ชวน หลีกภัย

ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย / ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

แม้ไม่มีใครทำนายได้ว่า โฉมหน้าการเมืองไทยจะพลิกผันไปในทิศทางใด ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของเกมการแย่งชิงอำนาจที่ไม่สิ้นสุด จากเวทีการเมืองระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบมาถึงเวทีการเมืองท้องถิ่นทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่สงบสุขอย่างเมืองตรัง แต่สิ่งหนึ่งที่คนตรังยอมรับและภูมิใจมาตลอด ไม่ว่าขั้วการเมืองจะเปลี่ยนไปเป็นสีใด นั่นก็คือ ความยอมรับนับถือในนักการเมืองน้ำดีลูกแม่ถ้วน ชวน หลีกภัย คนดีเมืองตรังที่ได้รับจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย

ลีลาการปราศัยของ ชวน หลีกภัย ในเวทีการเมือง ได้รับการยกย่องว่า เฉียบขาด จับใจ ได้สาระ และคมกริบประดุจ มีดโกนอาบน้ำผึ้ง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่สุภาพ สุขุม อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ท่านเป็นที่เคารพรักใคร่ของผู้ที่รู้จักพบเห็น แต่สิ่งที่คนใกล้ชิดเท่านั้นจะทราบก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยผู้นี้ ไม่เพียงแต่เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งยง ที่เริ่มเดินบนถนนการเมืองมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปี่ยมด้วยวิญญาณของนักต่อสู้ นักคิด นักพัฒนา หากยังเป็นศิลปินที่มีอารมณ์ละเมียดละไม ละเอียดอ่อนและเปี่ยมด้วยรสนิยมมาตั้งแต่เยาว์วัย
ด้วยเหตุนี้ ทุกแรงผลักดันที่ ชวน หลีกภัย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆของจังหวัดตรัง จึงไม่เคยขาดแคลนรสนิยม หรือมุมมองทางศิลปะ จากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว ทำให้ตรังไม่ได้เดินหน้าเติบโตไปเฉพาะทางวัตถุหรือเทคโนโลยี แต่เป็นการเติบโตมั่นคงอย่างสง่างาม จากการส่งเสริมคุณภาพชีวิต วางรากฐานการศึกษา และการพัฒนารูปแบบการจัดการกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน

เมืองตรังจากสมัยที่คุณชวนยังเด็ก จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
            อย่างแรกเลยคือสภาพทางภูมิศาสตร์ ตรังเป็นเมืองทางฝั่งอันดามัน เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด พูดได้ว่าเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, ตรัง, กระบี่ และสตูล ตรังจัดว่ามีประชากรหนาแน่นที่สุด สภาพภูมิศาสตร์ติดทะเล มีแม่น้ำลำธาร มีภูเขา มีน้ำตก มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามเป็นพื้นฐานทุกจังหวัด ฝั่งอันดามันทุกจังหวัดจะเป็นแบบนี้จะแตกต่างกันบ้างก็แล้วแต่เกาะแล้วแต่สภาพ แต่ที่ตรังนั้นมีลักษณะพิเศษคือเป็นชุมชนที่มีประชากรทำมาหากินหนาแน่น ทั้งคนไทย จีน มุสลิม แต่ตั้งแต่ดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันกลับไม่มีปัญหาสังคมแตกแยกเลย

ทางเรื่องความอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ของธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีคนไปมาหาสู่ ถึงจะไม่หนาแน่น เท่าจังหวัดภูเก็ต หรือกระบี่ แต่ก็รักษาสภาพ ของเมืองท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ ตลอดมาเป็น จุดที่จังหวัดเฝ้าจับตาระวังอยู่
ส่วนถ้าจะอธิบายถึงความงดงามของธรรมชาติ ผมขออ้างครอบครัว มิชชันนารีคนแรก ที่เข้ามาอยู่ คือ แหม่ม เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์  (ผู้เขียนหนังสือ Siam Was Our Home หรือ สยาม คือบ้านของเรา) ซึ่งมากับสามีชื่อหมอ บัลค์ลีย์ มาตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้น ตามคำขอร้องของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ คอซิมบี้ ณ ระนอง ขอร้อง มิชชันนารีที่กรุงเทพมหานคร มิชชันนารีที่กรุงเทพฯ จึงส่งหมอมาตั้งโรงพยาบาล หมอบัคค์ลีย์กับแหม่มเอ็ดน่าก็เป็น 1 ใน 2 ครอบครัวที่มาตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้น (โรงพยาบาลหมอบักเล ในปัจจุบันคือโรงพยาบาลตรังประชาสงเคราะห์)

ที่ผมเอ่ยขึ้นมาก็เพราะว่าครอบครัวของแหม่มเอ็ดน่า ได้อยุ่ที่เมืองตรังประมาณ 30 ปี จนเกิดสงครามโลก (ครั้งที่สอง) แล้วในที่สุดทหารญี่ปุ่นก็จับตัวหมอบัลค์ลีย์ไป แหม่มเอ็ดน่าก็ได้เดินทางกลับประเทศ แล้วท่านก็ได้บันทึกเหตุการณ์จังหวัดตรังไว้ ข้อความตอนหนึ่งที่ผมมาเล่าให้ผู้ว่าราชการและผู้บริหารในจังหวัดตรังได้ทราบ คือ ข้อความที่ว่า “ในความคิดของฉัน หลังจากอยู่ในจังหวัดตรังมาประมาณ 20 ปี ตรังเป็นจังหวัดที่สวยที่สุดในสยาม’’ แสดงให้เห็นว่าเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วสภาพทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ของที่ตรัง ก็งดงามไม่ต่างไรจากปัจจุบันนี้ ปัญหาก็คือปัจจุบันนี้ป่าไม้ก็ถูกทำลายไปบ้าง แต่ว่าหากมองภาพรวมของทางฝั่งตะวันตก ต้องถือว่าตรัง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่สามารถรักษาสภาพธรรมชาติไว้ได้มากที่สุดจังหวัดหนึ่ง ยังไม่มีตึกรามบ้านช่องหรือโรงแรม ไปทำลายสภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีอาคารเกิดขึ้นบ้างก็รักษาสภาพธรรมชาติไว้ได้ ซึ่งผมขอชื่นชมนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนแล้วก็ไม่เกิดการรุกรานธรรมชาติ ประชาชนสามารถเข้ามาท่องเที่ยว ชายทะเลได้โดยอิสระโดยไม่มีใครมาห้ามเหมือนอย่างบางจังหวัดที่โรงแรมมาฮุบสถานที่ท่องเที่ยวไว้เป็นของตัวเอง เราไม่ยอมให้ใคร  นี่คือสภาพทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปประมาณเกือบร้อยปีที่ผ่านมา

โดยรวมแล้วก็พูดได้ว่า ตรังก็เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่มีความงดงามโดยธรรมชาติ แต่มีจุดพิเศษที่ มีประชากรมาอยู่หนาแน่นที่สุด ถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในแถบฝั่งอันดามัน โดยมีประชากร ถึง 6 แสนคน มี ส.ส. 4 คน รองลงมาคือกระบี่ มี ส.ส.3 คน นอกนั้น ภูเก็ต สตูล มี ส.ส. 2 คน มีระนองที่มีผู้แทนราษฎร 1 คน ก็เอาตำแหน่งทางการเมืองมาเล่าเพื่อจะบอกขนาดของแต่ละจังหวัด

สิ่งใดที่เป็นจุดดึงดูดนักลงทุน  และธุรกิจในเมืองตรัง
การลงทุนในที่นี่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ติดทะเลฝั่งอันดามัน และมีท่าเรือกันตังเป็นท่าเรือเก่าแก่ ในอดีตท่าเรือนี้ใช้ขนส่ง ในอดีตนั้นท่าเรือนี้ใช้ขนส่งผู้โดยสารไปยังเกาะหมากหรือเกาะปีนัง ปัจจุบันนี้ท่าเรือนี้ก็ยังคงอยู่แต่เรือบรรทุกสินค้าในปัจจุบันก็ใหญ่โตขึ้นมาก ฉะนั้นท่าเรือใดที่ไม่ได้ติดกับทะเล ต้องเข้ามาในลำคลองก็จะไม่สามารถขยายท่าเรือให้ใหญ่โตได้ ท่าเรือกันตังก็ยังใช้ส่งสินค้าอยู่แต่เรือที่เข้ามาไม่ใช่เรือที่มีขนาดใหญ่ ที่เห็นกันในทะเลใหญ่หรือมหาสมุทรแต่ก็ยังมีประโยชน์ใช้งานอยู่
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจะมีการขนส่งด้วยระบบ คอนเทนเนอร์  คือบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ แล้วก็ส่งออกไปลงเรือในทะเลใหญ่มากขึ้น จึงมีคนสร้างท่าเรือขึ้นมาใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ที่มีเอกชนสร้างขึ้นมา เมื่อปีนี้เอง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ก็ได้เสด็จมาเป็นประธานเปิดท่าเรือแห่งนี้

โดยรวมแล้วการคมนาคมจังหวัดตรังก็ถือว่าเป็นพิเศษที่สุดในฝั่งตะวันตกเพราะเป็นจังหวัดเดียวที่มีทางรถไฟเข้ามาถึง จากฝั่งตะวันออกคือเส้นทางรถไฟสายใต้แยกที่ทุ่งสง จะมีแยกมาที่อำเภอกันตัง ขณะนี้สถานีรถไฟนี้ก็ยังอยู่ท่านผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ยุทธนา ทัพเจริญ) ท่านก็มาที่จังหวัดตรังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ท่านก็รับปากว่าท่านจะปรับปรุงเส้นทางสายนี้ให้สภาพรางแข็งแรงขึ้นเพื่อให้การขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกันตัง ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดปริมาณการขนส่งทางรถยนต์

ส่วนการคมนาคมทางอากาศนั้นมีมานานแล้ว ในอดีตนั้นมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่ มีเครื่องบินลง คือภูเก็ต หาดใหญ่ และตรัง สนามบินจังหวัดตรังยังคงอยู่ ขณะนี้ก็มีเที่ยวบิน 2 เที่ยวของสายการบินนกแอร์และ วัน ทู โก สายละ 1 เที่ยว การคมนาคมทางอากาศก็สะดวกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนถนนสายหลัก ก็มีถนน 4 ช่องจราจรจากกรุงเทพฯ ผ่านมาถึงที่นี่ก็คือเส้นทางทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และเส้นทางใหม่คือเส้นทางที่เข้ามาจากฝั่งตะวันออกซึ่งมาแยกที่ทุ่งสง จากทุ่งสงก็มีถนน 4 ช่อง จราจรเข้ามา สมมติว่าเราไม่ตรงจากทุ่งสงไปพัทลุงก็จะเข้ามาทางฝั่งตะวันตกคือจังหวัดตรัง ยังคงเหลืออยู่ที่เดียวที่ติดในด้านสิ่งแวดล้อมคือเขาพับผ้าซึ่งมีประมาณ 10 กิโลเมตร ที่ยังไม่สามารถสร้างถนน 4 ช่องจราจรได้ เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมยังไม่อนุมัติ ขณะนี้เราก็กำลังเร่งรัดกันอยู่ว่าขอให้มีการศึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

และโดยสภาพของจังหวัดตรังนั้น ถือว่าการคมนาคมทางรถยนต์สะดวกที่สุดเป็นที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ  ตามการจัดอันดับให้คะแนน ของ UNDP (United Nations Development Program หรือ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ)  ซึ่งเคยทำไว้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วว่ากรุงเทพฯ มีเส้นทางคมนาคมสะดวกที่สุด ได้คะแนนเต็ม รองลงมา มี 2 จังหวัด คือ จังหวัดตรังได้คะแนนประมาณ 90 เศษๆ อีกจังหวัดคือจังหวัดสิงห์บุรีซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก หมายถึงประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้สะดวก ส่วนการคมนาคมเส้นทางอื่นนั้น ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงก็สามารถติดต่อกันได้สะดวก

การพัฒนาในแง่ของสาธารณูปโภคพื้นฐานของจังหวัดตรังดูเหมือนจะมีความพร้อมพอสมควร แต่ในแง่ของทรัพยากรบุคคลที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้มีการเตรียมการไว้อย่างไร
ในส่วนนี้คงจะเป็นอีกด้านหนึ่ง ที่ผมกล่าวไปคือทางด้านกายภาพ ภูมิศาสตร์ เส้นทางคมนาคม จำนวนประชากรที่สูง แต่จังหวัดนี้มิใช่เมืองอุตสาหกรรม กล่าวคือ มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่บ้างแต่ว่าไม่มาก เพราะฉะนั้นทรัพยากรบุคคลทางด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม จะมีอยู่ไม่มากนัก ซึ่งก็มีทั้งผลบวกและผลลบ ผลบวกก็คือว่า ธรรมชาติโดยรวมของสิ่งแวดล้อมในจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีสภาพอากาศที่ดีมาก อุตสาหกรรมยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีการควบคุมบ่อบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาล ซึ่งมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียทีได้มาตรฐาน ซึ่งใครที่ต้องการจะเห็นมาตรฐานบ่อบำบัดน้ำเสียในเมือง น่าจะมาดูที่จังหวัดตรัง ซึ่งทำไว้ดีมาก

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมนั้นก็ยังกระจายอยู่ ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผมคิดว่าในส่วนนี้ก็ควรจะมีไว้ซักแห่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมกระจายเกะกะ ในขณะนี้ก็มีโรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานรมยางพารา กระจัดกระจายอยู่ ซึ่งชาวบ้านก็ร้องเป็นระยะๆ ว่ามีการแอบปล่อยน้ำเสียบ้าง ซึ่งเราก็เข้มงวดอยู่ และโดยที่จำนวนมีไม่มากก็ทำให้ สิ่งแวดล้อมยังรักษาไว้ได้อย่างดี แล้วเราก็ช่วยให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นตา ว่าโรงงานไหนทำความผิด ถือว่าเอาประโยชน์ส่วนตัวเล็กน้อยแต่ทำลายธรรมชาติ เราก็ไม่ยอม ก็เคยมีแต่ปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีปัญหามีนิดเดียวเท่านั้น คือปล่อยน้ำเสีย หรือปล่อยให้มีกลิ่นอยู่บ้าง นี่คือภาพรวมของสภาพสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัด ผมจึงคิดว่าถ้าสามารถหาที่ใดที่หนึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ไม่ต้องใหญ่โต รวมโรงงานมาไว้ที่นี่ เพื่อจะได้ดูแลได้มีประสิทธิภาพก็จะเป็นประโยชน์

สภาพเช่นนี้ ถ้าถามความคิดผมในแง่ของการทำธุรกิจ ผมคิดว่าธุรกิจท่องเที่ยวยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะว่านักท่องเที่ยวไม่ลดลง ไม่เพิ่มอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ลดลงอย่างน่าตกใจ เมื่อตอนเกิดวิกฤติการท่องเที่ยว ตอนเกิดวิกฤตินั้นเมืองท่องเที่ยวกระทบหมด แต่ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่ไม่กระทบแล้วเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ คนยังมาเที่ยวกันตามปกติ เพราะคนที่มาเที่ยวยังชื่นชมอยู่กับธรรมชาติที่เรายังคงรักษาไว้ พวกคนที่มาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าหนีภาษี ลดภาษีก็คงไม่มี  แต่ว่าถ้ามาเพื่อดูธรรมชาติหรือมาอยู่กับธรรมชาติจริงๆ คนพวกนี้ก็จะมาประจำ

ผมคิดว่า ยังมีช่องทางในเรื่องนี้อีกมาก สังเกตจากคนที่บันทึกเอาไว้ในสมุดสำหรับที่มาเยี่ยมที่บ้านหลังนี้ แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ส่งสัญญาณให้เห็นว่าชอบ ไม่เคยมาจังหวัดตรังมาก่อน มาเป็นครั้งแรก ไม่อยากจะเชื่อ ว่าจังหวัดนี้สวยงามเช่นนี้…เหล่านี้เป็นต้น อากาศดีมาก อยากให้รักษาไว้ อย่าทำลายเหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นเมืองพัทยา ที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่นมาก แต่สภาพแวดล้อมเสียหาย แสดงให้เห็นว่าคนส่วนหนึ่งและผมคิดว่ามันคืออนาคตของการท่องเที่ยวคือคนที่อยากเห็นธรรมชาติในพื้นที่ที่สวยงามดั้งเดิม

ส่วนคนที่อยากเข้ามาเที่ยวซื้อข้าวซื้อของเช่นของหนีภาษีพวกนี้ก็อาจจะไม่สมหวัง แต่ผมคิดว่าต้องมองระยะไกล ก็คือว่าสิ่งหนึ่งที่เราไม่ต้องลงทุนก็คือความสวยงาม อย่างอื่นเราต้องลงทุน แต่ความงดงามใครจะมาดูมากเท่าไหร่ก็ไม่เสียหาย เหมือนอย่างที่เราเคยต่อสู้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาภูเก็ตเอาไว้ สมัยรัฐบาลบางรัฐบาล พวกผมเป็นรัฐมนตรีกลุ่มที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ในทะเล บอกว่าะน้ำทะเลในภูเก็ตมันสวยงามใครจะมาดูมาเที่ยวใส่แว่นดูหรือไม่ใส่แว่นดูความงดงามมันก็ไม่หายไป แต่ถ้าหวังผลเพียงเอาค่าภาคหลวงแร่เอาแร่ในทะเลที่ขุดขึ้นมาน้ำในทะเลก็จะขุ่น สู้กันในครม.นะสมัยนั้นพวกเราอยู่ในกลุ่มที่สามารถรักษาธรรมชาติของภูเก็ตเอาไว้ได้ ซึ่งจ้าของเหมืองแร่ก็โกรธเราแต่ตอนหลังเขาก็คงเข้าใจในภายหลังว่าหากเราไม่สู้เอาไว้ภูเก็ตก็จะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะขณะนี้ภูเก็ตได้เงินจากการท่องเที่ยวมากกว่าขุดแร่มากมาย เราต้องมองไกลแต่กว่าจะถึงเวลาที่คนจะมองสอดคล้องกับเราได้ก็ต้องใช้เวลา

ทรัพยากรบุคคลที่ถามถึงนี้ ผมก็เห็นด้วยว่าเราจำเป็นต้องเร่งรัดผลิตบุคลากรในสาขาต่างๆ ขึ้นมา  เมืองตรังมีอย่างหนึ่งคือเป็นเมืองของการศึกษา คนที่นี่เรียนหนังสือดี พ่อแม่จะส่งลูกเรียนหนังสือมากตั้งแต่สมัยก่อนแล้วเช่นส่งเรียนที่ปีนังทั้งสมัยรุ่นก่อนผมหรือแม้กระทั่งรุ่นผม พ่อแม่ที่มีฐานะก็จะส่งลูกไปเรียนที่เกาะปีนัง แต่ปัจจุบันนี้ก็น้อยลงมากแล้ว

การพัฒนาการศึกษาของจังหวัดก็เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ เราก็ได้นำสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามา ความจริงถ้าจะพูดไปแล้ว จังหวัดตรังถือว่าเป็นจังหวัดที่มาตรฐานการศึกษาสูงมากจังหวัดหนึ่ง เป็นที่รู้กันในระดับประเทศ หากมองในแง่การสอบเข้าอุดมศึกษาเด็กมัธยมของที่นี่ถือว่าติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มาก

แต่ภายในจังหวัด เราก็มุ่งให้มีสถาบันศึกษาภายในจังหวัดของเราเอง ขณะนี้ก็มี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มีสถาบันการศึกษาระดับปริญญา เช่นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง วิทยาลัยพระ และก็มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมาเปิดระดับปริญญาโท ในจังหวัดตรัง ซึ่งมีทั่วประเทศ 3 จังหวัด คือที่ จังหวัด ตรัง น่าน และศรีษะเกษ

ล่างลงมาก็จะมีระดับอาชีวะ ระดับมัธยม ทั้งเอกชนและรัฐบาล ซึ่งมีความเข้มแข็ง ระดับอนุบาล ประถม นั้นก็กระจายไปทั่วถึง ที่ตรังเราเน้นให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามาตั้งแต่ต้นซึ่งตอนนี้ผมก็เข้าใจว่าสังคมก็ยอมรับแล้ว ในอดีตก็อาจจะมองข้ามไปแต่ขณะนี้ทุกคนยอมรับว่าการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด

ที่คิดแบบนี้เพราะเราเคยถูกแย่งสถาบันการศึกษาไปหมด เดิมที่ตรังมีโรงเรียนฝึกหัดครูจังหวัดตรังอยู่ที่วัดหน้าเขา (วัดมัชฌิมภูมิ) รุ่นผมยังเห็นอยู่ แต่ต่อมาเอาไปอยู่ที่ภูเก็ตเพราะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการชอบไปที่จังหวัดภูเก็ตมากกว่าก็เอาสถาบันการศึกษาไปที่จังหวัดภูเก็ต คนที่ภูเก็ตมีฐานะ ไม่เรียนวิทยาลัยครูกัน สมัยนั้นวิทยาลัยครูก็เป็นเด็กตรังมากกว่าร้อยละ 40 เด็กภูเก็ตไม่ถึงร้อยละ 10 นี่คือความผิดพลาดตั้งแต่สมัยก่อนเราก็แก้ไขไม่ได้ก็ต้องสร้างสถาบันการศึกษาขึ้นมาใหม่ วิทยาเขตบางวิทยาเขตถือว่าสวยที่สุดในประเทศไทย ก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เนื้อที่ 2,000 กว่าไร่   ก็ถือว่าเป็นวิทยาเขตที่สามารถขยายไปได้ในอนาคต ตอนนี้ที่มหาวิทยาลัยกำลังสร้างเป็นที่สอนนักศึกษาเครือโรงแรมอยู่ มีประมาณ 80 กว่าห้อง ผมพึ่งไปดูมาเมื่อเร็วๆ นี้ กำลังทำอยู่ และก็จะสอนหลักสูตรการท่องเที่ยว ก็เป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลขึ้นมา

เมืองตรังจะมีช่องว่างที่หายไปของวัยหนุ่มสาวที่ต้องเข้าไปทำงาน ที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างเยอะ  สิ่งที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้คือ
อย่างที่เรียนไว้แล้วเนื่องจากที่นี่ ไม่ได้เป็นเมืองอุตสาหกรรมหลัก วิศวกรที่อยู่โรงงาน บุคลากรที่อยู่ในสายการท่องเที่ยว ทำงานในโรงแรมก็จะมีไม่มากนัก ต้องมองอนาคตว่าถ้าเราเพิ่มพูนความเข้มข้นเรื่องการศึกษาภายในจังหวัดให้ดีขึ้นก็จะสามารถผลิตทรัพยากรบุคคลได้มากขึ้น

วันนี้ผมยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ใช้สำหรับต่อยอดบุคลากรทั้งสายราชการและเอกชนให้เรียนต่อในระดับปริญญาโท วิทยาลัยครูภูเก็ต วิทยาลัยครูสวนดุสิต ก็มาอยู่ที่นี่ แหล่งพวกนี้ก็สามารถ ผลิตบุคลากรสายที่ต้องการได้อยู่

แต่บุคคลพวกนี้ก็จะต้องออกไปทำงานข้างนอก
เหตุผลเพราะว่าไม่มีสถานอุตสาหกรรม และไม่มีศูนย์การค้าที่ใหญ่โต ที่จะรองรับบุคลากรที่ผลิตมาแล้ว คงเป็นเรื่องของการเพิ่มพูนความรู้ให้บุคลากรที่มีงานทำอยู่แล้วเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องขยายธุรกิจมากขึ้น เพื่อจะรองรับบุคลากรที่ผลิตออกมาได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร หากเราสามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้เพียงพอมาได้แล้ว หากเขามีงานทำที่นี่ เขาก็อยู่ที่นี่ หากไม่มีงานทำที่นี่ไปทำงานที่อื่น ผมมองว่าก็ไม่เป็นไรในจุดนี้

ความโดดเด่นทางด้านเกษตรกรรมของตรัง คืออะไร
แน่นอนความโดดเด่นของตรังทางด้านเกษตรกรรมมีแน่ เพียงแต่มันเป็นภาคที่ไม่ได้ถูกการต่อยอดมากนัก เช่น จังหวัดตรังคือจังหวัดแรกที่ปลูกยางพาราสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้อยู่ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการปลูกยางพารา ก่อนขยายไปทั่วภาคใต้โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่าง ตอนกลางต่อมาขยายไปถึงภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปัจจุบันนี้ก็เริ่มขยายไปทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ ขณะที่ในพื้นที่เองก็เริ่มขยายไปปลูกปาล์มเป็นแนวโน้มที่เราเคยเห็นในมาเลเซีย

มาเลเซียเริ่มต้นด้วยการได้ประโยชน์จากสวนมะพร้าว และต่อมาก็โค่นมะพร้าวทิ้งเพื่อปลูกยางพาราทั่วประเทศ ถัดมารายได้จากการปลูกยางพาราเริ่มมีปัญหาก็หันมาโค่นยางทิ้งและปลูกต้นปาล์ม เราก็ไปในทิศทางคล้ายๆ กัน เพียงแต่เรายังตามหลังมาเลเซียในเรื่องปาล์มเพราะมาเลเซียนั้นปลูกปาล์มมาก่อนเรามาก จนกระทั่งถึงยุค นายเจียร วานิช ที่ภูเก็ตนำปาล์มมาปลูกที่กระบี่ กระบี่จึงเป็นจังหวัดแรกๆ ที่มีการปลูกปาล์ม ขณะนี้กระบี่น่าจะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุดจังหวัดหนึ่งพร้อมกับจังหวัดชุมพรและจังหวัดอื่นๆ

จังหวัดตรังมีการเปลี่ยนจากสวนยางมาเป็นสวนปาล์มมากขึ้น อันนี้คือทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป แสดงให้เห็นว่าสภาพความโดดเด่นทางด้านเกษตรกรรมยังคงดำรงอยู่เพราะมิใช่เมืองอุตสาหกรรม ส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่ทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้นมากเหมือนอย่างอุตสาหกรรม หากเป็นเมืองอุตสาหกรรมคนที่ทำงานเป็นพนักงานโรงงานก็จะมีรายได้หลักทุกวัน แต่เกษตรกรนั้นจะเป็นชาวสวนปาล์ม ชาวสวนยาง ชาวสวนมะพร้าว รวมถึงชาวประมง รายได้จะไม่แน่นอน แล้วขึ้นอยู่กับระดับราคาของสินค้าในแต่ละฤดูกาลด้วย   เพราะฉะนั้นประชาชนในตรังจึงอยู่ในฐานะปานกลางไม่ร่ำรวย แต่หากวัดคุณภาพชีวิตไม่ได้วัดที่ตัวรายได้ประชากรแล้วประชาชนตรังถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ ใช้ได้
หากวัดที่ตัวรายได้ถัวเฉลี่ยต่อคนต่อปีแล้วจะอยู่ในระดับกลางเท่านั้น ไม่เหมือนกับเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยวเช่น เมืองภูเก็ต ชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้รายได้ประชากรจะสูงเพราะคนในเมืองนั้นกินเงินเดือนประจำ 365 วัน แต่เกษตรกรเองวันไหนฝนตกยางก็กรีดไม่ได้ ช่วงไหนหน้าแล้งปาล์มก็ออกผลน้อย มรสุมเข้าชาวประมงก็ออกเรือไม่ได้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รายได้ของเกษตรกรเองขึ้นอยู่กับความผันแปรของธรรมชาติด้วย แต่โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ ไม่มีฤดูกาล ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องผสมผสาน ขณะที่เราพยายามรักษาดูแลสภาพบ้านเมืองไว้ การมีงานทำก็จำเป็นต้องมี จึงต้องยอมรับให้มีภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมขึ้นบ้าง

เท่าที่สังเกต ชาวจังหวัดตรังให้ความสนใจทางการเมืองค่อนมาก แต่หากเราพูดถึงความรู้ความเข้าใจ และการเข้ามามีส่วนร่วม ในการเมืองการปกครอง อยู่ในระดับไหน
นี่ถือเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของพี่น้องชาวภาคใต้และชาวจังหวัดตรังที่มีความผูกพันสนใจการเมือง จึงเป็นพื้นที่ซึ่งนักธุรกิจการเมืองเกิดขึ้นยาก พวกที่ซื้อเสียงหรือคนที่ใช้ธุรกิจมาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะคนมีความตื่นตัว เข้าใจ และมีค่านิยมที่ดี หมายถึงรังเกียจคนโกง รังเกียจนักธุรกิจที่เอาเปรียบประชาชน เราจะเห็นเลยว่าคนจะไม่นับถือคนที่มีพฤติกรรมไม่สุจริต ต่อส่วนรวม ในจุดนี้ผมถือว่าเป็นค่านิยมที่มีค่ามากต่อประเทศชาติ หากทั่วประเทศเป็นแบบนี้บ้านเมืองเราจะไม่มีวิกฤติ

กล่าวคือคนซื้อเสียงก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปมีอำนาจ ถ้าหากคนซื้อเสียงเข้าไปมีอำนาจก็จะเป็นอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ คนซื้อเสียงก็เข้าไปโกง เข้าไปทุจริต มันก็ทำให้สังคมมีปัญหามาก ค่านิยมของสังคมก็เปลี่ยนไปไปยอมรับการทุจริต การโกง ตรงนี้เป็นส่วนที่น่าห่วงมากต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ หากเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมืองไทยเราจะพัฒนายาก พัฒนาไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะในที่สุดนักการเมืองมีอำนาจก็จะเข้าไปหาประโยชน์เข้าไปทุจริต ทุจริตเสร็จก็นำมาซื้อเสียงต่อประชาชนอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการทุจริต การโกงการเลือกตั้ง นี่เป็นจุดที่ต้องแก้ไข ซึ่งขณะนี้รัฐบาลของท่านอภิสิทธิ์ ก็กำลังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) กำลังทำเรื่องนี้อยู่  คือรณรงค์เรื่องการปรับค่านิยมไปในทางที่ดี ซึ่งผมคิดว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็จะต้องทำ และเราก็ต้องหวังผลในวันข้างหน้า อย่าหวังผลสั้นๆ แค่ปีหรือสองปี

ส่วนนี้แหละที่จะทำให้ความสำนึกทางการเมืองของคนตรังอยู่ในเกณฑ์ดี ผมคิดว่าหากเราไปทั่วประเทศคนจะพูดถึงเราในทางบวกคนก็จะบอกต่อกันว่าจังหวัดตรังเป็นอย่างไร ซึ่งผมจะต้องรักษาค่านิยมที่ดีนี้ไว้ให้ได้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามเงินก็เป็นยอดปรารถนาของคน ฉะนั้นการจะรักษาค่านิยมที่ดีแบบนี้ไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย วันหนึ่งข้างหน้าเราก็ไม่มั่นใจว่าจะรักษาค่านิยมที่ดีงามทางการเมืองเหล่านี้ไว้ได้ เพราะเริ่มมีแนวโน้มในท้องถิ่นเช่นการซื้อเสียงในระดับอบต. การใช้เงินในระดับเทศบาลมีสูงขึ้น จังหวัดตรังแม้จะยังไม่แรงเท่าจังหวัดอื่นแต่ก็มีแนวโน้มซึ่งหากเราแก้ไขไม่ได้บ้านเมืองเปลี่ยนไปก็จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

ความจริงแล้วเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกเพียงแต่ว่าประเทศที่ประชาธิปไตยเจริญแล้วได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ครั้งหนึ่งประเทศเหล่านั้นก็เคยเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ มีพฤติกรรมทุจริตโกงการเลือกตั้งในหมู่นักการเมืองแต่ว่าในที่สุดบ้านเมืองก็พัฒนาขึ้นจนกระทั่งคนปฏิเสธการทุจริตเหล่านี้ พอเกิดค่านิยมเช่นนี้สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้น คนดีก็เข้ามาสู่การเมืองเข้ามาทำงานด้วยความสุจริตทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเพียงแต่ประสบการณ์เหล่านี้ เราพึ่งจะประสบพบ เราเคยมีปัญหาประชาธิปไตยเรื่องการยึดอำนาจโดยทหาร แต่ปัจจุบันนี้ทหารโตเป็นผู้ใหญ่แล้วฝ่ายทหารมีวุฒิภาวะพอที่จะไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองด้วยวิธียึดอำนาจแล้ว

แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งมันจะเกิดระบอบใหม่ขึ้น คือ ระบอบธุรกิจการเมือง นั่นก็คือการที่นักการเมืองเข้ามาซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง ซื้อนักการเมือง ซื้อพรรคการเมือง ซื้อองค์กรอิสระ ซื้อสถาบันนิติบัญญัติ แล้วลามไปถึงการซื้อกระบวนการยุติธรรม จุดนี้เป็นจุดที่อันตราย หากสามารถซื้อลามไปถึงฝ่ายตุลาการแล้ว มันจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่มาก โชคดีว่ามันยังลามไม่ถึงจุดนั้นจึงทำให้ประเทศเรารอดมาได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจังหวัดทั้งหลายควรจะยึดแนวทางของบ้านเมืองที่มีการรณรงค์ต่อต้านระบบการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง

ความแตกต่างในความคิดเห็นทางการเมืองที่มองเห็นได้ทั่วไปในภาพรวมของประเทศ ลามมาถึง จังหวัดตรังบ้างหรือไม่
            ผมมองเห็นว่า มันเริ่มมีอิทธิพลของการใช้เงิน เข้ามามากขึ้น
มันเกิดจากการเอาชนะกัน  ในบางพื้นที่การเลือกตั้งก็มีเงินเข้ามาเบี่ยงเบนคะแนนเสียงไป ผมยกตัวอย่าง มีผู้สมัครที่สู้ด้วยความดีคนก็ยกย่อง แต่หากวันใดวันหนึ่งมีคนเอาเงินเข้ามาให้หัวละหนึ่งพันบาท คนก็เขวได้เหมือนกัน

จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
เราต้องรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้น สถาบันการศึกษาก็ต้องปลูกฝังในเรื่องนี้ ว่าบ้านเมืองที่มีปัญหาเรื่องนี้ ระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ประเทศอย่างไร จริงๆ ก็มีตัวอย่างจากวิกฤติของประเทศอยู่แล้ว หากวันหนึ่งนักการเมืองเข้ามาโกงทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ แล้ววิกฤติที่เกิดขึ้นมันก่อให้เกิดผลพวงที่แก้ได้ยาก ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการแก้ แต่หากเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ประเทศไทยของเราก็จะก้าวไปได้อย่างน่าชื่นใจ วิกฤติแบบนี้อาจจะไปเกิดกับประเทศอื่นหากวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่ประเทศไทยของเราควรจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปแล้ว

ภาคการเมืองของตรังมีวิธีการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในเยาวชนอย่างไรบ้าง
ในเชิงรุกของเราก็คือการให้ค่านิยมที่ดีต่อเด็ก เราให้สส.ออกไปตามพื้นที่บรรยายที่โรงเรียน หากผมมีโอกาสผมก็จะออกไปบรรยาย ผมไปปฐมนิเทศ ปัจฉิมนิเทศ ที่มหาวิทยาลัยทุกปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในส่วยของวิทยาเขตผมก็ไปบรรยายทุกปี ผมบอกเลยว่าในส่วนตัวของผมเวลาผมไปประชุมอะไรก็ตามได้เบี้ยประชุมมา ไปบรรยายได้ค่าบรรยายมา ผมไม่เคยใช้สักบาท ผมเก็บรวมรวมมาเอาไปให้เด็ก ผมเคยเอามาให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2 ครั้งแล้ว ก็ราวๆ แสนกว่าบาท เมื่อ 2 เดือนที่แล้วให้มาซองปึกหนึ่งได้มา 4 หมื่นกว่าบาทก็รวมรวมมาอีกครั้ง แล้วไปอบรมเด็กๆ ให้ความคิดแก่เด็กๆ ไม่ใช่เป็นการสอนแต่เป็นการอบรม สนับสนุนให้เขาศึกษาเรียนรู้ เช่น เราอยากให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษ ผมก็จะให้รางวัลแก่เด็กที่เขียนไดอารี่บันทึกประจำวัน เขียนทุกวัน ทุกสัปดาห์ พอปลายปีก็ประกวด และผมก็นำรางวัลไปให้ นี่เป็นความคิดที่ผมขอให้ อาจารย์ทำเพื่อจะให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น

ผมแนะนำว่าทำอย่างไรให้เด็กของเราสามารถข้ามไปฝั่งมาเลเซีย ไปมีชีวิต ไปศึกษา สัมผัส ภาษาอังกฤษให้เก่งยิ่งขึ้น เหมือนกับที่ มอ. หาดใหญ่ ผมก็สนับสนุนท่านอธิการบดี ว่าให้ทำเช่นนี้เพื่อที่ว่าเด็กในภาคใต้ภาษาอังกฤษจะได้ดีกว่าทุกที่ในประเทศไทย เพราะเราอยู่ใกล้พื้นที่อยู่ใกล้มาเลเซีย ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเยอะ และเด็กของเราน่าจะพูดภาษายาวีได้บ้าง จังหวัดตรังเคยเด่นเรื่องภาษาจีน ก็ควรศึกษาไว้เป็นพื้นฐาน บ้างเรากำลังผลักดันกันอยู่

ผมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษามาก นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว สิ่งที่ชัดที่สุดคือต้นไม้ในจังหวัดตรังเกือบทุกต้นก็มาจากนโยบายที่ผมขอให้ปลูกให้เมืองสวยงาม ให้เมืองมันร่มรื่นย์ มีอากาศดีสุขภาพดี แล้วเรื่องของการรณรงค์ให้เยาวชนมีค่านิยมทางการเมืองที่ดีด้วยการมีส่วนเข้าไปบรรยาย ใครเชิญเข้ามาผมก็เข้าไปบรรยาย ข้ามจังหวัดด้วยนะครับ

สิ่งที่ยังไม่เห็นชัดในเมืองตรัง คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมสมัย เรามีโรงหนังเหลือแค่โรงเดียว ในขณะที่มีเยาวชนที่ศึกษาอยู่มาก เวลาต้องการฟังดนตรีก็ต้องไปหาในร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในจุดนี้ท่านมีวิสัยทัศน์อย่างไร
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เมื่อสมัยผมเด็กๆ มีวงดนตรีที่ดีที่สุดในจังหวัดตรังคือวงดนตรีของสมาคม ฮกเกี้ยน ผมเป็นนักดนตรีในวงนั้นเล่นกลองบองโก้ แซมบ้า รุมบ้า ผมก็ฝึกเล่นแซกโซโฟนด้วย

ปัจจุบันนี้ตรังเราสู้สมัยนั้นไม่ได้ในด้านดนตรี สมัยนั้นเราเด่นมากสมมติมีงานเดือนตุลาคมที่นครศรีธรรมราชวงดนตร ีที่ไปเล่นที่นครศรีธรรมราชคือวงดนตรีจากจังหวัดตรังไปถึงหาดใหญ่ แต่ขณะนี้เราไม่มี นี่เป็นจุดที่เห็นได้ชัดว่าเป็นจุดอ่อน

เรื่องนี้ผมได้คุยกับ อาจารย์ประสาท พลรบ  ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางดนตรี สอนที่โรงเรียนสภาราชินี  สอนหลายแห่งปัจจุบันนี้เกษียนแล้ว แต่ยังคงสอนดนตรีไทยอยู่ ท่านเก่งทุกอย่าง เป่าทรัมเป็ต เล่นดนตรีสากลได้ทุกชนิด ในทุกวันนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับวงการดนตรีไทย ผมคุยกับท่านอยู่บอกท่านว่าเราเคยเด่นทางด้านนี้ อาจารย์ ช่วยประสานได้มั้ย เพราะเรามีนักดนตรีในจังหวัดหลายคน ให้อาจารย์ลองสร้างวงดนตรีใหม่ขึ้นมาส่วนหนึ่ง

ส่วนที่ 2 ก็คือ ภายใน 1-2 ปีหน้า เราต้องการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดคณะสถาปัตยกรรม ขอเรียนว่าบัดนี้เราได้งบประมาณมาแล้วประมาณ 250 ล้านบาท สร้างหอประชุมใหญ่ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ออกแบบเรียบร้อยกำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง พร้อมกับสร้างศูนย์กีฬาในมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กีฬาใหญ่ ตรงนี้หากเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะรองรับคณะสถาปัตยกรรมด้วย  เพราะจะมีการสร้างอาคารเรียนขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้พบกับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในโครงการไทยเข้มแข็งนั้น เราได้ขอตึกเรียนพิเศษ ประมาณ 200 ล้านบาท 1 ตึก และหอพักประมาณ 100 กว่าล้านบาท อีก 1 ตึก ท่านรัฐมนตรีช่วยบอกว่า ขอนำเข้าในโครงการเงินกู้ปีงบประมาณที่จะออกมานี่เอง ผมคิดว่าสิ่งที่พูดถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะผมเคยเรียนศิลปะมา และเห็นว่าจังหวัดตรังเรื่องนี้ได้อ่อนลงไปในช่วงหลัง เราคงต้องพยายามทำต่อไป

ขณะนี้เราให้ทางด้านอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยดูในเรื่องเหล่านี้อยู่ ได้พูดคุยกันครั้งหนึ่งแล้ว ใจผมว่าการเน้นอาคารสถานที่ไปทางด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นประโยชน์ เช่น การออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานก็น่าสนใจมาก ผมไปขอทางผู้ใหญ่ ทางอธิการบดีของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเป็นคณะเดียวที่ยังไม่มี จริงๆ แล้วจะตั้งคณะนี้ที่หาดใหญ่หรือที่อื่น แต่ก็ไปขอเค้ามาให้ลงที่นี่ ท่านอธิการบดีก็เห็นด้วย

หากมีคณะสถาปัตยกรรมที่นี่ การศึกษาที่จังหวัดตรังนี้จะสมบูรณ์ขึ้นอีกพอสมควร เพราะสิ่งที่เรามีอยู่แล้วและที่อื่นไม่มี คือสภาพทางภูมิศาสตร์ การคมนาคม ภูมิอากาศที่ดี ซึ่งผมยังไม่อยากให้ใครมาทำลายไป ทุกวันนี้เราก็ยังรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้อยู่ทุกวัน ต้นไม้ตายต้นหนึ่งก็ต้องไปดูแลกัน เพียงแต่ว่าท้องถิ่นยังไม่ค่อยรักเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามเหนื่อยกัน ผมขอให้ปูนซีเมนต์ไทยเข้ามาปลูกต้นไม้ที่นครศรีธรรมราช ที่ทุ่งสง เขารับปากว่าปลายปีนี้จะมาปลูกให้ที่ตรัง จากเขตที่ต่อแดนที่ทุ่งสง ผู้ใหญ่จากปูนซีเมนต์ไทยมาเองเลยทีเดียว ตอนแรกผมไปขอเขาให้ปลูกให้ที่นครศรีธรรมราช เนื่องจากเราเคยไปปลูกต้นตะเคียนทอง แล้วมันตายลงไปประมาณหลายร้อยต้น ไม่มีใครดูแลมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ปูนซีเมนต์ไทยเข้ามาเดือนที่แล้ว ผมไปเป็นประธานเปิดฯ ผมจึงขอเขาว่ามาถึงนี่แล้ว ทำไมไม่เข้าจังหวัดตรังด้วย เขารับปากว่าจะเข้ามาดูให้ที่จังหวัดตรัง

ที่ตรังนี้มีบริษัทที่ช่วยดูแลให้อยู่บริษัทเดียว คือโตโยต้า ซึ่งก็ต้องขอบคุณเขา และผมก็ขอให้ทางนายช่างแขวงการทางฯ เข้าไปขอร้อง มีผู้รับปากเช่น โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง  หมอวิทย์ (นายแพทย์วิทยา) และคุณอมรา ลีละวัฒน์ ก็รับปากว่าจะช่วย  ไปขอเทสโก้โลตัสเขาก็ไม่ให้ ในส่วนนี้เราก็ไม่มีฐานะที่จะดูแลได้ด้วยตัวเราเอง ผมต้องออกทุนเองในการปลูกต้นตาลโตนด เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่ปลูกที่เกาะกลางถนน 200 กว่าต้น จังหวัดภูเก็ตมาดูเพื่อจะนำไปปลูกที่นั่น ผมต้องออกเงินเองปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ เพื่อจะต่อสายนำน้ำมารดน้ำต้นไม้ ธรรมชาติเรานี้เราต้องมส่วนร่วมรับผิดชอบ

ผมได้พบกับเจ้าของโรงเรียนทิวไผ่งามที่จังหวัดกระบี่ ผมไม่เคยรู้จักท่านมีคนแนะนำให้รู้จัก ท่านก็บอกว่ามาที่ตรัง ประทับใจมาก ไม่เคยเห็นจังหวัดไหนเป็นแบบนี้มาก่อน ผมก็นึกว่าท่านมาเที่ยวถ้ำมรกต หรือถ้ำเลเขากอบ ท่านบอกไม่ใช่ท่านนั่งรถชมเมืองเห็นต้นยาง ต้นตะเคียนทอง ปลูกริมข้างถนนก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ฉะนั้นเรื่องปลูกต้นไม้เป็นเรื่องที่จังหวัดเราให้ความสำคัญ และได้รางวัลมากที่สุดในเรื่องการปลูกต้นไม้  ซึ่งต้องชม นายช่างแขวงการทางฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนั้นเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ตื่นตัวรับสนองนโยบาย พอผ่านมาจนถึงวันนี้เรามองก็เห็นที่นี่ เราไม่ได้เด่นเรื่องตึกรามบ้านช่อง เราไม่ได้มีตึก 10 ชั้น 20 ชั้น ไม่ได้มีอุตสาหกรรม แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมชาติเรามีธรรมชาติที่ดี ผมได้กลับบ้านทุกอาทิตย์ได้มาอยู่อากาศที่ดีในบ้าน เพราะเราอยู่ในกรุงเทพฯ ในซอยหมอเหล็ง ซึ่งมลพิษมันเยอะเหลือเกิน อากาศก็ต้องแย่งกันหายใจ หากกลับมาบ้านมีบ้านอยู่ ต่างจังหวัดก็ถือว่าโชคดี วานนี้ผมยังคุยกับรองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ดร.ประกอบ จิรกิติ ว่ากรุงเทพฯ กำลังจะเละหากไม่คุมการจอดรถ สมมติว่าเอาฟุตบาทหรือถนนมาเป็นที่จอดรถบ้านเมืองก็จะเละ เดี๋ยวนี้กรุงเทพฯ ในตรอกในซอยเราก็เห็นถนนกลายเป็นที่จอดกันเต็มไปหมด ผมคุยกับรองผู้ว่าฯ ว่าจะไปพบกับ ผู้ว่าฯ กทม.ด้วยกันหน่อยเพื่อสร้างวินัยในบ้านเมืองขึ้นมา เพราะที่ไหนในโลกหากจะเจริญก็ต้องควบคุมการใช้พื้นที่สาธารณะ ประเทศญี่ปุ่นจะซื้อรถสักคัน เขาต้องดูว่ามีที่จอดหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ในบ้านเล็กๆ แล้วเอารถมาจอดในที่สาธารณะถ้าทุกคนทำอย่างนี้มันไม่ได้

จังหวัดตรังก็เช่นกันผมบอกนายช่างฯ ว่าตรงไหนเป็นทางหลวง เป็นที่สาธารณะก็ขอให้ควบคุมอย่าให้จอด ฟุตบาทเราทำไว้เป็นทางเดิน ให้สวยงามก็มีคนเอาของมาวาง มันไม่ได้ ผมขอร้องทางหลวงให้ทำทางสำหรับจักรยานให้หน่อย ทางหลวงก็อุตส่าห์ขยายทำให้ถึงจะไม่ได้ใช้ แต่ผมคิดไว้เผื่ออนาคตพอทางจักรยานถูกนำมาเป็นที่จอดรถมันผิดจุดประสงค์หมด ฉะนั้นส่วนนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะจังหวัดตรัง หรือ กทม. แต่ทั่วประเทศควรรักษาสิ่งนี้ไว้ เพื่อให้บ้านเมืองมีระเบียบวินัย วันนี้จุดอ่อนของเราก็คือการขาดระเบียบวินัย

อยากทราบความรู้สึกของท่านเมื่อบ้านของท่านกลายเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดตรังที่ใครก็เข้ามาเยี่ยมเยียน
เราก็ยินยอมนะ แต่จริงๆ ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันมีมาตั้งแต่อดีตเริ่มตั้งแต่พรรคพวกหัวคะแนนเข้ามาเมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว แม่ผมก็ขายของที่นี่ ใครมาร้องเรียนผู้แทน ผู้แทนไม่อยู่ สมัยแม่ผมยังอยู่ก็ให้ชาวบ้านนอนรอที่นี่ บางทีนอนตั้ง 7 วัน พอผมกลับมาจากกรุงเทพฯ ก็เข้ามารับเรื่องร้องทุกข์ เพราะฉะนั้นพรรคพวกเพื่อนฝูง ชาวบ้าน ก็เข้าออกมาเป็นประจำ พอมาภายหลังคนเริ่มรู้จักบ้านนายชวนก็เข้ามาเยี่ยม หลังๆ เริ่มมีนักท่องเที่ยวมา มีรถทัวร์มาลง ตกใจมากตื่นเช้ามามีรถทัวร์ 12 คันมาจอด คนอยู่ในบ้านเป็นพัน เขาเข้ามาเดินแต่เขาเข้าใจผิด บางคนเข้ามาถึงถามว่าไหนกาแฟ? ไหนขนมจีน? ตายแล้วจะให้ผมเลี้ยงได้อย่างไร (หัวเราะ) บางทีฝรั่งเข้ามานั่งดูซ้ายดูขวาแล้วสั่งอาหาร นึกว่าเป็นร้านอาหาร เขาก็งงว่าที่นี่คือที่ไหน พอบอกว่าบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีเขาก็งง เพราะนึกว่าเป็นสวนสาธารณะ  (ยิ้ม)

ในที่สุดเราก็ต้องยอมให้คนเข้าออกเป็นประจำ แต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าทำงานยากขึ้น บางทีเราจะคุยงาน ก็มีคนเข้ามา คนเข้ามาเราก็ต้องทักทาย รับแขก ถึงเวลาทำงานผมจึงต้องหลบไปทำงาน ไม่ออกมารับแขก แต่ส่วนใหญ่ผมจะออกมาทุกวัน ในช่วงคนไปมา ผมก็มาทักทายเขาเขาก็ตกใจ คิดว่าจะมาเที่ยวเฉยๆ ไม่คิดว่าผมจะอยู่ จึงกลายเป็นแหล่งเที่ยวไปมาดูต้นไม้ไป

หากดูสมุดบันทึกผู้มาเยี่ยมเยียนบ้านหลังนี้ คนบันทึกมีทรรศนะความคิดที่เห็นจังหวัดนี้สวยงาม น่าอยู่ แม้กระทั่งมาจากภูเก็ตยังเขียนว่า ที่นี่สวยงามจริงๆ ทุกอย่างสมบูรณ์ อย่างที่แหม่มเอ็ดน่าพูดเมื่อร้อยปีที่แล้วว่า จังหวัดนี้มีทุกอย่าง มีภูเขา น้ำตก ท่านบอกมีทะเลสาบด้วย แต่ผมก็เข้าใจว่าท่านหมายถึงทะเลสองห้อง เมืองนี้เป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเรารักษามันไว้ได้ ผมจึงอยากจะอวดว่า นักการเมืองก็มีส่วนช่วยมาก เราไม่มีธุรกิจหรือผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราเจอสิ่งอะไรดีๆ เราก็กันไว้ให้หลวงหมด

ตอนผมไปเจอสวนพฤกษศาสตร์ฯ ตอนนั้นยังเป็นป่าเล็กๆ สมัยนั้นผมเป็นผู้แทนฯ ไปดูตอนเช้าๆ เจอต้นไม้ใหญ่ ผมก็ไปบอกกรมป่าไม้ให้เข้าไปสำรวจ กรมป่าไม้บอกว่ามีป่าเหลืออยู่ เคยมีคนแอบเข้ามาลักลอบตัดไปแล้ว ผมก็ให้เขากันเอาไว้เลย กันเอาไว้ได้ 2,000 กว่าไร่

วันหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญป่าไม้มาดูที่นั่นก็ตกใจ แทบไม่อยากเชื่อว่าห่างจากเมืองไปเพียงแค่ 8-9 กิโลเมตร มีป่าทึบ 2,000 กว่าไร่เหลืออยู่ เป็นปอดของจังหวัดไปเลย

เรือนจำเก่า หน้าจวนผู้ว่าฯ เมื่อ 10 กว่าปี ก่อนได้ย้ายเรือนจำไปอยู่ที่อื่นจึงเหลือพื้นที่ อยู่ 15 ไร่ เขาจะทำเป็นศูนย์การค้า ผมจึงไปต่อรองกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยนั้น คือ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ให้ขอกรมธนารักษ์ขอให้ที่ส่วนนี้กันไว้ ทำเป็นสวนสาธารณะในที่สุดก็ทำสวนสาธารณะ ผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาปรับปรุง ผมให้ท่านไปหาชื่อสำหรับสวนนี้มาแต่หาไม่ได้ ผมจึงบอกท่านว่า ให้ชื่อว่า “สวนทับเที่ยง” ในจุดนี้ยิ่งกว่าปอดเสียอีก เพราะมันเป็นสวนแท้ๆ ในเมือง ที่ห้วยน้ำใสเรากันที่เล็กๆ ไว้ได้ ก่อนที่คนจะบุกรุกหมด ตอนเราเด็กเราเคยแวะล้างหน้าล้างตากันที่นั่นเพราะน้ำมันใสสวยงามมาก ตรงนั้นมีต้นสาคูอยู่ ผมจึงขอร้องให้กรมชลประทานเข้ามาทำ เมื่อตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสรุปแล้วจังหวัดนี้จะมีสวนหรือที่สาธารณะสำหรับเป็นปอด ตามหย่อมๆ ที่เรากันไว้ได้ ส่วนไหนกันไว้ไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ ส่วนไหนที่เรากันไว้ได้เราพยายามจะรักษาไว้

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ผมโทรศัพท์หาท่านผู้ว่าฯ ใช้ให้แขวงการทางปลูกต้นไม้แต่ทางแขวงฯ ไม่มีเงิน ผมก็ขอท่านผู้ว่าฯ ให้ช่วย ท่านมีเงินบ้างมั้ย ขอสักหนึ่งแสนซึ่งท่านให้มาสองแสนนับเป็นโชคดีไป

ด้วยโอกาสอันดีเยี่ยมที่ iamtrang.com ได้รับเกียรติจากอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย ชวน หลีกภัย มาเปิดใจถึงวิสัยทัศน์ และเรื่องราวดีๆ มากมายที่เกิดขึ้นแก่เมืองตรัง จากความรักในบ้านเกิดของท่าน ในครั้งนี้ ทำให้เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่เป็นคนตรัง และความประทับใจในบุคคลตัวอย่างท่านนี้ ก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นเดินหน้า ในการหยิบยื่นตอบแทนให้กับเมืองที่เรารัก ตามกำลังเล็กๆ ที่เรามี ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

You may also like...