิถีชีวิตของหมู่เขาที่เคยพึ่งตนเองได้ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติเขตป่าเขา

อย่างไรก็ตาม หมู่เขาที่เป็นกลุ่มผู้นำทางความคิด เริ่มปรึกษาหารือถึงการทำเกษตรทางเลือก (Alternative Agriculture) เหมือนที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้วางระบบไว้แล้วนั้นบ้างก็ฟื้นฟูขึ้นบ้างแล้วในรูปของการเกษตรผสมผสาน โดยยังมีต้นแบบสวนพ่อเฒ่าให้ศึกษาอยู่บ้าง เช่น สวนสมรมบ้านด่าน (ทางขึ้นน้ำตกประปาภูเขา) ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองตรัง สวนสมรมสำนักหินปัก บ้านเหมก ตำบลละมอ อำเภอนาโยง

ที่บ้านด่าน ได้รับการเล่าขานต่อๆ มาว่า มีนายด่านบรรดาศักดิ์ที่ หมื่นสนั่นภูผา รับภาระประจำการอยู่ ลำห้วยสายหนึ่งจึงยังได้ชื่ออยู่ทุกวันนี้ว่า ห้วยหมื่นหนั่น

ช่วงสมัยสงครามอุดมการณ์ทางลัทธิการเมืองพื้นที่เขตป่าเขาเป็นทั้งฐานที่มั่นและสมรภูมิ บรรดาสหายปัญญาชนจากในเมืองเป็นนกสีเหลืองหลบภัยมาอาศัยอยู่กับหมู่เขายืนหยัดภายใต้การชี้นำโดยธงปฏิวัติของพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปลุกระดมมวลชนโดยเหล่านักรบจรยุทธ์ว่า ไม่รบนายไม่หายจน อย่างคึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา

แต่ลูกหลานหมู่เขาส่วนหนึ่ง เข้าประจำกองทัพรัฐบาลรวมทั้งเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนติดอาวุธและทหารพราน ตลอดทั้งข้าราชการทุกสังกัด ระดมกำลังเข้าล้อมปราบอย่างไรลดราวาศอก ตอบโต้อย่างรุนแรงทุกรูปแบบ เช่น ถีบลงเขา เผาลงถังแดง

การสงครามระหว่างญาติพี่น้องครั้งนั้น ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งขุนเขาเป็น บาดแผลแห่งภูผา ให้เป็นบทเรียนสำคัญของชาติ

ชุมชนหมู่เขาวันนี้ ไม่มีอุดมการณ์สุดโต่งไว้เป็นเครื่องมือทางความคิดประหัตประหารกันอีกต่อไป พวกเขากังวลเรื่องราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน ปัญหาภัยแล้งอุทกภัย ปัญหายาเสพติดและโรคเอดส์ ปัญหาการพนันและการใช้ชีวิตเกลือกกลั้วอบายมุข ปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวกทางการเมืองอันเป็นเงื่อนไขแห่งความรุนแรงทางโครงสร้างระบบสังคมปัจจุบัน ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทั้งที่เป็นปัญหาทางกฎหมายและการใช้ที่ดินทำการผลิตอย่างเหมาะสม ปัญหาวิธีคิดเป็นมิจฉาทิฐิซึ่งเสริมตัณหาทางเศรษฐกิจ ความมีความเป็นตัวตนแห่งสถานภาพชนชั้นทางสังคม และหลงใหลเวียนว่ายกระแสวัฒนธรรม ทุนนิยม – บริโภคนิยมโดยขาดสำนึกจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนำทางความคิดจุดประกายวอมแวมพอมองเห็นทางเลือกในการกลับไปสู่วิถีการผลิตแบบดั้งเดิม เช่นเกษตรกรรมทางเลือกดังกล่าวอยู่บ้าง การรวมพลังสร้างสรรค์ในรูปกลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้าง การเน้นวิธีคิดทางการเมืองภาคพลเมือง เน้นความสำคัญของประชาธิปไตยระดับรากหญ้าบ้าง การรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนสตรี เพื่องานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนบ้าง ฯลฯ ก็ยังมีอยู่เป็นจุดประแต่งแต้มชุมชนหมู่เขาอยู่ตลอดแนว รอคอยการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายใหม่ ที่เป็นทางเลือกและทางออกที่สร้างสรรค์ต่อไป

หมู่เล

การเฝ้ามองย้อนอดีต สรุปเป็นบทเรียนเพื่อกำหนดวิถีแห่งความคิดให้ก่อรูปเป็นต้นแบบทางความคิด (Mental model)นำไปสู่กิจกรรมกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่ยั่งยืนของป๊ะบู นวลศรี และภูมิปัญญาท้องถิ่นชายฝั่งจากบ้านแหลมมะขาม จนก่อรูปเป็น ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นับเป็นพัฒนาการประวัติศาสตร์ทางความคิด และการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นประชาสังคม (Civil Society) ที่จับต้องได้ แก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ และกินได้จริง

ป๊ะบู แบ่งยุคสมัยของหมู่เล ว่า

-ยุคปลามาหาคน (ประมาณก่อนเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2504) สมัยก่อนโน้น อยากกินปลาเพียงออกไปหัวท่า (ท่าเรือ) ปลาก็มาให้จับกินจับขายได้ไม่รู้จักหมด

-ยุคคนไปหาปลา (ช่วงประมาณการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 – 6 พ.ศ. 2520 – 2534) เป็นช่วงเวลาที่ป่าชายเลนถูกทำลายรุนแรงจนเสื่อมโทรมถึงขีดสุดและหมดสิ้นสภาพอย่างถาวร โดยสัปทานตัดไม้เผาถ่านและกิจกรรมการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง มีกุ้งกุลาดำเป็นสำคัญ การจับสัตว์น้ำโดยเรือประมงพาณิชย์และเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เป็นเหตุทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล ปลาสำหรับชาวประมงชายฝั่งหนีไปไกล ชาวบ้านต้องออกไปตามหาก็ได้มาแต่น้อย ต้องเสี่ยงอันตรายจากทะเล เพราะเรือเล็กมิอาจสู้คลื่นลมทะเลนอกฝั่งได้ และบางครั้งก็ได้เพียงปลาเค็ม (คือไม่ได้ปลาย ต้องกลับมาซื้อปลาเค็มที่ร้านค้ากลางหมู่บ้าน)

-ยุคปลามาให้กำลังใจ (เริ่มตั้งแต่การปลูกป่าชายเลนชุมชน  พ.ศ. 2531) เมื่อมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาร่วมศึกษาปัญหาและร่วมหาทางออกด้วยกัน มีรูปธรรมการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา โดยปลูกป่าชายเลนชุมชนข้างหมู่บ้าน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น หญ้าทะเล ปะการัง รณรงค์ในหมู่ชาวประมงชายฝั่งด้วยกัน ตลอดชายฝั่งทะเลตรังให้เลิกทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทำลายล้างและผิดจรรยาบรรณประมง รณรงค์อนุรักษ์พะยูนและเต่า กับหมู่ชนชั้นกลางในเมือง

เมื่อป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัว การทำประมงผิดๆ ลดลง ปลาที่สูญหายไปแล้วหลายปี เช่น ปลามิหลัง (ปลาดุกทะเล) ก็มีมาให้จับได้บ้างในลำคลองที่ชาวบ้านเรียกว่ามือทะเลในป่าชายเลนนั้น

ป๊ะบู  นวลศรี  ประมงอาวุโสผู้นำทางความคิดและกิจกรรมรวมพลังสร้างสรรค์และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล คาดหวังว่า ถ้าเราร่วมกันซ่อมแซมบ้านให้ปลามาอยู่ใหม่ได้อย่างถาวรให้ปลามีอาหารการกินสมบูรณ์ ทั้งสองอย่างนี้กระทำโดยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (Sustable harvesting) และปลาจะมาหาเรา ตลอดไปเหมือนหลายสิบปีก่อนโน้น

ปัญหาอื่นๆ มนหมู่เล ไม่ต่างจากหมู่เขาดังกล่าวแล้ว และรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ แต่การรวมกลุ่มของหมู่เล ปรากฏเป็นภาพสาธารณะเป็นที่รับรู้แพร่หลายกว่าในกลุ่มหมู่เขากิจกรรมการมีส่วร่วมทางการเมืองในระบบ เช่น การเสนอความคิดเห็นจากภาคประชาชนสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 มาแล้ว หมู่เลร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นเป็นเนื้อแห่งปริมาณและคุณภาพกว่าหมู่เขา

ถึงกระนั้น การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์เพื่อเป้าหมายโดยการแก้ปัญหาของชุมชน ยังคงร่วมกันระหว่างหมู่ตามวาระโอกาสอันเหมาะสม ภายใต้วัฒนธรรม ไอ้เกลอเขา – ไอเกลอเล ซึ่งเป็นคุณค่าดั้งเดิมและกำลังได้รับการฟื้นฟูปรับเปลี่ยน (Adaptation) ให้เป็นคุณค่าใหม่แห่งความเป็นเครือข่าย หมู่เขา – หมู่เล ต่อไป

ชุมชนดั้งเดิม บ้านพระม่วง บ้านสุไหงจุปะ บ้านปาตูลันตัง บ้านเกาะปลีบง (เกาะลิบง) บ้านบางสีเกา (อำเภอสิเกา) ซึ่งเคยมี หมื่นฤทธิสาคร หมื่นจรวาริน หมื่นท่องสาคเรศ หมื่นเดชคงคา ลาดตระเวนทางทะเลอย่างเคร่งครัดในอดีต มาวันนี้ชายฝั่งทะเลตรังได้มีกลุ่มดูแลทรัพย์สินทางทะเลสืบเนื่องต่อมาร่วมกับลูกหลานสายตระกูล หมื่นท่องวาร 34(หมื่นท่องวารี เป็นบรรดาศักดิ์ผู้นำชุมชนสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นชื่อสกุลของผู้สืบสายเลือด และเป็นกลุ่มนำหมู่เลในชมรมประมงพื้นบ้าน) ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา และพวกเขาประสานเป็นเครือข่ายบ้างแล้วกับลูกหลานของ หมื่นประเทศไพรสาณฑ์ หมื่นหาญอรัญ หมื่นชนะสิงขร หมื่นจรอรัญ และหมื่นสนั่นภูผา แห่งห้วยหมื่นหนั่น บ้านตะเหมกวิเวกผา ฯลฯ แห่งหมู่เขาประดานั้น

หมู่ทุ่ง

หมู่ทุ่งตั้งหลักแห่งเป็นชุมชนอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน และลำน้ำสายต่างๆ ที่ชาวตรังเรียกรวมๆ ว่า คลอง

ชาวตรัง หมู่ทุ่ง กินข้าวกินปลากินผัก ดังสำนวนว่า ข้าวน้ำฉ่ำปลา กินข้าวปลา ผักหญ้าปลาปู

อารยธรรมเกิดจากชุมชนหมู่ทุ่ง ซึ่งทำนาเป็นหลักแล้วแพร่ขยายไปสู่หมู่อื่นนี้เป็นความเชื่อของนักมานุษยวิทยาบางสำนัก แต่ถ้าพิจารณาพัฒนาการตั้งถิ่นฐานจะพบว่า แม้ในเขตชายฝั่งและเขตป่าเขาซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวน้อย แต่ก็เป็นชุมชนสืบเนื่องมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน เช่น ชุมชนโบราณในอำเภอกันตัง อำเภอสิเกา อำเภอห้วยยอด  ฯลฯ เป็นต้น

หมู่ทุ่ง เท่าที่สำรวจได้เมื่อปี พ.ศ. 2355 และขยายตัวเพิ่มปริมาณขึ้นสมัยเมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีชุมชนจำกัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสองฝั่งแม่น้ำตรัง และห่างออกไปทางฝั่งตะวันออกไปจดเทือกเขาบรรทัด ทางฝั่งตะวันตกไปจดทะเลอันดามัน

ฐานะของหมู่ทุ่งมี ฉางข้าว เป็นเครื่องชี้วัด ครอบครัวใดมีฐานะดี รู้ได้ที่ฉางข้างหลังใหญ่ มีลอมข้าวเรียงลำดับเลียงขึ้นสูงไปถึงขื่อและครอบครัวนั้นต้องมี วัวฝูง ควายฝูง เลี้ยงไว้ในคอกข้างบ้านด้วย

เมื่อเปรียบเทียบ ศักดิ์ศรีและฐานะ ระหว่างหมู่ หมู่ทุ่งดูจะเหลื่อมล้ำสูงกว่าหมู่เขาและหมู่เลอยู่ระดับหนึ่ง

ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เพื่อนฝูง เป็นสิ่งเชื่อมโยงร้อยรัดชุมชนทั้งความกลมเกลียวภายในและความมีไมตรีระหว่างชุมชน เครือญาติสนิทมิตรสหาย เป็นความสำคัญที่ทั้งสามหมู่สั่งสอนเน้นย้ำลูกหลานเป็นหนักหนา นอกจากคุณค่าทางจิตใจ ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่ยังเอื้อประโยชน์ทางปัจจัยยังชีพโดยการแลกเปลี่ยนสิ่งจำเป็นระหว่างกัน

แผนภาพแสดงการเอื้อประโยชน์ด้วยระบบการแลกเปลี่ยน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ

ปลา มะพร้าว จากหมู่เล

ของป่า เช่น น้ำมันยาง ชัน จากหมู่เขา

ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์ จากหมู่ทุ่ง

การแลกเปลี่ยนเครื่องยังชีพระหว่างกันเป็นระบบ Barter System ระหว่างหมู่มีคุณธรรมเป็นเครื่องเชื่อมโยงร้อยรัดและกำกับ มีความจำเป็นในชีวิตเป็นตัวผลักดับขับเคลื่อนให้ดำเนินไป ดังต่อไปนี้

ยามเมื่อมีงานชุมนุมคนมากๆ ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อ เช่น แต่งงานบ่างสาว งานบำเพ็ญกุศลศพ ฯลฯ ต้องอาศัยข้าวปลา พืชผักผลไม้นานามาประกอบอาหารคาวหวาน หมู่เขาขาดแคลนมะพร้าวต้องพึ่งหมู่เล หมู่เลมีพื้นที่ทำนาน้อยจึงต้องพึ่งข้าวสารจากหมู่ทุ่ง ทั้งหมู่เขาและหมู่ทุ่ง หาปลาน้ำจืดได้เพียงพอกินเป็นมื้อเป็นวัน แต่ถ้าต้องการมากๆ เพื่อเลี้ยงคนหมู่มากต้องพึ่งปลาจากหมู่เล

การต่อเรือ ต้องใช้น้ำมันยาง และขี้ชันยาจุกเชื่อมรอยต่อระหว่างไม้กระดานตัวเรือ หมู่เลต้องพึ่งหมู่เขา

เมื่อต้องอาศัยคดีอาญาบ้านเมือง สามารถหลบหนีราชภัย ไปอาศัยญาติพี่น้องหรือไมก็ไอ้เกลอในอีกหมู่หนึ่ง

หมู่ทุ่งแปรเปลี่ยนวิถีการผลิตจากทำนา ปลูกข้าว เลี้ยงวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ทำสวนผลไม้บนเนินสูง หรือชายควนในเขตหมู่เขา เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เริ่มด้วยยางพารา ถัดมาก็ปาล์มน้ำมัน ที่นาดอนนาโคกจึงเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ ชายป่าเขากลายเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ที่นาที่แม้มากด้วยชื่อแต่น้อยในจำนวนไร่ยิ่งหดหายไปอีก หมู่ทุ่งส่งลูกหลานไปสู่สังคมเมือง ผ่านการศึกษาในระบบ แล้วคนผู้มีการศึกษาเหล่านี้ทำนา ทำสวน ทำไร่ด้วยแรงกายไม่เป็น ถ้าไม่ได้งานราชการ งานธุรกิจสำนักงาน พวกเขาก็ตกงาน

ทุ่งนาผืนใหญ่ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวพันธุ์ดี กลายเป็นทุ่งเรื้อนาร้าง – ทุ่งร้างนางทิ้ง ทั้งที่คนทุกคนยังคงกินข้าวและกินมากขึ้นเพราะปากท้องเพิ่มจำนวนขึ้นตามกาลเวลา

แต่หมู่ทุ่งยังไม่สิ้นคนดี ทุกวันนี้ การทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม กำลังดำเนินก้าวหน้าไปช้าๆ ด้วยท่วงท่าสง่างามและหนักแน่นมั่งคง สวนเกษตรผสมผสานบ้านพรุขี้กรา ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา และอีกหลายพื้นที่เป็นต้นแบบ (Model) ให้หมู่ทุ่งที่ถึงทางตันหันมาพิจารณาดูทางเลือกใหม่ที่บรรพบุรุษเคยทำไว้ให้เป็นมรดกแล้ว (แต่ถูกกระแสเศรษฐกิจการพาณิชย์หลั่งไหลท่วมทับเสียสิ้น) พร้อมกับเทิดพระราชดำริ เศรษฐกิจแบบพอเพียง ในล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ไว้เหนือเศียรเกล้า แล้วระดมพลังปัญญาทำให้เป็นจริงขึ้นตามต้นแบบที่มีไว้ให้ศึกษาแล้วนั้น

หมู่หลาด

หลาด  คือตลาดที่มีมานานแล้ว เช่น สมันสุโขทัยมี สาดปสาน ภาคใต้เรียก หลาด บ่อน หรือ นัด ก็เรียก เป็นแหล่งนัดหมายแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าตามความจำเป็นและความต้องการมานานแล้ว แม้บทร้องมโนราห์ก็ยังมี กล่าวคือ นางนี้ชาวหลาด เยื้องยูรยาตรนาดกราย (ก่อนถึงบทคล้องหงส์)

เมื่อมี หมู่จีน จากซัวเถาเข้ามาขายแรงงานในเหมืองแร่ ในสวนพริกไทย สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองตรัง และก่อนหน้านี้ก็มีแล้วนั่นแหละ ตลาดที่ นัด เป็นครั้งคราวซื้อขายกันกลางลานดินด้วยการยืนโก้งโค้ง ก็กลายเป็นตลาดนัดถาวรและเป็นชุมชนชาวตลาด มีตึกแถวเก็บสินค้าและวางขายมากมายตามความต้องการเป็นทฤษฎีอุปสงค์อุปทาน

ชุมชนหมู่หลาดเริ่มด้วยหมู่จีนที่ทับเที่ยงก่อน พวกเขามาทางเรือเข้าปากอ่าวแม่น้ำตรัง บ้างก็หยุดทำประมงที่กันตัง บ้างก็เลยไปซื้อแร่ดีบุกถึงห้วยยอด แล้วเดินทางลึกเข้าไปในป่าเขาถึงใน หม็อง หรือใน บอด ทำสวนยางพารา จนได้ชื่อ สวนจีน อยู่กะทั่งวันนี้

ที่ตลาดย่านตาขาว ทุ่งยาวและท่าข้าม เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่จีนซึ่งเข้ามาทางปากอ่าวแม่น้ำปะเหลียน ขึ้นบกที่หินคอกควายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาขึ้นบกที่ท่าเรือหยงสตาร์ ศาลเจ้าพระร้อยเก้า ที่หินคอกควายและหยงสตาร์ เป็นศาลเจ้าพระร้อยเก้าแห่งแรกในจังหวัดตรัง ซึ่งนับเป็นการประกาศวัฒนธรรมและหรืออารยธรรมจีน ณ ผืนแผ่นดินภายใต้พระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร

ตำนานพระร้อยเก้าดั้งเดิม ที่กล่าวว่ามีชนชาวจีนแล่นเรือจากประเทศจีนถึงทะเลน่านน้ำประเทศเวียดนามในอดีต ถูกโจรสลัดปล้นสังหารเสียชีวิตหมดสิ้นรวม 109 คน ที่ปลายแหลมญวนนั้น วิญญาณ 109 เหล่านั้นมีจิตรักห่วงผูกพันจึงคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานจีนให้รอดพ้นภัยทางทะเลและสรรพภัยอันตรายนานา เป็นที่รับรู้เชื่อถือศรัทธาของหมู่จีนทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายลูกหลานพระร้อยเก้านั้น

อย่างไรก็ตาม ลูกหลานพระร้อยเก้าแถบชายฝั่งทะเลตรัง อธิบายความหมาย (Significance) 35ให้ความสำคัญมีนัยท้องถิ่น กล่าวคือ แปรเรื่องราวให้เป็นท้องถิ่น (Locallization) ว่าหมู่จีนรุ่นแรกๆ ถูกโจรสลัดแขกอ่าวทะเลตรังปล้นฆ่า สีนคอลอยเล เสียทั้งสิ้น 109 คน แต่วิญญาณยังห่วงลูกหลานไม่รู้หาย จึงคอยปกป้องคุ้มครองหมู่จีนอพยพรุ่นต่อมา ลูกหลานรู้สำนึกบุญคุณ และด้วยจิตใจกตัญญูกตเวที จึงตั้งศาลพระร้องเก้าไว้เป็นที่สักการบูชา ณ บ้านหินคอกควาย บ้านหยงสตาร์ ก่อน ต่อมาจึงแพร่หลายไปสู่ที่อื่น เช่น ตลาดย่านตาขาว เป็นต้น

หมู่จีนเมืองตรัง ก็เหมือนกับหมู่จีนเมืองอื่น ในประเทศไทย ตรงที่พอถึงชั่วคนที่สามเป็นต้นไปก็เป็นคนไทย หมู่หลาด เสียสิ้น ทั้งโดยเชื้อชาติและสัญชาติ

หมู่หลาด เป็นศูนย์กลางความเจริญ ความทันสมัย (Modernity) เพราะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดทั้งมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าหมู่อื่นๆ หมู่หลาดรุ่น 60 – 80 ปี ก่อนหน้านี้นิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนัง เพิ่งมานิยมเรียนตามระบบการศึกษาไทย ส่งลูกไปเรียนกรุเทพฯ หลังจากนั้น

หมู่หลาดเชื่อมั่นในเศรษฐกิจการค้า การอุตสาหกรรม อันเป็นความทันสมัยตามวิธีคิดแบบเศรษฐกิจกระแสหลักอุตสาหกรรมนิยม (Industrialization) มักแสดงออกด้วยวาทกรรม เช่น การลงทุน, การท่องเที่ยว เป็นต้น จนกระทั่งถึงทรัพยากรและชุมชน หมู่อื่นๆ

 

ทรัพยากรจากชุมชนชายฝั่ง ชุมชนทุ่งนา ชุมชนป่าเขา ถูกส่งป้อนเข้าสู่ชุมชนเมืองด้วยระบบกลไกการตลาด และระบบราชการเอื้อให้โดยทางอ้อมเพื่อตอบสนองความเจริญทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม

หมู่หลาดเมืองตรังพัฒนาบ้านเมืองมาด้วยวิธีคิดดังกล่าวจนถึงขีดสูงสุดด้านเศรษฐกิจ ที่เมืองตรังมีนักธุรกิจระดับชาติ ด้านการเมืองมีนายกัฐมนตรีสายเลือดชาวตรังแท้ด้านการศึกษา มีนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำมากมาย

แต่หมู่หลาดวันนี้ กำลังได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตกอยู่ในภาวะมลพิษเศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม ปรับตัวเล็กลงเพื่ออยู่รอด บ้างก็ล้มหายตายจกไปแล้ว พวกเขากำลังคิดอย่างตระหนักในวิธีการทำธุรกิจสีเขียว อุตสาหกรรมได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและรื้อฟื้นธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมให้หลากหลายประเภทและคงระดับขนาดเล็ก ถึงระดับกลาง

อนาคตที่พึงคาดหวัง

ถ้าชุมชนหมู่ตรัง รวมพลังสร้างสรรค์ในวิถีประชาสังคม (Civil Society) สลายฐานคิดชนชั้นมามองปัญหาชุมชนของตนและของหมู่อื่นด้วยสายตาเอื้ออาทรและเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกันและสร้างดวงดาวแห่งความหวังแม้จะรำไร ฟื้นฟูชุมชนทั้งทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรม ตลอดถึงศาสนา ด้วยกระบวนทรรศ์ (Paradigm) กระแสรอง กล่าวคือ เน้นการพึ่งพาตนเอง พึ่งพาชุมชนตนเอง พึ่งพาจังหวัดของเราเอง ภายใต้การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เก็บเกี่ยวผลผลิตทางทะเลอย่างยั่งยืน (Sustainable Harvesting) ทำเกษตรกรรมทางเลือกอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกอบธุรกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรมสีเขียว

ชุมชนของทุกหมู่เหล่าที่ยังคงอยู่ต้องอนุรักษ์ไว้ ที่ยังมีร่องรอยคุณค่านั้นต้องฟื้นฟูทุกด้าน ถิ่นฐานของทุกหมู่ก็จะอุดมสมบูรณ์ ชีวิตก็จะดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างสุขสงบร่มเย็น

ชาวตรังทุกหมู่ต้องฟื้นฟูชุมชนถิ่นฐานด้วยเทิดพระราชดำรัสต่อไปนี้ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม

ประเทศไทยนี้เป็นที่เหมาะสมมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ไม่ทำให้ประเทศซึ่งเป็นสวนเป็นนา กลายเป็นทะเลทราย

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

4 ธันวาคม 2532

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>