โครงการพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน

ในพ.ศ. 2549 นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้พบเตาถ่านเข้าโดยบังเอิญขณะไปสำรวจการก่อสร้างถนนและท่าเทียบเรือบ้านในทอนที่บ้านท่าคลอง หมู่ 11 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดยเตาถ่านหนึ่งลูกที่นายกอบจ.ตรังไปพบเข้าในขณะนั้นมีรูปทรงสวยงามแต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยมีเถาวัลย์ปกคลุมเต็มไปหมดและบริเวณใกล้เคียงก็ถูกปล่อยให้รกร้าง นายกอบจ.ตรังเห็นว่าเตาถ่านดังกล่าวคู่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีผลิตถ่านไม้โกงกางและวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการผลิตถ่านในอดีตซึ่งในปัจจุบันกำลังจะหายไปจากสังคมของจังหวัดตรัง

จากการบอกเล่าของชาวบ้านในบริเวณนั้น ทำให้นายกอบจ.ตรังทราบว่าในอดีตในบริเวณดังกล่าวเคยมีการประกอบอาชีพผลิตถ่านไม้โกงกางซึ่งเชื่อกันว่าเป็นถ่านไม้ที่มีคุณภาพที่สุด ต่อมาเมื่อสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนได้ถูกยกเลิกโดยมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 (เรื่อง การยกเลิกการให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าไม้ชายเลน) เตาถ่านต่างๆ จึงหยุดใช้งานและอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต่อมานายกอบจ.ตรังได้ทราบว่าเตาถ่านและที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนางห้อง เทพวารินทร์ (ป้าห้อง) นายกอบจ.ตรังจึงได้เดินทางไปพบกับป้าห้องที่บ้านโดยมีนายโรจน์ เก้าเอี้ยน ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นผู้นำทางไป 

ป้าห้องได้เล่าว่าในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ที่ป้าห้องประกอบกิจการผลิตถ่านไม้โกงกางและเคยมีเตาถ่านอยู่ถึง 8 ลูก แต่เตาถ่านลูกอื่น ๆ ได้ถูกรื้อไปเพื่อนำอิฐไปขายให้แก่ผู้ก่อสร้างรีสอร์ท จนในปัจจุบันเหลือเตาถ่านอยู่เพียงลูกเดียว นอกจากนี้ ป้าห้องยังได้เล่าให้นายกอบจ.ตรังทราบด้วยว่าป้าห้องเองก็มีเจตจำนงที่จะอนุรักษ์เตาถ่านไว้เช่นกันและเมื่อได้ทราบว่านายกอบจ.ตรังมีความประสงค์เดียวกันจึงมีความยินดีที่จะบริจาคที่ดินพร้อมเตาถ่านให้อบจ.ตรังไปดำเนินโครงการ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ณ ห้องประชุมอบจ.ตรัง ป้าห้องได้ลงนามใน “หนังสืออุทิศทรัพย์สินให้แก่อบจ.ตรังเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์” เพื่ออุทิศที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา พร้อมเตาถ่านหนึ่งลูกให้อบจ.ตรังเพื่อไปดำเนิน“โครงการพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน” และเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรังได้เชิญอดีตผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการผลิตถ่านไม้โกงกางมาร่วม “การประชุมเสวนาเพื่อรวบรวมข้อมูลในการจัดทำพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน” ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ในการประชุมดังกล่าว นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบว่า อบจ.ตรังมีความประสงค์จะดำเนินโครงการเพื่อการอนุรักษ์เตาถ่านไว้โดยการจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งอบจ.ตรังมีอำนาจตามกฎหมายและขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่านซึ่งในอดีตเคยประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตถ่านไม้โกงกางให้คณะทำงานของอบจ.ตรังได้สัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลมาประมวลรวมกันเพื่อเป็นเรื่องราวที่จะนำเสนอโดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และในการประชุมดังกล่าวผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความประสงค์ที่จะบริจาคสิ่งของซึ่งในอดีตเคยใช้ในการผลิตถ่าน (เช่น ไม้ตีเปลือกไม้โกงกาง ลูกคิดของเถ้าแก่  ตะเกียงเจ้าพายุ ขวานตัดไม้ ฯลฯ) เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่อบจ.ตรังได้ตระหนักว่าในกรรมวิธีผลิตถ่านไม้โกงกาง ไฟหน้าเตาถ่านมิได้สัมผัสกับไม้โกงกางในเตาเลย ดังนั้นเตาที่ใช้ผลิตถ่านดังกล่าวจึงควรเรียกว่า “เตาถ่าน” ไม่ใช่ “เตาเผาถ่าน” เพราะไม่ได้มีการเผาเกิดขึ้นโครงการนี้ของอบจ.ตรังจึงมีชื่อว่า “โครงการพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน”

อบจ.ตรังได้แบ่งงานของโครงการนี้ออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1. งานด้านโครงสร้าง และ 2. งานด้านข้อมูล ในส่วนของงานด้านโครงสร้าง อบจ.ตรังได้กำหนดให้มีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตถ่านไม้โกงกางในอดีตเพื่อประกอบขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน ไม่ว่าจะเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พร้อมห้องแสดงวีดีทัศน์ บ้านเถ้าแก่ โรงจอดเรือ ป้ายพิพิธภัณฑ์ โรงอาหารพร้อมห้องน้ำ ที่ขายของที่ระลึก ฯลฯ   

ในส่วนของงานด้านข้อมูล ทีมงานของอบจ.ตรังได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพผลิตถ่านในอดีตเพื่อนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อนำเสนอโดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ข้อมูลที่ได้มานั้นมีที่มาจาก 2 แหล่งคือ 1. วรรณกรรมเกี่ยวกับการผลิตถ่าน 2. คำให้สัมภาษณ์ของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตถ่านในอดีตไม่ว่าจะเป็นคนตัดไม้โกงกาง คนงานเตาถ่าน ไซอู่ (ผู้ดูแลไฟหน้าเตาถ่าน) ผู้จัดการเตาถ่าน เถ้าแก่เตาถ่าน ลูกเถ้าแก่เตาถ่าน เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยทางทีมงานของอบจ.ตรังซึ่งนำโดยนายสิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง ได้ออกไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้
   
พิพิธภัณฑ์เตาถ่านซึ่งเป็นโครงการของอบจ.ตรังที่นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ริเริ่มขึ้นนี้มีหน้าที่สำคัญคือ “ให้ความรู้คู่ความเพลิดเพลิน” และจากการดูงานในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศทำให้อบจ.ตรังตัดสินใจว่าการถ่ายทอดความรู้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะกระทำโดยผ่านหุ่นไฟเบอร์ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตถ่านในอดีตพร้อมการนำเสนอข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้เข้าชมไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่สามารถเกิดจินตนาการได้ว่าในอดีตได้เกิดอะไรขึ้นบนที่ดินบริเวณนี้ โดยอบจ.ตรังได้มอบหน้าที่ที่สำคัญนี้ให้กับนายพลชกร สิขราภรณ์ ผู้ซึ่งมีฝีมือด้านปฏิมากรรมเป็นที่ยอมรับในจังหวัดตรัง ปัจจุบัน การก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังดำเนินไปและคาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้เข้าชมได้อย่างเป็นทางการในปี 2554 พิพิธภัณฑ์เตาถ่านแห่งนี้นอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ในสถานที่จริงที่นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถมาหาความรู้ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรังอีกด้วย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” คือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีกิจกรรมหล่อเลี้ยงให้มีความเคลื่อนไหวน่าติดตามอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์ต้องไม่เป็นเพียงสถานที่เก็บของเก่าอย่างที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจเท่านั้น

————————————————————————————————————————————

(บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง)

You may also like...