สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

 

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง
 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังยกคำขวัญดั้งเดิมของตรังก่อนถูกบดบังด้วยคำขวัญท่องเที่ยวก็คือ “ชาวตรังใจกว้างสร้างแต่ความดี” มาชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานที่แท้จริงซึ่งคนรุ่นก่อนปลูกฝังลูกหลานจนทำให้เมืองอันหลากหลายความเชื่อ-เชื้อชาติ แห่งนี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาโดยตลอด

 “ชุมชนตรังมีความผสมผสานทางวัฒนธรรมสูงมากแต่ว่านิสัยพื้นฐานด้วยความที่ผสมผสานอย่างดีจึงมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ใจนักเลงและชอบแสดงว่าตัวเองเป็นเจ้าของบ้านที่ใจใหญ่ เช่นถ้าไปกินกาแฟคนที่มีท่าทีว่าเป็นผู้ใหญ่ที่สุดหรือว่ามีฐานะที่สุดก็ต้องเป็นคนจ่าย บางทีจ่ายทุกโต๊ะด้วย หรือหากมีใครมาเที่ยวที่บ้านจะมีจะจนอย่างไรก็ต้องต้อนรับดีไว้ก่อน ต้องกินดีต้องให้เขาประทับใจตั้งแต่ลงรถไปจนถึงบ้าน คนตรังเองก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันสูง ปัจจุบันนี้ยังมีบ้านหนึ่งแกงไตปลา อีกบ้านหนึ่งแกงส้มแลกเปลี่ยนกัน จีน-ไทย-แขกอยู่ด้วยกันอย่างปรกติสุข เป็นลักษณะเฉพาะที่น่าประทับใจมากและเขาบอกว่าความเป็นคนตรังมีชาตินิยมสูง”
     “เมืองตรังไม่ได้มีความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่แหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ได้ถือว่าสุดๆ ระดับโลก แต่ว่ามีคุณลักษณะครบถ้วนในตัวจังหวัดที่มีลักษณะเฉพาะ ตัวเมืองเป็น Rocking Hill ออกไปทางฝั่งทิศใต้ติดภูเขาพับผ้า เมื่อย้อนกลับไปทางตะวันออกก็เป็นเทือกเขาบรรทัด ไปฝั่งตะวันตกก็เป็นทะเล ทำให้มีตรังเขา ตรังนา ตรังเล หรือว่าตรังในเมือง ฉะนั้นความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิประเทศทำให้มีความทรงจำที่ดีในตัวจังหวัด
     “ความเป็นคนใจกว้างผสมผสานทางวัฒนธรรมมาถึงเรื่องคุณลักษณะภูมิประเทศทำให้คนตรังเวลามีงานประเพณีก็แห่กันไปช่วย อย่างงานศพใช้คำว่า “แขวนหม้อ” ที่บ้าน คือไม่ใช่ว่าไปกินเพราะอยากกิน แต่ไปเพราะอยากไปเป็นเพื่อนเจ้าของงาน จะงานแต่ง งานบุญ งานบวช งานสวด งานสารพัด ก็จะแห่ไปช่วยกัน”
     เขายืนยันว่าเมืองตรังมีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารใต้ที่เป็นไทยบวกกับอาหารจีนเมื่อมารวมเข้าด้วยกันจึงเป็นอาหารที่..มันอร่อยน่ะ!! เขาย้ำพร้อมกลั้วหัวเราะ ไปกินที่อื่นไม่อร่อยเหมือนอยู่ที่บ้าน และไม่แปลกใจว่าเขาต้องกลับบ้านทุกสัปดาห์เพราะติดรสชาติอาหารตรัง เพราะการเดินทางจากภายนอกสู่ตรังแสนสะดวก
 “การคมนาคมของจังหวัดตรังเรียกว่าเข้าถึงอย่างเป็นโครงข่าย แม้ไม่มีถนน 8 เลนแต่เรามีวงแหวนรอบนอก มี 4 เลนจากทุกอำเภอเพียงแต่ตรังมีปัญหาเดียวคือถนนรอบนอกดีหมดแต่ในเมืองยังคงความเป็นโบราณอยู่ ดังนั้นเมื่อคนต่างจังหวัดจะเข้าเมืองตรังกลับเข้าไม่ถูกแม้โทรถามคนตรังก็อธิบายไม่ถูกว่าควรเข้าทางไหน ผมจึงหารือกับผู้ว่าฯ น่าจะเชิญสำนักงานจราจรและขนส่งทางบกมาปรึกษาเรื่องวางผังเมืองเรื่องการจราจรตรัง “เราจะต้องรวมความเป็นเอกภาพของทุกองค์กรภายในตรังเป็นหนึ่งเดียวนี่คือเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบันนี้อาจเพราะเรื่องท่องเที่ยว การแข่งขันทางการเมืองท้องถิ่น หรือะไรก็แล้วแต่ เรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพขององค์กรในตรังมารวมเป็นหนึ่งกันอย่าง 100% ผมคิดว่ารูปธรรมนั้นตั้งใจจะเชิญสภาพัฒนาฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำเรื่องแผนพัฒนาเมืองกันสักวัน ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งหมดเลยทั้งในแง่ของการมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา การไปกำหนดงบประมาณ การไปกำหนดแผนงานโครงการที่แต่ละหน่วยงานซึ่งมีงบประมาณในมือจะไปทำ”
 “ผมคิดว่าต่อไปตรังจะเป็นเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย ร่ำรวยในแง่ของธรรมชาติ เพราะชายหาดเรามีความยาวนับร้อยกิโลฯ แต่เป็น(เขต)อุทยานแห่งชาติทั้งหมด ไม่สามารถสร้างโรงแรม รีสอร์ท ได้ เคยมีคนมาเสนอให้ผมผลักดันให้เขาได้เช่าที่สร้างโรงแรม ผมบอกว่าผมไม่เห็นด้วย! ที่อื่นก็มีแล้วทำไมเราไม่เหลือความเป็นธรรมชาติไว้
     “เราอยากให้ตรังเป็นปอดใหญ่ๆ ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากไปกว่าที่เป็นอยู่ จะมีที่จังหวัดไหนก็แล้วแต่แต่เมื่อคุณอยากให้ลูกคุณมาได้รับการศึกษาที่ดี อยู่ในเมืองที่สงบ คุณมาที่ตรัง อยากให้เมืองเดินไปสู่ทิศทางนี้ และเป็นเมืองที่มีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม เป็นเมืองที่เอื้อในการอยู่แบบยั่งยืนได้”

 

You may also like...