มรดกธรรมชาติ – แหล่งแร่

ตามโครงสร้างทางธรณีวิทยา การดันตัวของทิวเขานครศรีธรรมราชเมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว ได้ดันเอาแร่สำคัญขึ้นมาด้วย แร่ที่พบมากที่สุดในเมืองตรังได้แก่ดีบุก ส่วนแร่อื่นๆ ก็มีบ้าง เช่น ถ่านหิน แบไรต์ โคลัมไบต์

ดีบุก สมัยรัชกาลที่ 5 เหมืองแร่ดีบุกในเมืองตรังสามารถส่งแร่เป็นสินค้าออกได้ถึงปีละ 1,300-1,400 หาบ ในบริเวณอำเภอห้วยยอดเป็นแหล่งที่มีเหมืองแร่มากที่สุด ปัจจุบันดีบุกราคาตกต่ำ และจำนวนแร่มีน้อยลง เหมืองดีบุกจึงเลิกไปหมดแล้ว

 

ลิกไนต์ ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง เป็นแหล่งแร่ถ่าน หินประเภทลิกไนต์ซึ่งมีผู้ค้นพบมานานแล้ว สมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีกล่าวถึงในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู พระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า

ถึงคลองติงมุ้น เป็นภาษาแขกแปลว่า แตงกวา อยู่ฝั่งขวาใกล้ปากน้ำ ลงเรือเล็กไป 5.25 ถึงบ่อถ่าน 6.25 เขาขุดคูห่างคลองประมาณ 6 วา ขุดลึก 6 ศอก พบถ่านเนื้อพอจะใช้ได้แต่ไม่สู้ดี วิถีถ่านเทลงไปในคลอง ว่าในคลองก็มี…

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเปนที่ให้สัมปทาน แต่การขุดแร่หยุดชะงักไปแล้ว เพราะปริมาณและคุณภาพของถ่านไม่คุ้มการลงทุน

 

แบไรต์ ที่ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน ก็เป็นแหล่งแร่แบไรต์ ที่เคยมีการทำแร่เพื่อส่งออก แต่ปัจจุบันเลิกไปแล้ว

 

กิจกรรมเกี่ยวข้องกับการทำแร่ของจังหวัดตรังในวันนี้ มีเพียง แร่ ในความหมายของกรมทรัพยากรธรณี คือการระเบิดย่อยหินเพื่ออุตสาหกรรมเท่านั้น มรดกจากแหล่งแร่ของเมืองตรังจึงเหลือเพียงตำนาน

 

 

You may also like...