มรดกวัฒนธรรม-ภาษาและวรรณกรรม-สำนวนตรัง

กลับนาท่ามตามเดิม : หมดเนื้อหมดตัว

นาท่าม เป็นชื่อตำบล ในอำเภอเมืองตรัง คือตำบลนาท่ามเหนือ และตำบลนาท่ามใต้

กลับนาท่ามตามเดิม หมายความว่า ค่อนข้างจะหมดเนื้อหมดตัวในการลงทุนทำการค้าหรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพต่างๆ ที่ล้มเหลว แต่ที่ชอบพูดกันมากเห็นจะได้แก่ ในวงการพนัน กล่าวคือ กำลังเล่นอยู่ดีๆ ก็มาดวงตกแพ้พนันหมดเกลี้ยง ไม่เหลือทั้งที่ได้มาและทั้งที่เป็นต้นทุน เพื่อนนักเลงมักล้อบุคคลประเภทดังกล่าวนี้ว่า กลับนาท่ามตามเดิม หรือ นาท่ามตามเดิม โดยมีที่มาของสำนวนว่า

กาลครั้งที่เมืองตรังยังมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี ตรงหัวสบคลองลำภูรามาบรรจบกับแม่น้ำตรังนั้น พอถึงหน้าน้ำมีน้ำท่วมใหญ่ให้ชาวบ้านได้จับปลากันอย่างสนุกสนาน สมัยนั้นมีชาวนาท่ามนายหนึ่งได้เป็นพยานศาลในคดีหนึ่ง มีหลวงภิรมย์เป็นทนายความเของคดีถึงคราวกำหนดนัดหมายศาลเพื่อสืบพยาน แต่ศาลดำเนินการไม่ได้เพราะพยานปากสำคัญจากนาท่ามไม่มาศาล การสืบพยานนัดสำคัญจึงต้องเลื่อนออกไป ศาลกำหนดนัดสืบพยานใหม่ จนกระทั่งเลาการพิจารณาคดีตามหมายเริ่มขึ้นในครั้งต่อมา พยานปากเอกจากนาท่ามยืนตัวตรงอยู่ในคอกพยาน เมื่อศาลซักว่าทำไมครั้งก่อนนัดแล้วไม่มา หนีหมายศาลหรืออย่างไร รู้หรือไม่หนีหมายศาลมีโทษถึงสั่งขังได้นา โดนเข้าไม้นี้พยานตัวสั่นงันงก แต่ก็ไม่วายให้การโต้ตอบไปด้วยวาทะคารมประสมความจริงแท้แน่นอนตามปรากฏการณ์ที่เป็นอุปสรรคนั้นว่า

ข้าแต่ศาล… ไม่ใช่หนีหรอกแลฉาน ไปเอารหรอกแลผม

หลวงภิรมย์แกไม่ถ้า น้ำนองคลองลำรา

มาไม่ได้ หลบนาท่ามตามเดิม

คดเหมือนเขาพับผ้า : คดมาก เป็นำนวนเปรียบเทียบว่า คดมาก มีที่มาจากกาตัดถนนสายตรัง-พัทลุง ที่ตัดผ่านเทือกเขาบรรทัดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยารัษฎาฯ เจ้าเมืองตรังในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสร้างและบุกเบก แต่การสร้างถนนในสมัยนั้นมีความยากลำบากมาก จำเป็นต้องตัดไปตามแนวร่องของเทือกเขาจึงทำให้ถนนคดไปคดมาเหมือนกับพับผ้า ชาวตรังเรียกถนนสายนี้ว่า ถนนสายเขาพับผ้า และมักจะเปรียบสิ่งที่คดมากกว่า คดเหมือนเขาพับผ้า

ชาญ ไชยจันทร์ และพาสน์ พลชัย ก็ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติพัทลุง-ตรัง ถึงถนนสายเขาพับผ้าด้วย ว่า

ครั้นต่อมาไม่ช้าพระยารัษฎ์ ท่านได้จัดช่างใหม่ในวิถี

มิสเตอร์สาลาท่าเข้าที ชำนาญดีทางเขาลำเนาไพร

มิสเตอร์เตเฟ็นตัดไว้ก่อน ศาลาย้อนเร่งรัดให้ตัดใหม่

ทำพับผ้าน่าเดินเพลินฤทัย ตัดย้อนไปยักมาคล้ายผ้าพับ

ค่อยสูงขึ้นทีละนิดวิจิตรเหลือ ใต้ไปเหนือเลี้ยวใต้แล้วย้ายกลับ

ทำถนนพับผ้าเหมือนผ้าพับ ดูซ้อนซับหลายชั้นไม่กันดาร

พนม นันทพฤกษ์ ได้พรรณนาถึงสภาพเขาพับผ้าไว้ว่า

วกวับ วกวับเป็นคุ้งโค้ง สองฟากป่าโปร่งลำห้วยใส

หญ้าคาดอกขาวสะบัดไกว ลมชื้นไล้ไล้ ละโลมลง

เหนือภู แดดส่องเป็นลำแสง ทอทาบสาดแทงม่านหมอกผง

เหมือนพรายรุ้งฟ้าระบายดง ทาบตรังสันภู พะพรายพราย

คนเหมือนงานหลองรัฐ, คนเหมือนงานเหลิม : คนมาก เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึง คนมาก มีที่มาจากความนิยมของชาวตรังในการเที่ยวงานประจำปีในสมัยก่อน คือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ แม้ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานกาชาดจังหวัดตรัง แล้วก็ตาม แต่ชาวตรังก็ยังคงใช้ทั้งสองชื่อ และเรียกสั้นๆ ตามลักษณะนิสัยของชาวใต้ว่า งานหลองรัฐ หรืองานเหลิม งานนี้จะจัดยิ่งใหญ่และยาวนานที่สุดในจังหวัดตรัง ในงานสมัยก่อนมีการประกวดผลิตภัณฑ์การเกษตร การสาธิต การแสดง มหรสพ การออกร้านจำหน่ายสินค้าและอื่นๆ อีกมาก ทั้งของรัฐและเอกชน ฉะนั้น ชาวตรังจึงมักไม่พลาดที่จะไปเที่ยวชมงานนี้ ที่หอบลูกเล็กเด็กแดงไปด้วยก็มีมาก ผู้คนทุกวัยต่างก็มาเที่ยวกันอย่างคับคั่งล้นหลาม

คมเหมือนพร้านาป้อ : คมมาก เป็นสำนวนเปรียบเทียบว่า คมมาก มีที่มาจากการทำอุตสาหกรรมมีดพร้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของชาวบ้านบ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง มีดพร้าที่นี่มีคุณภาพดี มีความคมและทนทาน จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง

 

แจ้งเหมือนงานเหลิม : สว่างไสวมาก เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึง สว่างไสวมาก มีที่มาจากการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งในงานและบริเวณประดับประดาไปด้วยดวงไฟสวยงามสว่างไสว ฉะนั้น ถ้าที่ใดเปิดไฟฟ้าหรือแสงไฟสว่างจ้าก็มักจะเปรียบเทียบว่าแจ้งเหมือนงานเหลิม

 

มาแต่ตรังไม่หนังก็โนรา : เมืองตรังเป็นแหล่งหนังตะลุงและมโนราห์ เป็นสำนวนพูดติดปากของชาวตรังและชาวจังหวัดใกล้เคียง ที่แสดงว่าเมืองตรังเป็นแหล่งศิลปะ การแสดงพื้นบ้านคือหนังตะลุงและมโนราห์เป็นที่ขึ้นชื่อลือนาม มีศิลปินเด่นดังเป็นที่รู้จักแพร่หลายในแถบถิ่นปักษ์ใต้จำนวนหลายคนหลายคณะ ทั้งหมายถึงว่าคนเมืองตรังมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน มีไหวพริบปฏิภาณทางกลอนสด มีสายเลือดศิลปินอยู่ในตัว ขับกลอนหนังตะลุงและมโนราห์กันได้เป็นส่วนมาก

 

รู้จักเหมือนรู้จักโนราเติม : รู้จักเพียงฝ่ายเดียว เป็นสำนวนเปรียบเทียบว่า รู้จักเพียงฝ่ายเดียว มีที่มาจากการมีชื่อเสียงโด่งดังของมโนราห์เติม ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของจังหวัดตรัง หากใครถามชาวตรังว่ารู้จักกับบุคคลหนึ่งหรือไม่ ถ้าได้รับคำตอบว่า รู้จักเหมือนรู้จักโนราเติม นั่นแสดงว่าเขารู้จักเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น อุปมาดั่งการรู้จักโนราเติมที่ใครๆ ก็ต่างรู้จักโนราเติมกันทั้งนั้น

 

ลมงานหลองรัฐ ลมงานเหลิม : ลมหนาว เป็นสำนวนที่มีมาจากช่วยเวลาในการจัดานประจำปีของจังหวัดตรัง ที่เรียกสั้นๆ ว่า งานหลองรัฐ หรือ งานเหลิม ซึ่งตรงกับช่วงที่ลมหนาว หรือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มพัดผ่านมาพอดี จึงเรียกลมหนาวที่พัดมาช่วงนี้ว่า ลมงานหลองรัฐ หรือ ลมงานเหลิม

 

เวียนเทียนไก่ : หมุนเวียนไก่กัน หมายความว่า หมุนเวียนไก่กันเหมือนกับการเวียนเทียน มีที่มาจากเมื่อครั้งพระยารัษฎาฯ มีนโยบายว่า เรือนหนึ่งจะต้องเลี้ยงไก่ 5 ตัว เมื่อท่านมาตรวจจะต้องมีไก่ให้ท่านดู ถ้ามีไก่ไม่ครบ 5 ตัว จะถูกเคาะศรีษะด้วยไม้เท้าหัวสุนัข ปรากฏว่าราษฎรทุกครัวเรือนต่างก็มีไก่ครบ 5 ตัว เพราะให้เด็กๆ วิ่งไปเอาไก่บ้านใกล้มา พอท่านคล้อยหลังก็แอบวิ่งไปคืน ขบวนการเวียนเทียนไก่จึงเป็นเรื่องที่เล่าขานกันในเวลาต่อมา

 

หนักแน่นแก่นเคี่ยม : หนักแน่นมาก เป็นสำนวนเปรียบเทียบว่าหนักแน่นเหมือนแก่นไม้เคี่ยมนั่นเอง ซึ่งไม้เคี่ยมเป็นไม้ยืนต้นมีชื่อของเมืองตรัง เนื้อไม้ละเอียด แข็ง เหนียว หนัก ใช้งานทนทานมาก ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงมักจะเปรียบเทียบคนที่มีความหนักแน่นว่าหนักแน่นแก่นเคี่ยม

 

หมาเจ้าคุณเทศาฯ ขบหัว : ถูกเจ้าคุณเทศาฯ เคาะหัวด้วยไม้เท้า เป็นสำนวนที่มีที่มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งพระยารัษฎาฯ เจ้าเมืองตรัง ซึ่งต่อมาได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ทำให้ชาวตรังเรียกสั้นๆ ว่าเจ้าคุณเทศา เมื่อออกตรวจราชการในท้องที่ ท่านจะเรียกราษฎรมาสอบถามก่อนว่าได้ปฏิบัติตามที่สั่งไว้หรือไม่ ใครไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนจะถูกเฆี่ยนด้วยไม้ หรือเคาะหัวด้วยไม้เท้าประจำตัวของท่านเป็นการลงโทษและกำชับให้ปฏิบัติตามคำสั่งให้ครบถ้วน เรื่องการเคาะหัวด้วยไม้เท้านี้เป็นที่เลื่องลือกันมาก ไม่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้นที่ถูกเคาะ แม้นายอำเภอถ้าปฏิบัติราชการไม่เป็นผล ท่านก็เคยใช้ไม้เท้าเคาะหัวเอาต่อหน้าธารกำนัล ไม้เท้าของท่านนั้นเรียกกันทั่วไปว่า ไม้เท้าหัวหมาเนื่องจากหัวไม้เท้าทำเป็นรูปหัวหมา การพูดเป็นนัยว่า หมาเจ้าคุณเทศาฯ ขบหัว จึงมีความหมายดังกล่าว

 

โหฺม่เหนือ (หฺมู่เหนือ) : พวกที่ไม่ทันสมัย เป็นสำนวนที่ชาวกันตังสมัยก่อนใช้พูดกัน เพราะสมัยนั้นที่ตั้งเมืองตรังตั้งอยู่ที่ตำบลกันตัง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดตรัง ฉะนั้น คนที่มาจากอำเภออื่นที่อยู่ทางเหนือของกันตังจึงไม่ใช่คนเมืองและไม่ทันสมัย มักถูกชาวกันตังเรียกว่า โหม่เหนือ ในความหมายว่า พวกที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย หรือที่ภาษาปากใช้ว่าเชย นั่นเอง และในที่สุดคำนี้ก็ใช้ไปทั่วทั้งเมืองตรัง แม้ได้ย้ายที่ทำการเมืองตรังมาอยู่ที่ตำบลทับเที่ยงแล้วก็ตาม (โหฺม่-หมู่)

 

โหฺม่เหมก (หฺมู่เหฺมก) : พวกที่ไม่ทันสมัย เป็นสำนวนที่ชาวตรังใช้พูดกันในความหมายว่า พวกที่ไม่ทันสมัย ทั้งนี้เพราะบ้านเหมกน้อย หรือตะเหมก ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลละมอ อำเภอนาโยง มีพื้นที่ลึกไปจากตัวอำเภอ จนติดต่อกับเทือกเขาบรรทัด ในสมัยก่อนการสัญจรไปมาลำบากมาก ผู้คนในหมู่บ้านจึงไม่ค่อยมีโอกาสออกมาพบเห็นความเจริญทางด้านวัตถุหรือความทันสมัยจากโลกภายนอก และในที่สุดชาวตรังใช้คำนี้กับคนทั่วไปที่ไม่ทันสมัยว่า โหฺม่เหฺมก

You may also like...