ป่าเขาบรรทัด

ป่าเทือกเขาบรรทัดสามารถแบ่งได้เป็น แปลงที่ 1 ตอนที่ 1 อยู่ในเขตอุทยานเขาปู่-เขาย่า พื้นที่อำเภอห้วยยอด เป็นต้นน้ำของน้ำตกปากแจ่ม คลองลำภูรา อีกกลุ่มหนึ่งคือ คลองท่างิ้ว จากตำบลในเตา คลองหินแทนจากตำบลปากแจ่ม ไปรวมกับคลองยางยวน ลงสู่แม่น้ำตรังที่ตำบลเขากอบ ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 1 ตอนที่ 3 พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อำเภอรัษฎา ซึ่งอยู่เหนืออำเภอห้วยยอดขึ้นไป เป็นต้นกำเนิดคลองสำคัญคือคลองมวน คลองกะปาง และคลองท่าประดู่ ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 2 ตอนที่ 1 อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดท้องที่อำเภอปะเหลียน เป็นต้น

กำเนิดของน้ำตกและคลองหลายสายที่ไหลผ่านอำเภอย่านตาขาวและปะเหลียน ได้แก่ คลองลำแคลง คอลงปะเหลียน คลองลำปลอก คลองไหนุ้ย คลองสอ คลองลำพิกุล คลองลำทู่ คลองลำขนุน มารวมกันเป้นแม่น้ำปะเหลียน และยังมีคลองที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยตรง ได้แก่คลองลิพัง คลองวังอ่างทอง คอลงหลักขัน และคลองแร่

 

ในเขตนี้ยังมีพื้นที่ระหว่างรอยต่ออง ตรัง สตูล และพัทลุง คือ บ้านตระ หมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลแห่งป่าเขา ที่สำคัญที่สุดคือ พื้นที่แห่งนี้จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1 ที่ยังคงผืนป่าสมบูรณ์และเป็แหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารนับร้อยสาย ไหลลงไปหล่อเลี้ยงพื้นที่รายรอบ ทั้งสามจังหวัด ส่วนที่เป็นของจังหวัดตรัง ได้แก่ คลองปะเหลียน และลำห้วยต่างๆ อำนวยประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรมเนื้อที่ 370,369 ไร่ ในอำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว

 

ในประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี บ้านตระเคยเป็นเส้นทางผ่านจากพัทลุงเพื่อออกสู่ทะเล เคยเป็นแหล่งหลบภัยที่อำนาจรัฐเข้าถึงได้ยาก เคยเป็นดินแดนต้องห้ามในยุคที่ยังมีการปฏิบัติการของ พคท. และยังหลักฐานการตั้งรกรากของกลุ่มชน คือ โครงกระดูกมนุษย์โบราณและเศษเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องปั้นดินเผาในถ้ำ ผลหมากรากไม้อายุนับร้อยปี ต้นยางพาราเก่าแก่และใหญ่ที่สุดของเมืองตรังก็ว่าได้ เพราะวัดรอบเส้นรอบวงได้ถึง 310 เซนติเมตร รวมทั้งกุโบร์หรือสุสานแหล่งพักพิงสุดท้ายของผู้คนที่มาฝากชีวิตในดินแดนนี้

 

ผืนป่าบ้านตระนับเป็นมรดกธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ การดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้เพื่ออำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนพร้อมๆ กับการรักษาประวัติศาสตร์นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

 

เหนือบ้านตระมีภูเขาสูงที่สามารถเดินทางขึ้นไปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง สตูล และพัทลุง คือ เขาเจ็ดยอด กลุ่มในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ 2 เช่นกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของนักเดินป่าผู้ใฝ่หาธรรมชาติ

 

 

 

You may also like...