ไมตรี อินทุสุต

ไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ตุลาคม 2552 – ตุลาคม 2554)

 ตำแหน่ง ‘พ่อเมือง’ ของ ไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจึงมีหน้าที่ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ทั้งนี้เขามียุทธศาสตร์เพื่อนำพาตรังไปสู่การพัฒนาตามเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ตรังพื้นฐาน เน้นการพัฒนากายภาพ ศักยภาพ ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เป็นเรื่องของพื้นฐานทั้งหมดที่มีอยู่ ขณะที่กำลังทำอยู่ภายในอีก 4 ปีนี้ เรียกว่า ตรังเข้มแข็ง เมืองตรังน่าอยู่ และหลังจากปี 2556 จะเข้าสู่ช่วง ตรังทะยาน      

“คนตรังนั้นมีจุดยืนที่เหนียวแน่น เขาเชื่อในความเป็นตรัง ผมจึงกระเซ้าบางคนว่าอย่ามองตรังเยี่ยงตรัง, ณ ตรัง, แบบตรัง เพราะว่าตอนนี้มีกระแสอื่นเข้ามาตลอด ผมจึงบอกกับทุกคนว่าอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาประโยชน์สุขเป็นศูนย์กลางอย่าเอาผลประโยชน์ 

     “ดังนั้นการสื่อทางตรงด้วยป้ายคัตเอาต์ โปสเตอร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องมีภาพ มิติของส่วนกลางไม่สามารถตอบโจทย์ในภูมิภาคได้ คนส่วนกลางไม่เข้าใจภูมิภาคเพราะเขาไม่เข้าใจโครงสร้างอำนาจในชุมชน”
     จึงทำให้เราพบคัตเอาต์ขนาดต่างๆ ของผู้ว่าฯ ที่ต้องการสื่อสารโครงการของภาครัฐให้ประชาชนได้รับทราบติดอยู่ทั่วจังหวัดตรัง และสามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นได้จากภาคประชาชน พร้อมกับการลงพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อนำเอาความต้องการจากท้องถิ่นแปรให้เกิดผลตอบรับไปสู่การพัฒนาที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย
     “พื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดตรังส่วนใหญ่คือสวนยางพารา ยางพารานี้มีจุดอ่อน เพราะแต่ละหน่วยงานนั้นไม่บูรณาการ เพราะไม่มองต้นน้ำถึงปลายน้ำทุกคนมองในกระบวนการของตัวเอง แต่การขับเคลื่อนมันต้องทะลุ ชนบทคือปัญหาเรื่องความเป็นพระเอกนั้นสำคัญ ทุกคนต้องมีเวลาทียืน ต้องมีหน้าตา ต้องได้แต้ม ต้องทักเขา เราต้องเข้าใจ ผมลงพื้นที่จนไม่สบาย ใช้เวลามากกับพื้นที่ ใช้พลังเสียง ใช้การกล่อมคน การกล่อมคนต้องไม่พูดอย่างเนิบๆ และต้องอุ้มเด็กซ้ายขวา ไม่ใช่อุ้มวันนี้แต่ผมอุ้มมาตั้งนานแล้ว สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Performance นั้นสำคัญ ผมจึงเน้นยิ้มงาม ไหว้สวย พูดจาไพเราะ เมื่อตอนปีใหม่ไปไหว้ผู้เฒ่าอายุเกิน 100 ปี ที่ตรังมี 39 คน แต่ละอำเภอให้นายอำเภอนั้นๆ ไปมอบ ส่วนอำเภอเมืองผมไปมอบเอง ภาพเช่นนี้ควรสื่อออกมาจะสะท้อนภาพของตรังไม่ใช่มีแต่ภาพอาชญากรรม” 
     “การทำงานกับกลุ่มต่างๆ เช่น ร่วมกิจกรรมกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรี ต้องมี 7 ร. กับกิจกรรมที่จัด คือ 1) ร่าเริง+เริงร่า 2) ร้องเพลง 3) ระบำ 4) รำวง 5) ระลึก (ของที่ระลึก) 6) รางวัล มอบรางวัล-รับรางวัล-แจกรางวัล และที่ขาดไม่ได้คือ 7) รูปถ่าย ไม่ใช่พูดจบแล้วสะบัดก้นหาย แบบนั้นไม่ได้ ให้เขาประทับใจที่เราไปร่วมกิจกรรม” 
     “ผมไปดูโบราณสถานของตรังทุกจุด ไปดูมากกว่าคนที่อยู่มาเป็นสิบปี วันหยุดผมออกตอลด ไปปีนเขา พระราชหัตถเลขา ฯลฯ เป็นวัตถุดิบของการทำงาน แม่บ้านทำอาหารของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง  เด็กโรงเรียนจุฬาภรณฯ รู้จักทุกคน พอผมพูดถึงป้าติ๋วมีแต่คนตกใจว่าทำไมผมถึงรู้จัก”
     เขาทิ้งท้ายเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนจวนผู้ว่าฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองและเชื่อมต่อกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในเมืองได้ในระยะทางอันสั้น โดยเปิดรับทุกคนด้วย ‘ไมตรี’ สมดั่งนามของเขา 
     “ผมอยากให้เมืองตรังนั้น “ชมบ้านนายชวน เยือนจวนผู้ว่าฯ ทัศนาสวนทับเที่ยง” บ้านนายชวนนั้นต้องยอมรับว่ามาตรังก็ต้องไปบ้านนายชวน เช่นเดียวกับไปจวนผู้ว่าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ เมื่อ 16 มีนาคม 2502 ผมนำรูปเหตุการณ์ครั้งนั้นไปติดเพื่อให้ผู้ที่มาเยือนได้เห็น นอกจากนี้ยังมีปืนใหญ่โบราณอยู่ 5 กระบอก เป็นจวนเดียวที่อยู่บนควนคีรีบนเนินซึ่งสวยงาม สวนทับเที่ยงก็อยู่หน้าจวนผู้ว่าฯ นั่นเอง”
 

You may also like...