อย่าปล่อยให้ถุงพลาสติกครองเมือง

ถึงเวลานี้คงยากที่จะปฏิเสธแล้วว่า ขยะที่เรียกว่าถุงพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บนั้นสร้างปัญหาให้กับหลายเมืองทั่วโลกเนื่องจากมีจำนวนมากและกำจัดได้ยาก ที่น่าตกใจก็คือได้มีการประมาณว่าถ้านำถุงพลาสติกที่คนไทยใช้ในหนึ่งปีมาเรียงต่อกันจะได้ระยะทางไปกลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ถึงเจ็ดรอบ จังหวัดตรังเองก็ไม่รอดพ้นจากการถูกคุกคามจากขยะถุงพลาสติกเช่นกัน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากขยะประเภทนี้จึงทำให้ยังใช้ถุงพลาสติกกันอย่างไม่ยั้งคิด

ถุงพลาสติกผลิตมาจากเม็ดพลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถุงพลาสติกหนึ่งถุงใช้เวลาประมาณ 5 – 6 ชั่วอายุคนหรือประมาณ 450 ปีในการย่อยสลาย และส่งผลเสียมากมายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หากนำถุงพลาสติกไปเผาก็จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกห่อหุ้มโลกใบนี้เอาไว้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หากนำไปฝังดินจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพไม่สามารถปลูกพืชได้ เนื่องจากรากของพืชจะไม่สามารถชอนไชผ่านขยะถุงพลาสติกที่อยู่ใต้ดินได้ บ่อยครั้งที่ถุงพลาสติกไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซ้ำร้ายกว่านั้น ในบริเวณที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวมาก ถุงพลาสติกมักลอยไปในทะเล ทำให้สัตว์ทะเล เช่น เต่ามะเฟืองไปกินมันเข้าแล้วตายลง เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนซึ่งเป็นอาหาร โดยระบบการย่อยอาหารของเต่ามะเฟืองไม่สามารถย่อยถุงพลาสติกได้ ถุงพลาสติกบางประเภท โดยเฉพาะถุงพลาสติกสีเข้มที่เกิดจากการนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ปลอดภัยที่จะนำมาบรรจุอาหารเนื่องจากจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม ตะกั่ว เพราะการนำมาใช้ใหม่มักต้องมีการใส่สีลงไปปกปิดสีของถุงเดิม   
ที่สำคัญที่สุด ขยะถุงพลาสติกที่ปรากฏหรือปลิวว่อนไปยังที่ต่าง ๆ ได้ทำลายความงามของเมืองไปอย่างน่าเสียดายและแสดงออกถึงความไร้วัฒนธรรมในการทิ้งขยะ รวมทั้งความด้อยความสามารถของชุมชนในการจัดการกับขยะประเภทนี้ อีกด้วย   
การจัดเก็บขยะนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับล่างที่เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรในระดับสนับสนุนอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดควรมีบทบาทในการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการลดการสร้างขยะ เนื่องจากการเพิ่มงบประมาณในการจัดเก็บขยะเป็นการแก้ปัญหาเพียงที่ปลายเหตุเท่านั้น ในขณะที่การลดการสร้างขยะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่า   
 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ดำเนินการปลูกจิตสำนึกของประชาชนชาวตรังมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้วิทยากรบรรยายให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้รับทราบเกี่ยวพิษภัยของถุงพลาสติกและวิธีการลดการสร้างขยะประเภทนี้รวมทั้งขยะประเภทอื่น ๆ เช่น กล่องโฟม นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลการปลูกจิตสำนึกโดยการผลิตสื่อต่าง ๆ ได้แก่ ป้ายไวนิล สปอตทางวิทยุและโทรทัศน์ บทความในเวปไซท์และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถจดจำข้อมูลเกี่ยวกับขยะแต่ละประเภทได้     
โดยอบจ.ตรัง ได้เสนอวิธีการที่ประชาชนสามารถช่วยกันลดขยะถุงพลาสติกด้วยวิธีการ 3R คือ (1) Reject (2) Reduce และ (3) Reuse

(1) Reject หมายถึง การปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกในทุก ๆ โอกาสที่เป็นไปได้ เช่น เมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าเพียงน้อยชิ้นและสามารถนำกลับมาได้โดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก หรือ ผู้ซื้อมีภาชนะใส่ของอยู่แล้ว เช่น เป้ ย่าม กระเป๋าสะพาย ฯลฯ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถุงพลาสติกอีก   

(2) Reduce หมายถึง การลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษเมื่อไปจ่ายตลาด การเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของโดยการใส่ของหลายอย่างรวมกันในถุงพลาสติกหนึ่งใบเท่าที่จะทำได้ แทนที่จะใช้ถุงพลาสติกหนึ่งถุงสำหรับของหนึ่งอย่าง หรือการเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพที่ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติอย่าง แป้งสาลี แป้งข้าวโพด ที่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาเพียง 6 เดือน โดยไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และ   

(3) Reuse หมายถึง การนำมาใช้ซ้ำ ถุงพลาสติกที่สร้างปัญหาในทุกวันนี้นั้น เกิดจากการถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นขยะทันที ดังนั้น หากประชาชนนำถุงพลาสติกที่มีอยู่แล้วภายในบ้านมาใช้ซ้ำก็จะช่วยลดการสร้างขยะประเภทนี้ได้มาก       
(อันที่จริงมีอีกวิธีการหนึ่งที่เรียกว่า Recycle ซึ่งหมายถึง “การนำมาใช้ใหม่” ซึ่งเป็นวิธีการที่ประชาชนทำเองได้ยากเนื่องจากเป็นการกระทำที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอมถุงพลาสติกที่ใช้แล้วให้เป็นถุงใหม่)

ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทำให้ทราบว่า หลายประเทศทั่วโลกได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับขยะถุงพลาสติก เช่น ในประเทศจีน ซุปเปอร์มาเกตหลายแห่งในเมืองเซี่ยงไฮ้จะคิดเงินเพิ่มสำหรับผู้ที่ใช้ถุงพลาสติกจากทางร้าน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีกฎหมายกำหนดให้ถุงพลาสติกใส่ขยะต้องมีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้ถึงร้อยละสามสิบ ในรัฐฮิมาไชปราเดช ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ได้มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการผลิต การเก็บ การขายและการจำหน่าย ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษหนักคือจำคุก 7 ปี และปรับ 100,000 รูปี (ประมาณ 470,875 บาท) ในเมืองไคร้สท์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการรณรงค์ “Say No to Plastic Bags” (ปฏิเสธถุงพลาสติกกันเถอะ) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับถุงพลาสติกและส่งเสริมให้ร้านค้าหันมาใช้ถุงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติอย่างปอกระเจาแทน                 

สุดท้ายนี้ อบจ.ตรังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนทุกภาคส่วนจะให้ความร่วมมือ ในการลดปริมาณขยะถุงพลาสติกด้วยวิธีการ 3R ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้เพื่อความสะอาดน่าอยู่ของจังหวัดตรัง 

—————————————————–
บทความโดย นายสิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

You may also like...