สลิล โตทับเที่ยง

คุณสลิล โตทับเที่ยง ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตรัง

ถึงใครหลายคนจะไม่เคยกินปลากระป๋องปุ้มปุ้ย แต่ชื่อเสียงของ ‘ปุ้มปุ้ย’ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่โด่งดังของ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ที่ขจรไกลมาจากเมืองตรังไปทั่วประเทศและทั่วโลก น่าจะอยู่ในความรู้จักของผู้คนทั่วประเทศมาเป็นเวลาช้านาน ควบคู่กันมากับชื่อเสียงของตระกูล “โตทับเที่ยง” ครอบครัวนักธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือพัฒนาท้องถิ่นเมืองตรังมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการวางรากฐานด้านการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของตรังมาตั้งแต่เริ่มต้น จนทำให้ตรังกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงกว้างไกลไปทั่วโลก จากการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทร ด้วยไอเดียสุดสร้างสรรค์ ที่ยากจะหาใครเลียนแบบได้

ตระกูลโตทับเที่ยงยังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างโรงแรมชั้นดีแห่งแรกกลางใจเมือง ขึ้นต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนตรัง ในนาม ธรรมรินทร์ เป็นผู้ส่งเสริมงานประเพณีสำคัญๆ ของท้องถิ่นมากมาย และอีกหลายกิจกรรมอื่นๆ ด้วยความมุ่งหวังที่จะตอบแทนสิ่งดีๆ ให้กับจังหวัดที่ตระกูลของเขาได้ก่อร้างสร้างตัวมาจนมีปึกแผ่นมั่นคงในปัจจุบัน

สลิล โตทับเที่ยง เป็นผู้บริหารลำดับที่สามของตระกูลดังแห่งเมืองตรัง ที่มีความศรัทธาในแนวทางของนักบริหารรุ่นพี่ อย่างสุรินทร์ โตทับเที่ยง และ สุธรรม โตทับเที่ยง เขาจึงดำเนินรอยตามแนวทางแห่งการพัฒนาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในตำแหน่ง CEO ของกว้างไพศาล ควบไปกับตำแหน่ง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง

“ความผูกพันกับจังหวัดตรังสำหรับผมอาจเรียกได้ว่าเป็นวาสนาหรือบุพเพสันนิวาสทำนองนั้น เพราะว่าพ่อแม่ผมเป็นคนจีน เกิดเมืองจีนและไม่รู้จักกันเลยทั้งสองคน ได้มาเจอกันที่จังหวัดตรัง และแต่งงานมีลูก พวกผมทุกคนเป็นเชื้อสายจีนและเกิดที่จังหวัดตรัง ความผูกพันอันดับแรกที่มีต่อตรัง ก็คือบ้านเกิดของเรา

ส่วนนามสกุล เดิมทีเราเป็นคนจีนก็ใช้แซ่โต๋ว พี่ชายผม คือพี่สุธรรมและพี่สุรินทร์ คิดว่าเราเกิดที่ทับเที่ยงซึ่งอยู่ในเขตเทศบาล พี่ชายจึงตั้งนามสกุลใหม่ของเราว่า “โตทับเที่ยง” ใหม่ๆ ตอนเปลี่ยนนามสกุลผมอยู่ป.5-ป.6 ผมก็รู้สึกเขินๆ ว่า เหมือนกับการไปเบ่งหรืออวดว่าใช้นามสกุลนี้ เป็นปมด้อย มีความรู้สึกไม่อยากจะใช้นามสกุลเลย จนผมอดไม่ได้ต้องไปถามพี่ชายว่า ทำไมเราต้องใช้นามสกุลที่เหมือนกับไปอวดโอ้อย่างนี้ พี่ชายให้เหตุผลที่น่าคิด และทำให้ผมมีความภูมิใจและดีใจกับนามสกุลของเราว่า ที่ใช้นามสกุลโตทับเที่ยงเพราะว่า โตที่มาจากแซ่ของเรา พอแปลเป็นไทยก็เพื่อให้ออกเสียงเหมือนกัน และที่ใช้ทับเที่ยงต่อท้ายก็เพื่อให้เราอย่าได้ลืมว่าบ้านเกิดของเราคือทับเที่ยงจังหวัดตรัง ต้องพยายามทำสิ่งดีๆ ให้เมืองทับเที่ยงของเรา หรือจังหวัดตรังของเรามีการเติบโต เป็นสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เราจึงมีความผูกพันกับจังหวัดตรัง คุณแม่ผม คุณพ่อผมก็มาเสียชีวิตที่นี่ และผมคิดว่าในอนาคตผมเองและครอบครัวก็คงจะเลือกตรังเป็นสถานที่สุดท้ายเพื่อฝังกาย เมืองตรังกับชีวิตผมเป็นสิ่งที่คงจะแยกกันไม่ออก”

คุณเห็นเมืองตรังมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้เมืองตรังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนบ้าง

การเติบโตของตรังนี้บางครั้งการที่เราอยู่ในพื้นที่นานๆ เราจะไม่รู้เลยว่าเรามีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันค่อยๆ เกิดทีละนิดๆ ซึ่งเราไม่มีทางรับรู้เลย แต่ช่วงหลังนี้เนื่องจากว่าตัวครอบครัวผมเอง หรือคนตรังเองเดินทางไปต่างจังหวัดแล้วกลับมามอง ก็เริ่มเห็นว่าตรังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงที่เปลี่ยนแปลงมากๆ ในชีวิตผมมีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ผมอยู่มัธยมต้นซึ่งผมเรียนที่นี่ ในตอนนั้นผมรู้สึกว่าตรังเป็นเมืองเล็กๆ ผมจะเดินทางไปไหนในตลาดก็ใช้วิธีเดิน 10 นาทีผมสามารถเดินได้รอบตลาด เมืองตรังที่ผมเห็นในตอนเด็กๆ มีโรงหนัง 3-4 โรง เป็นโรงที่ใหญ่มาก เรามีความภูมิใจว่าเวลาที่หนังเลิกจะมีการประกาศว่าคนที่มาจากจังหวัดกระบี่ให้มาขึ้นรถที่นี่ คนที่มาจากจังหวัดพัทลุงให้ขึ้นรถที่นี่ นั่นเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางของจังหวัดตรัง เรามีรถไฟ เรามีสนามบิน ตั้งแต่ผมยังเล็กเท่าที่จำความได้

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดตรังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มาอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือราคายางพาราตกต่ำ ในยุคนั้นพอราครายางตกต่ำ เศรษฐกิจของจังหวัดตรังก็เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะว่าเศรษฐกิจหลักของจังหวัดตรังคือยางพารา พอยางตกต่ำทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า บางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนอยู่ไม่ได้ก็ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นไปอยู่จันทบุรี ระยอง ตราด บางคนย้ายไปอยู่กระบี่ และทำให้ตอนนี้ทั้งกระบี่ ระยอง จันทบุรี ตราด ก็มีคนตรังที่ไปอาศัยอยู่ที่เหล่านั้นเยอะ

ในยุคนั้นเองมันมีปัจจัยอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตรังมีการเปลี่ยนแปลง ก็คือการตัดถนนเส้นใหม่จากเดิมสายเพชรเกษมจากกรุงเทพมหานคร ถ้าจะลงไปภาคใต้ตอนล่างคือจังหวัดพัทลุง หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จะต้องผ่านจังหวัดตรัง โดยถนนสายเพชรเกษม ตอนหลังมีการตัดถนนสายเอเซียอีกเส้นหนึ่งซึ่งสายเอเชียจะตรงจากนครศรีธรรมราชผ่านไปพัทลุง โดยที่ไม่ต้องวกกลับมาที่ตรังเลย การตัดถนนสายนี้เองทำให้ภาพของจังหวัดตรังนั้นเปลี่ยนไป จากเมืองศูนย์กลางที่ทุกคนต้องผ่าน กลายเป็นเมืองที่ออกมานอกเส้นทาง นอกวงจร จากตรงนี้เองทำให้เมืองตรังค่อยๆ ซบเซาลง

และประกอบกับเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักศึกษา ที่เราเรียกว่ายุคเปลี่ยนผ่าน คือ ยุค 2516-2517 จนถึง 2520-2521 ในยุคนั้นตรังถูกทาระบายเป็นสีชมพูในบางพื้นที่ ผู้คนไม่กล้าเดินทาง ยุคโจรผู้ร้ายที่ค่อนข้างจะไม่มีความปลอดภัยมากนัก บางคนไม่กล้ามาเลยภาคใต้เพราะได้ข่าวว่ามีพื้นที่สีชมพู

ในช่วงนั้นเองที่ตรังเป็นช่วงที่ซบเซาที่สุด ผมไปเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2521 ไปแนะนำตัวกับเพื่อนๆ บอกว่ามาจากจังหวัดตรัง คนไม่รู้จักจังหวัดตรังเลย ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นปมด้อยมาก จนกระทั่งมีข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ว่าฆ่ากันตาย 3 ศพที่จังหวัดตรังผมต้องรีบตัดข่าวนี้ขึ้นบอร์ดแปะว่า จังหวัดตรังผมดังนะ ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง นั่นคือความรู้สึกน้อยใจว่า ตรังที่ผมเกิดเป็นจังหวัดตรังที่ยางพาราต้นแรกนำเข้ามาปลูกในประเทศ และมีเศรษฐกิจที่ดี และหลายอย่างที่ดีแต่ทำไมคนถึงไม่รู้จัก ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2521 ได้รู้สึกว่าตรังไม่มีใครพูดถึง คนรู้จักน้อย

มาถึงอีกยุคหนึ่งคือยุคที่ผมเรียนจบและกลับมาทำงาน ตรังก็ยังเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ ซึ่งในส่วนลึกแล้วผมชอบตรัง ณ วันนั้น ผู้คนจะรู้จักกันหมดทั้งเมือง เดินไปไหนก็ทักทายกัน มีงานศพทุกคนก็ไปงานศพรู้จักกันคุยกันได้ทุกคน เช้าไปร้านกาแฟก็เรียกว่ารู้จักกันเกือบทุกโต๊ะ เพราะว่ายังไม่มีการอพยพจากต่างถิ่นมาอยู่

อีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือการก่อตั้งหอการค้า ก่อนตั้งหอการค้าเมื่อปี 2528 มันมีดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่าในปี 2523-2524-2525 เราต้องการโรงแรมที่ดีเพื่อรองรับคน คือตอนนั้นทางครอบครัวผมโดยพี่สุรินทร์มาตั้งโรงงานทำปลากระป๋องปุ้มปุ้ยที่ตรัง พอเราทำสินค้าขายทั่วประเทศก็มีคนมาดู มาเยี่ยมชม เขาก็มีปัญหาเรื่องที่พักไม่ดี และพอสถานที่ท่องเที่ยวเราก็อยากจะพาไป เราก็ไปไม่ได้ เพราะว่าเส้นทางคมนาคมหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่มีเลย

จนถึงจุดที่เราเริ่มรู้สึกว่า มันน่าจะมีการพัฒนาในทางนี้ ก็คือในปี 2525 คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หรือที่เรารู้จักกันดีในเรื่องของเชลล์ชวนชิม ได้มาเที่ยวเมืองตรังและพาคณะท่องเที่ยวมา ท่านก็บอกว่าเมืองตรังโดยพื้นฐานที่ท่านเห็น ตรังมีจุดเด่น มีเสน่ห์ ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้สึกว่านั้นคือเสน่ห์ของเราเพราะว่าเราเจอมันทุกวัน ท่านมาเมืองตรังเราก็พาไปกินอาหารเช้าอย่างที่คนตรังเรากิน ท่านก็บอกว่าที่อื่นไม่เคยมีนะ ท่านไม่เคยเจอที่ไหนทานหมูย่างกับกาแฟ พอไปกินอาหารพื้นเมืองในมื้อกลางวัน ท่านก็บอกว่าที่นี่อร่อย ข้าวหมูแดงที่นี่อร่อยกว่าที่อื่น พอไปกินอาหารเย็น ท่านก็บอกว่าแกงส้มที่ตรังนี่รสจัดถูกปากท่าน โดยรวมแล้วทุกมื้อ 3 วันที่ท่านอยู่ ท่านบอกว่าท่านกินอาหารได้ทุกอย่าง อาหารจีนก็อร่อย อาหารไทยก็อร่อย พื้นเมืองก็อร่อย ท่านจึงบอกว่าตรังนี่เสน่ห์ของมันอยู่ที่อาหารการกิน แล้วท่านก็จัดทัวร์คนที่สนใจและชื่นชมในเชลล์ชวนชิมมาตรัง เพื่อกินอาหารทุกคนประทับใจ แต่ทุกคนก็จะมีข้อคอมเมนต์ว่า ที่พักไม่พร้อม สถานที่ท่องเที่ยวไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว

พอปี 2528 หอการค้าเราตั้งขึ้น เราก็คิดว่า ในเมื่อเรามีวัตถุประสงค์จะพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จะต้องทำก็คือเราต้องเปิดตัวจังหวัดตรังให้คนได้รู้จัก บทบาทของหอการค้าฯ ในช่วงแรกคือการประชาสัมพันธ์ของดีของจังหวัดตรังออกไป ซึ่งประธานหอการค้าตั้งแต่ยุคก่อตั้งก็คือ คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง พี่ชายของผมก็ได้เริ่มทำกิจกรรมที่จะประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหอยตะเภา ซึ่งเป็นเทศกาลแรกของหอการค้าฯ เอาหอยตะเภาที่มีอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว มาโฆษณาและใช้คอนเนคชั่นที่มีอยู่กับสื่อในช่วงนั้น ก็คือช่อง 7 สีที่ดูได้ทั่วประเทศ คนก็ได้รู้จักจังหวัดตรังจากเทศกาลหอยตะเภา

ต่อมาของดีที่เรารู้จักกันมาเป็นร้อยกว่าปี แต่เราไม่รู้ว่านั่นคือเสน่ห์ของเรา นั่นก็คือประเพณีถือศีลกินผัก เราเห็นพิธีทรงเจ้า เห็นพิธีที่ร่างทรงเล่นประทัดก็รู้สึกเออ…ตื่นเต้นแล้วเราก็จบแค่ตรงนั้น แต่เมื่อคนนอกมาดูซึ่งเป็นคนที่เขาเคยเห็นในหลายๆ ที่เขาบอกว่ามันไม่เหมือนกับที่อื่น มันมีความโดดเด่น และมีลักษณะเฉพาะตัวก็คือเจ้าที่นี่ค่อนข้างจะเป็นเจ้าบู๊ชอบอะไรที่ตรงๆ เจอปะทัดก็วิ่งเข้าใส่ และเกี้ยวที่แห่เจ้ากะมีการเล่นปะทัด มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว รุนแรง ฉะนั้นเป็นจุดเด่นของตรังที่คนจากที่อื่นมาเห็น และหอการค้าจังหวัดตรังก็เลยจัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 7 สีติดต่อกัน 3 ปี โดยเอาพิธีกรรมรวมทั้งความเชื่อ และสิ่งที่จะเป็นจุดเด่นของประเพณีถือศีลกินผักโฆษณาออกไป ก็ได้ผลดีนะครับว่า 3 ปีนี้คนรู้จักจังหวัดตรังมากยิ่งขึ้น ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามา มันก็มาถึงปัญหาที่ผมเรียนให้ทราบเมื่อสักครู่ว่า การรองรับของที่พักไม่พอ ทำให้มีนักธุรกิจในจังหวัดตรังเริ่มสร้างโรงแรม โรงแรมแห่งแรกที่ถือได้ว่าเป็นห้องรับแขก และเป็นห้องพักที่เหมาะสมต่อการรับนักท่องเที่ยวก็คือโรงแรมธรรมรินทร์ เราเริ่มสร้างต้นปี 2530 ก็คือเราเริ่มถ่ายทอดสดกินเจปีแรกคือปี 2529 พอปลายปีเราก็เริ่มลงมือสร้างเพื่อรองรับกิจเจปีที่ 2 คือปี 2530

ในช่วงก่อนที่เราจะมีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตอนนั้นนักท่องเที่ยวที่คุณชายถนัดศรีพาเข้ามาในปี 2525 ผมยังจำได้ว่ารถทัวร์เข้ามาคนตรังขี่มอเตอร์ไซค์ตาม เพราะเป็นของแปลก คนเขาไม่เคยเห็นว่าจะมีรถทัวร์เข้ามา รถสมัยก่อนนี้เป็นรถบัสธรรมดา แต่นี่เป็นรถบัสติดแอร์ นี่คือสิ่งที่น่าขันเหมือนกันนะ ในช่วงที่เราสร้างโรงแรม ภาพที่ผมประทับใจอย่างหนึ่งคือ คนตรังเขาจะถามว่าสร้างให้ใครพัก? เพราะเขาไม่เคยคิดว่าจะมีคนมาเที่ยว แบบเดียวกับที่ผมคิดว่า ณ วันนี้คนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนเขาไม่มีความรู้สึกว่า เอ๊ะจะมีใครมาเที่ยวบ้านของเขา นั่นเป็นความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่นี่

สิ่งที่ผมยังชื่นใจก็คือว่า วันแรกที่โรงแรมเปิด คนตรังหิ้วกระเป๋ามานอนเพราะเขาบอกว่า อยากจะให้กำลังใจ อยากจะให้โรงแรมนี้อยู่ได้ โรงแรมธรรมรินทร์ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง เพราะว่าเรามีห้องประชุมที่จุได้ถึงประมาณ 1,000 คน ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นห้องประชุมที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และผลจากการที่มีโรงแรมธรรมรินทร์ ก็เกิดโรงแรมอื่นๆ อีก 2-3 โรง ทำให้จำนวนห้องพักเพิ่มมากขึ้น และทำให้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเราเติบโตมากขึ้น จากนักท่องเที่ยวรถทัวร์คันแรกที่มาตรังแล้วมีคนวิ่งตาม จนถึงวันนี้มีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 แสนคน ในวันแรกที่เราคุยกันเล่นๆ ตอนนั้นคุณสุรินทร์พูดในที่ประชุมหอการค้าฯ บอกว่าท่านเคยไปเที่ยวฝรั่งเศส ประชากรฝรั่งเศสสมมติว่ามี 15 ล้านคน เขามีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีหนึ่งประมาณ 20 ล้านคน ของตรังตอนนั้นเป็น 0 ท่านบอกว่าถ้าความฝันของเราคือของหอการค้าฯ อยากให้คนมาเที่ยวจังหวัดตรังถ้าประชากร 5 แสน ขอให้มีนักท่องเที่ยวมาสัก 5 แสน แต่ ณ วันนี้เรามีประชากร 6 แสน โดยมีมีนักท่องเที่ยว 8 แสน และเป้าหมายในอนาคตจะต้อง 1 ล้าน และ 1 ล้าน 2 แสน นี่คือตัวที่จะเสริมสร้างทางด้านเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว การสร้างกิจกรรมหรือการสร้างอีเวนท์ที่จะประชาสัมพันธ์จังหวัดตรังก็มีความสำคัญ หากจำได้ตอนที่คุณภรณ์ทิพย์ หิรัญนาคกนก เป็นนาวสาวไทย ในปี 2530 พอโรงแรมธรรมรินทร์เปิดคอนเนคชั่นที่คุณสุรินทร์มีกับช่อง 7 สีก็ยิ่งดีมากขึ้นเพราะเราติดต่อกันหลายครั้ง คุณสุรินทร์ก็เลยติดต่อขอเป็นที่เก็บตัวผู้ประกวดนางสาวไทย และก็เป็นเรื่องที่ฮือฮาว่าเอ๊ะทำไมต้องมาเลือกเก็บตัวที่จังหวัดตรังคนทั่วประเทศสงสัย ไอ้ตรงนี้ก็เป็นเรื่องการสร้างความน่าสนใจให้กับจังหวัดตรัง และไม่ได้เป็นเพียงปีเดียวนะครับ จังหวัดตรังได้รับเกียรติให้เป็นที่เก็บตัวผู้เข้าประกวดฯ 3 ปีติดต่อกัน ในและในช่วง 3 ปีนั้นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงก็คือคุณภรณ์ทิพย์ และอีกคนหนึ่งที่เรารู้จักดีก็คือคุณฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ เขาไม่ใช่คนตรัง แต่ตอนนั้นโรงแรมเราส่งเขาเข้าประกวด เธอนับถือคุณสุรินทร์เป็นเหมือนพ่อ หลังจากที่เขาได้เป็นรองนางงามเขาก็มาช่วยกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในตอนนั้นที่เราสร้างขึ้นมาก็ทำให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เพราะว่าการเก็บตัวนางสาวไทยมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เฉพาะค่าใช้ถ่ายทอดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เงินเป็นล้าน ส่วนห้องพักนั้นโรงแรมเราสนับสนุน

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายๆ กิจกรรมที่หอการค้าฯ และจังหวัดตรังเราพยายามสร้างขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดตรังอย่างเช่น เทศกาลหมูย่าง ปีนี้ก็เป็นปีที่ 20 เราจัดเมื่อปี 2532 ครั้งแรกโดยมูลเหตุของการจัดก็มาจากในขณะนั้น จังหวัดตรังเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ

ท่านผู้ว่าฯ ต้องการจะหาเงินสักก้อนหนึ่งประมาณ 6 แสนบาทเพื่อการจัดงาน ทางคุณสุรินทร์จึงบอกว่า ขอมาจัดเป็นเทศกาลหมูย่างซึ่งเป็นของดีของเรา และเราก็ขายคูปองหาเงิน และทางหอการค้าฯ ก็ไปขอบริจาคคนที่จะมาช่วยซื้อหมูและมาขาย เท่ากับว่าเราได้ต้นทุนหมูมาฟรีและขายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย ก็ให้จังหวัดไปเลย โดยที่ขายคูปองผู้ว่าฯ ขายครึ่งหนึ่งเราขายครึ่งหนึ่ง ปีแรกได้เงินมา 6 แสนบาทเป็นจุดเริ่มต้น

ปีต่อๆ มาเราก็มาทำต่อในเรื่องที่เราฝัน หอการค้าเราฝันว่า ตรังจะต้องเป็นศูนย์กลางการศึกษา ถามว่าทำไม ตอนผมจบม.ต้นผมจำได้ว่าจังหวัดตรังมีโรงเรียนที่เปิดสอนมัธยมปลายแค่ 2 โรงคือวิเชียรมาตุ และสภาราชินี ผมต้องไปเรียนกรุงเทพฯ เพราะมีแค่ 2 โรงและผมเองก็สอบไม่ได้หรือไม่ได้ไปสอบนี่แหละ ระดับอุดมศึกษานั้นไม่มีเลย

สิ่งที่เรามองต่อคือการพัฒนาเศรษฐกิจมันจะต้องมาจากการพัฒนาคน เรามองว่าเราน่าจะผลักดันให้มีการจัดตั้งอุดมศึกษาเพื่อให้ลูกหลานคนตรังไม่ต้องไปเรียนที่อื่น เรียนที่นี่ ช่วยพ่อแม่ได้ด้วยและพ่อแม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงมาก ตอนนั้นโชคดีที่เราได้มีโอกาสเจอ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตอนนั้นคือ ดร.ผาสุก กุลละวณิชย์ มีการคุยกันบอกว่า ขอให้ตั้งมหาวิทยาลัยเป็นวิทยาเขต ท่านบอกว่าไม่มีงบฯ เราก็ถามว่าทำอย่างไรให้มีได้ ท่านบอกว่าต้องหางบฯ จากท้องถิ่น มา เราบอกว่าถ้าเช่นนั้นเราจะประสานให้ เราไปขอเทศบาลมาส่วนหนึ่งให้ชวย ขอจากสส.ซึ่งคุณชวน หลีกภัย เป็นสส.อยู่ก็ได้มาส่วนหนึ่ง หอการค้าฯ เราสมทบ เขาบอกว่าต้องการ 6 ล้าน ดังนั้นเทศบาลช่วยมา 2 ล้าน คุณชวน ช่วยมา 2 ล้าน หอการค้าฯ ก็ช่วยไป 2 ล้าน แล้วหลักสูตรเขาถามว่าจะเอาหลักสูตรใด ตอนนั้นปี 2531-2532 สิ่งที่ผมคิดว่าทุกคนพุ่งไปก็คือเรื่องของคอมพิวเตอร์ เราก็บอกเลยว่าเราขอเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจและคอมพิวเตอร์ และขอให้จบ 4 ปี เลยนะ หลักสูตร 2 ปีเราไม่เอา แต่เขาบอกว่าถ้าหลักสูตร ปีทำยาก

สุดท้ายเจรจากันว่า 2 ปีเรียนที่ตรัง อีก 2 ปีไปเรียนที่สงขลาฯ หาดใหญ่ แล้วรอจนค่อยขยายเป็น 4 ปี หอการค้าฯ จึงจัดเทศกาลหมูย่างฯ ต่อในปีถัดมา หาเงิน 2 ล้านเพื่อหาเงินมาจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เขตการศึกษาตรัง ได้เงินมา 2 ล้านรวมสมทบ โดยอาคารสถานที่ใช้ของเทศบาล เป็นมอ.ตรังที่โรงเรียนวัดมัชฌิมภูมิ (วัดหน้าเขา) เป็นหลักสูตร 2 ปี คือ ปี 1-2 ที่ตรัง ส่วนปี 3-4 ไปเรียนหาดใหญ่

พอเริ่มโครงการเขาก็บอกต่อว่าปัญหาคือไม่มีครู เพราะว่าอาจารย์ที่มาสอนก็ไม่อยากมาอยู่ตรัง เราก็เลยคิดต่อว่าถ้าอย่างนั้นเป็นแบบนี้ได้ไหม ทางหอการค้าฯ จะหาทุนให้ก้อนหนึ่งเป็นกองทุนพัฒนาบุคลากรและเอาเงินก้อนนี้ ส่งอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศแต่เงื่อนไขก็คือต้องกลับมาสอนที่นี่ ปีถัดมาเทศกาลหมูย่างฯ หอการค้าก็หาเงิน 4 ล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนและเอาดอกผล ตอนนั้นดอกเบี้ยปีหนึ่ง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ปีหนึ่งได้หลายแสนที่จะส่งอาจารย์ไปเรียนต่อ และกลับมาสอนนี่คือเรื่องการที่เรา (หอการค้าฯ) พยายามพัฒนาการศึกษา

ถัดมาอีกช่วงหนึ่ง เราก็เจอกับอาจารย์ที่กำลังสนใจเรื่องของเทคโนโลยีราชมงคลที่จะมาก่อตั้ง เราก็เลยเข้าไปเชื่อมต่อและผลักดันต่อ หาเงินให้กับทางราชมงคลอีก 1 ล้าน นั่นคือสิ่งที่ทางหอการค้าฯ เราพยายามมองและทำตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ เพราะในยุคที่เราทำยุทธศาสตร์จังหวัดครั้งแรก ทางหอการค้าฯ ได้มีส่วนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น และเราก็ผลักดันในแนวคิดของเราด้วยว่า ตรังเราควรจะพัฒนาในเรื่องของเกษตรคือพื้นฐานที่เรามีอยู่คือยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นั่นคือหลักเลย และอันที่สอง เราต้องส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว โดยใช้การศึกษาและกีฬานำ เหตุผลเพราะว่าเรามองเป้าว่าการท่องเที่ยวของตรังจะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้อย่างทั่วถึง และไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือมีผลกระทบต่อด้านสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้จักคำว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากนักหรือว่า Green Tourism เรามองภาพว่าอยากจะให้เป็นอย่างนี้ เราไม่อยากจะให้เหมือนกับหาดใหญ่ ทีมีภาพที่ผู้หญิงไทยไปขายบริการ เราไม่อยากเป็นแบบป่าตองที่ฝรั่งใส่กางเกงว่ายน้ำเดินในตลาด หรือใส่บิกินี่เดินให้ลูกหลานเราเห็น และไม่อยากเหมือนแบบพัทยา การท่องเที่ยวของเราต้องการอีกแบบหนึ่ง และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ เราอยากจะเห็น และเราพยายามผลักดันโดยผ่านการท่องเที่ยว ผ่านการศึกษาและการกีฬา

แนวทางการพัฒนากีฬาก็เช่นเดียวกัน เรามองว่ากีฬามีส่วนทำให้คนร่างกายแข็งแรง และสามารถใช้กีฬาในการประชาสัมพันธ์จังหวัดได้ หอการค้าในยุคนั้น ทางคุณสุรินทร์เองรู้จักกับทางช่อง 7 สีก็สร้างคอนเนคชั่นต่อไป ก็ไปดึงเอาการแข่งขันวอลเลย์บอลปริ้นเซสคัพ เป็นวอลเลย์บอลชิงถ้วยในอาเซียนมาจัดที่นี่หลายปีติดต่อกัน ในช่วงแรกๆ นักกีฬาเขาก็แปลกใจว่าทำไมต้องมาแข่งที่ตรัง นั่งเครื่องมาลงกรุงเทพฯ แล้วต้องนั่งรถไฟหรือนั่งรถทัวร์มาอีกตั้ง 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงมาแข่งที่ตรัง น่าจะแข่งที่ใกล้ๆ แต่ด้วยความที่คนตรังมีความพร้อมและสนใจกีฬา ทุกครั้งที่แข่งขันคนดูเต็ม ก็ทำให้นักกีฬาที่มาแข่งขันมีความรู้สึกดี และประทับใจในจังหวัดตรัง นั่นคือกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำขึ้นเพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ช่วยกันทำให้คนตรังพัฒนาจังหวัดไปในแนวทางที่เราคิดว่ามันจะเหมาะสม แต่จะเป็นจริงหรือว่าได้ทั้งหมดรึเปล่าไม่รู้ แต่ทำในฐานะภาคเอกชน

เราเกิดที่นี่ สิ่งที่เราอยากจะเห็นคือตรังของเราเป็นบ้านเกิด และเป็นที่อยู่ของลูกหลานเราได้อย่างสบาย

อีกจุดหนึ่งที่คุณสุรินทร์พยายามย้ำเมื่อคุยกับสมาชิกหอการค้าฯ ว่าอย่าไปถามว่าจังหวัดให้อะไรกับเรา แต่ต้องถามว่าเราในฐานะที่เป็นคนตรังเราให้อะไรกับจังหวัด และเราทำก่อนอย่าไปรอ

มันเป็นบทพิสูจน์นะครับว่าตั้งแต่เราก่อตั้งหอการค้ามา เราไม่เคยรอให้ราชการช่วย เราทำก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าข้าราชการในยุคนั้นบางคนไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนกับสร้างภาระให้เขา อย่างเช่นเวลาเราจัดงานทางหาการค้าฯ คุณสุรินทร์ก็จะไปเชิญผู้ใหญ่เริ่มต้นจากปลัดกระทรวง อธิบดี ในยุคนั้นปลัดกระทรวง อธิบดีมาเป็นเรื่องใหญ่เลยนะ หรือเชิญรัฐมนตรีมาก็มาพักที่นี่ แน่นอนถ้าไม่มีโรงแรมก็พักไม่ได้ พอมีที่พักพร้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ตอนแรกๆ ส่วนราชการก็คิดว่า เชิญมาเขาต้องมารับภาระค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ เราไม่ให้เขารับภาระเลย ไม่ต้องยุ่งเลยเอกชนเราจ่ายให้หมด เพียงแต่คุณมาทำหน้าที่ต้อนรับ และมีปัญหาอะไรก็บอก แนวคิดของหอการค้าฯ ก็คือเราจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม แต่เราจะใช้แนวคิดเชิงบวกเป็น Positive Thinking ให้เขาได้มาช่วยกัน

พูดถึงโรงแรมธรรมรินทร์มาโดยตลอด อยากให้พูดถึงที่มาและความหมายของ “ธรรมรินทร์”

โรงแรมธรรมรินทร์ นั้น พี่ชายคนโตชื่อสุธรรมและพี่คนที่สองชื่อสุรินทร์ โรงแรมธรรมรินทร์จึงนำชื่อของพี่สุธรรมและพี่สุรินทร์มาร่วมกัน ผมยังจะได้ว่าตอนสร้างโรงแรมนี้มันมีหลายๆ จุดที่น่าพูดถึง อันดับแรกก็คือการประกวดโลโก้โรงแรม ตอนนั้นถือได้ว่าเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นโรงแรมแรกที่มีการประกาศการประกวดโลโก้ เงินรางวัลที่หนึ่งคือ 5 หมื่นบาท ในปี 2529-2530 จนกระทั่งคุณเปลวสีเงิน ซึ่งตอนนั้นสนิทกัน นำไปเขียนในคอลัมน์ตีแสกหน้าในไทยรัฐ และเราก็เชิญเขาเป็นกรรมการด้วย

ชื่อ “ธรรมรินทร์” และชื่อภาษาจีนก็เป็นชื่อพ่อกับชื่อแม่ผมภาษาจีนคนละตัวมารวมกัน และวันที่วางศิลาฤกษ์ก็เป็นคุณแม่ ส่วนวันเปิดคุณแม่ก็เป็นคนปิดทองคนแรก ในระหว่างก่อสร้างก็มีเรื่องน่าสนใจ จังหวัดตรังก่อนสร้างโรงแรมหรือก่อนหน้านี้ตึก 5-6 ชั้น ไม่เคยมีใครตอกเสาเข็มเพราะทุกคนคิดว่าพื้นมันแข็ง และจริงๆ ก็คือหน้าดินมันแข็งมาก แต่พอเราทำโรงแรมตอนแรกก็คิดว่าคนไม่ต้องตอก แต่วิศวกรรมมาสำรวจแล้วบอกว่าต้องตอกแน่ๆ เสาเข็มโรงแรมธรรมรินทร์ตรงสี่แยก (ถนนกันตังตัดกับถนนสถานี-ถนนพระราม 6) ยาว 28 เมตร มีแต่คนไม่คิดว่ามันจะตอกได้นะ แต่เอาจริงๆ ช่วงแรกมันตอกยาก พอผ่านช่วงแรกไปได้มันตอกซวบๆ ลงไป 28 เมตรมิดหมดไม่ต้องตัดเลย และตรงนี้ก็ทำให้จากนั้นมาจังหวัดตรังเริ่มหันมาสนใจการตอกเสาเข็มในการสร้างอาคารสูงมากขึ้น

นอกจากนี้หอการค้ายังเป็นต้นกำเนิดกิจกรรมที่เลื่องชื่อของจังหวัดตรัง คือวิวาห์ใต้สมุทร

วิวาห์ใต้สมุทรปีหน้าจะเป็นปีที่ 14 ซึ่งการจัดวิวาห์ใต้สมุทรมันก็มีที่มา การที่หอการค้าฯ จัดเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลหมูย่าง เทศกาลขนมเค้กเมืองตรัง ฯลฯ เรามีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรื่อยๆ ก็มีนักท่องเที่ยวมาบ่น บอกว่ามาเที่ยวตรังแล้วพบว่าขยะในทะเลเยอะ เพราะแหล่งดำน้ำของเราเป็นแหล่งดำน้ำตื้นเมื่อมีคนไปเที่ยว ทิ้งขยะก็จมลงไปติดในแหล่งปะการัง พอได้ยินเสียงบ่นมากๆ ตอนนั้นคุณสุรินทร์ได้ไปเป็นกรรมการในหอการค้าไทย เขามีคณะกรรมการเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็เลยคิดโครงการ เรียกว่าโครงการเก็บขยะใต้ทะเล ด้วยการเชิญชวนนักดำน้ำมาเก็บขยะ โดยที่ทางหอการค้าฯ เป็นผู้ร่วมสนับสนุนในเรื่องที่พัก อาหาร เขาเดินทางมาแล้วก็ไปเก็บขยะ ปีแรกได้ขยะเยอะมาก ของบางอย่างไม่คิดว่าจะเจอในทะเล เช่น ตู้กับข้าว ยางรถยนต์ ล้อรถ พวกถังแก๊ส สามารถเจอได้ในทะเล พอเราเก็บขยะได้ก็แยกขยะแล้วคิดว่าตัวนี้มาจากไหนเราก็ไปคุยกับคนที่เป็นแหล่งที่มาเช่นเรือประมง เรือท่องเที่ยว ชาวบ้าน ให้เขารู้ว่าขยะที่เขาทิ้งไปอยู่ในแหล่งปะการังเราช่วยกันอนุรักษ์ ได้ผลดี จากนั้นพอปีที่สองขยะน้อยลง

และในปีที่สองระหว่างงานเลี้ยง ก็มีหนุ่มสาวผู้ชายเป็นคนสงขลาผู้หญิงเป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งสองคนไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่มาเจอกันในงานเก็บขยะสองปีซ้อน และก็พบรักกัน เขาบอกว่าเขาจะแต่งงานเชิญผู้ว่าฯ กับคุณสุรินทร์ไปร่วมงาน เราก็พูดเล่นว่ามาพบรักที่จังหวัดตรัง ก็น่าจะแต่งงานที่จังหวัดตรังนะ และยิ่งพอฟังว่าเขาเจอกันเพราะว่าใส่แว่นไปเก็บขยะด้วยกัน ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น น่าจะแต่งใต้น้ำ เขาบอกว่าถ้าเอาจริงก็เอาสิ เราก็จัดปีแรกเลย เป็นการแต่งงานใต้น้ำ จนกระทั่งเรื่อยมา ได้รับการโปรโมทจากการบินไทยให้จัดงานระดับนานาชาติ จนกระทั่งเป็น “วิวาห์ใต้สมุทร” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุไว้ในตารางการท่องเที่ยวของประเทศ

วิวาห์ใต้สมุทรปีแรกๆ เรามีแค่ 2 คู่ ปีที่สอง 2 คู่ ปีที่สาม 4 คู่ และหลังจากนั้นก็ขยับมาเป็น 30 กว่าคู่ไล่ขึ้นมา ผมคิดว่าช่วงสิบกว่าปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณหลัก 500-600 คู่ แต่ทั้ง 500-600 คู่ถ้าเขามาตรังทุกครั้ง เขาจะประทับใจ เพราะทุกคู่เราจะให้ปลูกต้นไม้หนึ่งต้น และทุกปีในช่วงปีใหม่ ทางสวนพฤกษศาสตร์ภาตใต้ (ทุ่งค่าย) เขาจะส่งส.ค.ส.พร้อมกับแจ้งการเติบโตของต้นไม้ว่า ต้นไม้เขาโตเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่เราต้องการสร้างความผูกพันให้กับนักท่องเที่ยว จนหลังๆ มานี้มีพวกฝรั่งที่มาเขาประทับใจ เพราะบางคนเขาได้รับสคส.ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เขาย้อนนึกถึงเฉยๆ ไม่คิดว่าตอนปลูกแล้วมันจะโต และไม่คิดว่าจะกลับมาอีก แต่พอเขามีโอกาสสักครั้งหนึ่งกลับมา มีอยู่คู่หนึ่งผมจำได้ว่าเป็นชาวนอร์เวย์ มาแล้วไปที่สวนฯ ยื่นส.ค.ส.ให้เจ้าหน้าที่ เขาก็พาไปดูต้นไม้ พอเขาเห็นต้นไม้ ก็บอกว่าเขาตื้นตันใจว่า เรายังดูแลต้นไม้ให้เขา จากนั้นมาเขาจะมาทุกปี จากปีละครั้งกลายเป็นปีละสองครั้ง แล้วก็ชวนใครๆ มาดูต้นไม้ของเขา ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้

และอีกอันหนึ่งก็คือ หลังจากนั้นเราก็พยายามจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น ด้วยการปล่อยหอยมือเสือ เพราะหอยมือเสือเป็นจุดที่นักดำน้ำชอบประมาณสัก 4-5 ปีหลังมานี้นอกจากปลูกต้นไม้แล้ว เราก็ให้นักดำน้ำหรือคู่บ่าวสาวที่มาร่วมวิวาห์ใต้สมุทร ได้ปล่อยหอยมือเสือด้วยการติดแถบชื่อที่หอยและไปปล่อยในจุดที่มีการบันทึกเป็น GPS เอาไว้ ถ้าเราอย่างนี้ไปทุกๆ ปีก็จะเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นแหล่งดำน้ำใหม่เพื่อทดแทนหรือว่าไม่ให้แหล่งดำน้ำที่เรามีอยู่เดิมนั้นบอบช้ำมากเกินไป

สิ่งที่คุณอยากให้เมืองตรังพัฒนาไปในทิศทางไหน หรือเติบโตดังเช่นที่ไหน และคุณเองจะมีบทบาทอย่างไรบ้างทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อาจจะเป็นความเห็นที่เห็นแก่ตัว (หัวเราะ) หากถามว่าอยากให้ตรังเติบโตไปอย่างไร ด้วยความที่ทุกวันนี้เราอายุมากขึ้นเรามักจะคิดถึงอดีต เรามักจะคิดว่าอดีตมันดีกว่าปัจจุบัน ดังนั้นหากถามว่าอยากให้ตรังเติบโตไปแบบไหน ผมอยากให้ตรังเติบโตไปแบบอดีต คือรักษาความเป็นตรังเอาไว้ ไม่อยากให้ตรังเติบโตไปเป็นเมืองที่คนคิดแต่เรื่องเงิน เรื่องทองอย่างเดียว อยากให้ตรังรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบชาวตรัง ซึ่งในสิ่งนี้ทางหอการค้าฯ เราได้พยายามทำ หากถามว่าผมจะทำในบทบาทไหน ผมก็ทำในบทบาทแรกคือผมเป็นคนตรังก็เผยแพร่สิ่งที่ดีของจังหวัดตรังออกไป วิถีชีวิต และใช้วิถีชีวิตแบบนั้นอยู่

อย่างที่สองคือทำในบทบาทของภาคเอกชน ภาคหอการค้าฯ ทุกครั้งเท่าที่มีโอกาสพูดผมก็จะพูดเรื่องนี้ ขายความคิด เพราะแน่นอนว่าการทำพวกนี้ เราไม่สามารถทำได้คนเดียว และเราไม่สามารถฟันธงว่าต้องเป็นอย่างนี้ เพียงแต่เราเสนอแนวคิดให้เขาไป แล้วถ้าทุกคนเห็นด้วยทุกคนช่วยกันทำ สิ่งที่หอการค้าฯ เราทำคือในเรื่องของเทศกาลต่างๆ เราจับมาร้อยเรียงกัน ให้เป็นหัวข้อ

ก่อนหน้านี้เวลาที่เขาพูดถึงภาคใต้คนมักจะคิดถึงหน้าร้อน หน้าฝน ตอนนี้หอการค้าฯ เราพยายามเสนอความคิดว่าที่อื่นจะมีหน้าร้อน หน้าฝน แต่ที่ตรังมีอยู่สองหน้าเท่านั้นเอง มีสองฤดูก็คือ ‘ฤดูแห่งความรัก’ และ ‘ฤดูแห่งสันติภาพ’ ซึ่งอาจจะดูเป็นนามธรรม แต่เราจะต้องแปลงจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

ฤดูแห่งความรักคือตั้งแต่พฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่ทะเลเปิดการท่องเที่ยวมา ฉะนั้นเราจะใช้เทศกาลแห่งความรักวิวาห์ใต้สมุทรเป็นตัวดึง โดยตัวเทศกาลฯ เองมีเสน่ห์ที่จะดึงคนมาอยู่แล้ว

ช่วงที่เราห่วงก็คือ ฤดูแห่งสันติภาพ ตั้งแต่ปลายพฤษภาคมถึงปลายตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝนของทั้งประเทศ แต่ถ้าเราพูดถึงหน้าฝน บางทีคนก็จะกลัวไม่กล้าเดินทาง ดังนั้นในช่วงนี้เราจึงขายว่าเป็นฤดูแห่งสันติภาพ เหตุผลที่บอกว่าเป็นฤดูแห่งสันติภาพ เพราะจังหวัดตรังเป็นที่อยู่รวมกันของทุกศาสนาอย่างกลมเกลียวและกลมกลืน อยู่กันแบบเป็นญาติพี่น้องเลย

เราเรียกฤดูแห่งสันติภาพเพราะในช่วงดังกล่าว เรามีเทศกาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เรามีเทศกาลหมูย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต มีเทศกาลขนมเค้กที่เป็นประวัติศาสตร์และตำนานของการกิน มีเทศกาลถือศีลกินเจหรือประเพณีถือศีลกินผักที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวจีน มีประเพณีชักพระของชาวพุทธ ถือศีลบวชของมุสลิม ทุกอย่างที่เป็นเรื่องของศาสนา วิถีชีวิต ก็จะอยู่ในช่วงฤดูแห่งสันติภาพ คนที่มาเที่ยวช่วงนี้ก็คือคนที่ต้องการมาหาประสบการณ์จากการสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบบ้านเราจริงๆ ตื่นเช้าไปกินอาหารเช้าแบบคนตรัง ซึ่งโรงแรมของเราก็มี Trang Breakfast สายๆ ไปดูวิถีชีวิตการกรีดยาง แบบที่ทำกันมาเป็นร้อยปี ไปดูการทำหมูย่าง และไปเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม นี่คือจุดขายของตรังในช่วงฤดูแห่งสันติภาพ

ในบทบาทตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ อยากเห็นคนตรังรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมและเข้าใจ ซึ่งเขาอาจจะไม่มีการซึมซับหรือมีการผูกพันกับบ้านเกิดแบเดียวกับที่ผมทำ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่า พวกเราทำเพื่ออะไร เพราะว่าเขาอาจจะมีแนวคิดและทัศนคติที่แตกต่างกัน เขาอาจจะไม่ได้มีความผูกพันยาวแบบที่พวกเราเป็น และสิ่งที่เขาเห็นตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่ได้เหมือนกับสิ่งที่เราเคยเห็น ฉะนั้นทำอย่างไร ที่เขาจะได้เข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นก่อนหน้านี้ เพื่อที่เขาจะได้เป็นผู้ที่รับช่วงต่อ เพราะสิ่งที่พวกผมทำ ผมคงไม่สามารถได้ใช้ยาวมากนักเมื่อถึงเวลาอันสมควร เราก็ต้องจากไป แต่สิ่งนี้จะต้องเป็นสิ่งที่คนรับช่วงต่อได้ใช้ และดูแลต่อไป จึงเป็นภารกิจของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องดูแลสิ่งที่เราทำเพื่อเขา สานต่องานพวกนี้

วางแผนรับมือกับสิ่งต่างๆที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตรัง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยวไว้อย่างไรบ้าง

สิ่งหนึ่งที่เรากำหนดไว้ในวิสัยทัศน์จังหวัด ซึ่งอาจจะไม่มีผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในแง่ของกฎหมาย แต่อย่างน้อยทำให้ราชการที่จะมาทำงานต่อ ได้รับรู้ว่าเราได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างไร อย่างวิสัยทัศน์ในช่วงหลังเมื่อสักครู่ ผมพูดถึงยุทธศาสตร์ เป็นยุคก่อนที่เราจะพูดถึงวิสัยทัศน์ที่เราดำเนินเรื่องการศึกษาและการท่องเที่ยว พอมาถึงเรื่องของวิสัยทัศน์ เราให้มันขมวดสั้นเราใช้อยู่สองตัวคือ Green Goal & Green Tourism โดย Green ตัวแรกของเราก็คือเกษตร Goal ของเราคือทำให้มีค่าขึ้นมา ก็คือพัฒนาเรื่องเกษตรของเราให้ดีขึ้นในแง่ของการเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพ ส่วน Green Tourism ก็คือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออีกนัยหนึ่งถ้าเราแปลเป็นไทยก็คือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน

พอมียุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์นี้ออกมา ผมก็ดีใจที่คนตรังส่วนใหญ่เข้าใจทุกระดับ ทั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นและนักธุรกิจได้ร่วมมือกัน เราจะเห็นได้ว่าของการปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอบจ. อบต. เขาก็ทำกิจกรรมในเชิงเดียวกัน แสดงว่าสิ่งที่เราได้ร่วมกันทำในการทำวิสัยทัศน์ ซึ่งไม่ใช่หอการค้าฯ ทำนะครับแต่เป็นของจังหวัดทุกภาคส่วนร่วมกัน ทุกคนเห็นด้วยและยอมรับ เริ่มทำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ยกตัวอย่างเทศบาลเขาเน้นเรื่องการทำบ่อบำบัดน้ำทิ้ง คูระบายน้ำทิ้ง ฯลฯ ทางอบจ.ก็เร่งไปทำเรื่องของถนนที่ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวแต่ไม่ได้มากเกินจนกระทั่งไปทำลายแหล่งท่องเที่ยว หรือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เราก็จะมองว่าทำอย่างไรให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและไม่ทำลายทัศนียภาพ

หอการค้ามีบทบาทการพัฒนาเพื่อเตรียมทรัพยากรบุคคลในเชิงทัศนคติหรือวัฒนธรรมในเชิงรุกอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ผมคิดว่าบทบาทต่างๆ จะเริ่มถ่ายโอนไปอยู่ในส่วนที่เราเรียกว่าประชาคมท้องถิ่น ก่อนหน้านี้บทบาทต่างๆ พวกนี้จะไม่ชัดเจนนัก แต่หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ณ วันนี้จะมีองค์กรกึ่งๆ เอ็นจีโอแต่ว่าทำงานในเรื่องพวกนี้มากขึ้น และในจังหวัดตรังเององค์กรท้องถิ่นพวกนี้มีความเข้มแข็งและทำงานมานาน อย่างเช่น สมาคมหยาดฝน กับหอการค้าฯ เราได้ทำงานร่วมกันในบางเรื่อง และที่สำคัญก็คือเรื่องของพะยูน

พะยูนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนม และเหลืออยู่ฝูงสุดท้ายในประเทศไทยที่จังหวัดตรัง เรารณรงค์เรื่องนี้ได้ผลน่าพอใจ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีการสำรวจว่ามีพะยูนเหลือเพียง 60 ตัว หลังเกิดสึนามิก็เกรงว่าผลกระทบจากสึนามิจะทำให้จำนวประชากรพะยูนน้อยลง ก็มีการบินสำรวจอีกครั้งหนึ่ง พบจำนวนประชากรพะยูนเพิ่มเป็นประมาณ 120 ตัวในช่วง 10 ปี ซึ่งในช่วง 10 ปีนี้ก็มีพะยูนตายด้วยหลายสาเหตุหลายตัว แต่ยังมีประชากรเพิ่มมากขึ้น อาจจะมาจากปัจจัยหลายอย่าง นั่นก็คือประชาชนชายทะเลทั้งหมดเข้าใจ และไม่ไปทำร้ายพะยูน ไม่ไปทำลายแหล่งอาหาร ทำให้พะยูนเพิ่มปริมาณและอพยพย้ายถิ่นจากที่อื่นที่ยังมีอยู่ มาอยู่ที่ทะเลตรัง ตัวนี้ผมคิดว่าก็เป็นตัวที่เป็นดัชนีชี้วัดอันหนึ่งว่า คนตรังโดยส่วนใหญ่แล้วเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว พะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จะไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้เยอะอย่างนี้

พูดถึงความประทับใจต่อจังหวัดตรัง ที่กลายเป็นสโลแกนซึ่งคุณกล้าประกาศตัวว่าเป็นคนตรังเพราะประทับใจในสิ่งนี้

มันมีคำขวัญที่เล็กๆ ก็เห็นและถูกกรอกหูอยู่ทุกวันคือ “ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี” ผมคิดว่านี่เป็นตัวตนอันหนึ่งของคนตรัง เวลาเราไปกินอาหารด้วยกัน คนตรังมีเงินไม่มีเงินไม่รู้นะ แต่ขอเป็นเจ้ามือไว้ก่อน ผมสังเกตดูหลายที่ บางทีก็เห็น “เฮ้ย…มื้อนี้เราเลี้ยง” และเฉพาะร้านกาแฟในเมืองตรัง บางทีวันดีคืนดี ผมไปนั่งกินพอจะจ่ายเงินเขาบอกว่ามีคนจ่ายให้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเมื่อผมไปกินกาแฟ หากเจอใครรู้จัก ผมก็ช่วยจ่าย ผลัดกันไปผลัดกันมา เหมือนกับเอาเงินในอนาคตมาใช้แล้ว มันก็หมุนเวียนอยู่ในแวดวงความสัมพันธ์ของเรา เหมือนกับเล่นแชร์ ซึ่งผมไม่อยากตำหนิจังหวัดอื่น แต่ว่าหลายๆ ครั้งที่เราไปที่อื่น ไม่เป็นแบบนี้

ความเป็นคนตรังก็จะสะท้อนออกมาในเรื่องของความมีน้ำใจ และผมคิดว่าสิ่งที่ทางหอการค้าฯ เราทำถ้าไม่มีพื้นฐานของการที่คนตรังเป็นคนใจกว้าง สร้างแต่ความดี แม้เราจะทุ่มโฆษณาอย่างไรก็ตาม แต่ตรังจะไม่โตแบบที่เห็น นักท่องเที่ยวอาจจะไม่เพิ่มอย่างที่เป็น แต่ที่เป็นได้อย่างนี้ เพราะว่าคนมาแล้วประทับใจ กลับไปบอกต่อแล้วก็กลับมาอีก

ตัวสำคัญคือการกลับมาซ้ำของนักท่องเที่ยว เป็นตัวชี้ว่าเมืองนี้น่าอยู่จริงๆ มีนักท่องเที่ยวบางคนเขามาเล่าให้ฟังว่า ช่วงตรุษจีนเขามา เขาอยากกินก๋วยเตี๋ยว เขาเรียกตุ๊กตุ๊กพาไปร้านนี้ปิด ร้านนู้นปิด ไปอีก 3-4 ร้านปิดก็กลับมาส่งที่โรงแรม ไม่คิดเงินเขา เขาบอกว่าเขาประทับใจมาก ทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากจะมาอีก เขาต้องยัดเยียดเงินให้กับตุ๊กตุ๊ก เพราะว่าเสียเวลาพาเขาไป นี่เป็นตัวสะท้อน หรือว่าร้านค้าในตรัง พอรู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวมาก็ลดราคาพิเศษแทนที่จะเอาเปรียบ

พูดถึงบริการสาธารณะสามารถการันตีได้ไหมว่า หากนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้ามา จะไม่มีการฉกฉวยโอกาสหรือเกิดการค้ากำไรเกินควรเกิดขึ้นอย่างในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ทั่วไป

ผมค่อนข้างมั่นใจ เพราะว่าสิ่งที่เราพยายามปลูกฝัง และสิ่งที่เราพยายามอย่างเช่นเรามีกรณีดีๆ แบบนี้เราก็จะมาเผยแพร่ผ่านสื่อ และสื่อในจังหวัดตรังเองที่เป็นสื่อท้องถิ่นโดยรวมเป็นสื่อที่มีคุณภาพ และทำงานเพื่อจังหวัดและเป็นคนท้องถิ่น ฉะนั้นภาพข่าวหรือความต้องการหรือสิ่งที่เราคาดหวังจะให้เป็นก็ถ่ายทอดผ่านสื่อไปบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น บางจังหวัดพูดถึงช่วงที่มีการจับโจรเรียกค่าไถ่ ตรังก็มี แต่ว่าน้อยกว่าเพราะว่าคนตรังเราช่วยดูซึ่งกันและกัน เป็นหูเป็นตาให้กัน

อีกอันหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อนถึงความมีน้ำใจ คือ เรื่องงานศพ ไม่รู้ว่าคุณจะมีเวลาได้ไปเที่ยวงานศพหรือเปล่า งานศพที่ตรังเจ้าภาพเลี้ยงอาหารได้ทุกวัน แต่เจ้าภาพไม่ขาดทุน เพราะว่าคนมาเขาก็ทำบุญ เจ้าภาพก็เลี้ยงอาหาร สุดท้ายเมื่อจบงานก็เรียบร้อยดี ทั้งสมเกียรติของผู้ที่เสียชีวิต เป็นการไว้อาลัย และก็เป็นการรวมกันของสังคมกลมกลืนที่สุด เป็นตัวที่ชี้ให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนตรัง

ทรัพยากรของเมืองตรังที่เห็นได้เด่นชัด ยางพารา แหล่งท่องเที่ยว ป่าไม้ เกาะแก่ง แร่ธาตุ ฯลฯ

มีคำขวัญที่ผมคิดว่าครบถ้วนด้านการท่องเที่ยวคือ เมืองพระยารัษฎา เป็นสิ่งที่เราไม่ลืมคนที่เคยสร้างความดีให้เรา ก็คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ผู้ที่เอายางพาราต้นแรกมาปลูกที่จังหวัดตรัง ชาวประชาใจกว้าง ตรงนี้สะท้อนถึงตัวตนของคนตรัง หมูย่างรสเลิศนี่ก็คือวิถีชีวิต ถิ่นกำเนิดยางพาราเมื่อสักครู่ที่ผมพูดถึงพระยารัษฎาฯ ที่สร้างเมืองและนำยางพารามาปลูก เด่นสง่าดอกศรีตรัง ดอกศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดที่ได้ชื่อว่าศรีตรังและออกดอกสีม่วง ตอนนี้ประชาคมและพี่น้องชาวตรังร่วมกับทางอบจ.ที่จะปลูกศรีตรังให้บานสะพรั่งทั้งเมือง และจะสร้างเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวอีกทีหนึ่ง มันจะบานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน เป็นช่วงท่องเที่ยวของเรา ปะการังใต้ทะเล ตัวนี้ก็เป็นตัวชี้ว่า ตรังยังสมบูรณ์ เสน่ห์หาดทรายงาม เรามีหาดทรายทั้งหมด 119 กิโลเมตร ที่รอรับนักท่องเที่ยว น้ำตกสวยตระการตา น้ำตกสิบกว่าแห่งของจังหวัดตรังก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ

ส่วนเรื่องแร่ธาตุ ปัจจุบันนี้ผมคิดว่ามีน้อย ดีบุกก็ไม่ใช่รายได้สำคัญ ตอนนี้ก็ต้องหยุดกันหมดแล้ว เรื่องป่าไม้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าเรากำลังอนุรักษ์ ตัวที่จะเกิดใหม่ก็คือเป็นไม้สักขาว ซึ่งก็คือไม้ยางพารานั่นเอง

ต้นยางเราปลูกไว้ 30 ปี โดย 25 ปีเราก็ได้น้ำยาง พอถึงเวลาต้องโค่นปลูกใหม่ ตอนโค่นไม้ยางเป็นภาระกับคนปลูกนะ ต้องเผาทิ้งหมดเลย เพื่อจะเร่งปลูกยางใหม่ ตอนหลังก็มีคนเอาไปใช้ประโยชน์ เอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ เอาไปทำถ่าน เอาไปทำหลายอย่าง เรียกว่าใช้ได้ทั้งต้นและไม้ ไม้ยางเป็นสีขาวผมเลยตั้งชื่อว่าสักขาว และหลายคนก็เห็นด้วยว่ามันชื่อไม้สักขาวนี้แหละดี

หลักคิดของคุณในการทำงานให้สำเร็จ

หลักในการทำงานของผมคือผมจะมองว่าทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องให้เกียรติคือเมื่อเป็นผู้ร่วมงานจะต้องฟังเขาด้วย และเราก็ต้องเคารพในความเห็นของเขา และในการพิจารณาก็ต้องดูบนพื้นฐาน อย่าไปใช้อารมณ์รักโกรธ คนนี้อาจจะเป็นคนที่พูดไม่เพราะ แต่ถ้าเขามีเหตุผลเราต้องฟังเขาด้วย ในการทำงาน ก็คือต้องให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และเคารพในการแสดงความคิดเห็น ใช้เหตุผลในการทำงาน

มีบุคคลต้นแบบหรือมีรูปแบบการหล่อหลอมทั้งการพัฒนาตนเองหรือบุคลิกภาพคือใคร

ต้นแบบของผมน่าจะมาจากพี่ชายของผมคือ ทั้งพี่สุธรรมและพี่สุรินทร์ เพราะผมมาทำงานก็เริ่มต้นเรียนมาจากตัวพี่ เห็นพี่ทำงานและได้ทุ่มเท อย่างในแนวคิดเรื่องจิตใจต่อสาธารณะ เรื่องการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ผมว่าเบื้องต้นไม่มีใครมีความคิดอย่างนี้หรอก เพราะว่าทุกคนชอบสบาย เรื่องอะไรจะต้องมาเหนื่อย ตอนที่ผมมาทำงานใหม่ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พี่ชายผมทำ สงสัยว่าทำไมต้องทำเพื่อส่วนรวมเยอะขนาดนี้และเราจะได้อะไร เราเหนื่อยเกินไปไหม และบางครั้งก็มีกระแสกลับมาว่า เราทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คืออย่างที่บอกว่าคนวิจารณ์นั้น วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง บางครั้งก็ทำให้เราท้อ และผมยังเคยบอกว่า เราทำอย่างนี้ไม่เห็นได้อะไรเลยเขายังมาตำหนิเรา แต่พออยู่บ่อยๆ เข้า และสิ่งที่พี่เขาพยายามพูดเสมอว่า ใครไม่เห็นก็เรื่องของเขา แต่อย่างน้อยเราเห็น เทวดาเห็น สวรรค์เห็น และสิ่งที่เราทำ แม้มันจะไม่ได้ผลกับเรา แต่อย่างน้อยมันส่งให้กับลูกหลานและลูกหลานได้มีความภาคภูมิใจว่า ครอบครัวไม่ได้ทำเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียง และก็เป็นแบบอย่างที่ดี พอพูดบ่อยๆ เข้า ผมก็เลยถือเหมือนกับเป็นแบบอย่างโดยไม่รู้ตัว แบบเดียวกับลูกเป็ดที่เดินตามใครที่มันเคลื่อนไหวได้ ก็เดินตามไปเรื่อยๆ แบบนั้น ฉะนั้นผมก็เอาต้นแบบอย่างที่พี่สุรินทร์ทำ เพราะเขาเป็นคนที่ทำงานทุ่มเทและช่วยเหลือคนอื่นตลอด คิดถึงคนอื่นตลอด

ทุกถ้อยคำของคนตรังที่ชื่อ สลิล โตทับเที่ยง น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการสะท้อนให้เห็นว่า คุณค่าของสถาบันครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสังคมขั้นพื้นฐานที่เติบโตขึ้นเป็นสังคมชาวตรัง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยหล่อหลอมวิถีชีวิตและวิธีคิดที่ดีงามให้กับคนรุ่นต่อๆ มาในสังคม ด้วยเหตุนี้ ทุกก้าวย่างของตระกูลโตทับเที่ยงจึงมุ่งหน้าไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาที่นำมาซึ่งเกียรติภูมิ ความสุข และความภาคภูมิใจ ที่ไม่เพียงแต่จะยังประโยชน์ให้กับตนเองและครอบครัวเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความสุขความเจริญที่ยั่งยืนให้กับท้องถิ่นที่พวกเขารักด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจเสมอมา

 

You may also like...