มรดกธรรมชาติ – แหล่งน้ำ

การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของเปลือกโลกและการกระทำงน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดพื้นที่ซึ่งเรียกว่า หลุมยุบและหลุมจม และกลายป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ บางส่วนเคยเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง บางแห่งมีแร่ธาตุในดินทำให้เกิดน้ำร้อน น้ำพราย สภาพธรรมชาติเช่นนี้ปรากฎให้เห็นทั่วไปในเมืองตรัง ทั้งในรูปของห้วย หนอง คลอง วัง สระ บ่อ ดังนี้

ทะเลสองห้อง ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด มีบทเพลงมุขปาฐะร้องกันมาแต่ดั้งเดิมว่า ถ้าหากพี่ไปถึงเลสองห้อง ให้กลับมาหาน้องเล่าหนา เลสองห้อง ในบทเพลง มุขปาฐะของชาวเมืองตรังบทนี้ คือทะเลสองห้อง บึงน้ำใหญ่คล้ายทะเลสาบคู่กลางวงล้อมของขุนเขาและผืนป่า คือ ป่าเขารางสาด ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 10 ตำบลบางดี ความงามของบึงนี้มีปรากฎในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “น้ำในทะเลนี้ใสนัก เพราะฉะนั้นเวลาสงัดลมน้ำนิ่ง แลเห็นเงาเขาและต้นไม้แจ่มดีราวกับอยู่ในกระจกเงา” เหนือน้ำใสมีฝูงเป็ดน้ำโบกบินให้เห็นอยู่เสมอ และในน้ำเป็นแหล่งปลาที่สมัยก่อนชาวบ้านมักจะไปตั้งทับจับปลาอยู่ไม่ขาดตลอดปี แต่ปัจจุบันนี้ มีป้ายห้ามจับสัตว์น้ำปักประกาศเอาไว้แล้วอย่างถาวร ส่วนบนเนินด้านหนึ่งของทะเลนี้เป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือแห่งชาติจังหวัดตรัง ซึ่งจะเป็นที่รองรับกิจกรรมลูกเสือในจังหวัดจนไปถึงระดับชาติและระดับโลกต่อไป

 

สระกะพังสุรินทร์ หนองน้ำธรรมชาติในเขตเมือง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ เป็นแหล่งปลาน้ำจืดและนกเป็ดน้ำเช่นเดียวกับแหล่งน้ำอื่นๆ ในเมืองตรัง เดิมชื่อว่า หนองตะเคียนคู่ตามชื่อไม้ที่เคยมี

สมัยที่พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้ให้พัฒนาหนองน้ำนี้เป็นครั้งแรก ทางการจึงตั้งชื่อว่าสระกะพังสุรินทร์ และให้อยู่ในความดูแลของสุขาภิบาลและเทศบาลมาเป็นลำดับ เทศบาลเมืองตรังได้ลงมือพัฒนาครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2504 โดยมีประชาชนจำนวนนับพันเข้าร่วมขุดลอก สระกะพังสุรินทร์จึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามของชาวเมืองตรังแต่นั้นมา

ตำนานสำคัญของสระกะพังสุรินทร์คือ สถานที่แห่งนี้เป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จมณฑลปักษ์ใต้ พศ. 2471

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2471 คือวันที่เสด็จประพาสสระกะพัง ดังความในหนังสือราชกิจรายวันกล่าวว่า

เวลา 16.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากตำหนักผ่อนกาย เสด็จตำบลสระพัง เป็นที่คล้ายกับวนะมีสระใหญ่อยู่กลาง เสวยเครื่องว่าง ณ พลับพลาซึ่งปลูกในสระนั้นเสร็จแล้วเสด็จทอดพระเนตรรอบริเวณ เวลา 17.15 น. เสด็จกลับสู่พระตำหนักผ่อนกายประทับแรม

 

บ่อน้ำร้อน ที่รู้จักกันในเมืองตรังขณะนี้มี 2 แห่ง ได้แก่ ที่อำเภอกันตังและที่อำเภอปะเหลียน

บ่อน้ำร้อนที่บ้านควนแคง หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง มีถนนทางเข้าแยกจากถนนท่าส้ม-หาดยาว ระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ลักษณะเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ในป่าพรุ อุณหภูมิองน้ำสูงถึง 70 องศาเซลเซียส บางครั้งมีฟองพรายผุดพลุ่งพร้อมกลิ่นกำมะถันจางๆ ทางการเคยเข้าไปพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มเติมเป็นคันขอบคอนกรีตในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิม

ปัจจุบันบ่อน้ำร้อนแห่งนี้จัดเป็นบ่อน้ำแร่เข้าใจกันว่ามีสรรพคุณสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคผิวหนัง โรคปวดเมื่อย จึงมีผู้คนทั้งจากใกล้ไกลไปอาบน้ำแร่กันอย่างคับคั่ง

อีกแห่งหนึ่งคือ ที่บ้านควนสระ หมู่ที่ 4 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน เป็นบ่อน้ำร้อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่แห่งหมู่บ้านกล่าวว่ามีมาตั้งแต่จำความได้ แต่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อใด

บริเวณบ่อน้ำร้อนนี้เป็นตอนปลายของคลองสุโสะซึ่งน้ำเค็มขึ้นถึง เวลาน้ำลงคลองก็แห้ง ตามบริเวณริมคลองและท้องคลองหลายแห่งมีแอ่งน้ำร้อนที่มีฟองผุดพลุ่งกระจายอยู่ตรงริมคลองเคยมีแอ่งใหญ่กว้างประมาณ 2 เมตร บางครั้งน้ำในบ่อจะร้อนมากขนาดต้มไข่สุกและกบเขียดที่กระโดดลงไปถึงตายได้ ทั้งมีกลิ่นกำมะถันด้วย ต่อมามีชาวบ้านเอาท่อซีเมนต์ไปสวมไว้ และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้รักษาโรคได้ จึงมีผู้ปักธงบูชาไว้รอบๆ บ่อด้วย

 

ห้วยน้ำพราย ที่บ้านน้ำพราย ตำบลปากคม อำเภอห้วยยอด มีลำห้วยซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ จะมีพรายน้ำผุดพลุ่งขึ้นมาทุกครั้งที่มีเสียงดังรบกวน จึงได้ชื่อว่าห้วยน้ำพราย ผู้แวะเวียนเข้าไปมักจะทดลองปรบมือหรือตะโกนดังๆ เพื่อจะได้เห็นพรายน้ำ

You may also like...