บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางพัฒนาสังคม-พิสิษฐ์ ชาญเสนาะ : นักพัฒนาองค์กรเอกชน นายกสมาคมหยาดฝนจังหวัดตรัง

พิสิษฐ์ ชาญเสนาะ เกิดวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ เริ่มทำงานด้านการพัฒนาชนบท หลังจากเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เริ่มทำงานกับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในตำแหน่ง บูรณกร (Rural Worker) จังหวัดชัยนาท เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาชนบทหลายแห่ง ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาของโครงการพัฒนาชนบทแก่องค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ ตลอดจนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและการจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เช่น งานวิจัยเรื่องอวนรุน บ้านหาดทรายขาว งานวิจัยการจัดการป่าชายเลนชุมชน บ้านทุ่งทอง อำเภอสิเกา ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้บรรยายและนำศึกษานอกสถานที่วิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงระบบ

ผลงานของ พิสิษฐ์ ชาญเสนาะ เป็นที่ยอมรับขององค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผลงานดีเด่นและมีความสำคัญยิ่งของภาคใต้ คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ ทำเกิดการสร้างรูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของเบญจภาคี ได้แก่ ชาวบ้าน ข้าราชการ นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน และนักธุรกิจ ก่อให้เกิดกลุ่มและองค์กรชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของป่าชายเลน และช่วยกันดูแลรักษามิให้ถูกบุกรุกทำลาย เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่นๆ ผลงานดังกล่าวทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนจากอิตาลี (Co-operation for Development) ร่วมศึกษารูปแบบการทำงานของสมาคมหยาดฝน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคอื่นๆ

สมาคมหยาดฝนเป็นองค์กรที่ริเริ่มจัดตั้ง สมาคมชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์แม่น้ำตรัง และก่อตั้งเครือข่ายอนรักษ์แม่น้ำภาคใต้ ด้วยความจริงจังและมั่นคงในการทำงาน เพื่อพัฒนาวิถีชีวิตชนบทและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่ยอมรับขององค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ จึงได้รางวัล การประกาศเกียรติคุณ ต่างๆ ดังนี้

โล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมประมง ด้วยผลงานดีเด่นในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรประมง

ได้รับเลือกเป็น Fellow ของสถาบัน ASHOKA ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานเพื่อสังคม ปี ๒๕๓๔

ได้รับรางวัลที่ ๑ จากเทศบาลเมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ในปลายปี ๒๕๓๕ จากผลการร่วมงานวิจัยกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยชุมชน กรณีหมู่บ้านทุ่งทอง อำเภอสิเกา ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์เป็นคนแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเนื่องในวาระโอกาสครบ ๑๐๐ ปี คล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ปี ๒๕๓๖

ได้รับเลือกเป็นองค์ปาฐกมูลนิธิ โกมล คีมทอง เรื่อง คนกู้ทะเล ในปี ๒๕๓๗

ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี ๒๕๔๐

หัวใจในการดำเนินงานของสมาคมหยาดฝน คือการพัฒนาขบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน ควบคู่ไปกับการลงมือทำกิจกรรมร่วมกัน และผลที่ได้คือ ความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชายฝั่ง

พิสิษฐ์ ชาญเสนาะ จึงเป็นดุจดังประกายไฟที่ประสานเชื้อแห่งจิตสำนึกรักท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในดวงใจของผู้คน ให้ลุกสว่างโชติช่วง เป็นพลังปกป้องพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงความอุดมสมบูรณ์ เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานสืบไป

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>