พระครูสุทธิโสภณ (เอก สิรินธโร) เจ้าอาวาสวัดรัตนาภิมุข (วัดปากเหมือน) นามเดิม เอก ทองหนัน เกิด เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๙ โยมบิดามารดาชื่อ นายหลบ นางเขียด ทองหนัน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๕ คน บ้านเดิมอยู่ที่ หมู่ ๖ ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพระพุทธสิหิงค์ ตำบลนาโยง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙
พระครูสุทธิโสภณมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัดและชุมชนให้มีความเจริญก้าวหน้า งานสำคัญในขั้นต้น คือการริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิสุทธิโสภณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เยาวชน บำรุงการศึกษาปริยัติธรรม ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วยและยากจนในท้องถิ่น ให้มีที่พัก อาหาร และฝึกวิชาชีพให้ รับสงเคราะห์เชลยญี่ปุ่นมาหลบอาศัยอยู่ในวัดจำนวน ๕๐ คน จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง ทหารเชลยที่มาอาศัยในวัดช่วยกันบุกเบิกตัดถนนเข้าวัด ด้วยความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑ กิโลเมตร สำเร็จลงในปี ๒๔๘๙
ในอดีต พื้นที่ตำบลนาโยงเป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย ท่านพระครูสามารถนำเจ้าหน้าที่บ้นเมืองเข้าไปพบกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ ในปี ๒๕๑๙ สามารถติดต่อกับผู้ก่อการร้ายให้เข้ามอบตัว พร้อมทั้งนำมาฝึกอบรมที่วัดเป็นเวลา ๕ วัน โดยได้รับความร่วมมือจาก กอ. รมน. และ พลโทปิ่น ธรรมศรี แม่ทัพภาค ๔ ถวายเกียรติให้เป็นปรานการอบรม นับได้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญผู้หนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ
ด้านการศึกษาท่านพระครูจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพร้อมกับริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนมัธยมประจำตำบล คือ โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข และยังจัดหาทุนเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน ริเริ่มจัดตั้งและอำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวีนอาทิตย์วัดรัตนาภิมุขและศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยเรียนที่วัดควนสวรรค์ ตำบลนาหมื่นศรี
ผลงานด้านสาธารณสุข คือจัดทำโครงการน้ำประปาหมู่บ้าน โดยใช้น้ำดิบจากคลองนางน้อยด้านหลังวัด และใช้พื้นที่วัดเป็นสถานที่ผลิตน้ำประปาแล้วแจกจ่ายน้ำให้ชาวบ้านโดยไม่คิดค่าตอบแทน ภายหลังเมื่อมีการใช้น้ำมีมากขึ้นจึงต้องจัดเก็บค่าน้ำแล้วขุดบ่อบาดาลขยายการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในเขตหมู่ที่ ๓ งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ในปีพ.ศ. ๒๕๓๔ คือการรวบรวมสมุนไพรในท้องถิ่นสร้างสวนสมุนไพรขึ้นในที่ดินวัดหัวเขา ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรขึ้นที่วัดรัตนาภิมุข ตามโครงการใช้สมุนไพรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ท่านพระครูเป็นนักอนุรักษ์ที่มีสายตากว้างไกล มองเห็นคุณค่าของต้นไม้เก่าแก่จึงร่วมมือกับชาวบ้านช่วยกันดูแลสวนป่าไม้ยาง ๒ แห่ง คือที่วัดรัตนาภิมุข และที่ริมถนนสายนาโยง – ย่านตาขาว หมู่ที่ ๓ ตำบลนาโยงเหนือ
ด้านการฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นท่านพระครูจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ และส่งเสริมเผยแพร่การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง มโนราห์ การซัดต้ม ชักพระบก โดยจัดในรูปการสาธิต การแสดง และการแข่งขัน และสนับสนุนส่งเสริมการฟื้นฟูการทอผ้าของกลุ่มสตรีนาหมื่นศรีโดยทำหน้าที่เป็นประธานอำนวยการและที่ปรึกษา
ท่านพระครูเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้มีการจัดตั้งอำเภอนาโยงได้สำเร็จในเวลาไม่นานนัก ที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ช่วยให้ชาวตำบลนาโยงสามารถติดต่อกับทางการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ในเรื่องการดำเนินวิถีชีวิตแบบพออยู่พอกินและแบบการเกษตรที่ยั่งยืน กับทั้งพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชที่มีถึงมหาเถรสมาคม ให้พระสงฆ์ได้เทศนาเรื่องการดำรงชีวิตในภาวะเศรษฐกิจของยุคนี้ พระครูสิทธิโสภณ น้อมรับมาประสานกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นำโครงการ บวร ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ส่งต้วแทนร่วมปรึกษาหารือสรุปความคิดเป็นโครงการส่งเสริมการเกษตรเพื่อทำนาแบบวัฒนธรรมพื้นบ้าน สร้างองค์ความรู้เรื่องการทำนาสู่ภาคปฎิบัติ มีผู้ร่วมโครงการคือกลุ่มชาวบ้าน ผู้ปกครองนักเรียน มาร่วมกันสอนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายจากโรงเรียนสวัสดิ์รัตนภิมุข เริ่มขั้นตอนตั้งแต่การหว่านกล้าปักดำไปจนถึงเก็บเ กี่ยวนวดสีเป็นเมล็ดข้าว โดยมีท่านพระครูเป็นผู้ประสานและอำนวยการด้านต่างๆ เช่น เรื่องที่ดินทำนา สถานที่ทำยุ้งฉางโรงสี(สีด้วยครกสี และซ้อมมือ) ผลผลิตที่เป็นเมล็ดข้าวแล้วแบ่ง ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน อีกส่วนหนึ่งให้เป็นกองทุนการศึกษาของนักเรียน ดำเนินการเช่นนี้ต่อเนื่องไปทุกปี โดยมีผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ ได้แก่ โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตรัง โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ศรัทธาบริจาคที่ดินสำหรับดำเนินการต่อไปถึง ๓๐ ไร่ จึงมีการขยายงานเพื่อจัดตั้งธนาคารโคกระบือต่อไป
จากผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ตลอดมา จึงได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น รางวัลโครงการอบรมวิชาชีพเยาวชนสตรีพื้นฐานดีเด่น จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สายสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน จากสถาบันราชภัฎภูเก็ต
พระครูสุทธิโสภณ (เอก สิรินธโร) จึงสมควรได้รับยกย่องเป็นพระนักพัฒนา อย่างแท้จริง