มรดกธรรมชาติ – พื้นที่ป่า

พื้นที่ป่าในจังหวัดตรังสามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าต้นน้ำ และ ป่าชายเลน

ป่าต้นน้ำ ในพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง ตามหลักฐานเดิมกล่าวว่ามีพื้นที่ป่าไม้ถึง 1,890,021 ไร่ แต่พอถึงปี พ.ศ. 2538 สภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์จริงๆ ยังคงเหลือเพียง 596,719 ไร่ หรือ 19.42 % ของเนื้อที่ทั้งจังหวัดเท่านั้น

ส่วนในเนื้อที่ป่าไม้ธรรมชาตินั้น ยังมีผืนป่าต้นน้ำที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดตรังระบุว่าเป็น ป่า 8 ผืนสุดท้าย เหลือเป็นมรดกสำคัญสูงสุดที่ชาวตรังจะต้องร่วมกันดูแลรักษาไว้เป็นโรงงานธรรมชาติผลิตน้ำและออกซิเจน เพื่อไหลลงมาหล่อเลี้ยงชีวิตและลมหายใจของทุกคนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุข

ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 1 ตอนที่ 1

อยู่ในเขตอุทยานเขาปู่-เขาย่า พื้นที่อำเภอห้วยยอด เป็นต้นน้ำของน้ำตกปากแจ่ม คลองลำภูรา อีกกลุ่มหนึ่งคือ คลองท่างิ้ว จากตำบลในเตา คลองหินแทนจากตำบลปากแจ่ม ไปรวมกับคลองยางยวน ลงสู่แม่น้ำตรังที่ตำบลเขากอบ

ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 1 ตอนที่ 3

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อำเภอรัษฎา ซึ่งอยู่เหนืออำเภอห้วยยอดขึ้นไป เป็นต้นกำเนิดคลองสำคัญคือคลองมวน คลองกะปาง และคลองท่าประดู่

ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 2 ตอนที่ 1

อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดท้องที่อำเภอปะเหลียน เป็นต้น กำเนิดของน้ำตกและคลองหลายสายที่ไหลผ่านอำเภอย่านตาขาวและปะเหลียน ได้แก่ คลองลำแคลง คอลงปะเหลียน คลองลำปลอก คลองไหนุ้ย คลองสอ คลองลำพิกุล คลองลำทู่ คลองลำขนุน มารวมกันเป้นแม่น้ำปะเหลียน และยังมีคลองที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยตรง ได้แก่คลองลิพัง คลองวังอ่างทอง คอลงหลักขัน และคลองแร่

ในเขตนี้ยังมีพื้นที่ระหว่างรอยต่ออง ตรัง สตูล และพัทลุง คือ บ้านตระ หมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลแห่งป่าเขา ที่สำคัญที่สุดคือ พื้นที่แห่งนี้จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 ที่ยังคงผืนป่าสมบูรณ์และเป็แหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารนับร้อยสาย ไหลลงไปหล่อเลี้ยงพื้นที่รายรอบ ทั้งสามจังหวัด ส่วนที่เป็นของจังหวัดตรัง ได้แก่ คลองปะเหลียน และลำห้วยต่างๆ อำนวยประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรมเนื้อที่ 370,369 ไร่ ในอำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว

ในประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี บ้านตระเคยเป็นเส้นทางผ่านจากพัทลุงเพื่อออกสู่ทะเล เคยเป็นแหล่งหลบภัยที่อำนาจรัฐเข้าถึงได้ยาก เคยเป็นดินแดนต้องห้ามในยุคที่ยังมีการปฏิบัติการของ พคท. และยังหลักฐานการตั้งรกรากของกลุ่มชน คือ โครงกระดูกมนุษย์โบราณและเศษเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องปั้นดินเผาในถ้ำ ผลหมากรากไม้อายุนับร้อยปี ต้นยางพาราเก่าแก่และใหญ่ที่สุดของเมืองตรังก็ว่าได้ เพราะวัดรอบเส้นรอบวงได้ถึง 310 เซนติเมตร รวมทั้งกุโบร์หรือสุสานแหล่งพักพิงสุดท้ายของผู้คนที่มาฝากชีวิตในดินแดนนี้

ผืนป่าบ้านตระนับเป็นมรดกธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ การดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้เพื่ออำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนพร้อมๆ กับการรักษาประวัติศาสตร์นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เหนือบ้านตระมีภูเขาสูงที่สามารถเดินทางขึ้นไปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล และพัทลุง คือ เขาเจ็ดยอด กลุ่มในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 2 เช่นกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของนักเดินป่าผู้ใฝ่หาธรรมชาติ

ป่าไส-ป่าแก่

พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอวังวิเศษ เป็นต้นกำเนิดคลองลำลุง คลองช่องงาย คลองทรายขาว คลองส้านแดง รวมทั้งคลองชี คลองเหล่านี้ไหลรวมกับคลองชีลงสู่แม่น้ำตรังที่ตำบลหนองตรุด อำเภอเมือง และยังมีคลองกะลาเสใหญ่ ไหลผ่านอำเภอสิเกาลงสู่ทะเลอันดามัน ป่าแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดน้ำตกร้อยชั้นพันวังอีกด้วย

ป่าสายคลองร่มเมือง ป่าสายควน และป่าเกาะอ้ายกลิ้ง

อยู่ในอำเภอสิเกา ให้กำเนิดคลองสำคัญของอำเภอคือคลองสิเกา ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน

ป่าสายควนหละ และป่าเขาหวาง

อยู่ในเขตอำเภอสิเกา เป็นต้นธารของคลองอ่างทอง น้ำตกอ่างทอง คลองผมเด็นจากตำบลไม้ฝาด ไหลผ่านตำบลนาเมืองเพชรรวมกันเป็นคลองสว่าง และลงสู่แม่น้ำตรังในเขตตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง อีกสายหนึ่งคือคลองหละ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปาใช้ในอำเภอสิเกา ไหลลงทะเลระหว่างหาดปากเมงกับหาดฉางหลาง

ป่าเขาหวาง ป่าควนแคง และป่าน้ำราบ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งอยู่ในเขต 2 อำเภอ คือ อำเภอสิเกาและอำเภอกันตัง เป็นต้นกำเนิดคลองยูง คลองไม้แดง คลองห้วยไทร คลองน้ำเค็มไหลลงทะเลอันดามัน ส่วนคลองน้ำราบ คลองสิเหร่ และคลองลุ ไหลลงแม่น้ำตรังในเขตอำเภอกันตัง

 

You may also like...