พิธีกร พิธีกรรม …ใครว่าไม่สำคัญ

หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องตลกที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในการประกอบพิธีทางพุทธศาสนาของชุมชนแห่งหนึ่ง พระสงฆ์ได้บอกให้ผู้นำชุมชนตั้งนะโม 3 จบเพื่อเริ่มการประกอบพิธี ผู้นำท้องถิ่นท่านนั้นได้กล่าวว่า “นะโม… นะโม… นะโม” เพียงเท่านั้น (แทนที่จะกล่าวว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” 3 จบ) ทำให้พิธีกร พระสงฆ์และผู้มาร่วมพิธีต่างอึ้งกันไปตามกันจนกลายเป็นเรื่องตลกที่เล่าต่อ ๆ กันมา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือ หลังจากสมัยกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) เป็นต้นมา ศาสนาได้ส่อแววว่าจะเสื่อมทรามลงอย่างน่าใจหาย ประชาชนเอาใจออกห่างพุทธศาสนามากเสียจนไม่สามารถแม้กระทั่งประกอบศาสนพิธีง่าย ๆ เชียวหรือ

ในระหว่างวันที่ 8 ถึง 9 กันยายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรังได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ศาสนพิธีกรจังหวัดตรัง ขึ้นที่วัดกระพังสุรินทร์ อ.เมือง จ.ตรัง โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศาสนพิธีในศาสนาพุทธทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่เจ้าอาวาส ผู้นำท้องถิ่น กำนันและพิธีกรพระประจำวัดต่าง ๆ

ในเอกสารประกอบโครงการนี้ที่ประพันธ์ขึ้นโดยพันเอกอรุณ นิลสุวรรณได้อธิบายว่า “ศาสนพิธี” คือพิธีการทางศาสนา โดยพิธีนั้นคือแบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีด้วยกันทุกศาสนาและเกิดขึ้นภายหลังการเกิดขึ้นของศาสนา เหตุที่เกิดมีศาสนพิธีในพระพุทธศาสนาก็เนื่องมาจากหลักการของพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวางไว้ตั้งแต่ปีที่ตรัสรู้เพื่อพุทธสาวกจะได้ถือเป็นหลักในการออกไปประกาศพระศาสนา อันเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ในโอวาทปาติโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงวางหลักทั่ว ๆ ไปที่เป็นหลักการสำคัญไว้ 3 ประการ คือ (1) สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง (2) สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม และ (3) สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว โดยหลักการทั้ง 3 นี้มีความหมายว่า พุทธบริษัทต้องพยายามเลิกละความประพฤติชั่วทุกอย่างจนเต็มความสามารถ และพยายามสร้างกุศลสำหรับตนให้พร้อมเท่าที่จะสร้างได้ กับพยายามชำระจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ การพยายามทำตามคำสอนในหลักการนี้เป็นการพยายามทำดีที่เรียกว่า “การทำบุญ”

การทำบุญนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักย่อ ๆ ไว้ 3 ประการเรียกว่า “บุญกริยาวัตถุ” อันประกอบด้วย (1) ทาน (2) ศีล และ (3) ภาวนา ซึ่งมีความหมายดังนี้ (1) ทาน หมายถึง การบริจาคพัสดุของตนให้เป็นประโยชน์แก้ผู้อื่น (2) ศีล หมายถึง การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อยไม่ล่วงปฏิบัติห้าม และ (3) ภาวนา หมายถึง การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในทางกุศล บุญกริยาวัตถุนี้เองที่เป็นแนวให้พุทธบริษัทประพฤติบุญตามหลักการที่กล่าวถึงข้างต้น และเป็นเค้าให้เกิดศาสนพิธีต่าง ๆ เมื่อพุทธบริษัททำบุญก็ให้เข้าหลักบุญกริยาวัตถุนี้ คือ “เริ่มต้นรับศีล ต่อมาภาวนาด้วยการสวดมนต์หรือฟังพระสวดแล้วส่งใจไปตาม แล้วจึงจบลงด้วยการบริจาคทานตามควร” (เรียกย่อๆว่า “ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา”) จึงเกิดพิธีกรรมต่าง ๆ ตามมามากมาย เมื่อพิธีกรรมใดเป็นที่นิยมและปฏิบัติสืบ ๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นจึงกลายเป็นศาสนพิธีขึ้น ฉะนั้นศาสนพิธีจึงมีมากมาย และสามารถแยกเป็นหมวดได้เป็น 4 หมวด คือ (1) หมวดกุศลพิธี (2) หมวดบุญพิธี (3) หมวดทานพิธี และ (4) หมวดปกิณกะ (เบ็ดเตล็ด) โดยแต่ละพิธีก็จะมีวิธีการปฏิบัติแยกย่อยลงไปอีกมากมาย เช่น วิธีการแสดงความเคารพสักการะ วิธีประเคนของพระ วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม วิธีกรวดน้ำ วิธีวงด้ายสายสิญจน์ วิธีตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระ วิธีบอกศักราชในการแสดงพระธรรมเทศนา เป็นต้น

ในการประกอบพิธีตามหลักพระพุทธศาสนาจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย คือ (1) เจ้าภาพซึ่งเป็นเจ้าของงานที่มีความศรัทธาประสงค์จะทำบุญ และ (2) พระสงฆ์ (ปฏิคาหก) ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีเพื่อให้เกิดบุญแก่เจ้าภาพ แต่บางครั้งฝ่ายเจ้าภาพมีศรัทธาอยากทำบุญ แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติก็จะเชิญผู้ที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนามาเป็นผู้ให้คำแนะนำ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายเจ้าภาพเรียกว่า “พิธีกร” ดังนั้น พิธีกรจึงมิใช่เจ้าภาพ มิใช่พระสงฆ์ มิใช่ประธานในพิธี แต่เป็นผู้ประสานงานการประกอบพิธีและกำกับขั้นตอน การปฏิบัติพิธีให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามหลักศาสนพิธี เป็นที่พอใจของเจ้าของงานและผู้ร่วมพิธี โดยคุณลักษณะของพิธีกรที่ดีมี 8 ประการ คือ (1) ให้ความสำคัญกับที่บูชาในพิธี (2) มีจิตศรัทธาให้ความเคารพพระสงฆ์ (3) ดำรงตนเป็นพุทธมามกชนที่ดี (4) การแต่งกาย บุคลิก ท่าทาง ต้องดูสง่า (5) กล่าวคำอาราธนาชัดเจน ถูกต้อง ฟังระรื่นหู (6) รอบรู้ รอบคอบ ในขั้นตอนปฏิบัติพิธี (7) มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย และ ( พกพาอุปกรณ์พิธีติดกายตลอดเวลา เรียกได้ว่า พิธีกรนั้นต้องเป็นผู้รอบรู้และตระเตรียม “สถานที่ อุปกรณ์ และลำดับขั้นตอน” ของศาสนพิธี นอกจากนี้ พิธีกรยังต้องเป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์เป็น “ตัวคุณธรรม” ที่เดินได้ สัมผัสได้ และยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีได้อีกด้วย

 

เหตุผลที่อบจ.ตรังได้สนับสนุนการดำเนินโครงการนี้ก็เนื่องมาจากว่า ศาสนพิธีมีความสำคัญหลายประการคือ (1) เป็นสื่อที่นำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงตามหลักพระพุทธศาสนา (2) เป็นเปลือกหุ้มศาสนธรรมให้ดำรงอยู่ได้และสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย (3) เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ และ (4) เป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีและเอกลักษณ์ของคนในชาติ

ทั้งนี้อบจ.ตรังโดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรังมีความประสงค์จะจัดการอบรมให้ประชาชนชาวตรังในภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วยเพื่อให้วิถีชีวิตแบบพุทธนั้นหลอมเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตของประชาชนชาวตรัง

—————————————————————————————–

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

 

——————————————————————————–

 

 

You may also like...