พรทิพย์ ธนทวี … หญิงแกร่ง แห่งเมืองตรัง

หมุดหมายความสำเร็จในชีวิตของคนเรานั้นแตกต่างกัน เช่นเดียวกับนิยามของความสุขสำหรับคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความสุขของบางคนอาจหมายถึงการได้มีชีวิตสุขสบาย สมบูรณ์มั่งคั่งอยู่ท่ามกลางลาภยศสรรเสริญ ในขณะที่ความสุขและความสำเร็จของคนบางคนอาจหมายถึงโอกาสและความสามารถที่จะดำเนินชีวิตไปตามหนทางที่ตนเองเชื่อมั่นได้อย่างแน่วแน่ โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค

หากเอ่ยชื่อของ “พรทิพย์ ธนทวี” หรือ บุคคลที่ชาวตรังรู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “จีสาว” คอการเมืองท้องถิ่นคงไม่ปฏิเสธว่า เธอคนนี้คือหญิงแกร่งแห่งแวดวงการเมืองท้องถิ่นผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความรักและศรัทธาในคุณงามความดีของนักการเมืองขวัญใจชาวตรัง “ชวน หลีกภัย” และครอบครัว มาโดยตลอดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อีกทั้งยังมีบทบาทไม่น้อยท่ามกลางวงสังคมเมืองตรังในฐานะบุคคลตัวอย่างที่เปี่ยมด้วยจิตสาธารณะ มีน้ำใจไมตรีกว้างขวาง แม้ชีวิตในอดีตที่ผ่านมาของเธอคนนี้จะเคยผ่านความยากลำบากและอุปสรรคมาอย่างหนัก แต่พรทิพย์ ธนทวี ก็ไม่เคยท้อแท้หรืออ่อนล้าที่จะต่อสู้ฝ่าฟัน

ด้วยกำลังใจภายในซึ่งเกิดจากความรักอันบริสุทธิ์ที่เธอมีให้กับลูกชายทั้งสอง ทำให้ ‘จีสาว’ ผู้กลายเป็นหม้ายตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสี่สิบ อดทนกัดฟันเลี้ยงดูครอบครัวด้วยตนเองตามลำพัง มาจนถึงวันที่ลูกชายทั้งสองจบการศึกษาและมีหน้าที่การงานมั่นคงเป็นที่ชื่นใจของแม่ ผู้มีการศึกษาเพียงชั้น ป.4  … ณ วันนี้ พรทิพย์ ธนทวี ในวัย 60 ปี ได้พบกับความสุขสมหวังในชีวิตอย่างที่เธอมุ่งหวัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่สุขสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความรัก-ความอบอุ่น ประกอบกับสถานภาพทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคงซึ่งเอื้ออำนวยให้เธอสามารถอุทิศตนให้กับงานเพื่อส่วนรวมที่ใจรักได้อย่างเต็มที่  และเรื่องราวความยากลำบากของชีวิตในอดีตที่ ’จีสาว’ ยังคงเก็บไว้ในความทรงจำ และยังคงน้ำตาซึมทุกครั้งที่เอ่ยถึง

“ชีวิตนี้เปรียบเสมือนนาฬิกา มันเดินหน้าไปเรื่อยๆ ตราบเมื่อนาฬิกาตายมันก็หยุดเดิน เช่นเดียวกับชีวิตคน ก็ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดเวลาของเรา” จีสาว เริ่มบทสนทนาด้วยแนวคิดง่ายๆแต่ลึกซึ้ง ก่อนจะนำเราย้อนอดีตสู่วันวานของเธอ ซึ่งพบกับมรสุมชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์เมื่อสูญเสียพ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว และทำให้ชีวิตที่เคยสุขสบายต้องพลิกผันราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ

“มีคำกล่าวว่า สิ้นพ่อตอหัก สิ้นแม่แพแตก ถ้าตอหัก แต่แพยังไม่แตก ชีวิตครอบครัวแม้จะลำบาก แต่ถ้ายังมีแม่อยู่ ครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไปได้

เตี่ยของจีสาวเป็นพ่อค้าทำธุรกิจกับปีนัง ชื่อ นายซ้าย ธนทวี ก็จัดว่าร่ำรวยถึงขั้นเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองกันตัง แต่โชคร้ายที่เตี่ยตายด้วยโรคมะเร็งตอนอายุแค่ 37 ปี ทิ้งลูกไว้หกคนกับแม่ซึ่งเป็นเถ้าแก่เนี้ย แม่ไม่เคยลำบากมาก่อนก็ทำอะไรไม่เป็น ประกอบกับครอบครัวของเตี่ยเป็นคนจีนที่ทำธุรกิจแบบกงสี มีทรัพย์สมบัติเท่าไหร่ก็แบ่งปันกันในหมู่ญาติพี่น้องพ่อแม่ แทบไม่ค่อยได้ตกมาถึงครอบครัวลูกเมีย เมื่อเตี่ยตายพวกเราก็กลายเป็นยาจกทันที แม่เองก็อายุยังน้อยคิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็แจกลูกๆทั้ง 6 คนออกไปอยู่กับญาติตามที่ต่างๆ ตอนที่เรายังมีเตี่ยนั้น เราเป็นลูกเศรษฐีก็มีแต่คนมารุมเอาใจ แต่พอเตี่ยตายเราหมดค่า ไม่มีใครมาสนใจดูแลเลย จากเดิมเคยมีครูมารับมาส่ง กลายเป็นตอนหลังเดินไปโรงเรียน รองเท้าไม่มีจะใส่ ก็ทนเรียนไปจนจบป. 4 แม่ก็พาเข้าไปอยู่ในสวน เลี้ยงน้องสองคน ช่วยแม่ทำสวน ซึ่งสวนแปลงนั้นในสมัยก่อนเป็นที่ดินอยู่ในย่านไม่เจริญไม่มีราคาค่างวดจึงไม่มีใครอยากได้ ไปไหนมาไหนต้องพายเรือ แสนยากลำบากแต่เราก็อดทนเพราะรักแม่” น้ำตาของจีสาวคลอเบ้าเมื่อย้อนคิดไปถึงวันเก่าๆ

“พออายุได้ 18 ปีแม่ก็ให้แต่งงาน แต่ชีวิตครอบครัวมีปัญหา ต้องเลิกร้างกัน อยู่ด้วยกันต่อไปไม่ได้ อายุยังไม่ถึง 35 ปี จีสาวก็ต้องเป็นหม้าย…ต้องเลี้ยงลูกตัวคนเดียว โดยอาศัยการทำงานทุกอย่าง เป็นแม่ค้าขายของมาแล้วสารพัด ลำบากมากถึงขนาดที่ช่วงหนึ่งต้องขายเบอร์ ก็ทำให้มีเงินพอเลี้ยงครอบครัวได้ จนกระทั่งได้รู้จักกับท่านผู้กำกับพิเชษฐ์ ท่านเป็นคนที่เล็งเห็นว่า จีเป็นคนที่น่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ท่านไม่อยากให้ทำงานผิดกฎหมาย ท่านจึงแต่งตั้งจีสาวให้เป็น กต.ตร. ของกันตัง ตอนที่เขามาเชิญตัวนั้น จีนึกว่าตำรวจจะมาจับที่ขายเบอร์ แต่กลายเป็นว่า ท่านผู้กำกับแต่งตั้งเป็น กต.ตร. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนั้นจีก็พอมีเงินเก็บบ้าง ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรามีโอกาสทำงานเพื่อสังคม และทำเรื่อยมาจนบัดนี้”

“ชีวิตจีในช่วงหลังได้ตั้งตัวกับอาชีพนายหน้าค้าที่ดิน ถึงจีจะเรียนน้อย แต่อาศัยว่าเป็นคนชอบอ่านชอบศึกษา ในการติดต่อซื้อขายที่ดินจีสาวไม่ได้แค่หาคนซื้อ ขายของแล้วจบๆกันไป จีจะตรวจสอบข้อมูลที่ดินแปลงนั้นๆอย่างละเอียด ต้องไปติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องก่อนที่จะมีการเจรจาซื้อขาย อาศัยว่าเราเป็นคนใจถึง มีพี่น้องเพื่อนฝูงกว้างขวางในแหลายๆแวดวง ทำให้การเจรจาติดต่องานเป็นไปได้โดยสะดวก และช่วยต่อยอดให้มีเครือข่ายในการทำงานสังคม มีโอกาสช่วยเหลือการเมืองบ้าง ความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งของจีสาว ที่ยังลืมไม่ลงจนบัดนี้ คือได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของเมืองกันตัง”

ทุกวันนี้ที่บ้านจีสาวมีโล่ห์ประกาศเกียรติคุณในผลงานเพื่อสังคมด้านต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานช่วยเหลือกิจการของตำรวจ และงานส่งเสริมการศึกษาและช่วยเหลือเยาวชนในท้องถิ่น

“จีมีลูกสองคนที่ต้องเลี้ยงดูให้รอด ด้วยความรู้ติดตัวแค่เพียงป.4 จีบอกกับตัวเองเสมอว่า เราจะต้องเรียนรู้ชีวิตให้ได้ปริญญาจากสวรรค์ มาจนวันนี้ คนจบป.4 อย่างจีสาวได้มีวาสนามาเป็น กต. ตร. ระดับจังหวัด ในวันที่มีการประกาศชื่อนั้น จีจำได้ว่าทุกท่านที่ได้รับเลือกล้วนแต่เป็นคนที่มีการศึกษาสูง ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ชื่อของจีเป็นผู้หญิงคนเดียวอยู่ท้ายสุดที่มีความรู้แค่ป.4 เมื่อกลับไปถึงบ้านจีร้องไห้ และบอกท่านผู้กำกับฯว่า ฉันไม่อยากเป็น กต. ตร. จังหวัด แต่ท่านผู้กำกับฯ ได้บอกกับจีว่า ถ้าจีไม่เห็นด้วยที่ผู้ว่าฯเลือก ก็เท่ากับจีสาวหาว่าท่านผู้ว่าฯ โง่ใช่ไหม เมื่อคิดได้ว่าเราได้รับเกียรติสำคัญระดับนี้ จีจึงทุ่มเทช่วยงานตำรวจอย่างสุดความสามารถ … จนได้ยกย่องเป็น กต.ตร.ดีเด่น”

แรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานเพื่อส่วนรวมของจีสาวมาจากครอบครัว ‘หลีกภัย’ ซึ่งมีแม่ถ้วนเป็นประมุขของครอบครัวผู้ส่งเสริมให้ ชวน หลีกภัย เดินไปบนถนนสายการเมืองสู่จุดสูงสุดคือเป็นนายกรัฐมตรีสองสมัย ด้วยความเป็นญาติใกล้ชิดและมีศรัทธาอันแรงกล้าในความเสียสละเพื่อส่วนรวมของนายกรัฐมนตรีลูกแม่ค้า ชวน หลีกภัย ทำให้จีสาวอุทิศเวลาส่วนที่เหลือทั้งหมดของชีวิตนอกเหนือจากการดูแลครอบครัวและลูกทั้งสองให้กับการทำงานเพื่อสังคม ตามแนวทางเดียวกับบุคคลที่เธอนับถือ

ในฐานะผู้ที่สนับสนุนการเมืองของจังหวัดตรังมาโดยตลอด จีสาว ได้แสดงความห่วงใยถึงอนาคตในการสืบทอดทางการเมืองของจังหวัดตรังด้วยท่าทีที่กังวลใจอยู่ไม่น้อย

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงของบ้านเราในยุคต่อไปคือไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่…คนดีที่มีความรู้ความสามารถกระโดดลงมาทำงานการเมือง คนที่มีความสามารถก็ยังกลัวหลายๆสิ่งในการเมือง ทำให้บ้านเมืองยิ่งแย่ไปเรื่อยๆ โดยส่วนตัวแล้วจีสาวอยากให้มีผู้หญิงรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่งคนดีให้หันมาสนใจลงทำงานการเมืองดูบ้าง เพราะรู้ไหมว่า ความจริงแล้ว ผู้หญิงจะหาเสียงเก่งกว่าผู้ชายนะ แต่ปัญหาคือวัฒนธรรมของเมืองตรังเรายังโบราณอยู่ ครอบครัวจะไม่ค่อยเน้นให้ผู้หญิงออกมาทำเก่งนอกบ้าน เพราะอาจถูกมองว่าเป็นคนไม่เรียบร้อย แม้แต่ตอนที่จียังสาวๆอยู่ ออกมาช่วยงานสังคม ทำโน่นทำนี่ ก็เคยถูกมองผิดๆ ทั้งที่ความจริงแล้วเราเป็นคนที่ชอบลุยงานแบบผู้ชาย ไม่ได้สนใจใครไปในทางชู้สาว ถนัดทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นเพื่อนกับผู้ชาย มีลูกชายสองคนก็เลยถูกใจ เลี้ยงดูกันมา เป็นทั้งพ่อ แม่ และเป็นเพื่อน จนทุกวันนี้กาลเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเราครองตัวอยู่ในความถูกต้องเหมาะสมมาโดยตลอด ไม่มีอะไรเสียหาย”

“ทุกวันนี้สิ่งที่จีสาวภูมิใจที่สุดคือได้เลี้ยงลูกให้ได้ดี …เสมือนพายเรือส่งขึ้นฝั่งเรียบร้อย ได้มีชีวิตที่เหมือนกับคนอื่นเขา แม้ว่าจะไม่ได้สูง แต่ลูกก็เป็นเด็กดี ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์”

“เวลาที่เหลือของจีตอนนี้ ไม่มีอะไรต้องห่วงอีก ก็ตั้งใจว่าจะช่วยเหลืองานการเมืองมากขึ้น จีพร้อมทำเต็มที่โดยไม่กลัวอะไรทั้งนั้น เพราะจีเชื่อมั่นในบุญกุศล คุณงามความดีที่เราสร้างไว้จะเป็นเกราะกำบังภัยอันตรายต่างๆให้เรา ลองคิดดู ว่าถ้าความดีคุ้มครองคนไม่ได้ ท่านชวนคงไม่ได้ยืนหยัดอยู่คู่เมืองตรังมานานตราบจนทุกวันนี้”

“จังหวัดตรังเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ คนไม่ดีจะอยู่ที่นี่ไม่ได้…จีเชื่ออย่างนั้น”

จีสาว … หรือ พรทิพย์ ธนทวี ย้ำด้วยความเชื่อมั่นจากส่วนลึกและศรัทธาอันแรงกล้า ที่ทำให้เธอขับเคลื่อนชีวิตไปได้อย่างแข็งแกร่งจากวันวานมาถึงวันนี้…และในวันต่อๆไป ตามเข็มนาฬิกาชีวิตที่เดินหน้าต่อไปอย่างไม่เคยอ่อนล้า

 

You may also like...