มรดกวัฒนธรรม-โบราณคดี-แหล่งโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำเขาสามบาตร บางแห่งเขียน สามบาทเป็นถ้ำบนภูเขาหินปูนเล็กๆ ใกล้แม่น้ำตรังและวัดไพรสณฑ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาตาล่วงอำเภอเมืองตรัง ชาวบ้านเล่าว่า มีผู้นำทรัพย์สมบัติมาซุกซ่อนไว้มากถึง 3 บาตรพระ และยังผูกปริศนาลายแทงไว้ว่า ขึ้นต้นขาม (มะขาม) ข้ามต้นทึง (กะทิง) ถึงต้นข่อยคอย (มอง) ลงมา ไม้ค่าวาคัดออก ใครทายออก กินไม่รู้สิ้น

การสำรวจถ้ำเขาสามบาตรทางโบราณคดีเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2445 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกถึงการพบอักษรจารึกบนผนังถ้ำ และทรงวินิจฉัยว่า เป็นตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาลักษณะเดียวกับที่วัดป่าโมก ซึ่งมีใจความดังนี้

กำไวเมื่อพระบาดเจ้าพระเพล

พระศรีค่งพระพรมพระพุทรัก

ษาแลเจาเน่นทั้งหลายมาเลิกสาด

สนาพระเจาในเขาสะบาปแลพระเจ้านัน

ธรรมาณรายมา…แลวแลพระบาดเจ้ามาเปน

พระ…แก…ขุนนางกรมการทัง…เมือง

แลสัปรุศชายญ…ให้เลิกสาศนาพระพุท่เจากบริบูน

แลวแลสัปรุศ…ชวนกันฉลองกุสลบุญแลเพื่อวาจะปรา

ถนาพนจากทุก…หาสุ่กกุราชได้สองพันร้อยหาสิบ

เจอปีเจดวันนันแล…สุ่กกรุราชใด…ปีเมีอญกพระเจาวัน

สุกเดือนเจดขึ้นสองค่า…นักสัตร่ฉสกบอกไว้ใหเปน…

สิน…แลผูจ…นาไปเมีอหน้า

พ.ศ. 2523 คณะสำรวจโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานภาคใต้ จากกองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจพบว่า ถ้ำนี้มีหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ คือเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินค่อนข้างหยาบ แบบหม้อสามขา ภาชนะปากผายชามเตี้ย ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ เครื่องมือสะเก็ดหิน ค้อนหิน เปลือกหอยแครงเจาะรู ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ กระดองเต่า หอยน้ำจืด ส่วนหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์อยุธยาคือชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินขาวเหนียวแบบชามมีเชิง คนโทและพวยกา

พ.ศ. 2533 ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง สำรวจพบหลักฐานเพิ่มเติมคือ ภาพเขียนสีแดง เป็นรูปภาพคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน

อมรา ขันติสัทธิ์ ศรีสุชาติ ให้ความเห็นว่า ตามทำเลที่ตั้งของเขาสามบาตร นับเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเข้าอยู่อาศัยคือเป็ฯถ้ำซึ่งอยู่ไม่สูงเกินไปนัก ถ้ำแห้ง มีบริเวณที่สามารถเข้าอยู่อาศัยประกอบกิจกรรมครัวเรือนได้ ทั้งยังอยู่ใกล้ทางน้ำใช้เป็นแหล่งอุปโภคบริโภคและการคมนาคมติดต่อกับชุมชนข้างเคียงในบริเวณลุ่มน้ำเดียวกัน (แหล่งโบราณคดีข้างเคียงได้แก่ ถ้ำหมูดิน ถ้ำเขาน้ำพราย ถ้ำตราและถ้ำเขาปินะ) นอกจากถ้ำนี้เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังปรากฏว่าเคยใช้เป็นศาสนสถานสำคัญของกลุ่มชนในภูมิภาคนี้ร่วมสมัยอยุธยา โดยมีหลักฐานตัวหนังสือจารึกบนผนังหินบอกพุทธศักราชไว้ด้วย คือ พ.ศ. 2150 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ พ.ศ. 2148-2163 ซึ่งการจารึกตัวหนังสือไทยสมัยอยุธยาไว้ในถ้ำเช่นนี้ เป็นหลักฐานที่หาได้ยาก

แหล่งโบราณคดีถ้ำหน้าเขา ถ้ำหน้าเขา อยู่บนภูเขาหินปูนลูกโดดใกล้เทือกเขาบรรทัด ตั้งอยู่ที่ตำบลช่อง อำเภอนาโยง

จากรายงานการสำรวจของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต กล่าวถึงการสำรวจถ้ำหน้าเขา 2 ถ้ำ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 ว่าพบหลักฐานทางโบราณคดี คือเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบสามขา เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัด กระดูกสัตว์ และฟันสัตว์ พร้อมทั้งสันนิษฐานว่าถ้ำหน้าเป็นพื้นที่กิจกรรมและเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่มาช่วงเวลาหนึ่งและอาจมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับกลุ่มคนโบราณคดีอื่นในพื้นที่แถบนี้

 

แหล่งโบราณคดีปินะ เขาปินะเป็นเขาลูกโดด ตั้งอยู่ที่ปลายแหลมของหาดฉางหลาง ในเขตที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา

หลักฐานทางโบราณคดีที่เขาแบนะคือภาพเขียนสีมี 2 จุด ได้แก่ ที่เพิงผาทางทิศเหนือ และเพิงผาด้านทิศตะวันออก ภาพเขียนสีที่เพิงผาทางทิศเหนือเห็นชัดเจนว่าเป็นภาพปลา 2 ตัว เขียนด้วยสีแดง ต่ำลงมาเป็นภาพหัวสัตว์คล้ายเสือปลาหรือแมว และยังมีภาพลายเส้นสีแดงเป้นหลักเรียงกันคล้ายคลื่นอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนทางด้านตะวันออกมีภาพลายเส้นขนาดเล็กอยู่ในระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 8 เมตร จากการสำรวจผิวดินไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ภายในถ้ำ

แหล่งโบราณคดีเขาเจ้าไหม

เขาเจ้าไหมอยู่ตรงปลายหาดยาว หมู่บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง สุดหาดทรายห้านตะวันตกเฉียงเหนือมีเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็กชื่อเขาหยงหลิง ส่วนทางด้านเหนือลึกเข้าไปในคลองเจ้าไหมมีเขาอีกลูกหนึ่งชื่อเขา โต๊ะแนะ

จากการสำรวจของโครงการสำรวจแหล่งศิลปกรรม (ภาคใต้) ของกรมศิลปากร พ.ศ. 2532 พบว่าด้านเพิงผาที่หันหน้าออกสู่ทะเล มีหลักฐานโบราณวัตถุตลอดแนวเพิงผา ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทหิน ซึ่งไม่มีลักษณะเครื่องมือที่ชัดเจน และโบราณวัตถุประเภทดินเผา มีเศษภาชนะดินเผาด้านนอกเรียบ ด้านในขัดมันขอบปากผาย นอกจากนี้บางตอนของผนังเพิงผาปรากฏภาพเขียนสี เขียนด้วยสีแดง แต่ภาพค่อนข้างเลือนมากแล้ว

แหล่งโบราณคดีถ้ำเข้าไม้แก้ว ถ้ำเขาไม้แก้วอยู่ที่ภูเขาหินปูน ในตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา ซึ่งเป็นภูเขาลูกยาวตามแนวเหนือ – ใต้ ประมาณ 3.5 กิโลเมตร

จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) ของกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2532 มีรายละเอียดการสำรวจดังนี้

บริเวณแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาไม้แก้วนั้นอยู่ตอนกลางของภูเขา ซึ่งเป็นยอดโดดสูงประมาณ 80 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลักษณะเป็นถ้ำและเพิงผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีก้อนหินปูนขนาดใหญ่วางอยู่ด้านหน้าเพิงผา มีร่องรอยพื้นที่ถูกขุดทำลายเอาดินไปใช้และพบโบราณวัตถุในบริเวณนี้ ส่วนที่เป็นถ้ำมีปากถ้ำอยู่ถัดจากบริเวณเพิงผาไปทางทิศใต้ พื้นถ้ำถูกขุดทำลายไปมาก แต่มีโบราณวัตถุมากกว่าบริเวณเพิงผา

โบราณวัตถุประเภทหิน พบเพียงชิ้นเดียว เป็นเครื่องมือกะเทาะทำจากหินควอร์ตไซต์ ลักษณะรูปร่างเป็นขวานหินแต่หักชำรุด

โบราณวัตถุประเภทดินเผา พบเศษภาชนะดินเผา 14 ชิ้น เป็นส่วนตัวภาชนะทั้งหมด มีแบบผิวเรียบธรรมดา แบบเคลือกน้ำดินสีแดงด้านนอก และแบบลายเชือกทาบ ทั้งสามแบบนี้เนื้อหยาบมีกรวดปน แต่มีบางชิ้นที่ตกแต่งผิวด้านนอกเป็นลายขูดขีด เนื้อดินเผาค่อนข้างละเอียด

แหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระ เขาหญ้าระอยู่ในเทือกเขาหินปูนต่อเนื่องมากจากเขาโต๊ะล่วงและเขาลิพังทางตอนเหนือ ในเขตการปกครองของตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน

จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) ของกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2532 มีรายละเอียดการสำรวจดังนี้

แหล่งโบราณคดีเขาหญ้าระอยู่บริเวณปลายเขาด้านทิศเหนือของเขาหญ้าระมีลักษณะเป็นเพิงผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความยาวประมาณ 40 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ด้านหน้าเพิงผามีกองหินปูนระเกะระกะ มีการทับถมของดินและหินปูนสูงและมีร่องรอยการถูกขุดเพื่อนำดินไปใช้ประโยชน์ ทำให้พบโบราณวัตถุกระจายอยู่ จากหน้าตัดดินมีชั้นทับถมของเปลือกหอยทะเล นอกจากนี้บริเวณเพิงผายังมีร่องน้ำ มีการเซาะพังของชิ้นดินที่ทับถม ทำให้โบราณวัตถุส่วนใหญ่กระจายตามพื้นร่องน้ำ

โบราณวัตถุที่พบ เป็นโบราณวัตถุประเภทหิน ส่วนมากจะเปนเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำจากหินปูนและทำจากหินควอร์ตไซต์ มีหลายลักษณะจำแนกได้เป็น

เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากสะเก็ดหินปูนและทำจากหินควอร์ตไซต์ จำนวน 13 ชิ้น โดยทำเป็นเครื่องมือทำมาหากินสำหรับการดำรงชีวิต เช่น เครื่องมือสำหรับขุดเจาะ สับ-ตัด ขูด แต่ละชนิดมีสภาพสึกกร่อนและชำรุด ดูจากร่องรอยน่าจะมีสาเหตุมาจากการใช้งาน

โบราณวัตถุประเภทดินเผา พบเศษภาชนะดินเผา 36 ชิ้น แบ่งตามส่วนต่างๆ ของภาชนะได้ คือ ส่วนปาก ปากผายออกด้านบนตัดตรง และปากกลมตรงเนื้อหยาบมีกรวดปน ผิวเรียบทั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนตัวแบ่งตามลักษณะการกตแต่งผิวได้ 2 แบบ คือ แบบเรียบ เนื้อหยาบมีกรวดปน แบบลายเชือกทาบ เนื้อหยาบถึงหยาบมากและมีกรวดปนเหมือนกัน

 

แหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก ถ้ำซาไก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเพิงผาลาคนแก่ อยู่ในเขตบ้านควนไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน เคยเป็นที่อยู่ของหมู่ซาไกซึ่งมาพักประมาณปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูฝน ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จนถึง พ.ศ. 2534 มีคณะนักสำรวจในโครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียบในประเทศไทย คือ สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ เข้ามาขุดค้นและเก็บข้อมูลต่างๆ

ในการสำรวจครั้งนี้ คณะสำรวจแบ่งชั้นดินทางโบราณคดีเป็น 5 ชั้น ลำดับจากชั้นบนของผิวดินลงไปสู่ชั้นล่าง ดังนี้

ชั้นดินทางโบราณคดี ชั้นที่ 1 พบสิ่งของที่เป็นของร่วมสมัยกับสิ่งของปัจจุบันที่หมู่ซาไกใช้ เมื่อมาอาศัยในถ้ำนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี

ชั้นดินทางโบราณคดี ชั้นที่ 2 พบเศษภาชนะดินเผา เนื้อหยาบ ผิวด้านนอกมีทั้งผิวเรียบ ผิวขัดมัน และลายเชือกทาบ เครื่องมือหินและเครื่องมือหินขัด คือขวานหินขัดหลายรูปแบบ บางอันพบร่วมกับโครงกระดูกและอื่นๆ คือภาชนะดินเผา ลูกปิดเปลือกหอย จักร หิน หินลับ กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช ร่องรอยกองไฟ โครงกระดูกที่พบมีโครงกระดูกและโครงกระดูกผู้ใหญ่ รวม 2 โครง จากหลักฐานทางโบราณคดีในชั้นนี้ คณะนักสำรวจสันนิษฐานว่า คนก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในถ้ำนี้น่าจะอยู่ในยุคหินใหม่ (Neolithic Period) ประมาณ 3300 ปีล่วงมาแล้ว

ชั้นเดินทางโบราณคดี ชั้นที่ 3 หลักานที่พบในชั้นนี้ได้แก่ ขวานหินกะเทาะที่กะเทาะจากหินกรวดแม่น้ำขวานที่มีรูปร่างคล้ายเป็นหินกรวดกลมมนจากแม่น้ำกระดูกสัตว์ ตัวอย่างหอย และกองไฟ 3 อย่างนี้พบน้อยมากเมื่อเทียบกับชั้นที่ 2 จากหลักฐานดังกล่าว คณะนักสำรวจสันนิษฐานว่า เป็นของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคก่อนหินใหม่ (Pre-Neolithic Period)

ชั้นดินทางโบราณคดี ชั้นที่ 4 พบแต่หลักฐานหินกรวดที่ไม่มีร่องรอยของการถูกกะเทาะ ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ เลย คณะนักสำรวจจึงจัดชั้นดินทางโบราณคดีในชั้นนี้ว่าเป็นชั้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัย

หลักฐานโบราณคดีถ้ำหมูดิน ถ้ำหมูดินตั้งอยู่ที่เขาน้ำพราย ซึ่งเป็นเขาหินปูนขนาดใหญ่ อยู่ในเขตตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี (ภาคใต้) เมื่อปี พ.ศ. 2532 กล่าวว่า ถ้ำหมูดินมีอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีรายละเอียดการสำรวจดังนี้

แหล่งโบราณคดีถ้ำหมูดินอยู่ทางทิศใต้ของเขาน้ำพราย ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางทิศตะวันออกของถ้ำหมูดิน ห่างประมาณ 28 เมตร เป็นห้วยขนาดเล็กมีน้ำไหลออกมาจากภูเขาหล่อเลี้ยงตลอดปี โบราณวัตถุที่สำรวจพบมี 2 ประเภท คือ โบราณวัตถุประเภทหิน และโบราณวัตถุประเภทดินเผา

 

แหล่งโบราณคดีถ้ำตรา ถ้ำตราตั้งอยู่ที่เขาหินปูนลูกหนึ่งของท้องที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด มูลเหตุที่ชาวบ้านเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำตราก็เพราะเหตุผลที่ว่า ภายในถ้ำแห่งนี้มีภาพเขียนคล้ายตรา

ภายในถ้ำตรงเพดานมีภาพคล้ายตราประทับรูปวงกลมมีลวดลาย ปัจจุบันตราสัญลักษณ์นี้อยู่ใสสภาพลบเลือนเพราะกาลเวลาและสภาพแวดล้อม อีกประการหนึ่ง เพราะชาวบ้านมักเอามอไปเช็ดถูดูตรานี้เมื่อเวลาเข้าไปภายในถ้ำโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ทราบถึงคุณค่า

จากการสำรวจครั้งล่าสุดของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ที่ 12 ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2541 กล่าวว่า ภาพเขียนบนเพดานถ้ำลบเลือกมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นายละเอียดของภาพได้ชัดเจน

แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาน้ำพราย ถ้ำเขาน้ำพรายอยู่ในภูเขาหินปูนลูกหนึ่งของตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด เป็นภูเขาลูกเดียวกับที่ตั้งถ้ำตรา แต่อยู่ห่างทางตะวันออกของแหล่งโบราณคดีถ้ำตราประมาณ 30 เมตร แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาน้ำพรายเป็นการกำหนดชื่อเรียกของคณะสำรวจจากสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ 12 ภูเก็ต ในการสำรวจเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2541

จากการสำรวจพบว่า แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาน้ำพราย มีปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศใต้ แบ่งเป็น 3 คูหา คูหาแรกมีทางขึ้นต่อไปยังคูหาที่ 2 และทางตะวันออกของคูหาที่ 2 มีทางเชื่อมต่อไปยังคูหาที่ 3

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบคือ ภาพเขียนสีบนผนังด้านทิศตะวันออก กลุ่มที่ 1 เป็นภาพเขียนสีแดงระบายสีทึบจำนวน 3 ภาพเรียงต่อกัน ภาพแรกมีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภาพที่ 2 รูปทรงคล้ายเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง และภาพสุดท้ายเป็นรูปทรงเรขาคณิต ไม่สามารถชี้บ่งลักษณะได้ชัดเจน ส่วนกลุ่มที่ 2 อยู่ในหลืบหินติดกับกลุ่มแรก มี 2 ภาพ คือ ภาพเขียนสีเป็นเส้นขนานกันคล้ายกรงสัตว์ ถัดเข้าไปเป็นภาพเขียนสีแดงลบเลือนจนไม่สามารถบ่งชี้ลักษณะได้

นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงแหล่งโบราณคดีถ้ำเขาน้ำพรายยังมีหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ เครื่องมือประเภทขวานหินขัดไม่มีบ่า เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนภาชนะแบบหม้อสามขา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์เผาไฟ และชั้นดินเผาไฟ ซึ่งน่าจะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณปากถ้ำของคูหาที่ 3 ด้วย หลักฐานเหล่านี้นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีเขาน้ำพรายเป็นพื้นที่กระทำกิจกรรมการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และอาจมีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนเพียงพอที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนร่วมสมัยในแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงด้วย

 

แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาปินะ เขาปินะเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง อยู่ที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด ลักษณะเด่นคือ มีถ้ำใหญ่น้อยสลับซับซ้อน จัดตามระดับความสูงของถ้ำได้ 6 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 พื้นถ้าต่ำกว่าระดับพื้นดิน มีน้ำขังตลอด มีทางน้ำไหลลอดภูเ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ถ้ำน้ำ

ระดับที่ 2 พื้นถ้ำสูงจากพื้นดินราว 3 เมตร มี 3 ถ้ำด้วยกัน ได้แก่ ถ้ำฤๅษี อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในถ้ำนี้พบกระดูกคนโบราณจำนวนมาก เดิมถ้ำนี้เรียกว่า ถ้ำกระดูก เมื่อ พ.ศ. 2495 พระใบฎีกานิมิต สุมงฺคโล ได้ให้เก็บกระดูกเผาไฟ แล้วก่อรูปฤๅษีประดิษฐานไว้ปากถ้ำ ส่วนอีก 2 ถ้ำ คือ ถ้ำแกลบ และถ้ำไม่มีชื่อ อยู่ระหว่างถ้ำฤๅษีและถ้ำแกลบ

ระดับที่ 3 มีเพียงถ้ำเดียวคือ ถ้ำพระบรรทม เป็นที่ประดิษฐานพระบรรทมซึ่งสร้างขึ้นสมัยท่านขุนไกรเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาปินะเมื่อราว 100 ปีที่แล้ว ฝีมือนายช่างชื่อนายนุ้ย สุวรรณคีรี บ้านควนขัน อำเภอเมืองตรัง พระบรรทมองค์นี้ก่อด้วยปูนเพชร

ระดับที่ 4 ได้แก่ ถ้ำพระองค์กลาง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งหมด 5 องค์ ก่อด้วยปูนเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ส่วนอีก 4 องค์ทำขึ้นในสมัยหลัง

ระดับที่ 5 มีหนึ่งถ้ำ คือ ถ้ำเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์องค์หนึ่ง มีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏ สภาพทรุดโทรมมาก จึงได้มีการบูรณะใหม่ในสมัยขุนไกร ต่อมา พ.ศ. 2466 ลูกหลานขุนไกรได้ก่อบัวบรรจุอัฐิขุนไกรไว้ในถ้ำ ด้านหลังบัวมีรูปปั้นจำลอง ขุนนัยนาปยา กำนันผู้ดูแลเขาปินะในระยะที่วัดเขาปินะร้าง

ระดับที่ 6 มีถ้ำ 4 ถ้ำ คือ ถ้ำลม ถ้ำจำปา แอ่งน้ำธรรมชาติ ถ้ำมะขาม ถ้ำหอยโข่ง เคยมีผู้พบโบราณวัตถุในถ้ำหอยโข่งนี้หลายอย่าง เช่น ขวานหินขัด หม้อสามขา เป็นต้น

จากความงามตามธรรมชาติของเขาปินะ และความน่าสนใจทางด้านโบราณคดี ทำให้มีบุคคลำคัญมาที่ภูเขานี้อยู่เสมอ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากระมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ร.ศ. 121 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ พ.ศ. 2471 เป็นต้น

แหล่งโบราณคดีวัดคีรีวิหาร วัดคีรีวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านหาน ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด

พ.ศ. 2445 สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยเสด็จมา ณ วัดคีรีวิหารแห่งนี้ ทรงบันทึกสภาพของวัดและกล่าวถึงหลักฐานทางโบราณคดีไว้ว่า มีรูปพระพิมพ์ดินดิบหลายชนิด ในพระพิมพ์มีอักษรเทวนาครีจารึกไว้ด้วย

นอกจากพระพิมพ์ดังกล่าวแล้ว ที่วัดคีรีวิหารยังมีพระพุทธรูปฝีมือช่างพื้นเมืองอีกด้วย คือ พระนอน ความยาว 9.50 เมตร ประดิษฐานอยู่ตรงปากถ้ำในเพิงผา และพระบริวารของเก่า 7 องค์ สร้างขึ้นใหม่ 3 องค์

 

แหล่งโบราณคดีภูเขาสาย ภูเขาสาย อยู่ในตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด

ในบันทึกของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงถ้ำเขาสายว่า

…ถึงท่าจอดเรือ ขึ้นเดินไปอีก 17 เส้นถึงเขาสาย ปากถ้ำสูงกว่าพื้นดินสัก 8 วา เป็นผาชัน …รวมเทวรูปที่ได้ 6 ชนิด คือ 1. รูปพระโพธิสัตว์สี่กรนั่งขัดสมาธิ 2. รูปอย่างเดียวกันแต่ขนาดย่อม 3. รูปพระโพธิสัตว์สองกรนั่งห้อยพระบาท 4. รูปพระโพธิสัตว์สองกรยืน 5. รูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ 6. รูปอย่างเดียวกันแต่องค์เล็ก ยังมีอีกที่ไม่รู้ว่าอะไร เปนที่เม็ดยอดอะไรก็มี มีลายชิ้นอะไรแตกๆ มีตราหนังสือ และมีขอบไม่ซ้ำกับรูปที่ได้ชัดเจนนั้นก็มี…

 

แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาขาว ถ้ำเขาขาว อยู่ในภูเขาหินปูนโดด ตำบลเขาขาว อำเภอห้วยยอด ในถ้ำนี้มีผู้พบพระพิมพ์ดินดิบ สถูปเล็กๆ ลักษณะพระพิมพ์เหมือนกับที่วัดคีรีวิหารและถ้ำเขาสาย

มีผู้สนใจศึกษาเรื่องพระพิมพ์ดินดิบจากหลายแหล่งในเมืองตรัง กล่าวว่าพระพิมพ์เหล่านี้มีอายุประมาณช่วงแรกของพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นแบบร่วมสมัยศิลปะปาละ มีจารึกภาษาสันสกฤตด้วยอักษรเทวนาครี สถูปดินเผาเล็กๆ ก็มีจารึกลักษณะเดียวกันอยู่ในวงกลมที่ฐาน ที่มาของพระพิมพ์เหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในจดหมายเหตุของพระภิกษุอี้จิง (หรือที่เรียกกันว่าพระถังซำจั๋ง) ผู้จาริกแสวงบุญไปยังอินเดีย ซึ่งเขียนขึ้นใน พ.ศ. 1235 ที่กล่าวว่า ชาวอินเดียนิยมสร้างเจดีย์เล็กๆ และพระพิมพ์ดินดิบ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระตถาคต ซึ่งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว และสาธุชนทั้งหลายควรเคารพบูชารุปเคารพองพระองค์เหล่านี้ ดังนั้นผู้สร้างเจดีย์และพระพิมพ์ก็มักจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจารึกคาถา เย ธมฺมา เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก

แหล่งโบราณคดีวัดเขาพระ วัดเขาพระ อยู่ที่ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา ส่วนที่เป็นแหล่งโบราณคดีคือภูเขาทางด้านตะวันตกของวัด ตัววัดเพิ่งสร้างใน พ.ศ. 2478

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบมี 2 ส่วน คือ บริเวณเพิงผาหน้าถ้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่ผนังถ้ำเหนือเศียรพระพุทธรูปมีลายเขียนเป็นรูปวงกลมบ้าง คล้ายดอกบัวบ้าง ทั้งมีอักษรไทยจารึกอยู่ด้วย ลักษณะคล้ายอักษรถ้ำเขาสามบาตร แต่ลบเลือนมากจนอ่านจับใจความไม่ได้ ส่วนที่สองคือบริเวณในถ้ำมีพระพุทธรูปไม้เล็กๆ วางกองอยู่เป็นอันมาก เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปจากการสะเดาะเคราะห์ ทั้งยังมีผู้เคยพบเศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา เศษกระดูก และเศษเปลือกหอยปะปนอยู่ด้วย

ตามสภาพโบราณวัตถุต่างๆ วัดเขาพระถือเป็นแหล่งโบราณคดีของเมืองตรังได้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีรายงานการสำรวจในเชิงวิชาการจากหน่วยงานของกรมศิลปากรออกมาเผยแพร่

 

แหล่งโบราณคดีเหลักจัน เขาหลักจัน อยู่ที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด

ที่เขาหลักจันนั้นมีถ้ำหลายถ้ำ เช่น ถ้ำแพะ ถ้ำพราน ในถ้ำมีโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหิน มีทั้งหินลับ ขวานหินขัด และมีเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและผิวเรียบ

นอกจากแหล่งโบราณคดีที่กล่าวแล้ว ยังมีคำบอกเล่าถึงการพบโบราณวัตถุในสถานที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น พบเศษภาชนะดินเผา รวมทั้งโอ่งดินเผาที่ยังมีรูปทรงสมบูรณ์ที่ทะเลสองห้อง อำเภอห้วยยอด พบขวานหินขัดเรียงรายตามลุ่มแม่น้ำ พบพระพิมพ์ที่เขาพระวิเศษ อำเภอวังวิเศษ และเศษภาชนะดินเผาในถ้ำของภูเขาบริเวณใกล้เคียง พบพระพุทธรูปที่ถ้ำเขาพลู ตำบลนางสัก อำเภอกันตัง พบเศษเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องประดับคนโบราณที่ถ้ำบริเวณแหลมโต๊ะชัยบนเกาะลิบง เขาโต๊ะแนะริมคลองเจ้าไหม หากได้มีการสำรวจศึกษาอย่างจริงจัง คงจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองตรังได้ชัดเจนมากขึ้น

You may also like...