มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-นักเขียน กวีเมืองตรัง:วรรณกรรม

กวีที่ปรากฏชื่อเสียงคนแรกของเมืองตรังคือพระยาตรัง หรือพระภักดีบริรักษณ์ อดีตเจ้าเมืองตรัง กวีเอกผู้หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีงานวรรณกรรมสำคัญได้แก่ โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย โคลงนิราศถลาง หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่านิราศพระยาตรัง โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพลงยาวนิราศว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง เรื่องหลังสุดนี้ปัจจุบันไม่อาจหาต้นฉบับได้

วรรณกรรมลายลักษณ์ของเมืองตรังในอดีต ปรากฏในรูปของหนังสือบุดหรือสมุดไทย มีเหลืออยู่บางตามวัดต่างๆ แต่ไม่มีผู้ศึกษารวบรวมอย่างจริงจัง ที่มีอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญพุทธสีหิงค์ เป็นเรื่องประโลมโลก ที่คัดลอกมา ได้แก่ เรื่องพระอภัยมณี พระรถ-เมรี นอกจากนั้นก็มีหนังสือบุดประเภทตำราต่างๆ มนต์พิธี และหนังสือเสี่ยงทายที่เรียกว่า ศาสตรา

ต่อมาในยุคสมัยที่การพิมพ์เจริญขึ้นแล้ว ก็มีผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองพิมพ์เล่มเล็กๆ เช่นเดียวกับหนังสือวัดเกาะของทางกรุงเทพฯ บางเล่มก็พิมพ์ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญหน้าวัดเกาะ ด้วยทางท้องถิ่นเรียกว่าหนังสือสวด เพราะอ่านเป็นทำนองเหมือนสวด ใช้สำเนียงปักษ์ใต้ เท่าที่รวบรวมได้ในขณะนี้มี 4 เรื่อง คือ

ประวัติพัทลุง-ตรัง ผู้แต่งคือ ครูชาญ ไชยจันทร์ และครูพาสน์ พลชัย ครูโรงเรียนวิเชียรมาตุ แบ่งพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ จำนวน 5 เล่ม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2497 และครั้งที่ 3 พ.ศ. 2503 แต่งเป็นกลอนสุภาพ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 3 ตอน กล่าวถึงเรื่องราวในอดีตของจังหวัดตรัง-พัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง มีตำราและเอกสารอ้างอิงหลายเล่ม นับเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ใช้ประกอบการศึกษาประวัติท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

กลอนภาษิตสอนหญิงชาย ของมโนราห์เติม เมืองตรัง พิมพ์ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หน้าวัดเกาะ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2503

อดีตนิทานทุ่งนางหวังครั้งโบราณ ผู้แต่งคือ ไก่ ขันติ หมู่ที่ 1 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง เรียบเรียงจากต้นฉบับของกำนันคล้าย ทวิสุวรรณ ซึ่งได้มาจากขุนหะลังคนิณทรพิสัย (ต้นตระกูลบุญชัย) อีกทีหนึ่ง ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์และสถานที่พิมพ์ แต่งเป็นกลอนสุภาพ เนื้อหาเป็นตำนานความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ในตำบลทุ่งหวังและตำบลใกล้เคียง

ประวัติถ้ำพระพุทธโกษีย์ (เกาะเต่า) โดยพระภิกษุสวัสดิ์ เทวมิตโต เจ้าอาวาส เป็นผู้รวบรวม ให้แม่ชีพุดเก็บร้อยกรอง แต่ยังขาดตกบกพร่อง จึงส่งให้นายชัย จันรอดภัยชาวพัทลุง ขัดเกลาแต่งเป็นคำกลอนอีกทีหนึ่ง เพื่อจัดพิมพ์แจกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคในการก่อพระพุทธไสยาสน์ของวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ชะอวดการพิมพ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในช่วง ครูชาญ ไชยจันทร์ และครูพาสน์ พลชัย เสนอผลงานกลอน ครูแปลง จำนงค์ ครูโรงเรียนวิเชียรมาตุอีกคนหนึ่งช่วยบุกเบิกวงการกลอนเมืองตรัง โดยเฉพาะผลงานในหนังสือ ตรังคสาร ซึ่งน่าอ่านไม่น้อย โดยเฉพาะครูแปลงได้เขียนโคลงประจำเมืองซึ่งทางจังหวัดได้ทำเป็นแผ่นป้ายติดไว้ที่ถนนทางขึ้นศาลากลางว่า

เมืองตรังรังสฤษดิ์แม้น เมืองสวรรค์

ตรังมุ่งทำดีกัน ทั่วหน้า

ศรีตรังเด่นดอกพันธุ์ พราวถิ่น

ตรังแต่งตรังคู่หล้า อยู่ยั้งตรังเสถียร

ช่วงต่อมาคือปี ๒๕๐๑ – ๒๕๐๔ ช.สัจจวจี หรือ ชื้น ขวัญเยื้องพันธุ์ นักกลอนชาวกันตังแพร่ผลงานในนิตยสารส่วนกลาง ไล่เลี่ยกับ สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ และ สุวิทย์ สารวัตร รายหลังนี้ใช้นามปากกาในการเขียนนวนิยายว่า ดวงดาว มหานคร และทายลายมือโดยใช้นามแฝงว่า ขุนชาญโหรัพปเทศ ปัจจุบัน สนธิกาญจน์ และ สุวิทย์ ได้ถึงแก่กรรมแล้วแต่ทิ้งผลงานการประพันธ์ไว้อย่างน่าชื่นชม นักกลอนชาวตรังที่สร้างผลงานในนิตยสารส่วนกลางอีกเช่น มะเนาะ ยูเด็น ปัจจุบันปลดเกษียณงานราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีแล้ว แต่ยังคงทุ่มเทงานร้อยกรอง อีกคนหนึ่ง ประพนธ์ เรืองณรงค์ ยังสร้างผลงานร้อยกรองและสารคดีภาคใต้อยู่เสมอ ช่วงปี ๒๕๐๕ – ๒๕๐๘ วงการกลอนเมืองตรังคึกคักไม่น้อย มีการประชันกลอนสดของนักกลอนหนุ่มสาว ผู้เป็นกำลังสำคัญในการจัดกิจกรรมคือ ประวิทย์ ไชยกุล และ ประพนธ์ เรืองณรงค์ เป็นต้น

ในช่วงนี้จะเว้นการกล่าวถึงบุคคลสำคัญในวงวรรณกรรมของเมืองตรังอีกคนหนึ่งเสียมิได้ บุคคลผู้นี้เดิมรับราชการและเคยเป็นปลัดอำเภอสิเกา ภายหลังเกิดเบื่อหน่ยชีวิตราชการจึงออกมาประกอบอาชีพส่วนตัวตามถนัด คือเปิดโรงพิมพ์ พร้อมกับเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ด้วยความเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการเขียน จึงชนะเลิศการประกวดกลอนอยู่บ่อยๆ และชนะเลิศการประกวดคำขวัญประจำจังหวัดตรัง ซึ่งตัดสินกันเมื่อ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๐๑ ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักสู้ที่มุ่งจะตีแผ่ความจริงต่างๆ ทำให้เกิดผลร้ายแก่ตนเอง คือต้องถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ เขาคือ เสถียร วีรวรรณ ผู้ทิ้งผลงานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้ชาวตรังทุกคนได้จดจำ เป็นคำขวัญประจำเมืองที่เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นตรังได้อย่างลึกซึ้งที่สุด คือ ชาวตรังใจกว้าง สร้างแด่ความดี

จากการจัดประกวดกลอน การประชันกลอนสด และรายการกลอนทางวิทยุกระจายเสียง ที่จัดขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐ ทำให้ก่อเกิดหน่ออ่อนนักกลอนรุ่นใหม่ในโรงเรียนมัธยมต่อมา เช่น ศิริวรรณ ชลธาร อุไรวรรณ สิงหเสม (ปัจจุบันใช้นามปากกา อุฬาริน) จิระนันท์ พิตรปรีชา, สถาพร ศรีสัจจัง, ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, เปลื้อง คงแก้ว, จรัล พากเพียร, สมเจตนา มุนีโมโนย, สุประวัติ ใจสมุทร, อนุสรณ์ ลิ่มมณี ฯลฯ หน่ออ่อนเหล่านี้เติบโตไปตามทิศทางแห่งสังคมการศึกษาหลังมัธยมและการทำงานอาชีพ หลายคนยังมีงานเขียนต่อเนื่อง มีบ้างที่หลุดหายไปจากวงการ

จิระนันท์ พิตรปรีชา สั่งสมประสบการณ์ชีวิตการต่อสู้ทางการเมือง ถ่ายทอดเป็นบทกวีรวมเล่ม ใบไม้ที่หายไป ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๓๒

สถาพร ศรีสัจจัง หรือ พนม นันทพฤกษ์ มีงานรวมเล่มทั้งบทกวีและเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อก่อนไปสู่ภูเขา ต่อมาหลายเล่มเป็นงานระดับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เช่น นวนิยายสำหรับเยาวชน เด็กชายชาวเล และ บองหลา รวมบทกวี คือนกว่ายเวิ้งฟ้า บทกวีของสถาพรนั้น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าเป็นต้นแบบในการเขียนบทกวีของหนุ่มสาวรุ่นหลังในภาคใต้

ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นักคิด นักเขียน ผู้เริ่มต้นงานเขียนรวมบทกวีและเรื่องก้าวสู่การเป็นบรรณาธิการ และเขียนวิพากษ์การเมืองด้วยโวหารเฉียบคมจากมุมมองที่แหวกแนว

จรัล พากเพียร เป็นที่รู้จักกันในนามปากกา ญิบ พันจันทร์ เริ่มจากงานบทกวี เรื่องสั้น ปัจจุบับเขียนสารคดี และนวนิยายเชิงสารคดีเกี่ยวกับบ้านเกิด เช่น สารคดี ชีวิตดั่งฝันที่เทือกเขาบรรทัด นวนิยาย รอยด่างของแผ่นดิน

พันดา ธรรมดา หรือ สมเจตนา มุนีโมโนย กวีรางวัลจากสมาคมภาษาและหนังสือ ในบทกลอน โศกนาฎกรรมแห่งเทือกเขาบรรทัด ปี ๒๕๒๕ มีผลงานรวมเล่ม กลอนห่อกล่อม ตีความเพลงกล่อมเด็กด้วยบทกลอน เป็นนักวิชาการท้องถิ่น นักคิด นักเขียน ที่ใช้นามปากกาหลายนาม ถ่ายทอดเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมลงในหนังสือท้องถิ่นปจนถึงหนังสือระดับชาติ

ในกลุ่มของนักหนังสือพิมพ์ที่เด่นๆ มี เริงศักดิ์ กำธร หนุ่มจากอำเภอห้วยยอด ผ่านประสบการณ์ชีวิตหลายรูปแบบ ก่อนเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนและคอลัมน์นิสต์หลายนามปากการวมเรื่องสั้น ผู้เฒ่าไมโล เข้ารอบ ๗ เรื่องสุดท้ายของการพิจารณารางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๓๓ คะแนนเป็นที่ ๒ รองจาก ครอบครัวกลางถนนที่ได้รางวัล สุพจน์ จริงจิตร จากย่านตาขาว คอลัมน์นิสต์ชื่อดังระดับคุณภาพ ยืนหยัดแนวทางประชาสังคมอย่างมั่นคง

เทือก บรรทัด หรือ เปลื้อง คงแก้ว สั่งสมประสบการณ์จากการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจนทำให้รวมบทกวีสะท้อนภาพสังคมการเมืองชื่อ กลางคลื่นกระแสกาล เข้าสู่รอบ ๕ เรื่องสุดท้ายในการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ เมื่อปี ๒๕๔๑ นับเป็นรายที่ ๓ ของนักเขียนชาวตรัง ที่เข้าสู่รอบสำคัญของการตัดสินรางวัลนี้

รุ่นลูกศิษย์ ขอครูพันดา ครูเทือก และครูญิบ มี ณัฐการต์ ลิ่มสถาพร สร้างผลงานบทกวี รวมเรื่องสั้น นวนิยาย และงานบรรณาธิการ ขจรฤทธิ์ รักษา นักเขียนเรื่อสั้นและบรรณาธิการบทกวีจากบ้านไร่ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ชุ่มเขียนบทกวีจากบ้านไร่ลงในหนังสือพิมพ์ทั้งท้องถิ่นและเมืองหลวง ได้รับรางวัลบทกวีดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือ ปี ๒๕๔๑ สุรวิชช์ วีรวรรณ กวีและคอลัมน์นิสต์ เป็นต้น

ที่จะเว้นเสียมิได้ นักกลอนหนุ่มชาวบ้าน อดุลย์ ณ นาป้อ สกุลของนามปากกาบอกที่อยู่ มีผลงานกลอนในหน้าหนังสือและใรรายการกระจายเสียง ออกมาเรื่อยๆ แต่ยืนนานนักกลอนแบบอดุลย์ ยังมีช่อนเร้นอยู่ในเมืองตรังอีกไม่น้อย

จากพระยาตรังกวี รากเหง้าวรรณกรรมเมืองตรัง ผ่านยุคสมัย หล่อหลอมด้วยสังคมวัฒนธรรม สายเลือดนักเลง ศิลปิน มาแต่ตรัง ไม่หนังกะโนรา กำกับด้วยจิตวิญญาณตามคำขวัญ ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี แตกหน่อต่อยอดเป็นนักสู้ นักคิด นักเขียน สืบสานและสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณกรรมสู่เส้นทางระดับชาติอย่างสง่างาม

You may also like...