บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรม-ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ : ช.สัจจวจี กวีเพื่อชีวิต

ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ เจ้าของนามปากกา ช.สัจจวจี กวีในยุควรรณกรรมเพื่อชีวิต มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมาย

ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ เกิดที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เมื่อวันศุกร์ที่ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของนายหมุ่ย และนางซ้วน ขวัญเยื้องพันธุ์ สมรสกับนางชุติมา (ชุลี) จันทร์เพ็ญ มีบุตรชาย 2 คน หญิง 1คน

ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ เริ่มการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านย่าตาขาว ชั้นมัธยมที่โรงเรียนยุวราษฎร์วิทยา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตรังคริสเตียนศึกษา) สุดท้ายจบชั้นมัธยมปีที่ 5 จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ ในวัยเด็กชอบอ่านหนังสือมาก ตอนเย็นหลังเลิกเรียนจึงมักใช้เวลาอยู่ที่ร้านหนังสือจนเงินค่าขนมหมดไปกับหนังสือเป็นส่วนใหญ่ จากการอ่านมากทำให้อยากเขียน ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนยุวราษฎร์ฯ ครั้งแรกเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกส่งไปหนังสือโลกใหม่ได้ลงพิมพ์ทันที ชื่อ เรื่องจำไม่ได้ เขียนต่ออีกหลายเรื่อง หลังออกจากโรงเรียนแล้วก็ไปทำงานร่อนเร่อยู่หลายปี สุดท้ายกลับมาอยู่ที่ ร้านนายคก ร้านหนังสือของพี่ชายที่อำเภอกันตัง

เริ่มงานเขียนอีกครั้งด้วยการเขียนโคลง ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ครั้งแรกไม่ได้ลง ต่อมา อุชเชนีผู้ควบคุมหน้ากวีในหนังสือพิมพ์ สายธารวิจารณ์และแนะนำให้เขียนกลอน เพราะเข้าถึงผู้อ่านได้ดีกว่า จึงหันมาเขียนกลอนและเริ่มมีงานลงหนังสือตั้งแต่ พ.ศ. 2498

ในตอนนี้เอง ที่ชื้นได้เขียนกลอนชิ้นหนึ่งเพื่อโฆษณาร้านหนังสือให้พี่ชาย ต่อมาทางร้านใช้พิมพ์ติดที่ถุงกระดาษใส่ของให้ลูกค้า มีใจความว่า

ซื้อตำราแบบเรียนเครื่องเขียนอ่าน ตรงไปร้านนายคกอย่าวกไหน

มีให้เลือกชื่อชมจนสมใจ ราคาไม่แพงดอกบอกจริงเอย

ต่อมาพี่ชายย้ายร้านและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นผดุงศึกษา วรรคที่ 2 จึงเปลี่ยนเป็น ตรงไปร้านผดุงศึกษาอย่างไหน ปรากฏว่ายังมีคนในกันตังอีกไม่น้อยที่จำกลอนบทนี้ได้ประมาณ พ.ศ. 2501 ผลงานของ ช.สัจจวจี ลงตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ เฉลี่ยในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองตามแนวทาง ศิลปะเพื่อชีวิตทำให้วงการนักกลอนในกรุงเทพฯ จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างสนใจ บ้างก็คาดคะเนว่า เป็นนามปากกาของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวน้อยคนนักที่จะทราบว่าแท้จริงเขาคือใคร จนกระทั่ง สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ได้มารู้จักโดยบังเอิญจึงนำเรื่องไปเปิดเผย และชักนำไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนักกลอนในกรุงเทพฯ แต่ผลงานของ ช.สัจจวจี ไม่มีโอกาสได้พิมพ์รวมเล่มเหมือนของนักกลอนอื่นๆในยุคเดียวกัน

ในสมัย พ.ศ.2500 ต้นๆ วงการกลอนต่างจังหวัดก็คึกคักไม่น้อย มักมีการจัดประชันกลอนสดกันในงานต่างๆ ช.สัจจวจี ไปร่วมรายการเสมอ ต่อมาเมื่อมีครอบครัวก็เลิกราไปจากวงการ หันไปเอาจริงเอาจังกับงานอาชีพ คือทำร้านขายหนังสือและเครื่องเขียนร่วมกับพี่ชาย ในช่วงนี้ยังเกี่ยวข้องกับวงการกลอนอยู่บ้าง เช่น เป็นกรรมการตัดสินกลอนประกวด และยังเขียนบทความแนะนำกลอนในหนังสือพิมพ์ ชาวใต้ ต่อมาสามารถรวบรวมทุนรอนแยกไปตั้งร้านของตนเองชื่อ ร้านบรรณาคม แต่ก็ยังคงเขียนโคลงกลอนคมๆ ขึ้นกระดานป้ายหน้าร้านไว้เสมอ

ผลงานของ ช.สัจจวจี ที่เป็นเรื่องสั้นไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ มีเแพาะร้อยกรองที่เข้าของเก็บรวบรวมเป็นเล่มไว้ เป็นงานเขียนที่ลงหนังสือระหว่างปี 2498 – 2504 ส่วนใหญ่เป็นกลอน มีกาพย์ยานีแทรกอยู่บ้าง เนื้อหาและแนวการเขียนมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลงานของกวีเพื่อชีวิตที่เด่นๆ ในยุคนั้น ได้แก่ อุชเชนี และทวีปวร บทกวีส่วนใหญ่ของ ช.สัจจวจี มักสะท้อนภาพสังคม และภาพชีวิตของผู้ยากไร้ งานการปลุกเร้า ให้ความหวังและกำลังใจ

ช.สัจจวจี รวบรวมและคัดเลือกผลงานของตนที่เคยลงในหนังสือต่างๆ มาพิมพ์ดีดใหม่เย็บเล่ม เพื่อจะมอบให้เพื่อนคนหนึ่งที่รับอาสาจะไปติดต่อจัดพิมพ์ให้ แต่ไม่ปรากฏว่าได้จัดพิมพ์ อย่างไรก็ตาม งานของเขา และบทวิจารณ์งานเหล่านั้นที่ลงตามหนังสือและนิตยสารต่างๆ เป็นที่สนใจของนักศึกษาด้านวรรณกรรม นำไปศึกษาและอ้างอิงในวิทยานิพนธ์หลายเล่ม

ช.สัจจวจี หรือ ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 รวมอายุได้ 65 ปี

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>