ถนนเครือข่ายสายประวัติศาสตร์บนเกาะลิบง

การพัฒนาจังหวัดตรังโดยการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตรังสมทบงบประมาณกันเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน (ที่เรียกกันจนติดปากว่า “ถนนเครือข่าย”) นั้นได้ขยายไปทุก ๆ ที่ในจังหวัดตรังไม่เว้นแม้บนเกาะ เกาะลิบงเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดา 46 เกาะของจังหวัดตรังโดยมีพื้นที่ประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 3,200 คน จากประมาณ 800 ครัวเรือน นอกจากนี้ เกาะลิบงยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพยูน และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกด้วย โดยในหนังสือ “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง” ได้บันทึกไว้ว่า ประมาณ พ.ศ. 2204 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สุลต่านเคดะห์ได้ส่งโอรส 2 พระองค์ไปปกครองเกาะในทะเลคือเกาะปินัง และเกาะลิบง ผู้ปกครองเกาะลิบงคือ ตนกู อะมัดตายุดดิน มัดชำระ ซึ่งปกครองอยู่จนถึง พ.ศ. 2249 ก็กลับไปเป็นสุลต่าน สำหรับเมืองเกาะลิบงนั้น พระองค์ได้มอบหมายให้มีผู้ปกครองต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับตำนานที่ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่า “พระยาแขกที่สร้างเมืองลิบงกับเมือง ปินังนั้นมีประสงค์จะทำให้สองเมืองนี้ยิ่งใหญ่คู่กัน แต่โหรได้ทำนายเอาไว้ว่า เมืองทั้งสองนี้จะอยู่คู่กันไม่ได้ หากเมืองหนึ่งเจริญ เมืองหนึ่งก็ต้องร้างผู้คน“ โดยในปัจจุบัน สุสานเจ้าเมืองเก่ายังปรากฎอยู่บนเกาะลิบง             

การดำเนินชีวิตของประชาชนบนเกาะลิบงนั้นอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก โดยประชาชนได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการใช้ถนนบนเกาะนั้น “หน้าร้อนกินขี้ฝุ่น หน้าฝนกินขี้เลน” โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหน่วยงานราชการในจังหวัดตรังได้พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนเกาะตลอดมา บนเกาะลิบงมีถนนสายหนึ่งชื่อถนนสายบ้านโคกสะท้อน (บ้านพร้าว) – บ้านหลังเขา ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร 49 เมตร ซึ่งเชื่อมหมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 5 ของตำบลเกาะลิบง โดยประวัติของการพัฒนาถนนสายดังกล่าวซึ่งเป็นถนนสายหลักบนเกาะ มีดังนี้

(1) ในพ.ศ. 2538 ส่วนอำเภอกันตัง ได้ขอเครื่องจักรกลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) ไปบุกเบิกเส้นทาง การดำเนินการในครั้งนั้นใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

(2) ในพ.ศ. 2544 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง (อบต.เกาะลิบง) ได้ขอสนับสนุนเครื่องจักรกลจากอบจ.ตรังไปบุกเบิกเส้นทางซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยอบต.เกาะลิบงสนับสนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลจากฝั่งไปยังเกาะ

(3) ในพ.ศ. 2550 อบจ.ตรังกับอบต.เกาะลิบง มีแนวความคิดร่วมกันที่จะก่อสร้างถนนสายนี้ให้สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล จึงทำข้อตกลงร่วมกันเป็นภาคีหุ้นส่วนก่อสร้างถนนสายนี้ โดยการสมทบงบประมาณเช่นเดียวกับการก่อสร้าง “ถนนเครือข่าย” สายอื่น ๆ ในจังหวัดตรัง  โดยพยายามให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยที่สุด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 อบจ.ตรังกับอบต.เกาะลิบงได้เชิญประชาชนที่เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจงให้ทราบถึงการก่อสร้างถนนสายนี้ และได้เสนอแนวทางเลือกถึงโครงสร้างผิวจราจรระหว่างคอนกรีตเสริมเหล็กกับคอนกรีตบล็อกสำเร็จรูป (อิฐตัวหนอน) โดยได้มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงข้อดีและข้อด้อยของโครงสร้างทั้ง 2 ประเภท ในวันดังกล่าว ประชาชนที่มาประชุมได้ลงมติว่าควรก่อสร้างผิวจราจรโดยใช้อิฐตัวหนอน อบจ.ตรังจึงได้ดำเนินการตามที่ประชาชนลงมติ โดยนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ชี้แจงในหลายเวทีว่า การก่อสร้างรวมทั้งการซ่อมแซมถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างถนนทั้วไปนั้นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น รถบดถนน รถปรับผิวถนน รถเทยางมะตอย ซึ่งอาจไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะอย่างเกาะลิบง เนื่องจากการการขนย้ายเครื่องจักรจากฝั่งไปยังเกาะเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง การสร้างถนนโดยการใช้อิฐตัวหนอนจึงเหมาะสมกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถนนทรุดตัวลง การซ่อมแซมสามารถทำได้โดยการงัดอิฐก้อนเก่าออกแล้วใส่อิฐก้อนใหม่ลงไปแทนที่ โดยไม่ต้องใช้เครืองจักรขนาดใหญ่แต่ประการใด ทำให้นอกจากจะดำเนินการก่อสร้างได้โดยสะดวกแล้ว ยังสามารถประหยัดค่าบำรุงรักษาถนนได้อีกด้วย 

(4) ต่อมา อบจ.ตรัง ได้สำรวจ ออกแบบและประมาณราคาเบื้องต้นในวงเงินที่ทั้งอบจ.ตรังและอบต.เกาะลิบงตั้งใจที่จะสมทบกันในอัตราส่วน 60 ต่อ 40 คือ 20,000,000 บาท เพื่อสร้างถนนระยะทาง 4,100 เมตร สัดส่วนของอบจ.ตรังคือร้อยละ 60 เป็นเงิน 12,000,000 บาท และสัดส่วนของอบต.เกาะลิบงร้อยละ 40 เป็นเงิน 8,000,000 บาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 11 มีนาคม 2551 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2552 (ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552) ค่าก่อสร้างจริงคิดเป็นเงิน 19,720,000 บาท เหลือเงินงบประมาณที่ไม่ได้ใช้ 280,000 บาท จึงคืนให้อบต.เกาะลิบงร้อยละ 40 ตามสัดส่วนเป็นเงิน 112,000 บาท

(5) เนื่องจากถนนสายนี้มีความยาว 7,049 กิโลเมตร เมื่อหักระยะทางที่ก่อสร้างถนนไปแล้ว 4,100 เมตร ยังขาดระยะทางอยู่อีก 2,949 เมตร อบจ.ตรังจึงได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางปรากฏว่าได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัด 11,500,000 บาท ก่อสร้างต่อจากโครงการเดิมได้ระยะทาง 2,300 เมตร ยังเหลือที่ยังไม่แล้วเสร็จอยูอีกประมาณ 649 เมตร

(6) อบจ.ตรังจึงวางแผนที่จะร่วมกับอบต.เกาะลิบงสมทบงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนนส่วนที่เหลือระยะทาง 649 เมตร ในช่วงงบประมาณปี 2554 จำนวน 4,736,000 บาท สัดส่วนของอบจ.ตรังร้อยละ 60 คิดเป็นเงิน 2,652,000 บาท และสัดส่วนของร้อยละ 40 ของอบต.เกาะลิบงคิดเป็นเงิน 2,084,000 บาท

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 อบจ.ตรังโดยการนำของ นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้รับโล่รางวัลและประกาศนียบัตรจากสภาวิศวกร จากการส่งโครงการการก่อสร้างถนนเครือข่ายสายประวัติศาสตร์บนเกาะลิบง (สายบ้านโคกสะท้อน -บ้านหลังเขา) ซึ่งสร้างขึ้นด้วยอิฐตัวหนอนเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร 100 เมตร เข้าร่วมการประกวดใน “โครงการชุมชนร่วมใจสร้างความปลอดภัยทางถนน” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2553 ที่สภาวิศวกร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งพิธีมอบรางวัลได้จัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานครฯ โดยอบจ.ตรังเป็นเพียงอบจ.แห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เนื่องจากถนนสายดังกล่าวสร้างขึ้นอย่างมีมาตรฐานและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง

————————————————————-
บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

 

You may also like...