ขจรฤทธิ์ รักษา

ขจรฤทธิ์ รักษา นักเขียนหนุ่มใหญ่ ที่สร้างชื่อเสียงให้เมืองตรังบ้านเกิด เขาเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวรรณกรรมไทยมานาน ทั้งในฐานะนักเขียน และผู้ก่อตั้งนิตยสาร “ไรเตอร์” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนิตยสารวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมมากที่สุดเล่มหนึ่ง ด้วยฝีไม้ลายมือและประสบการณ์ที่สั่งสม จึงไม่แปลกที่เขาจะได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2551 ปัจจุบัน ขจรฤทธิ์ยังคงมีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยวและการเขียนหนังสือ รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ “บ้านหนังสือ”

 

 

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน

ก็เริ่มต้นจากการอ่านครับ คือสมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนวิเชียนมาตุ ทุกตอนเที่ยงนอกจากจะนั่งเล่นที่โรงอาหารแล้ว บางวันก็เข้าห้องสมุด ไปอ่านเรื่อง “ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวี ในนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” หรือไม่ก็อ่านนวนิยายจีน พวก “เซียวฮื้อยี้” หรือ “ฤทธิ์มีดสั้น” ของโกวเล้ง ก่อนนอนผมจะเขียนบันทึกทุกวัน โดยไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียน

หนังสือเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจ

ที่ประทับใจมากก็คือเรื่อง “คนโซ” (Hunger : 1890) ของคนุท แฮมซุน (Knut Hamsun : 1859-1952) นักเขียนรางวัลโนเบล (ประจำปี ค.ศ. 1920) ชาวนอร์เวย์ คนุท แฮมซุน นี่กว่าที่เขาจะเป็นนักเขียนชื่อดังได้ ชีวิตของเขาลำบากมาก เป็นโรคหืดหอบ ไม่มีเงิน อาศัยอยู่ในห้องเช่า เวลาเจ้าของมาเก็บค่าเช่า เขาก็จะซ่อนตัวเงียบอยู่ในห้อง ทำเหมือนไม่มีคนอยู่ พอเจ้าของเผลอเขาก็แอบออกไปข้างนอก ไปเขียนหนังสือตามสวนสาธารณะ เพื่อหนีคนที่มารบกวน เวลาหิวก็หาขนมปังนิดๆ หน่อยๆ ประทังชีวิต บางครั้งก็แทะกิ่งไม้ ประตู หน้าต่าง มาเคี้ยวเล่นเพื่อจะให้มันอิ่ม จนวันหนึ่งเขาป่วยหนักด้วยโรคปอด เขาจะกลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ไม่มีเงินค่ารถ เขาจึงขึ้นไปแอบอยู่บนหลังคารถไฟ ยืนอ้าปากให้ลมมันเข้าไป ปรากฏว่าเขาหายจากโรคนี้

 

ผมอ่านแล้วก็คิด ทำไมชีวิตนักเขียนมันทุกข์ยาก ลำบากถึงขนาดนั้น กว่าจะดัง กว่าจะมีชื่อเสียง ผ่านชีวิตลำเค็ญแสนสาหัส อ่านหนังสือเล่มนี้จบก็เกิดกำลังใจ พลุ่งพล่านมากที่จะเป็นนักเขียน

 

นอกจากนี้ผมยังชอบอ่านงานของจอห์น สไตน์เบ็ค อย่างเรื่อง “ผลพวงแห่งความคับแค้น” (The Grapes of Wrath : 1939) เรื่อง “มหามุกดา” (The Pearl : 1947) หรือเรื่อง “เพื่อนยาก” (Of Mice and Men : 1937) ผลงานของสไตน์เบ็คนี่ผมอ่านหมด ผมชอบเขา อ่านแล้วก็มีแรงบันดาลใจ ทำให้ตัวเองอยากจะเขียนแบบที่เขาเขียน

ปณิธานในฐานะนักเขียน

ไม่ได้ตั้งปณิธาน (เสียงต่ำ) ไม่รู้ ไม่เคยคิด ใครจะพูดอย่างไรก็พูดไป แต่สำหรับผม เหมือนกับได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกไป ผมรู้ในภายหลังว่า การเขียนหนังสือช่วยรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากข้างใน เขียนแล้วรู้สึกดี สบายใจขึ้น ยิ่งเมื่อได้ทำงานเสร็จใหม่ๆ จะมีความสุขมาก เหมือนกับว่าได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดออกไปจนหมดแล้ว ผ่านเรื่องสั้นหรือนิยายเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้ความรู้สึกนั้นก็ยังเหมือนเดิม อยากพูด อยากเสนอแนะ อยากอธิบาย แต่ผมคงเป็นคนพูดไม่เก่ง อธิบายสิ่งใดไม่ค่อยชัด ผมคิดว่าการเขียนนั้นช่วยผมได้มาก ตอนนี้นอกจากได้พูดได้อธิบายผ่านตัวหนังสือแล้ว ผมยังแอบตั้งความหวังไว้ว่า ขอให้งานเขียนทุกเล่มของผม สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตผมและคนในครอบครัวได้เหมือนนักเขียนชื่อดังทั้งหลาย การเลี้ยงครอบครัวด้วยการเขียนหนังสือคือเป้าหมายที่ผมภาวนาก่อนนอน ขอให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตนี้

ปีหนึ่ง ผมอยากทำงานสัก 6 เดือน ใช้เวลาเขียนหนังสือทุกวัน แล้ว 6 เดือนที่เหลือ ขอให้ผมมีเงินไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ไม่ว่าในหรือต่างประเทศ ไปหาข้อมูลเพื่อกลับมาเขียนหนังสือ ผมอยากใช้ชีวิตเหมือนนักเขียนเมืองนอก เช่น มูราคามิ (Haruki Murakami นักเขียนเบสต์เซลเลอร์ชาวญี่ปุ่น) วี.เอส.ไนพอล (Sir Vidiadhar Surajprasad Naipaul นักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 2001 ชาวตรินิแดด แอนด์ โตเบโก) หรือเปาโล โคเอลญู (Paulo Coelho นักเขียนชื่อดังชาวบราซิล) เท่าที่ผมรู้ นักเขียนแทบทุกคนมักใช้เวลาที่เหลือจากการทำงานเดินทางไปเปิดหูเปิดตา ไปดูโลกกว้าง ผมคิดว่าโลกของเราไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพฯ, หาดใหญ่ หรือภูเก็ต แต่มันกว้างใหญ่ไพศาล! ผมอยากไปดูผู้คน ไปศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน บางประเทศมีคนที่ทุกข์ยากมากกว่าเราเป็นร้อยเท่าพันเท่า บางประเทศผู้คนก็อยู่กันอย่างแสนสุข มีผู้ปกครองที่ดี มีรัฐบาลที่ใช้ได้ แต่สิ่งที่ผมคิดอยู่เสมอระหว่างการเดินทางก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีขึ้นและก็ดับลง มาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้าแม้แต่อย่างเดียว ทุกๆ ปัญหาจะแก้ได้ด้วยกาลเวลา มีคนบอกว่า เมื่อเราออกเดินทาง มันทำให้อัตตาเราลดลง

การเดินทางหาประสบการณ์เป็นวิธีการทำงานของคุณ

ใช่ครับ ผมอยากไปเห็นผู้คนประเทศอื่นว่าเขาอยู่กันยังไง ล่าสุดผมเขียนนิยายจบ เรื่อง “เวียดนามตามลำพัง” เพิ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรีมาได้สองสามตอน ผมไปเวียดนามมา 3 ครั้ง ครั้งแรกไป 2 อาทิตย์ ครั้งที่ 2 ไปอีกอาทิตย์หนึ่ง ครั้งที่ 3 นี่ไปเกือบเดือน! ไปสิงอยู่ในเมืองเล็กๆ บนภูเขาชื่อ “ตามด๋าว” และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ เอาไว้ กลับมาบ้านก็เริ่มเขียนนิยาย ใช้เวลาเกือบสองปี จบ ผมมีเงินน้อย แต่จริตแบบนักเขียนมันเยอะ อยากใช้ชีวิตแบบพเนจร ไปหาที่เขียนหนังสือ อยู่ที่นั่นผมเขียนหนังสือทุกวัน ตอนเย็นออกเดินเล่น ตอนกลางคืนก็เข้าห้องอ่านหนังสือ ตื่นมาก็เปิดอินเตอร์เน็ตตามร้านเกมเล็กๆ และก็หาร้านกาแฟเงียบๆ นั่งลงเขียน ผมอยู่คนเดียวได้เป็นเดือน ไม่ได้พูดภาษาไทยกับใครแม้แต่แอะเดียว ภาษาอังกฤษก็ไม่เอาไหน โชคดีที่คนแถวนั้นเขาก็พูดอังกฤษไม่ได้เหมือนกัน ต่างคนต่างก็ใช้ภาษามือสื่อสารกัน ผมก็เอาเรื่องของพวกเขามาเล่า เรื่องภาษาเวียดนามที่เราฟังไม่รู้เรื่อง เรื่องผู้คนที่เราสัมพันธ์ด้วย เรื่องบรรยากาศ เรื่องที่พัก เรื่องเจ้าของโรงแรม รวมทั้งเรื่องรถจะชนเราตายด้วย ที่กรุงฮานอย มีกฎอยู่ว่า เวลาข้ามถนนต้องเดินไปข้างหน้า อย่าหยุด อย่าถอย เดินตรงไปอย่างเดียว แล้วคนขี่มอเตอร์ไซค์เขาจะรู้จังหวะของเขา แต่ผมไม่ชอบเสียงดังในฮานอย ผมจึงไปอยู่ตามด๋าว ที่นั้นไม่ค่อยมีรถ ไม่มีเสียงดัง มีแต่หมอก เมฆ และต้นไม้เขียวๆ

เมื่อเขียนเรื่องนี้จบ ผมอยากไปจีนหรืออินเดียอีก อยากไปอยู่ที่นั่นสักเดือนหนึ่ง ไปอยู่เมืองไหนก็ได้ ก่อนหน้านี้เคยไปสำรวจมาแล้วครั้งหนึ่ง เริ่มที่กัลกัตตา ขึ้นรถไฟต่อมาที่พาราณศรี แล้วไปต่อที่พุทธคยา และมาจบที่นิวเดลลี ใช้เวลา 22 วัน ตอนนี้ทำงานเสร็จ เกิดคันขึ้นมาอีก กำลังเก็บค่าตั๋วเครื่องบินอยู่ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า เป็นนักเขียนไทย แต่ทำแบบนักเขียนนอกได้ไหม ผมว่าทำได้ ไม่ยาก ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต่างจากเมืองไทยมาก ผมชอบคุณภาณุ มณีวัฒนกุล เขาเป็นตัวอย่างของผม เขาไปเมืองนอกเป็นว่าเล่น กลับมาก็เขียนสารคดีส่งให้สำนักพิมพ์ ผมเคยถามว่า ไปยากไหม เขาบอก ไม่ยาก เขาถามผมว่าพูดภาษาอังกฤษได้หรือเปล่า ผมบอก ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ยากหน่อย คุณภาณุไปมาทั่วโลก เขาเป็นนักเขียนรุ่นพี่ที่ผมนับถือ

มองวงการวรรณกรรมไทย

วงการวรรณกรรมไทยมันแย่ลงทุกวันๆ เนื่องจากว่าคนอ่านวรรณกรรมไทยมันน้อยลงเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ มีคนเขาพูดกันว่านักเขียนไทยก้าวไปไม่ทันโลก จมอยู่กับปัญหาส่วนตัว หรือเสนอความเป็นปัจเจกมากเกินไป บางคนก็วิจารรณ์ว่านักอ่านไทยก้าวล้ำไปไกลกว่าแล้ว ก็ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่เท่าที่สังเกต พบว่า เมื่อมีหนังสือแปลออกมา ไม่ว่าจะเล่มไหนหรือแนวไหน คนไทยพร้อมที่จะอุดหนุน ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่พร้อมจะซื้อกลับมาอ่านที่บ้าน ครั้นเมื่อยามนักเขียนไทยเขียนออกไปบ้าง ผลกลับตรงกันข้าม คนไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่สนใจ แต่ก็ยังมีหน้ามาวิจารณ์ว่าไม่ดี เชย ล้าหลัง อย่างโน้นอย่างนี้ พูดต่อๆ กันไปจนเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมาในคนหมู่มาก ผลที่ออกมาก็อย่างที่เห็น ใครพิมพ์งานของนักเขียนไทย เป็นต้องเจ็บตัวกันแทบทุกราย ผมไม่ได้พูดแบบน้อยใจนะครับ แต่อยากให้ท่านทั้งหลายอ่านกันเสียก่อนแล้วจึงค่อยวิจารณ์ ว่าไม่ดีอย่างไร น่าเบื่อแค่ไหน เพราะเท่าที่ผมอ่าน มีหลายคนที่เขียนดีเหลือเกิน ยกตัวอย่าง จำลอง ฝั่งชลจิตร, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, วินทร์ เลียววาริณ หรือรุ่นใหม่อย่างอุทิศ เหมะมูล ผมว่าฝีมือของเขาไม่ได้ด้อยไปกว่านักเขียนชาติไหน จริงอยู่ ในฐานะนักเขียนเราก็ต้องพัฒนา เราต้องศึกษาและหมั่นฝึกฝน แต่จะให้นักเขียนไปทำวิจัยการตลาดก่อนว่าตอนนี้คนอ่านชอบแบบไหน แล้วจึงค่อยเขียนอย่างนั้น ผมว่าไม่จำเป็น นักเขียนไทยคงต้องอดทนไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะความเป็นนักเขียนมันไม่ได้พิสูจน์แค่วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันพิสูจน์กันทั้งชีวิต! มันไม่ได้พิสูจน์ที่เล่มนี้ หรือเล่มหน้า ปีนี้ หรือปีหน้า เราต้องเดินทางกันอีกยาวไกล อายุ 90 ก็ยังเขียนหนังสือได้ ผมคิดว่าทั้งตัวนักเขียนและผลงานจะต้องสอดคล้องกัน เชื่ออะไรก็ทำอย่างนั้น ผมชอบหนังเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ที่พระรูปหนึ่งบอกว่า จงเฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

ใครก็ไม่รู้พูดว่า วรรณกรรมที่ดี ต้อง

1.ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน

2.ให้ความรู้แก่เขา

3.ให้ความคิด

ผมว่าเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ สามารถนำมาปรับใช้กับงานของเราได้

คุณเชื่อเรื่องพรสวรรค์ในความเป็นนักเขียนไหม

ผมเชื่อ แต่นักเขียนก็ต้องหมั่นฝึกฝน รักการอ่าน ผมเองไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นนักเขียน แต่พอมาย้อนหลังสำรวจดู ก็พบว่า ผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ชอบจดบันทึก เมื่อตอนเรียนมัธยม นอกจากบันทึกชีวิตประจำวันว่าวันหนึ่งได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ผมยังจดว่าผมใช้เงินไปกี่บาท เดือนนี้ผมใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีปัญหาอะไรผมก็จดไว้ ผมแอบรักใครผมก็บันทึกไว้ เขียนใส่สมุดเรียนเล่มบางๆ ทุกวันนี้ก็ยังเก็บสมุดบันทึกเก่าๆ เอาไว้ นานๆ จึงจะเอามาปัดฝุ่นดูสักหนหนึ่ง

 

ไม่มีใครมาบอกหรอกว่า นี่คือหนทางการฝึกฝนเพื่อจะเป็นนักเขียน แต่มันมาโดยธรรมชาติ ผมคิดว่า เพราะเราชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบบันทึก เราจึงมาเป็นนักเขียน แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องดังหรือไม่ดัง รวยหรือไม่รวย ผมพูดเสมอว่า ชีวิตผมไม่ต้องการอะไรมาก ขอให้สุขภาพแข็งแรงเพื่อที่จะได้ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวและดูแลคนอื่น ขอให้สายตาดี เพื่อจะได้อ่านหนังสือนานๆ แค่นี้พอแล้ว เรื่องเด่นดัง เรื่องชื่อเสียง เรื่องเกียรติยศ ไม่มีก็ไม่เป็นไร

ทัศนะต่อรางวัลทางวรรณกรรม

รางวัลวรรณกรรมทุกรางวัลเป็นความเห็นของบุคคลคณะหนึ่ง ไม่ใช่ความเห็นของคนส่วนใหญ่ เมื่อเขามอบรางวัลให้ ก็ดีใจ ภูมิใจ และเมื่อถึงคราวที่คนอื่นได้รางวัล เราก็ยินดีกับเขา อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยพูดไว้ว่า นักเขียนต้องเป็นผู้ดี ผู้ดีในที่นี้หมายความว่า ไม่ข่มคนอื่น ไม่ยกตัวเอง ผมก็จำมาตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากการอ่าน การอ่านทำให้เรารู้จักคิด รู้จักประพฤติปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศะ รู้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร และไม่ยกตนข่มท่าน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตให้สง่างาม พี่แคน สังคีต ยังเคยบอกว่านอกจากทำตัวให้สง่างามแล้ว เราต้องเป็นคนสุภาพด้วย ความสุภาพอ่อนน้อมไม่ใช่การแสดง ต้องออกมาจากใจจริง ทั้งการคิด การเขียน การพูดจา และการกระทำ

วิถีชีวิตทุกวันนี้

ทุกวันนี้ผมทำสำนักพิมพ์อยู่กับบ้าน มีภรรยาเป็นผู้ช่วย ผมเป็นคนดูแลต้นฉบับ ติดต่อกับนักเขียน ภรรยาก็ดูแลเรื่องการเงินการบัญชี สำนักพิมพ์บ้านหนังสือพิมพ์เรื่องป่าเป็นส่วนใหญ่ มีผลงานของวัธนา บุญยัง, ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, บุหลัน รันตี, เทศ จินนะ มีแฟนประจำอยู่พอสมควร เสร็จจากงานสำนักพิมพ์ ผมก็จะมาเขียนหนังสือ ชีวิตประจำก็อยู่บ้านทุกวัน น้อยครั้งที่จะออกนอกบ้าน ยกเว้นไปเที่ยว ไปครั้งหนึ่งก็นานเป็นเดือน

คำแนะนำถึงนักอ่านเขียน

ขยันคิด ขยันอ่าน ขยันเขียน อดทน อย่ารีบร้อนที่จะมีชื่อเสียง ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้ ไม่จำกัดเพศ วัย หรืออายุ ผมบอกนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยบ่อยๆ ว่า เมื่อคุณจบจากมหาวิทยาลัยมาไม่ต้องกลัวตกงาน อาชีพนักเขียนรองรับอยู่ล้านกว่าตำแหน่ง เพียงแต่ขอให้คุณขยัน อดทน ผมมีเคล็ดลับที่จะแนะนำอยู่สอง 2 ข้อ คือ 1.ต้องอ่านมาก 2.ต้องเขียนมาก

“วงการวรรณกรรมไทยมันแย่ลงทุกวัน เนื่องจากว่าคนอ่านวรรณกรรมไทยมันน้อยลงเรื่อยๆ”

 

You may also like...