มรดกธรรมชาติ – น้ำตก

มรดกอันยิ่งใหญ่จากผืนป่าต้นน้ำ คือสายธารที่ไหลมาหล่อเลี้ยงชีวิตชาวตรังก่อนจะไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม สายน้ำเหล่านี้ต่างเดินทางผ่านโขดเขา ผาสูง และแนวป่า กลายเป็นน้ำตกที่ยังนับจำนวนได้ไม่หมด มีทั้ง โตน น้ำตกที่กระโจนจากหน้าผาสูง และหนาน น้ำตกที่ไหลเลาะผ่านชั้นหินเตี้ยๆ

น้ำตกช่อง น้ำตกที่ลือชื่อในอดีตของเมืองตรังคือ น้ำตกช่อง หรือ น้ำตกกระช่อง อยู่ในเขตตำบลช่อง อำเภอนาโยง ห่างจากตัวเมือง 21 กิโลเมตร เป็นสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จประพาสมาแล้ว ทั้งรัชกาลที่5 รัชกาลที่6 รัชกาลที่7 รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมรินีนาถ บนก้อนหินใหญ่ริมโตนน้ำปลิว ยังมีพระบรมนามาภิไธยและพระนามาภิไธยย่อจารึกอยู่ให้ชาวตรังได้เห็นเป็นอนุสรณ์

น้ำตกชั้นบนลงมาจากผาสูงเรียก โตนน้ำปลิว อีกส่วนหนึ่งคือตอนล่างมีชื่อ โตนใหญ่ และ โตนน้อย เป็นน้ำตกที่ไหลหลั่นลดลงมาเป็นลำธาร มรดกธรรมชาติชิ้นนี้ต้องประสบความเสียหายครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2524 ด้วยน้ำป่าที่กล่าวกันว่าเกิดจากการทำลายป่าอย่างขนานใหญ่ในต้อนบนของเขาช่อง พัดพาต้นไม้ใหญ่หักโค่น หิน กรวด ทรายถล่มลงมาจากภูเขาพร้อมๆ กับสายน้ำเชี่ยวกราก ก่อความเสียหายอย่างรุนแรง ต้องใช้เวลานานปีกว่าจะฟื้นคืนสภาพ เหตุการณ์ครั้งนั้นคงจะเป็นเครื่องเตือนใจได้ดีว่า มรดกที่ธรรมชาติให้มานั้นมีกฎเกณฑ์ขีดจำกัดในการใช้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือบทเรียนของการละเมิดกฎ การช่วยกันรักษาผืนป่าเขาบรรทัด คือสิ่งสำคัญที่เกื้อหนุนให้น้ำตกกะช่องสามารถส่งสายน้ำลงสู่คลองช่อง คลองละมอ และคลองนางน้อย ให้ไหลลงหล่อเลี้ยงทุ่งราบของเมืองตรังให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป

น้ำตกสายรุ้ง อยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว ห่างจากตัวเมือง 35 กิโลเมตรจากเส้นทางอำเภอนาโยง เป็นน้ำตกสูงที่มองเห็นประกายรุ้งในละอองน้ำยามสะท้อนแดดบ่าย และเป็นต้นน้ำที่ไหลลงสู่งคลองลำพิกุล

น้ำตกไพรสวรรค์ อยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลโพรงจระเข้ ห่างจากน้ำตกสายรุ้งเพียง 3 กิโลเมตรบนถนนสายเดียวกัน ทางเดินของสายน้ำจากไพรสวรรค์คือคลองสอ ซึ่งลงสู่คลองปะเหลียน

น้ำตกลำปลอก ต่อไปจากทางแยกน้ำตกไพรสวรรค์ ไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร จะมีทางเข้าสู่น้ำตกลำปลอก เป็นน้ำตกบนเขาสูง อยู่ในตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน

คุณค่าของน้ำตกลำปลอกมิใช่เพียงความงามตามธรรมชาติเท่านั้น บริเวณน้ำตกแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และยังมีฝายทดน้ำคลองลำปลอกของการชลประทาน ที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่หมู่บ้านใกล้เคียง ก่อนจะไหลลงสู่คลองปะเหลียน

น้ำตกน้ำพ่าน ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลปะเหลียน ห่างจากตัวเมือง 42 กิโลเมตรในป่าโปร่งเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ มีน้ำตกเล็กๆ นับไม่ถ้วนกระจากกันอยู่ทั่วบริเวณ แล้วไหลลงสู่คลองลำแคลง หากขึ้นไปทางต้นน้ำจะพบน้ำตกลักษณะเดียวกันกระจายอยู่ทั่วป่ากลางช่องเขา ในช่องเขาเหล่านี้ยังมีถ้ำหินงอกหินย้อยและพรรณไม้นานาชนิด ชาวบ้านเรียกน้ำตกนี้ว่าน้ำพ่านตามลักษณะของน้ำตก เพราะ พ่าน ในภาษาถิ่นใต้แปลว่า กระจัดกระจาย และเคยมีชื่อเป็นทางการว่า ช่องบรรพต เพราะอยู่กลางช่องเขา กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็น วนอุทยานน้ำพ่านเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2540

น้ำตกโดนเต๊ะ ในหมู่ที่ 2 ตำบลปะเหลียน ยังมีน้ำตกใหญ่ความสูงประมาณ 320 เมตร จนอาจเรียกได้ว่าเป็นราชาแห่งน้ำตก สามารถมองเห็นและได้ยินเสียงก่อนเข้าสู่ตัวน้ำตก สายน้ำโตนเต๊ะอาจมีน้ำอยลงบ้างในฤดูแล้ง แต่ไม่เคยเหือดแห้ง มรดกน้ำจากโตนเต๊ะคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปหากไม่มีการบุกรุกล่วงล้ำไปถึงป่าต้นน้ำ

น้ำตกโตนตก ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลปะเหลียน ลักษณะเด่นของน้ำตกชั้นแรกคือ หน้าผากว้างมีสายน้ำพร่างพรูผ่านแท่นหินมหึมาที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ เหนือขึ้นไปจะมีทางเดินสู่น้ำตกซึ่งมีอีกหลายๆ ชั้น ที่สวยมากคือชั้นที่ 3 สายน้ำจากโตนตกไหลลงรวมกับสายน้ำจากโตนเต๊ะเป็นคลองปะเหลียน

น้ำตกเจ้าพะ ตั้งอยู่ที่บ้านเจ้าพะ ตำบลแหลมสอม ตอนสูงสุดของน้ำตก ชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า น้ำตกคลองตง ตามชื่อคลองต้นน้ำ บางทีเรียกว่าน้ำพ่านเจ้าพะหรือหนานเจ้าพะ เพราะเป็นน้ำตกที่ลดหลั่นเป็นชั้นเชิงลงมาตามแนวหินปูน และมีวังน้ำใสกระจดกระจายไปทั่ว บริเวณใกล้น้ำตกนี้ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเงาะป่า หรือชนเผ่าซาไก

น้ำตกอ่างทอง ตั้งอยู่ที่ถนนสายตรัง-สิเกา ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ 21 กิโลเมตร ป็นน้ำตกริมทางที่มีต้นกำเนิดมาจากป่าสายควนหละ เขาหวาง น้ำตกจะมีสีค่อนข้างเหลือง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ อ่างทอง

น้ำตกเขาหลัก อยู่ในเขตตำบลน้ำผุด เป็นทั้งที่เที่ยวเล่น และแหล่งน้ำดิบของประปาหมู่บ้าน มีต้นกำเนิดจากเขาหลักไหลลงเป็นสายห้วยไปสมทบกับคลองลำภูรา

น้ำตกปากแจ่ม ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด ต้นทางขึ้นไปสู่น้ำตกเริ่มจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่า เขาปู่-เขาย่า ชาวบ้านเรียกชื่อน้ำตกแห่งนี้ว่า โตนอ้ายเล มีหลายชั้น สายนำแห่งนี้ไหลลงคลองลำภูราก่อนลงสู่แม่น้ำตรัง

น้ำตกโตนคลาน เป็นน้ำตกเล็กๆ อยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลห้วยยอด มีต้นกำเนิดมาจากควนในเหยา และไหลลงสู่คลองห้วยยอดก่อนลงสู่แม่น้ำตรัง แต่สายน้ำในห้วยเริ่มอ่อนแรง เพราะควนที่เป็นยอดห้วยถูกแผ้วถางไปมากแล้ว

น้ำตกร้อยชั้นพันวัง อยู่ในตำบลคลองชี อำเภอวังวิเศษ ตรงบริเวณแนวตะเข็บของจังหวัดตรังกับจังหวัดกระบี่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังวิเศษประมาณ 29 กิโลเมตร เป็นน้ำตกหินปูนในบริเวณพื้นที่กว้าง ประกอบด้วยน้ำตกน้อยใหญ่นับร้อยนับพันตามชื่อ และยังเป็นที่อยู่ของนกแต้วแร้วทองดำ ซึ่งเป็นสัตว์สงวนมีค่าหากที่เกือบจะสูญพันธ์ไปแล้ว

นอกจากน้ำตกที่กล่าวมาแล้ว ยังมีน้ำตกอื่นๆ ตลอดแนวเทือกเขาบรรทัดอีกหลายแห่ง ซึ่งชาวบ้านในแต่ละแถบถิ่นรู้จักกันดี เพียงแต่ไม่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว น้ำตกเหล่านี้ยังคงไหลรินลงมาเป็นสายห้วยสายคลอง ให้ผู้คนในพื้นที่ได้ใช้ดำรงชีวิตตลอดมา

You may also like...