มรดกทางสถาปัตยกรรมในเมืองทับเที่ยง

“เมืองทับเที่ยง” หรือ “เมืองตรัง” เป็นเมืองศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้ามาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวจีนเข้ามาบุกเบิกทำสวนพริกไทยกันอย่างกว้างขวางจนเกิดเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ขึ้น และเมื่อมีการย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากตัวเมืองกันตังมาตั้งที่เมืองทับเที่ยง ทำให้ชุมชนตลาดการค้าเริ่มขยายตัวจนกลายสภาพเป็นตัวเมืองตรังดังเช่นในปัจจุบัน ด้วยประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานที่ยาวนานส่งผลให้เมืองทับเที่ยงกลายเป็นแหล่งรวมมรดกทางสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบเป็นหลักฐานที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
มรดกทางสถาปัตยกรรมในเมืองตรังมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธ์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในตัวเมืองตรัง ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ 1) สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 2) สถาปัตยกรรมแบบจีน 3) สถาปัตยกรรมแบบนีโคลาสสิค 4) สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส และสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย มรดกทางสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณศูนย์กลางธุรกิจการค้าของเมืองทับเที่ยงย่านถนนราชดำเนิน ถนนพระรามที่ 6 และถนนกันตัง
หนึ่งในกลุ่มอาคารที่เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมแบบจักรวรรดิ์นิยม (Colonial Style) ในตัวเมืองตรัง คือ บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “จวนผู้ว่า” ตั้งอยู่บริเวณทางแยกของถนนกันตังและถนนอุดมลาภ บริเวณที่สูงที่สุดของเนิน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นช่วงเดียวกับศาลากลางจังหวัด ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2463 ในสมัยของพระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชน) เป็นผู้วาราชการจังหวัด แต่บางกระแสกล่าวว่าสร้างในสมัยพระยาอาณาจักรบริบาล (สมบุญ สวรรคทัต) ระหว่าง พ.ศ. 2468 – 2476 จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2502 รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจักรวรรดิ์นิยม อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอังกฤษผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านล่างเป็นคอนกรีต ผนังด้านบนเป็นไม้ตีเกล็ดทางนอน ประตูและหน้าต่างบานเปิดไม้ ประดับช่องลมบานเกล็ดไม้ มีมุขยื่นออกมาบริเวณทางเข้าอาคาร หลังคาทรงปั้นหยามะนิลาหรือทรงบรานอร์ อาคารหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและยังคงใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจนกระทั่งปัจจุบัน
01

เมืองตรังเป็นศูนย์รวมของชุมชนชาวจีนซึ่งอพยพเข้ามาทางเรือผ่านปากแม่น้ำตรังในอำเภอกันตัง และมาขึ้นเรือบริเวณที่เรียกว่าท่าจีนในปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่จะสามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมแบบจีนกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเมือง ทั้งในรูปแบบเรือนแถวไม้ ตึกแถว รวมทั้งศาลเจ้าหลายแห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดตรังมีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี ตั้งอยู่ริมถนนท่ากลาง ฝั่งตรงข้ามวัดตันตยาภิรมย์ ใกล้ๆ กับบริเวณที่เรียกว่า “ท่าจีน” ซึ่งเป็นท่าเรือริมแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำตรังซึ่งชาวจีนกลุ่มแรกได้มาขึ้นเรือบริเวณนี้ เดิมศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยเป็นศาลเจ้าขนาดเล็กสร้างด้วยไม้ทั้งหลังใน พ.ศ. 2447 จนกระทั่งอาคารหลังเก่าผุพังไปจึงสร้างเป็นอาคารถาวรขึ้นใน พ.ศ. 2495 ปัจจุบันศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยเป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดของจังหวัดตรังและเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมในช่วงเทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้

 

02

ในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปเตสแตนท์ จากศูนย์กลางที่กรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และจังหวัดตรังก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายเช่นกัน โบสถ์คริสตจักรตรังก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ริมถนนห้วยยอดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค โครงสร้างอาคารก่ออิฐถือปูน ประตูและหน้าต่างประดับช่องแสงรูปครึ่งวงกลม และมีช่องแสงและช่องลมมาส่วนถูกดัดแปลงเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมและรูปโค้งแหลม (Arch) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบโกธิค (Gothic) หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ทรงจัตุรัสขนาดเล็กแบบจีน บริเวณเหนือประตูทางเข้าด้านหน้ามีตัวอักษรจารึกบนผนังว่า “วิหารคริสตศาสนา สร้าง ค.ศ. 1915” ปัจจุบันอาคารคริสตจักรตรังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณและได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

03

ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการล่าอาณานิคมของชาติยุโรป ผู้ปกครองเมืองตรังในขณะนั้นจึงรับอิทธิพลแนวความคิดด้านสถาปัตยกรรมและการผังเมืองมาจากชาติตะวันตกเพื่อแสดงออกถึงอารยธรรมชั้นสูงและป้องกันเมืองจากการรุกราน อาคารเก่าแก่ในเมืองตรังส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากเมืองปีนังซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบสถาปัตยกรรมของจีนและยุโรปเข้าด้วยกันมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส” ซึ่งพบกระจุกตัวอยู่ในย่านศูนย์กลางเมืองโดยเฉพาะริมถนนสายสำคัญทั้ง 3 สาย ได้แก่ ถนนราชดำเนิน ถนนพระรามที่ 6 และถนนกันตัง อาคารที่พบในย่านเมืองเก่ามีทั้งที่เป็นโครงสร้างแบบผนังรับนำหนักไม่มีเสาและคาน และแบบโครงสร้างระบบเสาและคาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของช่างชาวจีนโดยหยิบยืมเอาลวดลายการตกแต่งอาคารมาจากสถาปัตยกรรมแบบยุโรปในยุคนิโอคลาสสิค (Neo-Classic) และอาร์ต เดคโค (Art Deco) ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น อาคารร้านสิริบรรณ อาคาร จ จินฉุ้น และอาคารราชเทวีคลีนิค เป็นต้น

04

line

ผู้เขียน : อ. ตรีชาติ เลาแก้วหนู
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

tsunamiberkley@yahoo.com

You may also like...