วันท้องถิ่นไทย

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมารัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้วันที่ “18 มีนาคม” ของทุกปีเป็น “วันท้องถิ่นไทย” เพื่อให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นซึ่งถือได้ว่าเป็นความหวังใหม่ในการพัฒนาประเทศของไทยและเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ทรงมีต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย หลายท่านคงสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกให้วันดังกล่าวเป็นวันท้องถิ่นไทย

ตามประวัติศาสตร์ ในพ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า “สุขาภิบาลกรุงเทพ” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพมิได้มาจากการเลือกตั้งแต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาลตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศดังปรากฏในพระราชดำรัสว่า “…..ประเทศอื่นๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจำใจทำ ในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดิน คิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองและความเป็นสุขแก่ราษฎรทั่วไป จึงได้คิดทำเป็นการผิดกันตรงกันข้าม”

หลังจากนั้น 8 ปีคือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็น “สุขาภิบาล” เรียกว่า “สุขาภิบาลท่าฉลอม” ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล “หัวเมือง” แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ “เทศบาลนครสมุทรสาคร” เหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมากก็เพราะว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงเล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ดังที่ทรงกล่าวไว้ว่า “ราษฎรซึ่งจะต้องเสียเงินในการสุขาภิบาล ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ และยังไม่แลเห็นประโยชน์ คือยังไม่ต้องการสุขาภิบาล ถ้าจะจัดโดยอุบายตั้งกฎหมายรัฐบาลบังคับให้จัดให้มีขึ้นก็คงจัดได้ แต่แลเห็นว่าการสุขาภิบาลจะสำเร็จได้ดี ด้วยความพอใจ และความนิยมของราษฎรเสียยิ่งกว่าความบังคับของรัฐบาลจึงได้รั้งรอความคิดเรื่องนี้”

เวปไซท์ของเทศบาลนครสมุทรสาครได้บันทึกเหตุการณ์ที่นำไปสู่การจัดตั้ง “สุขาภิบาลท่าฉลอม” เอาไว้ว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 (ร.ศ.123) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตำบลพระประแดงซึ่งในขณะนั้นยังมีฐานะเป็นเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ (ปัจจุบันคืออ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) ได้ทรงพบสภาพพื้นที่บริเวณเมืองเฉอะแฉะด้วยโคลนตมมีกลิ่นเหม็น ในวันรุ่งขึ้นทรงเล่าให้ที่ประชุมเสนาบดีฟังว่าได้ทรงเห็นถนนและตลาดนครเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ “สกปรกเหมือนตลาดท่าจีน” โดยตลาดท่าจีนคือตลาดท่าฉลอม เมืองสมุทรสาครซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ในวันถัดมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ทรงมีตราพระราชสีห์น้อยที่ 20/ 3990 ถึงพระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร เพื่อให้เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ตลาดท่าจีนมาปรึกษาหารือกันว่าควรแก้ไขอย่างไร

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2448 พระยาพิไชยสุนทรได้ชักชวนพ่อค้าประชาชนในตำบลท่าฉลอมให้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อปรับปรุงถนนดังกล่าว โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จออกตรวจการก่อสร้างถนนในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448  และทรงทราบว่าถนนสายนี้ข้าราชการและพ่อค้าประชาชนได้ร่วมกันบริจาคเงินถึง 5,472 บาทเพื่อก่อสร้างถนนด้วยการปูอิฐกว้าง 2 วา (ประมาณ 4 เมตร) ยาว 11 เส้น 14 วา (ประมาณ 42 เมตร) พร้อมสร้างสะพานข้ามคลองอีก 3 แห่ง ทำให้เกิดความคิดว่าถนนสายนี้ราษฎรได้เสียสละเงินเป็นจำนวนมาก หากไม่มีแผนการซ่อมแซมรองรับไว้ให้ดีแล้วในอนาคตก็อาจชำรุดเสียหายได้จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้ “ภาษีโรงร้าน” เป็นภาษีสำหรับสุขาภิบาล จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินภาษีโรงร้านในตลาดท่าฉลอมมาใช้ทำนุบำรุงท้องที่ในกิจการ 3 ประเภทคือ (1) ซ่อมและบำรุงถนนหนทาง (2) จุดโคมไฟให้มีแสงสว่างในเวลาค่ำคืนตลอดถนนทั้งสาย (3) จัดจ้างคนงานเก็บขยะมูลฝอยในตำบลนั้นไปทิ้งที่อื่น และเมื่อสุขาภิบาลท่าฉลอมประสบความสำเร็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายการจัดตั้งสุขาภิบาลในท้องถิ่นอื่น ๆ   

ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451)โดยให้สุขาภิบาลมีหน้าที่ 3 ประการคือ (1) รักษาความสะอาด (2) ป้องกันและรักษาโรคภัยใข้เจ็บ และ (3) บำรุงรักษาทางสัญจรไปมาให้สะอาดยิ่งขึ้น และแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภทคือ (1) สุขาภิบาลสำหรับหัวเมือง จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นที่เป็นเขตที่ตั้งเมือง (2) สุขาภิบาลสำหรับตำบล จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น นับแต่นั้นมาได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลในหัวเมืองต่าง ๆ รวม 35 แห่ง ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นเทศบาลจึงได้ทรงตั้งคณะกรรมการศึกษาระบบเทศบาลในต่างประเทศในพ.ศ. 2470 และจัดตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งเทศบาลขึ้นแต่ยังไม่ทันดำเนินการก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เสียก่อน

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยได้พัฒนาเรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวรัฐบาลโดยการนำของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลที่มีอยู่เดิม 980 แห่งเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด ทำให้ในปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ 5 รูปแบบคือ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) (2) เทศบาล (3) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และรูปแบบพิเศษ 2 รูปแบบคือ (4) กรุงเทพมหานคร และ (5) เมืองพัทยา   

การกำหนดให้วันจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทยเป็นวันท้องถิ่นไทยดังกล่าวเกิดจากมติร่วมกันของ (1) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (2) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ (3) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย    โดยการหารือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ รัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้ความสำคัญแก่การกระจายอำนาจโดยประกาศเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตอนหนึ่งว่า “…เร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภาระกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง…” นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 52) ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ความตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ  ในเรื่องของการกระจายอำนาจมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญที่สามารถ ตอบสนองความต้องการของประชาชน ในชุมชนและในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้ประชาธิปไตย มีความเข้มแข็ง ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้สัมผัสถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง…”
             
ในจังหวัดตรังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 100 องค์กร (1 อบจ. 15 เทศบาล 84 อบต.) ที่ได้ร่วมมือกันในนามเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดตรัง (เครือข่ายร้อยองค์กร) เพื่อพัฒนาจังหวัดตรัง การมีวันท้องถิ่นไทยดังกล่าวเชื่อว่าจะได้มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เข้าใจหน้าที่และบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

————————————————————————————————–

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง sitthi22@yahoo.com

You may also like...