IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT
หน้าแรก  >  บทสัมภาษณ์  >  สมชาย เสียงหลาย

สมชาย เสียงหลาย

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ให้สัมภาษณ์ขณะดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ)

 สำหรับพ.ศ.นี้ ปีที่สังคมไทยต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมถึงหลอมรวมความแตกต่างให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมนั้นต้องเกิดจากการทำงานในหลายภาคส่วน โดยงานด้านวัฒนธรรมอาจถูกมองว่าเป็นนามธรรมที่จับต้องหรือมองเห็นได้ยากไม่เหมือนงานด้านเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนผ่านกราฟดัชนีการค้าการลงทุน 


     สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) คืออีกหนึ่งแม่งานหลักในด้านนี้ และด้วยการนำของ สมชาย เสียงหลาย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้มีความเข้าใจอันลึกซึ้งบวกประสบการณ์ซึ่งใกล้ชิดกับภาคประชาชน นั่นคือนิมิตหมายที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนที่น่าจะเกิดผลในเชิงรูปธรรม 


     “ผมถือว่าโดยพื้นฐานของสังคมนั้นรากฐานทางวัฒนธรรมมีมาก่อนการตั้งถิ่นฐานในเชิงการปกครอง ความสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรมมันลึกและกินความกว้างกว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์ มากกว่าการจัดระเบียบการปกครองเป็นอำเภอ เป็นจังหวัด เพราะการรวมตัวทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นก่อน ฉะนั้นนักปกครองหรือใครก็ตามที่ทำงานกับชาวบ้านจะต้องเรียนรู้แล้วเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น นี่เป็นระบบของวิถีชีวิตที่เขาปฏิบัติสืบทอดกันมา มีความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน และสิ่งต่างๆ ส่งผ่านเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน เมื่อเราได้ทำงานใกล้ชิดอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้เห็นประเด็นเหล่านี้จากชีวิตจริงของเขาเราก็จะนำเอาประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านั้นมาใช้” 


     ด้วยพื้นเพเป็นชาวตรังโดยกำเนิด เมื่อเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วต้องจากคาบสมุทรไปสู่เวียงพิงค์ ป่าใหญ่ในภาคพื้นทวีปตอนบน เป็น ‘ลูกช้าง’ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ทำให้กลายเป็น ‘สิงห์ขาว’ เต็มตัว แล้วมุ่งหน้าสู่กระทรวงมหาดไทย ‘สิงห์หนุ่ม’ สัมผัสงานทั้งด้านการปกครอง ความมั่นคง และการศึกษา กระทั่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ และจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรม(อีกครั้ง) เมื่อรัฐมีความต้องการบุคลากรผู้มีความรู้ ความสามารถ กอปรกับการค้นพบและตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง จึงส่งผลให้มาลงตัวในตำแหน่งรองเลขาธิการ สวช. 


     “ผมเริ่มงานที่กระทรวงมหาดไทย ทำงานด้านพื้นที่ในส่วนภูมิภาคเป็นหลัก มี 3 เซคเตอร์ด้วยกัน ที่หนึ่งคือด้านการปกครองท้องถิ่น ผมทำงานด้านการเงินการคลังและการงบประมาณ ได้ทำอยู่ท้องถิ่นมาหลายปี ที่สองนั้นผมทำงานด้านความมั่นคงในกระทรวงมหาดไทย เรื่องการข่าว เรื่องข้อมูล การชุมนุมประท้วงเหล่านี้ และที่สามคือเรื่องการศึกษา ก็จะเน้นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพการศึกษา”  


     “เมื่อปี ๒๕๓๓ ผมเป็นนายอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากเกิดเหตุซุงถล่มปี ๒๕๓๑ จากนั้นผมก็มาทำงานในส่วนกลาง กระทั่งออกไปเป็นนายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ช่วงปี ๒๕๓๗-๒๕๔๐ แล้วมาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครอง เราเรียกว่าโรงเรียนนักปกครองระดับสูงหรือ นปส. หลังจากนั้นทำงานด้านการข่าว ด้านการศึกษา และด้านแผนพัฒนา นี่คือภาระก่อนที่จะโอนมาอยู่ที่นี่ 


     “งานด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะที่นี่ (สวช.) ผมได้มีส่วนมาประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติอยู่ ๓ ปี เมื่อมีการจัดตั้งกระทรวง(วัฒนธรรม)ก็เห็นว่าตัวเองมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานด้านนี้และจิตใจที่รักงานด้านนี้ก็เลยมาทำงานนี้ เส้นทางชีวิตจากเดิมทำงานอยู่มหาดไทยแล้วกลับกลายมาอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม” 


      “ครั้งแรกผมมาเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลังจากนั้นก็ถูกโอนย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเนื่องจากได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แล้วเป็นรองปลัดกระทรวง และได้รับมอบหมายจากกระทรวงให้มาเป็นเลขาธิการที่นี่ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ฉะนั้นประสบการณ์ก็ดีหรืองานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบก็ดีเป็นงานที่ถนัดโดยอาศัยพื้นฐานของการได้ทำงานในกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านกับเรื่องพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีความมั่นใจว่าสามารถทำงานที่นี่ได้ นี่คือภูมิหลังที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่อการทำงาน”


     “ผมเคยประสบความสำเร็จในการรวมพลคนพิปูนหลังเกิดเหตุน้ำท้วม เขามีความรู้สึกทุกข์  และตกยาก เนื่องจากไม่สามารถทำกินได้ เราสร้างวัฒนธรรมเป็นประเด็นในการระดมความร่วมมือ ในตอนนั้นคนทั้งอำเภอมีประมาณ ๒๗,๐๐๐ กว่าคน ผมสามารถระดมคนมาทำพิธีกรรมเพื่อสร้างขวัญให้กับชาวบ้านได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมอยู่ข้างหลังของการสร้างแรงบันดาลใจ และอยู่ข้างหลังของการทำให้คนเกิดความรู้สึกผูกพันยึดโยงกันเป็นชุมชน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” 


     ภารกิจหลักของสวช.คือการทำงานที่ต้องเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา มิใช่แค่ในรายงานบนหน้ากระดาษ เท่านั้นหากแต่ต้องเกิดมูลค่าเพิ่ม สิ่งสำคัญคือเกิดความตระหนักในระดับชุมชน ภูมิภาค และเลยไปถึงระดับชาติ


     “มีเรื่องหลักหลายเรื่องที่น่าสนใจ ในส่วนของการศึกษาวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องสืบค้นให้ได้ว่าอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่มีเรื่องอะไรบ้าง ในกรอบ ๔-๕ เรื่อง คือ ๑) เรื่องวิธีชีวิต ๒) เรื่องภาษา วรรณกรรม ๓) เรื่องความเชื่อทางศาสนา ประเพณี ๔) ศิลปะการแสดงสะท้อนออกมาจากค่านิยมท้องถิ่น 


     “ที่สำคัญที่สุดผมมองเรื่องนี้สำคัญมากนัก ผมเคารพเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือเราไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนทุกคน ทุกกลุ่มที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อมมีความรู้สึกภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง พื้นฐานส่วนตัวของผมที่มีการทำงานในระดับพื้นที่ ผมดึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นปัจจัยป้อนเข้าในกระบวนการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสวช. ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการทำงานกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม เช่น สภาวัฒนธรรม หรือนักวิชาการที่ทำงานทางด้านสังคม 


     “เราได้ใช้มิติวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้พื้นฐานของความรู้สึกผูกพัน ยึดโยงให้คนมีความรู้สึกว่าการนับถือศาสนาที่ต่าง การมีประเพณีกรรมที่ต่างกัน แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยก”


     “ขณะนี้เราเก็บข้อมูลด้านศิลปะการแสดงที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย กับงานฝีมือเชิงช่างที่เราทำขึ้น ฉะนั้นงานของสำนักงานฯ จะเกี่ยวกับวัฒนธรรมชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้าน เราได้รับการเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม เช่น อาจารศรีศักร วัลลิโภดม, คุณหมอประเวศ วะสี, อาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง, อาจารย์อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้เราทำเรื่องข้อมูลวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและให้สามารถส่งต่อให้กับวัยรุ่น รุ่นต่อไปได้”  


     “นอกจากเน้นศึกษาวิจัยสืบค้นเพื่อให้เรารู้ว่ามีวัฒนธรรมชีวิตและภูมิปัญญาเรื่องใดอยู่ในพื้นที่ใด แล้วสร้างความตระหนักให้คนในแต่ละท้องถิ่นเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของเขา ซึ่งอันนี้เราก็ต้องสร้างให้เขามีความรู้สึกว่าการมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมภาคกลาง ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ แต่คือจุดแข็งที่ทำให้เมืองไทยมีเสน่ห์ ฉะนั้นในกระทรวงฯ โดยสำนักงาน (สวช.) ผมจะเน้นความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยการเคารพสิทธิของชุมชนโดยการให้พื้นที่เขามากขึ้น การสร้างความตระหนักเหล่านี้จะต้องมีอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน คือการมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และการมีทักษะในการปฏิบัติตามความเชื่อหรือวัฒนธรรมนั้นๆ 


     “สิ่งที่ผมคิดว่าในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของการพัฒนาเราเรียกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรม ฉะนั้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นประเด็นที่สำนักงานฯ จะเน้นจากวัฒนธรรมวิถีชีวิตภูมิปัญญาของคนในประเทศจะมีความหลากหลาย คนที่ปัตตานี คนที่นราธิวาส คนที่เชียงใหม่ คนที่มุกดาหาร หรือแม้คนที่ตากจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่แตกต่าง เราจะทำอย่างไรให้ความเป็นตัวตนของคนเหล่านั้นถูกนำมาสร้างมูลค่า ซึ่งหวังว่าจะตอบแทนกลับไปยังเขาไม่ใช่ให้คนข้างนอกไปแสวงหาหรืออยากให้เขาปฏิบัติอย่างนั้น”


     ความเป็นรูปธรรมนั้นสะท้อนผ่านมรดกทางสังคมที่ก่อให้เกิดความตระหนักถึงการดำรงอยู่ร่วมกัน มีความต่อเนื่องจากระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค สู่ระดับชาติ นี่ก็คืออีกสิ่งหนึ่งที่เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติผู้นี้ได้หยิบยกมาทำ นับเป็นหมุดหมายที่ดีสำหรับการเริ่มต้น‘สร้างชาติ’ในยุคนี้ด้วยวัฒนธรรม
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 14427
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย