ประชาชน – สังคม -การปกครอง

การบริหารราชการ  จังหวัดตรังแบ่งการบริหารราชการออกเป็น  3  รูปแบบ  คือ

1. 
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค              
- ระดับจังหวัด  ประกอบด้วยส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน  34 หน่วยงาน 
- ระดับอำเภอ  จังหวัดตรังมี  10  อำเภอ  87  ตำบล  723 หมู่บ้าน 
 

………………………………………………………………………………………………………………………………………  

2. การบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบด้วย หน่วยงานสังกัดส่วนกลาง ซึ่งจัดตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตรัง รวมทั้งสิ้น 102 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวง กรม  ต่าง ๆ  รวม  70 หน่วยงาน  หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 19 หน่วยงาน  และหน่วยงานอิสระ 13 หน่วยงาน

………………………………………………………………………………………………………………………………………  

3.  การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ประกอบด้วย 

(1)
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง   

(2)
เทศบาล  มี  15  เทศบาล  คือ
- เทศบาลนครตรัง
- เทศบาลเมืองกันตัง        
- เทศบาลตำบลห้วยยอด  (อ.ห้วยยอด)
- เทศบาลตำบลลำภูรา  (อ.ห้วยยอด)       
- เทศบาลตำบลนาวง  (อ.ห้วยยอด)
- เทศบาลตำบลคลองเต็ง  (อ.เมือง)
- เทศบาลตำบลโคกหล่อ  (อ.เมือง)                    
- เทศบาลตำบลท่าข้าม  (อ.ปะเหลียน)
- เทศบาลตำบลทุ่งยาว  (อ.ปะเหลียน)    
- เทศบาลตำบลย่านตาขาว  (อ.ย่านตาขาว)
- เทศบาลตำบลสิเกา  (อ.สิเกา)                      
- เทศบาลตำบลควนกุน  (อ.สิเกา)
- เทศบาลตำบลวังวิเศษ  (อ.วังวิเศษ)     
- เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ  (อ.นาโยง)
- เทศบาลตำบลคลองปาง  (อ.รัษฎา)

(3) 
องค์การบริหารส่วนตำบล  (อบต.)  จำนวน 84 แห่ง

……………………………………………………………………………………………………………………………………… 
ประชาชนกับการเมืองภายในประเทศ
1. ความสนใจและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
1.1 สถิติการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด  สมาชิกสภาเทศบาล  สมาชิก อบต. นับว่าประชาชนจังหวัดตรัง ให้ความสนใจและเข้าร่วมทางการเมืองอยู่ในเกณฑ์ที่สูงพอสมควร  

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร         
จังหวัดตรังมีสมาชิกสภาผู้ราษฎรได้ 4 คน  แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง      ดังนี้
เขตเลือกตั้งที่ 1  ประกอบด้วย                         
1. อำเภอเมืองตรัง 
2. อำเภอห้วยยอด      
3. อำเภอวังวิเศษ
4. อำเภอรัษฎา          

เขตเลือกตั้งที่ 2   ประกอบด้วย                         
1. อำเภอกันตัง                                             
2. อำเภอปะเหลียน
3. อำเภอสิเกา                                                
4. อำเภอย่านตาขาว
5. อำเภอนาโยง
6. อำเภอหาดสำราญ

 

1.2  ความสนใจของประชาชนต่อนโยบายการบริหาร   การแก้ปัญหาของรัฐบาล  อยู่ในระดับปานกลาง  แต่อย่างไรก็ตามประชาชนมีการแสดงออกในเรื่องนี้  โดยการติดตามการบริหารงานทั่วไปในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด โดยแจ้งข้อมูลชี้ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นให้ทราบเพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไปบ่อยครั้ง

1.3 การแพร่ข่าวสารทางการเมืองในอันที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวของ ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ  ในระดับจังหวัดในภาวะปกติยังมีไม่มาก  จะมีมากเฉพาะในช่วงฤดูสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น 

……………………………………………………………………………………………………………………………………… 

2. การเคลื่อนไหวของประชาชน นักการเมือง พรรคการเมือง สมาคม กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอิทธิพล รวมทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษาและกลุ่มศาสนา
การเคลื่อนไหวซึ่งมีแนวโน้มไปในทางสนับสนุน  หรือคัดค้านนโยบายของรัฐบาลหรือมีการเคลื่อนไหว  ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในระดับจังหวัด  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเป็นตัวชี้นำ        มีการรวมกลุ่มบ้างเป็นกลุ่มย่อย ๆ แต่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด

……………………………………………………………………………………………………………………………………… 

3. การแสดงออกของประชาชน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ของกลุ่มและของประเทศ  รวมทั้งการขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์  ในอันที่จะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ในจังหวัด เกิดจากการรวมตัวในรูปของการประกอบธุรกิจ  อาทิเช่น    กลุ่มสมาคมพ่อค้า  กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยางแผ่น  กลุ่มสหกรณ์ การแสดงออกของกลุ่มนั้น  ส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ไม่มีการขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ด้วยกัน  จึงทำให้ไม่มีการขัดแย้งในอันที่จะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเมืองแต่อย่างใด

……………………………………………………………………………………………………………………………………… 

4. การแสดงออกหรือการดำเนินการของนักการเมือง  พรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์  ในอันที่จะต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและเพื่อความเป็นธรรมของสังคม
เนื่องจากการเผยแพร่ข่าวสารของพรรคการเมืองกับประชาชนที่อยู่ภายในจังหวัดโดยตรง ยังไม่ได้ดำเนินการกันอย่างจริงจัง  ดังนั้นการแสดงออกของนักการเมือง พรรคการเมืองซึ่งจะดำเนินการในจังหวัดจึงไม่ค่อยมี เว้นแต่กรณีปัญหาในระดับชาติที่เกี่ยวพันถึงภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด จึงจะมีการแสดงออก เช่น ปัญหาราคายางตกต่ำ  ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เป็นต้น นอกจากนั้นการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและการดำเนินงานของกลุ่มผลประโยชน์        ก็มิได้สร้างเงื่อนไขทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะก่อเหตุเดือดร้อนแก่ประชาชน จนกระทั่งต้องมีการลุกฮือกันขึ้นเพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมแต่อย่างใด

……………………………………………………………………………………………………………………………………… 

ระบบสื่อสารมวลชน
จังหวัดตรังมีสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง ของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในด้านการประชาสัมพันธ์ และประสานสื่อมวลชนภายในจังหวัดตรัง และส่วนกลาง สื่อดังกล่าวประกอบด้วย

2
.1 สื่อหนังสือพิมพ์  จังหวัดตรังนอกจากมีหนังสือพิมพ์จากส่วนกลางแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่พิมพ์จำหน่ายในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน (ไม่มีรายวัน) อีก 9 ฉบับ คือ นสพ.ข่าวเสรี, นสพ.พาราธุรกิจ, นสพ. รักษ์ตรัง, นสพ.มติตรัง, นสพ.ท้องถิ่น, นสพ.แดนสยาม, นสพ.แม่น้ำ, นสพ.รัษฎานิวส์  และ นสพ.ตรังวาไรตี้                                    

2.2  สื่อวิทยุกระจายเสียง  จังหวัดตรังมีสถานีวิทยุ  5  สถานี คือ  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง (กรมประชาสัมพันธ์) ออกอากาศใน 2 ระบบ คือ        ระบบ เอ.เอ็ม ความถี่ 810 กิโลเฮิร์ท และระบบ เอฟ.เอ็ม. ความถี่ 91.25 เมกกะเฮิร์ท, สถานีวิทยุ
กระจายเสียง วปถ.17 จังหวัดตรัง (กรมการสื่อสารทหารบก) ออกอากาศในระบบ เอ.เอ็ม. ความถี่ 1350 กิโลเฮิร์ท, สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ 4 (ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์) ออกอากาศในระบบเอฟ.เอ็ม. ความถี่ 103.0 เมกกะเฮิร์ท, สถานีวิทยุกระจายเสียงตำรวจภูธรภาค 9 จังหวัดตรัง ออกอากาศในระบบ เอฟ.เอ็ม.106.75 เมกกะเฮิร์ท และสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส.ม.ท.จังหวัดตรัง (องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย) ออกอากาศในระบบ เอฟ.เอ็ม ความถี่ 106.25 เมกกะเฮิร์ท

2.3 สื่อวิทยุโทรทัศน์   จังหวัดตรังสามารถรับชมโทรทัศน์ได้ทุกช่อง ได้แก่  ช่อง 3 (อ.ส.ม.ท.) ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 7 (กองทัพบก) ช่อง 9 (อ.ส.ม.ท.) ช่อง 11 (กรมประชาสัมพันธ์) และช่อง ทีไอทีวี. และมีสถานีเคเบิลทีวี อีก 1 สถานี ทุกสถานีมีเครื่องส่งตั้งในพื้นที่จังหวัดตรัง ในการเผยแพร่ข่าวสารของจังหวัดตรัง ทางด้านสถานีโทรทัศน์จะมีทีมผู้สื่อข่าวประจำทุกช่องในจังหวัดและจะส่งข่าวสารไปเผยแพร่ โดยใช้ศูนย์ข่าวภาคใต้ (อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา) เป็นศูนย์รวมข่าว และส่งเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป ยกเว้น ช่อง 11 จังหวัดตรัง (กรมประชาสัมพันธ์) สามารถส่งข่าวสารเข้ากรุงเทพฯ  ได้ทันทีจากจังหวัดตรังโดยใช้ระบบดาวเทียม  ในระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ จะมีระบบเสียงตามสายของ อบต. และเทศบาลใช้เผยแพร่ข่าวสาร ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านก็มีหอกระจายข่าวของหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังมีศิลปิน พื้นบ้าน ทั้งหนังตะลุง มโนราห์ เป็นผู้ช่วยเผยแพร่ข่าวสารได้อีกทางหนึ่งจากสื่อที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย    

………………………………………………………………………………………………………………………………………        

3. การรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดได้ถือนโยบายการรักษาความสงบเรียบร้อย  เป็นนโยบายที่สำคัญที่จะให้เกิดความสงบสุขแก่ประชาชน  โดยตำรวจภูธรจังหวัดตรัง  ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนนโยบาย  แนวทางการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีแผนงานสำคัญ ๆ ดังนี้  คือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การกวดขันปราบปรามแหล่งอบายมุข การบังคับค้าประเวณีและการค้าประเวณีเด็ก การักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว การป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด  นอกจากนี้  ยังมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยตำรวจภูธรจังหวัดตรังร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองออกอำเภอ  เคลื่อนที่ จัดตั้งชุดชุมชนและมวลชนสัมพันธ์และให้ความรู้ด้านกฎหมายต่าง ๆ แก่ประชาชน เพื่อให้ได้มีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม  ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติภัย  โดยจัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรแก่ประชาชน ออกแผนการให้ความปลอดภัยและกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจร จัดทำโครงการลดอุบัติภัยจากการจราจร  จัดสัปดาห์รณรงค์เพื่อลดอุบัติภัยจากการจราจร  มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความสำนึกในหน้าที่พลเมืองที่ดี จะได้ร่วมมือกันช่วยเหลือตนเอง และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยปฏิบัติในสังกัดอย่างสม่ำเสมอ