ประวัติ-เมืองตราม้า หน้าด่านของนครศรีธรรมราช

๒.๓ เมืองตราม้า หน้าด่านของนครศรีธรรมราช

ความรุ่งเรืองของศรีวิชัยค่อยลดลงตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และในช่วงนี้เองที่มีชื่ออาณาจักรหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาแทนที่ ในฐานะรัฐอิสระที่เป็นศูนย์กลางของเมืองใหญ่น้อยในคาบสมุทรภาคใต้ คือ ตามพรลิงค์ หรือที่รู้จักกันในนาม มัทธมาลิงคัม จากศิลาจารึกเมืองตันซอร์ สมัยพระเจ้าราเชนทร์โจฬะ ที่ ๑ ตัน-มา-ลิง ในบันทึกของจีน และชื่ออื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ชื่อเหล่านี้หมายถึงอาณาจักรนครศรีธรรมราช

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีหลักฐานเอกสารและตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงกษัตริย์ นาม ศรีธรรมาโศกราช (จันทรภาณุ) เป็นผู้ครองอาณาจักรอันรุ่งเรืองทางการค้า และมีความเข้มแข็งถึงขนาดยกทัพไปคุกคามบ้านเมืองในลังกา พร้อมกันนั้นก็ได้รับแบบแผนทางพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาด้วย

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงนางเหมชาลาและพระทันตกุมารนำพระบรมธาตุหนีศึกจากเมืองในอินเดียเพื่อจะไปสู่ลังกา แต่ถูกพายุพัดไปขึ้นฝั่งและเดินบกไปจนถึงหาดทรายแก้วและฝังพระบรมธาตุไว้ ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาพบเข้าจึงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น เชื่อกันว่าเส้นทางเดินบกนี้ผ่านทางเมืองตรัง

ในตำนานพระบรมธาตุ ฯ ยังกล่าวต่อไปว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (จันทรภานุ) ได้ยกทัพไปตีลังกา และแผ่อาณาเขตครอบคลุมเมืองต่าง ๆ ในแหลมมลายูไว้เป็นเมืองบริวารเรียกชื่อว่าเมือง ๑๒ นักษัตร เมืองตรังนั้นเป็นเมืองตราม้าประจำปีมะเมีย เมือง ๑๒ นักษัตร มีดังนี้

ตราชวด เมืองสายบุรี                   ตราฉลู  เมืองปัตานี

ตราขาล เมืองกลันตัน                  ตราเถาะ            เมืองปาหัง

ตรามะโรง          เมืองไทบุรี                                  ตรามะเส็ง         เมืองพัทลุง

ตรามะเมีย         เมืองตรัง                                    ตรามะแม          เมืองชุมพร

ตราวอก เมืองบัณทายสมอ           ตราระกา           เมืองสระอุเลา

ตราจอ   เมืองตะกั่วถลาง             ตรากุน  เมืองกระบุรี

เรื่องราวเกี่ยวกับเมือง ๑๒ นักษัตรนี้ คือข้อมูลยืนยันฐานะความเป็นเมืองของเมืองตรัง และยังมีข้อความในตำนานพระบรมธาตุอีกตอนหนึ่งคือเรื่องการมอบหมายงานแก่เจ้าเมืองต่าง ๆ ในตำนานนี้กล่าวถึง ด้านทิศอุดรไปได้แก่ขุนแปดสัน เจ้าเมืองตรัง ๘ วา

เส้นทางทัพจากของพระเจ้าจันทรภานุ น่าจะออกมาทางปากน้ำตรัง ด้วยแม่น้ำตรังสมัยก่อนกว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีท่าเรือใหญ่ที่บ้านท่าจีน เขตอำเภอเมือง ปัจจุบันเหนือท่าจีนขึ้นไปมีชื่อบ้านอู่ตะเภาและบ้านทุ่งทัพเรือ เล่ากันว่าเป็นที่ต่อเรือของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) สมัยรัชกาลที่ ๒ – ๓ เพราะฉะนั้นในยุคก่อนขึ้นไปหลายร้อยปี บริเวณใดบริเวณหนึ่งของแม่น้ำตรังอาจเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือของพระเจ้าจันทรภาณุก็เป็นได้

ตำนานพระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระเจ้าโรจราชหรือพระเจ้าล่วงแห่งกรุงสุโขทัย (ในเอกสารอื่น ๆ เขียน ร่วง) ร่วมกับพระเจ้าสิริธรรมนคร ส่งสมณทูตไปทูลขอพระพุทธสิหิงค์ยังลังกาทวีป ตอนเดินทางกลับเกิดเรือแตก แต่ด้วยพระยานาคราชช่วยไว้ ทำให้พระเจ้าสิริธรรมได้พระพุทธปฏิมากลับคืนและพระเจ้าล่วงก็มารับไปสุโขทัย ต่อมาพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ตกไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ จนสุดท้ายคือ เชียงราย เข้าใจกันว่าการเดินทางของสมณทูตจากสิริธรรมนครหรือนครศรีธรรมราชผ่านทางเมืองตรังซึ่งยังมีตำนานพื้นบ้านตรังอีกเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกัน

ตำนานนี้เล่ากันที่หมู่บ้านพระม่วง ปากน้ำเมืองตรัง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชส่งพระพุทธสิหิงค์ไปถวายพ่อขุนรามคำแหง ปรากฏว่าไม่ใช่พระพุทธรูปองค์ที่เมืองนครนำมาจากลังกา แต่เป็นองค์สร้างใหม่ที่เมืองตรัง เมื่อสร้างพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองตรัง สับเปลี่ยนกับองค์ที่สร้างใหม่ซ่อนไว้ที่โคนต้นมะม่วง เมื่อนำพระพุทธรูปองค์ที่สร้างใหม่ไปถึงสุโขทัยแล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ได้มาจากลังกากลับไปไว้เมืองนครฯ ตามเดิม

ข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า “สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา” คือหลักฐานที่ใช้ยืนยันกันว่านครศรีธรรมราชเป็นรัฐที่มีอำนาขแผ่ไปทั่วมลายู เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และมีการติดต่อถ่ายทอดพระพุทธศาสนาผ่านไปสู่สุโขทัย เมื่อผนวกกับตำนานข้างต้นและสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว กล่าวได้ว่าเส้นทางจากลังกาสู่นครศรีธรรมราชไม่มีเส้นทางใดเหมาะสมยิ่งกว่าเมืองตรัง

ความรุ่งเรืองของอาณาจักรนครศรีธรรมราชเริ่มลดลงเมื่อกรุงสุโขทัยมีพัฒนาการโดดเด่นขึ้นเป็นราชธานี ครั้นเข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราชก็เป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ ช่วงเวลานั้นคือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เมืองตรังยังไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทที่เคยเป็นในยุคอาณาจักรศรีวิชัย คือเป็นเส้นทางการค้าและสืบทอดพระพุทธศาสนาในฐานะเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช

 

 

 

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>