บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางการเมือง-ก่อเกียรติ ษัฏเสน : ผู้ยืนอยู่ข้างประชาชน

พ่อนึกถึงภาพของลูกพ่อตอนไปยืนแถวหน้าร้านของเหล่าพวกผู้ดีมีทรัพย์เหล่านั้นแล้ว พ่อรู้สึกสะท้อนใจอย่างแรง ตัวเตี้ยๆ หน้าแป้นๆ จมูกเล็กๆ ผิวละเอียด เป็นลูกผู้ดีมีสกุล ในมือถือตะกร้าไข่ไก่ เข้าร้านนี้ออกร้านโน้น ปากบอกราคาไข่ ส่อถึงฐานะทางบ้านว่าค่อนข้างอัตคัดอยู่ ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่นั้นเล่า ก็คือชุดนักเรียนเก่าๆ มอๆ นั้นเองเพราะพ่อเข้าเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีหัวออกจะรุนแรงเอามากๆ พ่อเขาเกลียดโจรการเมืองอย่างเข้ากระดูกดำ เขาไม่เพียงคัดค้านแต่วาจาทางสภาเท่านั้น แต่เขาเอาทั้งชีวิตทั้งของตัวเขาเองและของลูกเล็กๆ และเมียรักของเขาทุ่มเข้าพลัง ๓ อด (อดออม อดกลั้น อดทน) ซึ่งเขาปลุกเสกขึ้นต่อต้านกับความบัดซบในทางการเมืองยุคนั้น

จดหมายจากพ่อถึงลูกสาวเพียงคนเดียว บอกความในใจของนักการเมืองใจซื่อมือสะอาด และมีอุดมการณ์อันสูงส่งอีกผู้หนึ่งของแผ่นดินตรัง คือนายก่อเกียรติ ชื่อเดิมนายเวื่อง ษัฎเสน

นายก่อเกียรติ เกิดเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๔๕๒ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของหลวงพิทักษ์ เหลียนสถาน (รื่น ษัฎเสน) และนางพิทักษ์เหลียนสถาน (ปราง ษัฎเสน) มีปู่คือ หลวงเรืองฤทธิ์ เดชะราชรองเมือง (แหลม)

วัยเด็กได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนตำหนักรื่นรมย์ อำเภอห้วยยอด ระดับประถมจากโรงเรียนวัดตันตยาภิรม จบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ มัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากจากโรงเรียนภูเก็ตวิทยา พ.ศ. ๒๔๗๑ และมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จากโรงเรียนสนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ต่อมาได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรพละเอก พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นครูที่ตรังได้ปีเดียว ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสรต์ระหว่างพ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๕ ระหว่างเป็นนักศึกษาได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๔๘๒

พ.ศ. ๒๔๘๙ ลงสมัครรับเลือตั้งแต่แพ้นายเลียบ นิลระตะ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ลงสมัครอีกครั้งหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

นายก่อเกียรติหาเสียงโดยการขี่มอเตอร์ไซค์ MZ ไปตามท้องที่ต่างๆ เนขึ้นเขาลงห้วย ไปเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขราษฎร ต่อต้านข้าราชการทุจริต และมักเจ็บร้อนแทนราษฎรที่ถูกเอาเปรียบ

จากเป็น ส.ส. อยู่ได้เพียงปีเดียว จอมพลป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ นายก่อเกียรติจึงประท้วงโดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยต่อมาแล้วไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรปลูกผักทำไร่แตงโม ที่ตำบลกะช่องพร้อมกับศึกษาธรรมะเพื่อประยุกต์กับการเมือง ในช่วงนี้เองที่ นายควง อภัยวงศ์ เดินทางมาเยี่ยมถึงไร่ที่กะช่อง หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในไร่เป็นเวลา ๕ ปี ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จึงเข้าสู่วิถีการเมืองอีกครั้งหนึ่งในนามของพรรคประชาธิปัตย์จากจังหวัดตรังได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยที่ ๒ และได้เป็น ส.ส. อีกสมัยหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน

บทบาทในฐานะนักการเมืองของเขาเป็นแบบอย่างควรแก่การศึกษา ในด้านความซื่อสัตย์สุจริต ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมแก่ราษฎรบนานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รักเพื่อนฝูง เป็นนักการเมืองที่ต้องขายทรัพย์สมบัติของตนเองเป็นค่าใช้จ่าย แต่ไม่ยอมขายเกียรติ หรือขายมือ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ เป็นนัการเมืองที่ปล่อยให้ลูกเพียงคนเดียวเดินถือตะกร้าขายไข่ไก่

เรื่องราวที่เล่าลือกันมากเกี่ยวกับนายก่อเกียรติคือการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ทุกๆ เรื่อง ที่สำคัญคือเรื่องที่ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนบางกลุ่มของทางราชการ จะต่อสู้ให้จนถึงที่สุด จนทำให้ดูเหมือนว่านายก่อเกียรติเป็นผู้แทนที่ชอบ รบกับนาย ในเรื่องนี้เขาให้เหตุผลว่า คนพวกนั้นไม่ใช่คนบ้านเรา จะรู้เรื่องคนบ้านเราดีกว่าคนบ้านเราได้อย่างไร เขามาแล้วเขาก็ไปทิ้งไว้เพียงรอย เขาไม่รักคนบ้านเราเหมือนพวกเราหรอก

ในด้านแนวคิดทางการเมือง เป็นผู้ที่นำความคิดเรื่องธรรมาธิปไตยมาประยุกต์ใช้กับการเมืองเวลานั้น และเผยแพร่ด้วยแผ่นปลิว โดยชี้ให้เห็นว่าหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเป็นหลักธรรมาธิปไตย หรือการปกครองโดยหลักธรรมของพุทธศาสนามาประยุกต์ความคิดแนวเดียวกันนี้ก็มีอยู่ในสมัยต่อมาคือ “ธรรมรัฐ”

ด้านชีวิตครอบครัวของนายก่อเกียรติ ษัฎเสน สมรสกับนางสาววรมัย กบิลสิงห์ เมื่อ ปี ๒๔๘๕ มีบุตรี ๑ คน คือ รศ. ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ษัฎเสน) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อเกียรติ ษัฎเสน ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ณ วัดท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และมรณภาพอย่างสงบเมื่ออายุ ๗๖ ปี รวมพรรษา ๑๘ พรรษา

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>