นายกเทศมนตรีนครตรัง สร้างประติมากรรมเอกลักษณ์เมือง

 

จังหวัดตรังเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เป็นเมืองท่าที่สำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีประเพณี วัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การจารึกและอนุรักษ์ไว้ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบและกล่าวขานถึงความเป็นเมืองตรัง ประกอบกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดในปัจจุบันต้องการที่จะพัฒนาจังหวัดตรังเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เพื่อรองรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้ผู้มาเยือนสามารถรับรู้ถึงเอกลักษณ์ และประวัติความเป็นมาของจังหวัดตรัง โดยสื่อออกมาในงานด้านศิลปะ

เทศบาลนครตรังจึงได้จัดทำโครงการสร้างประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรัง โดยปรับปรุงบริเวณถนนหน้าสำนักงานเทศบาลนครตรังตลอดถึงหน้าอำเภอเมืองตรัง ซึ่งปัจจุบันนี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นที่ลานคนเมือง กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และงานกิจกรรมต่างๆ กลายเป็น LANDMARK ของเมืองตรัง ที่อยู่ควบคู่กับหอนาฬิกาซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามเป็นสัญลักษณ์เมืองเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปในปัจจุบัน โครงการสร้างประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรังจะเสริมสร้างเอกลักษณ์เมืองให้มีความโดดเด่นและสวยงามเหมือนกับเมืองสำคัญของโลกที่มักจะมีงานประติมากรรรมสำหรับเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นของเมือง

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของการสร้างงานประติมากรรมบริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลนครตรังและที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง โดยการนำเอาสัญลักษณ์เมืองตรังและจุดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาในรูปแบบของงานประติมากรรม ซึ่งจะประกอบไปด้วยการสร้างงานประติมากรรม 3 ชุด คือชุดที่ 1 ชุดกินรีเล่นน้ำในป่าหิมพานต์ ชุดที่ 2 ชุดมโนราห์ฟ้อนรำ ชุดที่ 3 ชุดการแสดงหนังตะลุง หล่อด้วยสำริด ฉากหลังภาพนูนสูงนูนต่ำ ขนาดแต่ละชุดสูง 2.50 เมตร ยาว 15 เมตร และสร้างรูปหล่อลอยตัว ขนาดตามลีลาการออกแบบของประติมากร รวม จำนวน 17 ตัว รวมถึงงานปรับปรุงภูมิทัศน์ และงานระบบแสง สี เสียง

นายชาลี กางอิ่ม นายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยว่า การสร้างงานประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรังนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เพื่อให้จังหวัดตรังมีชิ้นงานศิลปกรรมที่สื่อมาในงานประติมากรรมเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง เพื่อเสริมสร้าง LANDMARK ของเมืองบริเวณหอนาฬิกาซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นเอกลักษณ์เมืองตรังอยู่แล้วให้มีความโดดเด่นสวยงามยิ่งขึ้น และเพื่อดำรงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่สื่อออกมาในรูปแบบของงานประติมากรรมให้อยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป

นายชาลี เปิดเผยต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้เทศบาลนครตรังจึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำโครงการดังกล่าว ณ อาคารอเนกประสงค์เทศบาลนครตรัง มีพี่น้องประชาชนสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน โดยได้เชิญนายสมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายกสมาคมศิลปินทัศนศิลป์แห่งประเทศไทย ผู้ออกแบบงานประติมากรรมดังกล่าว มาชี้แจงให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ ซึ่งประชาชนต่างเห็นด้วยกับการปรับภูมิทัศน์ในครั้งนี้

“สำหรับโครงการสร้างงานประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรังนั้นแรกเริ่มเดิมทีมีคนตรังที่ไปเที่ยวยังจังหวัดเชียงรายแล้วประทับใจหอนาฬิกาที่สวยงามและมีเสียงเพลงของเชียงราย อยากให้เมืองตรังมีเอกลักษณ์ของเมืองที่สวยงามแบบนั้นบ้าง ตนจึงได้ส่งปลัดเทศบาลไปพบกับอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรที่เป็นที่ยอมรับของประเทศ เพื่อพูดคุยถึงการออกแบบเมืองให้มีเอกลักษณ์เมืองที่สวยงาม โดยอาจารย์เฉลิมชัยได้กล่าวว่า หากตนออกแบบงานศิลป์จะออกมาเป็นแนววัฒนธรรมภาคเหนือ ซึ่งไม่ใช่เอกลักษณ์ทางภาคใต้ จึงได้แนะนำอาจารย์สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายกสมาคมศิลปินทัศนศิลป์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนตรัง จะสามารถช่วยออกแบบงานศิลป์ให้ออกมาเป็นแบบวัฒนธรรมภาคใต้ได้” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวว่า ทางเทศบาลนครตรังจึงได้มีการประสานงานกับอาจารย์สมศักดิ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ศิลปินระดับชาติจะมาออกแบบงานให้กับบุคคลทั่วไป แต่เทศบาลนครตรังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอาจารย์สมศักดิ์ ซึ่งเป็นคนตรัง มาออกแบบประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรังให้ ประกอบกับตนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.กัมพล ตันสัจจา เจ้าของสวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองจัดสวนโลกที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านก็ชื่นชมหอนาฬิกาตรังที่มีเอกลักษณ์สวยงาม แต่ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ควรจะมีการปรับภูมิทัศน์ใหม่ ด้วยการเอาเกาะกลางออก แล้วตกแต่งด้วยประติมากรรม และลานที่สามารถจัดกิจกรรมได้

นายชาลี กล่าวต่อว่า ดังนั้นต่อไปบริเวณดังกล่าวก็จะกลายเป็น Landmark ที่โดดเด่นของเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป ซึ่งเมื่อผู้เชี่ยวชาญระดับโลกให้ความคิดเห็นแบบนี้ ตนซึ่งมีความต้องการที่จะทำเพื่อคนตรัง ให้เมืองตรังได้มีการพัฒนาที่ดีที่สุด จึงได้ดำเนินการโครงการสร้างงานประติมากรรมเอกลักษณ์เมืองตรังขึ้นมาในครั้งนี้ โดยใช้งบประมาณกว่า 73 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมาณราคาโดยผู้ออกแบบและผู้ออกแบบก็ยืนยันว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าการประเมินของกรมศิลปากรถึงครึ่งหนึ่ง

“ส่วนรูปแบบของประติมากรรมนั้นเป็นการดึงเอาศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดตรังมาถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง มโนราห์ ฯลฯ ซึ่งจะหล่อด้วยสำริด ฉากหลังเป็นภาพนูนสูงนูนต่ำ และสร้างรูปหล่อลอยตัว ขนาดตามลีลาการออกแบบของประติมากร โดยจะปรับปรุงบริเวณถนนหน้าสำนักงานเทศบาลนครตรังตลอดจนถึงหน้าอำเภอเมืองตรัง ซึ่งต่อไปหลังจากการปรับปรุง ลานแห่งนี้จะกลายเป็นลานของคนเมืองที่จะมีกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เป็น LANDMARK ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวต่ออีกว่า เมื่อโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งของจังหวัดตรัง ช่วยเสริมสร้าง LANDMARK เมืองให้มีความโดดเด่น และ เป็นการสื่อผลงานศิลปะออกมาในรูปแบบของงานประติมากรรมให้คนตรังและคนทั่วไปรับรู้ถึงศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมเป็นห่วงคือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยที่อาจเกิดปัญหาความไม่สะดวกสบายในการใช้เส้นทางถนนวิเศษกุลในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาได้เดินหน้าต่อไป

จึงนับเป็นอีกก้าวของโครงการพัฒนาที่เทศบาลนครตรังภายใต้การบริหารงานของนายชาลี กางอิ่ม ที่มุ่งมั่นที่จะพลิกโฉมเทศบาลนครตรังให้เป็นเมืองแห่งความน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก เป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จะสร้างความสุขสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวจังหวัดตรังได้อย่างไม่รู้ลืม

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง — ศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2554
โดย : ทองขาล กันหาจันทร์/ตรัง

You may also like...