IamTrang.com
 
IamTrang.com
KNOWLEDGE
PEOPLE
PLACE
PRODUCT & SERVICE
RESOURCE
ACTIVITY
LIFESTYLE
NEWS & EVENT

งานประเพณีถือศีลกินเจ

งานประเพณีถือศีลกินเจของตรัง ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำถึง 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นประเพณีที่มีการผสมผสาน หลายลัทธิ ทั้งลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ ลัทธิการนับถือเทวะ และพุทธศาสนานิกายมหายาน

ประวัติ / ความเป็นมา
          จังหวัดตรังเป็น 1 ใน 2 จังหวัดภาคใต้ที่มีชื่อเสียงในการจัดงานประเพณีกินเจ ประเพณีกินเจเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน การถือศีลกินเจของผู้ศรัทธามุ่งถึงการสร้างความบริสุทธิ์ ให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและใจ เริ่มตั้งแต่การนุ่งห่มสีขาวบริสุทธิ์ การถืออุโบสถศีล โดยยกเว้นศีลข้อ 6 ซึ่งไม่กินอาหารยามวิกาลมาเป็นกินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจแทน และงดเว้นไม่ทำกิจใดอันนำมาซึ่งความเบียดเบียนเดือนร้อนแก่สัตว์ทั้งปวง มีการปฏิบัติธรรม ทำวัตรเช้า-เย็น แนวทางเดียวกับการปฏิบัติตามพุทธศาสนา คือ ทำสมาธิ รักษาศีล ทำจิตใจให้ผุดผ่องสดใสก่อเกิดปัญญาธรรม

 

 

 

 

กิจกรรม / พิธี
          ระหว่าง 9 วัน 9 คืน แห่งประเพณีกินเจที่เมืองตรัง เจ้าที่ประทับอยู่ในร่างของ “คนทรง” หรือ “ม้าทรง” จะออกเยี่ยมเยือนโปรดสัตว์ไปตามอาคารบ้านเรือนซึ่งจัดโต๊ะบูชาไว้ต้อนรับ พร้อมเพรียงด้วยกระบานแห่ที่ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว มีการจุดประทัดต้อนรับดังก้องสนั่นติดต่อกันตลอดเส้นทาง บรรดาร่างทรงทั้งหลายจะแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารให้เห็นอย่างน่าหวาดเสียว เช่น การทิ่มแทงศาสตราวุธตามร่างกายโดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือเป็นอันตราย การปีนป่ายบันไดมีดอันคมกริบ การลุยไฟ ลุยดงหนาม เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์และก่อให้เกิดศรัทธากึ่งฉงนฉงายแก่ผู้พบเห็น กล่าวกันว่า การที่พระหรือเจ้าในร่างทรงต้องแสดงอภินิหารทำร้ายร่างกายตนเองอย่งนั้นเพื่อเป็นการรับเคราะห์ร้ายต่าง ๆ แทนมนุษย์
การกินเจ หรือ กินอาหารละเว้นเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะ เป็นการร่วมกันประพฤติธรรม ละเว้นความชั่ว และส่งเสริมเติมแต่งเพื่อเพิ่มความศรัทธาในพระศาสนาการแสดงอภินิหารต่าง ๆ เช่น ปีนบันไดมีด ลุยไฟ การแสดงม้าทรง การแสดงพลุไฟต่าง ๆ

ช่วงเวลา
การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน
(ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี)
โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน
การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง

ความสำคัญ
พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญดังนี้
๑. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้
เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์
งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา
ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต
ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
๒. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
๓. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ
ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน
มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว
เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก

พิธีกรรม
ประเพณีถือศีลกินเจเป็นประเพณีที่มีการผสมผสานของลัทธิความเชื่อต่าง ๆ
หลายลัทธิ ได้แก่ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ ลัทธิการนับถือเทวะ
และพุทธศาสนานิกายมหายาน
การประกอบพิธีกรรม
๑. ก่อนพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า รมกำยาน ไม้หอม
และยกเสาธงเต๊งโก ไว้หน้าศาล เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า
พอถึงเวลาเที่ยงคืนจะประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้
และกิวอ๋องไตเต้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับแขวนตะเกียงน้ำ ๙ ดวง
ซึ่งหมายถึงดวงวิญาณขององค์กิวอ๋องไตเต้
เป็นอันว่าพิธีกินเจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
หลังจากพิธีรับเจ้าเข้ามาเป็นประธานในศาลแล้ว
ก็จะทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ
๒. การเตรียมการกินเจ
ผู้ศรัทธาที่จะร่วมถิอศีลกินเจจะทำความสะอาดภาชนะเครื่องใช้ในการประกอบอาหารให้สะอาดหมดกลิ่นคาว
จัดแยกเครื่องใช้ไว้เฉพาะไม่ปะปนกับเครื่องใช้ทั่วไป
บางบ้านจะนำภาชนะชุดใหม่มาประกอบอาหารและใส่อาหารเจ
บางบ้านจะรับอาหารจากโรงปรุงของศาลเจ้า
๓. พิธีกรรมตลอด ๙ วัน ของการกินเจ มีดังนี้
๓.๑ พิธีบูชาเจ้า ทำในวันแรก บูชาด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ ทั้งที่ศาลเจ้า
และที่บ้านของผู้ที่กินเจ เมื่อกินเจครบสามวัน
ถือว่าผู้กินเจได้ชำระร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ได้สะอาดบริสุทธิ์
๓.๒ พิธีโขกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหารที่รักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ
จะทำพิธีในวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ มีอาหารและเหล้าเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร
๓.๓ พิธีซ้องเก็ง เป็นพิธีการสวดมนต์
พิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่องค์กิวอ๋องไตเต้ เข้ามาประทับในศาลและจะกระทำกันทุก
ๆ วันวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ
๓.๔ พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวัน ๗ ค่ำเพื่อขอความคุ้มครองให้แก่ผู้กินเจ
ในพิธีบูชาดาว จะมีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์) เพื่อคุ้มครองผู้กินเจ
๓.๕ พิธีแห่เจ้า (ออกเที่ยว)
เป็นพิธีที่เจ้าทั้งหมดออกเยี่ยมลูกหลานตามบ้าน
เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าความชั่วร้าย
ศาลเจ้าแต่ละโรงจะออกเยี่ยมไม่พร้อมกัน พิธีนี้จะจัดเป็นริ้วขบวน
แห่แหนไปตามถนนสายต่าง ๆ
บรรดาชาวบ้านที่จะศรัทธาจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ไว้รับพระและจุดประทัดเมื่อขบวนผ่าน
เจ้าองค์ที่เข้าประทับทรงจะแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารโดยใช้ของมีคม เหล็กแหลม
ทิ่มแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
๓.๖ พิธีลุยไฟ เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ของเจ้า
จึงมีการก่อกองไฟให้เป็นถ่านแดงระอุร้อน
เจ้าที่เข้าประทับคนทรงจะเข้าไปวิ่งลุยผ่านกองไฟ
เพื่อแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์และอิทธิฤทธิ์
ผู้ที่ถือศีลกินเจก็จะเข้าไปลุยไฟด้วยเพื่อให้ไฟทิพย์ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์
๓.๗ พิธีส่งพระ ทำกันในวันสุดท้ายของการกินเจ พิธีนี้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค
คือภาคกลางวันจะส่งเทวดาเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งทำกันที่เสาธง
และภาคกลางคืนจะส่งองค์กิวอ๋องไตเต้ ซึ่งจะทำกันตอนเที่ยงคืน
โดยผู้กินเจจะเดินไปส่งกันที่ฝั่งน้ำเพราะเจ้าจะกลับสวรรค์ทางทะเล
และทันทีที่คณะส่งเจ้าออกพ้นประตูศาลไฟทุกดวงจะต้องดับสนิท
แล้วปิดประตูใหญ่ รุ่งขึ้นจะลดเสาธง
เรียกทหารพร้อมกับเลี้ยงทหารและส่งกลับ
เสร็จแล้วก็เปิดประตูใหญ่เมื่อได้ฤกษ์ตามวัน/เวลาที่เจ้าสั่งไว้

สาระ
พิธีกินเจ
เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเว้นอบายมุขทั้งหมด
และเป็นพิธีก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สมาชิกที่มาร่วมพิธี

 


ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=511471
 

 
 
 

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน: 21840
นำเสนอโดย: Peekung
 

Share
IamTrang.com
: :: ชอบ-ชม-ชิม โดย วีร์วิศ
: :: เรื่องเล่าของอิงตะวัน โดย อิงตะวัน
: :: แต่งบ้าน-งานดีไซน์ โดย มะลิริน
: :: จิตเป็นนาย โดย นะโม

 


 
iamtrang.com
iamtrang.com ออกแบบจัดทำและผลิตเนื้อหา+ภาพ โดย บริษัท ดีพี สตูดิโอ จำกัด เลขที่ 32 สุขุมวิท 85 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร. 02-3311610 โทรสาร 02-3311618 Email: dp@dp-studio.com
Copyright 2009 IamTrang.com All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย