ความเป็นตรังนา มิได้เป็นเหมือนชุมชนชาวนาภาคกลางที่มีพื้นที่นาสุดลูกหูลูกตาเป็นร้อย ๆ ไร่ ผืนที่นาของเมืองตรังมีอยู่เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยกระจายกันอยู่ตามที่ราบลุ่มระหว่างควน ริมห้วย ริมคลอง ริมบ้าน ริมพรุ หมู่ตรังนาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำนาบนพื้นที่นาสี่ไร่ห้าไร่ เป็นการทำนาเพื่อเก็บไว้กินเอง ไม่เหลือพอที่จะขายข้าว หมู่ตรังนาจึงต้องทำนาปี ผสมผสานไปกับการเลี้ยงสัตว์ปลูกผัก
ด้วยความหลากหลายในวิถีการดำรงอยู่ร่วมกันให้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ตรังนา ภูมิปัญญาตรังนา และเทคโนโลยีตรังนาโดยเฉพาะ
ทำนาน่ำ หรือนาหยอด
ภูมิปัญญาประยุกต์ตรังนา เมื่อฝนแปดแดดสี่ เหลือแต่คำบอกเล่า
ความเป็นเมืองฝนแปด แดดสี่ ของจังหวัดตรัง เหลือไว้แค่คำเล่าขานวันนี้ของชาวเมืองตรัง ฝนน้อย น้อยจนนาดอนในหลาย ๆ พื้นที่ไม่มีน้ำพอจะทำนาปีได้ ตรังนาบ้านโพธิ์ เขตอำเภอเมืองตรัง ประยุกต์วิธีการนำไร่นามาทำน่ำ คือใช้สัก (ไม้ยาวเหมือนพองลูกเสือ ปลายแหลมมน) สักแทงเป็นหลุม พอหยอดกลบเมล็ดข้าวได้ การทำนาน่ำ หรือนาหยอด แม้ฝนจะทิ้งช่วง น้ำในนาไม่คึงขังก็ไม่ทำให้ข้าวกล้าเสียหายด้วย ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปปักดำใหม่อีก นับเป็นภูมิปัญญาประยุกต์ของหมู่ตรังนา
ขายข้าว ตรังนาถือว่าเป็นเรื่องอุบาทว์
การที่หมู่ตรังนามีความคิด ความเชื่อเช่นนี้ เนื่องจากการทำนาบนพื้นที่ไม่มากนักแต่พอกินปีต่อปีหรือย่างเก่งแต่ข้ามปี การขายข้าวจึงถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นเหมือนคนสิ้นคิด เป็นความเชื่อทางคติชนที่มีความหมายห้ามเตือนไม่ให้ประมาท ในทำนองว่า “อย่างอื่นมี – ไม่มี ไม่เป็นไร แต่ข้าวเปลือกต้องมีอยู่คู่กับเรือนข้าว” เสมอ
ปลูกกล้วย – เลี้ยงวัว วัวไม่กินหน่อกล้วย
ถ้าจะถือเอาภูมิปัญญาตามตำราวิชาการ เป็นตัวตั้ง การปลูกกล้วยกับการเลี้ยงวัวในพื้นที่เดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะใบและยอดหน่อกล้วยคืออาหารโปรดของวัวทุกตัว แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องมีวัวไว้ไถนา มีกล้วยไว้กินไว้แกง หมู่ตรังนาค้นพบวิธีการป้องกันไม่ให้วัวกินหน่อกล้วย โดยนำเอาขี้วัวสดมาละเลงน้ำ เข้มข้น แล้วใช้เปลือกมะพร้าวจุ่มน้ำขี้วัวเข้มข้น ระบายทาใบกล้วย ยอดกล้วย รับรองได้เลยว่าอาทิตย์ – สองอาทิตย์ วัวไม่กล้าแตะต้องใบกล้วยยอดกล้วยเป็นอันขาด
เลี้ยงไก่บ้าน – ปลูกพริกขี้หนู ไก่ไม่จิกเม็ดพริกขี้หนู อยู่ร่วมกันได้
ปกตินั้นการเลี้ยงไก่บ้านตามธรรมชาติกับการปลูกพริกขี้หนู ไปด้วยกันไม่ได้เพราะไก่ชอบจิกเม็ดพริกขี้หนู ไม่มีเหลือไว้ให้คนปลูกได้กิน และยังทำให้ต้นกิ่งร่อยเราะหักรานแล้วเฉาตายไปในที่สุด ภูมิปัญญาตรังนาใช้ก้านใบระกำลิดใบออกคงหนามไว้ ตัดเป็นท่อน ๆ วางรอบ ๆ ต้นพริกขี้หนู ไก่ไม่กล้าเข้ามาจิกกินเม็ดพริกเป็นอันขาด เพราะกลัวหนามระกำจะตำเอา
เดือนสามหลามเหนียว กินอยู่ตามฤดูกาล
กินอาหารให้ได้รส ได้คุณค่า ต้องกินอาหารที่มี เป็น อยู่ ตามฤดูกาลเท่านั้น กินเหนียวหลามต้องกินเดือนสามจึงจะได้รส ได้คุณค่า เพราะเดือนสามข้าวเหนียวในทุ่งนาสุก ไม้ไผ่สีสุกที่ปลูกไว้เป็นรั้วรอบ ๆ บ้าน ที่แตกหน่อแทงมาแต่ละเดือนหกเดือนเจ็ด กำลังดีเหมาะสำหรับทำกระบอกข้าวหลาม (เวลาหลามข้าวหลาม เนื้อเยื่อไม่แตกหลุดมากับเปลือกกระบอก) ข้าวเหนียวใหม่ ลำไม้ไผ่กำลังดี มีหรือเหนียวหลามไม่อร่อย มากคุณค่า ประสาตรังนากับการกินอยู่ตามฤดูกาล
เครื่องมือดักปลา ภูมิปัญญาตรังนา
ไอ้ยุด เครื่องมือดักปลาของตรังนา มีลักษณะเหมือนกับชะลอมของภาคกลางเพียงแ่เพิ่มงา ทางปลาเข้าไว้ตรงด้านข้าง ทำมาจากซี่ตอกไม้ไผ่ขัดตาห่าง ๆ เพราะต้องการปลาหมอ ปลากระดี่ ขนาดกลางถึงใหญ่เท่านั้น วิธีการดักก็แตกต่างไปจากเครื่องมือดักปลาประเภทมีงาทั้งหลาย ยกเว้นไซจม คือไม่ได้ดักตามช่องน้ำคันนา แต่นำไปวางไว้ตามทางปลาเดินโดยไม่ต้องใส่เหยื่อเหมือนเครื่องที่ใช้จมตามในนา หนอง คลอง อย่างเช่น ลัน ข้อง เป็นต้น การวางไอ้ยุดถือเป็นภูมิรู้อันลึกซึ้งถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของปลาหมอ ปลากระดี่ คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยคลุกคลีสืบทอดการเรียนรู้ ทำได้แค่นำไอ้ยุดไปวางเท่านั้น ไม่มีปลาหมอ ปลากระดี่ เข้าไอ้ยุดแน่นอน
จมไซปลาเดิน ถือเป็นภูมิปัญญาของตรังนาในการดักปลาอีกอย่างหนึ่ง อาศัยหลักการเดียวกับการดักไอ้ยุด คือรู้ทางเดิน การเดินทางของปลาต่างกับไอ้ยุดตรงสถานที่วาง คือจมไซปลาเดิน จะนำไซไปวางไว้ตามข้างตลิ่งคลอง การจมไซปลาเดิน ไม่มีการใส่เหยื่อเหมือนการจมไซทั่ว ๆ ไป แต่ต้องขนาดใหญ่พิเศษ ซี่ไซห่าง เก็บเอาแต่ปลาตัวใหญ่ ปลาเล็กปล่อยไว้ให้โตก่อน ปลาที่เข้าไซคือปลาแทบทุกชนิดที่มีอยู่ในคลอง
ซั้ง : ทำนบชักน้ำเข้านา – หลอนปลาเข้าไซ และไม่ทำลายระบบนิเวศน์
เนื่องจากพื้นที่นาของเมืองตรังมีอยู่ประปรายสองข้างคลอง ข้างห้วย และราบน้ำท่ามกลางหุบเขาหุบควนเสียเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่นที่มีน้ำบริบูรณ์พอเพียงสำหรับการไถ หว่าน ดำ มีอยู่จำเพาะที่อยู่ติดกับข้างห้วย ข้างคลอง ข้างสายน้ำเพียงไม่กี่บิ้งนาเท่านั้น นอกนั้นเป็นนาดอนนาโคก อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติอย่างเดียวไม่อาจทำนาได้ จำต้องหาทางนำน้ำจากลำคลอง ลำห้วย สายน้ำขึ้นไปใช้ด้วยการทำซั้ง
การทำซั้งคือการปิดกั้นสายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำขึ้นไปใช้ในที่โคกที่ดอนใช้หลักการเดียวกับการทำนบ ทำเขื่อน ต่างกันตรงที่ซั้งเป็นการปิดกั้นชั่วคราว เป็นครั้งคราว อุปกรณ์ที่นำมาปิดกั้นได้แก่ไม้หลัก ปักรอแล้วใช้ใบไม้ (ส่วนมากใช้ใบสาคู) ที่ขึ้นอยู่สองข้างลำน้ำมาวางซ้อนทับกัน สายน้ำที่ใหลจะช่วยให้ใบไม้ลู่ไปอัดแน่นกับเสารอ ยิ่งใช้ใบไม้มาก รูรั่วแทบจะไม่มี ในที่สุดน้ำก็เอ่อล้นหน้าซั้งท่วมบิ้งนาที่ติดกับตัวซั้งไหลผ่านสำรางกลางคันนาขนาดใหญ่ไปยังนาโคก นาดอน
พอได้น้ำพอตามความต้องการ ก็ชักใบไม้ที่ซั้งซ้อนซับออกจากเสารอ เหลือไม้แต่เสารอ เมื่อใดต้องการใช้น้ำเอาใบไม้ไปซั้งซ้อนซับที่เสาเดิม วิธีการเช่นนี้ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ ด้วยความเป็นซั้ง – เป็นทำนบ ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อกระชากใบไม้ออกจากเสารอความเป็นสายน้ำก็คงสภาพความเป็นธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งต่างจากการทำนบ – เขื่อน ที่ก่อให้เกิดตะกอนหน้าเขื่อน หน้าทำนบ และเปลี่ยนแปลงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไปโดยสิ้นเชิง
นอกจากซั้งเป็นเทคโนโลยีที่ชักน้ำเข้านา ที่ไม่กระทบกระเทือนระบบนิเวศน์ใด ๆ แล้ว ผลพวงที่ได้รับก็คือการดักไซทั้งปลาขึ้นและปลาลง ซั้งจึงเป็นเทคโนโลยีที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของตรังนา ไว้ให้สังคมที่นิยมทำนบและเขื่อนได้เปรียบเทียบศึกษา