มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-บทลิเกป่า

บทลิเกป่า ลิเกป่า เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนไทยฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดตรัง กระบี่ และพังงา การละเล่นเช่นนี้มีมานานเท่าใดไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นในจังหวัดตรัง

นอกจากนี้บทลิเกป่าของคณะลิเกป่าในจังหวัดตรัง ที่ชวาลา จินดาผ่อง ได้ศึกษายังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านจังหวัดตรังไว้มากมาย ดังสรุปสาระสำคัญบางประการต่อไปนี้

 

สภาพบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องเรือนเครื่องใช้ในบ้าน ดังตอนที่ยายีร่ำลาก่อนจากไปลักกะตา ว่า

ลาเรือนจากลาฟากไม้ไผ่ ไม้เสาอันใหญ่ที่ใกล้เตียงนอน

กลับไปในห้องลาราวพาดผ้า สงสารกานดาลาผ้าปูนอน

ลาทั้งสาดหมอนที่นอนหมอนไขว้ ดับแดงแต่งไว้หว่างตัวเลิกห่าง

จีลาภาพถ่ายที่ติดไว้ชายฝา วันนี้จีน้องต้องขอลาไป

 

การแต่งกาย

ทรงผม ผู้หญิงนิยมเกล้ามวย และดัดผม เช่น

หยิบหวีหางมาสางเส้นผม น่ารักน่าชมน้องไว้ผมประบ่า

หยิบหวีเอามาหวีผม เกล้ามวยกลมกลมทัดดอกดานนา

เจ้าช่อบางกอก ทัดแต่ดอกเจ้าดอกไทร

น้องสาวดัดผมมาใหม่ใหม่ ช่างงามวิไลชอบใจชาย

(ดอกดานนา-ดอกกระดังงา, ดอกดานงา ก็ว่า)

เสื้อผ้า สะท้อนการแต่งกายของสตรีมุสลิมในจังหวัดตรัง ว่า

หยิบหวีมากางน้องสางเกศา หยิบเสื้อหยอหยาจีเอามาใส่

หยิบเสื้อคอเกี่ยวน้องใส่ไว้ข้างใน หยอหยาใยใส่ไว้ข้างนอก

หยิบผ้ามานุ่งหยิบเสื้อมาใส่ เอาผ้าสไบมาห้อยพาดบ่า

แต่งเสร็จสำเร็จไม่ช้า หยิบเอาผ้าคลุมหน้าของใย

เครื่องประดับ นิยมเครื่องประดับที่เป็นทองคำ เช่น

โอ้จีเหอจีมาเลกำปง สองแขนโฉมยงทรงกำไลทอง

หยิบสร้อยเหนียวหลังมาสองสาย ภัสดาซื้อให้แขวนซ้ายแขวนขวา

หยิบธำรงค์มาใส่นิ้วก้อย แดงเหมือนจะย้อยค่าห้าร้อยบาท

แหวนทองของน้องแดงยั่งยั่ง บังซื้อให้เมื่อวันแต่งงาน

เครื่องสำอางค์ สตรีจะใช้แป้งและลิปสติกแต่งเติมใบหน้า เช่น

เจ้าช่อบางกอก ทัดแต่ดอกเจ้าดอกพลา

แป้งอะไรเอามาทา ดูหน้าตางามผุดผ่อง

เจ้าโชบางกอก ทัดแต่ดอกดอกแตง

น้องสาวทาหลูดปากแดง บาดตาบังแรงดังแสงหวัน (หลูด-ลิปสติก)

 

ค่านิยม

นิยมเลือกคู่ครองที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน

โชเอยบางกอก พี่ชายรักดอกดอกไม้ไผ่

ขอเมียอย่าขอไกล ขอสาวต่อหัวไดร่วมชายคา

ค่านิยมการไว้เกลื้อน

เจ้าโชบางกอก พี่รักแต่ดอกดอกกล้วยเถื่อน

พี่ชายชมดาวที่ล้อมเดือน ชมเกลื้อนล้อมนมสาว

ค่านิยมในการใส่ฟันทอง

บังเดินก่อนเมียเดินตามหลัง ให้พรกันมั่งผัวใหม่เมียใหม่

เมียยิ้มแต้ให้บังแลฟันทอง ยิ้มตะน้องให้ระรื่นชื่นใจ

ค่านิยมในการกินหมาก

แจ้วแจ้วถึงน้องยายี ดึกดื่นเพียงนี้สามีเรียกหา

หยิบขันน้ำเอามาบ้วนปาก จีน้องกินหมากอยู่ในเคหา

 

ความเชื่อ

เชื่อในเรื่องของชาติภพ เช่น

เจ้าช่อบางกอก พี่ชายรักดอกดอกพลา

เอามือตั้งบนไม้ตาหนา ปากว่าซาลามาเลกม

บนดูเหนียตัดขาด ไว้ในแกหราดบังขอชม

ปากว่าซาลามาเลกม ขอชมน้องสาวในเมืองผี

(ไม้ตาหนา-ไม้ปักเหนือหลุมศพของมุสลิม, ดูเหนีย-โลก พื้นโลก, แกหราด-วันสุดท้ายหรือวันพิพากษาว่าลงนรกหรือขึ้นสวรรค์)

การใช้เวทมนต์เสกแป้งผัดหน้า เช่น

เอยยายีจีอยู่ในห้อง ได้ยินภัสดาทองที่ร้องเรียกหา

หยิบแป้งมาเสกจีลงเลขสี่ บ่าวบ่าวบ้านนี้บ้าจีหลงใหล

น้องหยิบจกออกมาส่องหน้า จีหยิบเสื้อหยอหยาของจีมาใส่

หยิบแป้งมาเสกจีลงเลขห้า บ่าวบ่าวที่มาบ้าน้องทุกคน

 

ศิลปะการแต่งเนื้อเพลง

ในสมัยก่อนการขับบทว่าดอกของคณะลิเกป่าจะต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณ แต่ก็ได้แสดงถึงชั้นเชิงกลอนอยู่จำนวนไม่น้อย ดังศิลปะการแต่งเนื้อเพลงที่นำเสนอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

การใช้โวหารอุปมาอุปไมย เช่น

โชเอยบางกอก พี่ชายรักดอกดอกส้มป่อย

รักกันแต่เด็กน้อย เหมือนกินอ้อยที่โคนไปหาปลาย

กินปล้องสองปล้อง ไม่ถูกไมต้องหัวใจชาย

เหมือนกินอ้อยแต่โคนไปหาปลาย ครั้นกินไม่ได้บังคายเสีย

การใช้สัญลักษณ์ที่มีนัยของเนื้อเพลงแฝงอยู่ เช่น

ลมพัดโกรกโกรก ลมมาโยก ใบพร้าวเขียว

เป็นลูกหน่วยเดียว จะหวงไว้ให้ใคร

ต้นไม้ทางเขียว เป็นลูกหน่วยเดียว

หวงไว้ให้ใครหวงไว้นานนาน ให้บ่าวบ่าวในบ้านมันลานใจ

การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น

ถอนหมอช่อใบเสียงดังกรีดกรีด เป่าลูกหวีดสะเทือนลำนาวา

ถอนหมอช่อใบแล้วใส่ลูกรอก ผลักเรือออกนอกท่ากันตัง

ฯลฯ

เดินตึกตึกมาถึงหน้าห้อง แม่ฟันทองจีนอนหลับใหล

การใช้คำนามนัยที่หมายถึงผู้หญิงอย่างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงยายี เช่น ใช้ว่า ยอดสร้อย แม่ศรีกาเกด แม่บุญถือ แม่สายสุดใจ แม่ทองโฉมยง แม่ทองกานดา แม่หมากสุก แม่ทองคิ้วเฝือ แม่ทองหน้าใย แม่ทองเนื้อเกลี้ยง เป็นต้น

การละเล่นลิเกป่านอกจากนิยมกันในหมู่ชาวไทยมุสลิมแล้ว ยังแพร่กระจายไปสู่กลุ่มชาวไทยพุทธอีกด้วยโดยเฉพาะในส่วนของบทร้องลิเกป่า ทำให้ชาวตรังสมัยก่อนร้องเล่นกันได้ไปทั่ว เช่นเดียวกับการร้องเล่นเพลงรองเง็ง

บทลิเกป่าบางบทมีลักษณะคล้ายคลึงกับบทรองเง็ง ตันหยง สันนิษฐานว่าลิเกป่าน่าจะปรับบทร้องนี้มาจากเพลงรองเง็ง ตันหยง เพราะผู้แสดงลิเกป่า มักจะร้องเพลงรองเง็งตันหยงได้

บทร้องลิเกป่า เจ้าโชบางกอก ทัดแต่ดอกดอกเจ้าดอกเหฺมฺล

บังไปไม่รอดเสียแล้วเด ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง

คดข้าวหนึ่งหวัก คิดถึงคนรักกินไม่ลง

ถูกเหน่ปลาดุหยง กินข้าวไม่ลงสักคำเดียว

บทร้องรองเง็ง บุหงาตันหยง กำพงแลน้องมายังต้น เหฺมฺล

บังไปไม่รอดเสียแล้วเด โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยง

คดข้าวสักหวัก คิดถึงคู่รักบังกินไม่ลง

โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยัง บังกินไม่ลงสักคำเดียว

(ดอกเหฺมฺล-ดอกมะลิ)

เห็นได้ว่า ภาษาและวรรณกรรมมุขปาฐะของตรังจากอดีตมาถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ดังเช่นคนรุ่นใหม่มักไม่นิยมใช้ศัพท์ท้องถิ่น คำคล้องจองคำร้องเล่นหายไป การละเล่นลิเกป่าและรองเง็ง ตันหยง ก็เหลือน้อยเต็มที เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาและวรรณกรรมตรังยังคงลักษณะด้านอื่นๆ ไว้ให้เห็นเป็นเอกลักษณ์อยู่พอสมควร

You may also like...