เวลานี้ศรีตรังกำลังบาน

เมื่อพูดถึงต้นไม้ที่เกี่ยวกับจังหวัดตรัง หลายท่านคงนึกถึงยางพารา เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของไทย และที่สำคัญเป็นพืชที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้นำมาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่อำเภอกันตังของจังหวัดตรัง แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่านอกจากยางพาราแล้ว พระยารัษฎานุประดิษฐ์ยังเป็นผู้ที่นำศรีตรังซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรังมาปลูกในจังหวัดตรังอีกด้วย โดยในหนังสือ “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง” ได้บันทึกไว้ว่าศรีตรัง (บ้างก็เรียกว่า “แคฝอย”) หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Jacaranda นั้นเป็นไม้ท้องถิ่นของประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งปลูกกันในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ทานซาเนีย ซิมบับเว ภูฐาน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอินเดีย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้นำศรีตรังต้นแรกมาปลูกในจังหวัดตรังในพ.ศ. 2444 หลังจากที่ท่านปลูกยางพาราต้นแรกในพ.ศ. 2442 เพียง 2 ปี

ด้วยความงามของศรีตรัง ชาวตรังรุ่นต่อมาจึงถือเอาศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำเมือง และได้นำช่อศรีตรังขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองตรังเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2502

ในพ.ศ. 2537 – 2539 รัฐบาลมีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และได้ทำพิธีเปิดโครงการ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานต้นไม้มงคลหรือต้นไม้ประจำจังหวัดให้แก่ทุกจังหวัด จังหวัดตรังนั้นได้รับพระราชทานต้นศรีตรังซึ่งนำมาปลูกไว้หน้าศาลากลางจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537

จากการค้นคว้าทำให้ทราบด้วยว่า นอกจากศรีตรังจะเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรังแล้ว ยังเป็นต้นไม้ ประจำสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมอีกด้วย และที่สำคัญพระพุทธเจ้าพระองค์ที่สามซึ่งมีพระนามว่า พระสรณังกรพุทธเจ้า (แปลว่า “ผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก”) และ พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ยี่สิบสอง ซึ่งมีพระนามว่า พระวิปัสสีพุทธเจ้า (แปลว่า “ผู้หาที่เปรียบมิได้”) ได้ตรัสรู้ใต้ต้นศรีตรังซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่าต้น “ปาตลี” หรือ “ปาฏลิ” (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันที่ได้ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์และในอดีตคือเจ้าชายสิทธัตถะนั้นคือพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ยี่สิบแปดซึ่งมีพระนามว่า “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช” โดย “ศากย” แปลว่า กษัตริย์วงศ์หนึ่งในกรุงกบิลพัสดุ) โดยพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ล้วนแล้วแต่มีต้นไม้ประจำพระองค์ด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551 องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้เปิดตัวโครงการที่เรียกกันจนติดปากว่า “โครงการได้เวลาศรีตรังออกโรง” ในพิธีมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดโครงการพัฒนาเมืองตรังให้น่าอยู่ประจำปี 2551 โดยมีนายสิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง เป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลเปรียบเทียบและนำเสนอให้ประชาชนชาวตรังได้เห็นว่าศรีตรังนั้นถ้าปลูกและดูแลอย่างเป็นระบบจะสามารถทำให้เมืองสวยงามได้ไม่แพ้ซากุระที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศญี่ปุ่นไปทั่วโลก โดยเมืองที่ประสบความสำเร็จในการปลูกศรีตรังนั้นมีมากมายหลายเมืองทั่วโลก เช่น เมืองพรีทอเรีย (Pretoria) เมืองหลวงด้านการบริหารของประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นเมืองศรีตรัง (Jacaranda City) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก เมืองกราฟตั้น (Grafton) ในมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ของประเทศออสเตรเลีย โดยในเมืองนี้จะจัดเทศกาลศรีตรัง (Jacaranda Festival) ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของทุกปี และเมืองมอนทากุ (Montagu) ในกรุงฮาราเร่ (Harare) เมืองหลวงของประเทศซิมบับเวในทวีปแอฟริกา เป็นต้น

หลังจากนั้น อบจ.ตรังโดยการดำเนินการของนายเกษียร ภู่กลาง รองนายกอบจ.ตรัง ได้ปลูกศรีตรังเพิ่มเติมตามสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง (เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตศูนย์ให้การศึกษาตรัง ศาลจังหวัดตรัง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เทศบาลนครตรัง) กว่า 15,000 ต้น เพื่อความสวยงามของจังหวัดตรังและเพื่อให้ศรีตรังเป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังเช่นเดียวกับซากุระในประเทศญี่ปุ่น

สุดท้ายนี้ อบจ.ตรัง โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวตรังจะช่วยกันดูแลศรีตรังทุกต้นให้เจริญเติบโตสวยงามให้สมกับคำขวัญของจังหวัดตรังที่ว่า “เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง …. ” โดยในช่วงต้นปีของแต่ละปีชาวตรังและผู้มาเยือนต่างจดจ่อที่จะได้ชมความงามของศรีตรังเพราะเมื่อศรีตรังบานเมืองตรังจะสวยงามเต็มไปด้วยดอกศรีตรังสีม่วงทั้งเมือง

——————————————————————————————————-

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง sitthi22@yahoo.com

 

You may also like...