บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรม-สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ : ผู้ก่อฐานวงการกลอน

แม้อยู่ห่างต่างถิ่นแผ่นดินไหน ถ้าวันใดคิดถึงถิ่นแผ่นดินสยาม

จงมองดาวพราวพร้อยลอยฟ้างาม เพราะทุกยามฝากใจไว้กับดาว

กลอนบทนี้คือตอนขึ้นต้นของจาก เจ้าพระยาถึงฝั่งโขง บทกลอนที่กลายเป็นบทเพลงไพเราะ สามารถตรึงความรู้สึกของผู้ฟังไว้ด้วยความงดงามของถ้อยคำ คือผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของ สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ นักกลอนผู้ก่อฐานวงการกลอน

สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่บ้านสิเหร่ ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง เดิมชื่อ สมจิตบิดาชื่อนายเขียวมารดาชื่อนางกลิ่นเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ทีจังหวัดนครศรีธรรมราชจากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่ออีกเลยการที่ได้รับการศึกษาน้อยเป็นพลังผลักดันให้ต้องทำงานหนักโดยเฉพาะการศึกษาค้นคว้าทางด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม

สนธิกาญจน์ มุ่งหน้าเข้าหางานทำที่กรุงเทพฯ ได้งานเป็นช่างภาพ นักข่าวและนักเขียนประจำองบรรณาธิการนิตยสาร แสนสุขรายสัปดาห์ภายหลังได้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการแสนสุข และเปิดเวทีเขียนกลอน เรื่องสั้นและสารคดี ให้แก่บรรดานักเขียนรุ่นใหม่ใกล้เคียงกัน

ผลงานของสนธิกาญจน์ ได้พิมพ์เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ราว พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา ลำนำเจ้าพระยา คือหนังสือรวบรวมกลอนเล่มแรกที่สนธิกาญจน์รวมรวมกลอนจาก 10 นักเขียนกลอนขึ้นพิมพ์เอง ขายเองและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งใน พ.ศ. 2500 รวมกลอนเล่มที่สองคือ “ชบา” พ.ศ. 2503 มีผลงานของสนธิกาญจน์ถึง 10 ชิ้นด้วยกัน

สนธิกาญจน์ ได้ร่วมก่อตั้ง ชมรมนักกลอนขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ต่อมาพัฒนาเป็น สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย

สนธิกาญจน์ รวมรวมนักกลอนลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาและเขียนกลอนเรือเพลง ซึ่งจัดติดต่อกันมาถึง 12 ครั้ง แต่ละครั้งมีการประกวดกลอน ได้ทั้งบทกลอนดีๆ และได้พบนักกลอนระดับเพชรเม็ดงามอีกหลายคน เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิภา บางยี่ขัน ศิริพงษ์ จันทน์หอม เป็นต้น

ในการจัด เรือเพลง ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2510 กิจกรรมสำคัญคือการแต่ง นิราศกรุงเก่า ขึ้น โดยให้นักกลอนร่วมกันแต่งนิราศเป็นตอนๆ แล้วนำมาร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน ดำเนินเรื่องตั้งแต่เรือออกจากกรุงเทพฯ จนถึงอยุธยา มีนักกลอนร่วมงาน 48 คน 49 นามปากกา ใช้เวลารวบรวมชำระถึง 2 ปี สำเร็จใน พ.ศ. 2512 กิจกรรมชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้น ชุมนุมน้ำชาวันอาทิตย์

หลังจากนิตยสารแสนสุขหยุดกิจการสนธิกาญจน์ได้เข้าทำงานในฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทศรีมหาราชา และได้จัดรายการวิทยุ วาทีปริทัศน์ สวัสดีท่านผู้ฟังและรายการ สมุดไทย เป็นรายการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 บางลำพู

พ.ศ. 2516 สนธิกาญจน์ ออกหนังสือ สมุดไทยเกี่ยวกับภาษาและศิลปวัฒนธรรมแต่พิมพ์ออกมาได้เพียง 8 ฉบับเท่านั้นในปีเดียวกันนี้ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษในคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายพิเศษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยครุอีกหลายแห่ง

สนธิกาญจน์ ได้จัดตั้ง สำนักสมุดไทย ขึ้น เพื่อจัดรายการ สยามปริทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นรายการที่มุ่งเน้นนำการละเล่นพื้นบ้านมาเสนอเป็นประจำ

รายการสยามปริทัศน์ได้รับรางวัลเมขลา ในอีกไม่กี่วันต่อมาหลังจากที่สนธิกาญจน์เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ขณะเดินทางกลับจากการอภิปรายที่วิทยาลัยครุอุดรธานี เหตุเกิดที่เขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ใช้ทั้งนามจริงและนามปากกา อาทิ เอกหทัย ใช้เขียนกลอนและกลอนเปล่า น.การันต์ใช้เขียนเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาษาหนังสือและข้อแนะนำการเขียนกลอน ประกิจอนันต์สวัสดิ์นามปากกาหลังสุดที่สนธิกาญจน์ภูมิใจที่จะใช้ เพราะเป็นการนำเอาชื่อของเพื่อนเก่าในรุ่นเดียวกันมาตั้งเป็นนามปากกา ซึ่งใครจะนำไปใช้ในการเขียนก็ได้

แม้วันนี้ไม่มี สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ แต่ผลงานทุกอย่างยังคงอยู่ ดังที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เขียนไว้ใน แด่…สนธิกาญจน์กาญจนาสน์

“สนธิกาญจน์ จากเมื่อวานถึงวันพรุ่งนี้เนื่อง

งานภาษาสืบสรรค์อนันต์เนือง ถึงชีพเปลืองแจ่ชื่อปลั่งเพราะสร้างงาน”

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>