บูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ (อดีต) ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (บทสัมภาษณ์เมื่อ ตุลาคม 2552)
ถ้าพูดถึงการพัฒนาเมืองตรังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ หน่วยงานแรกที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งย่อมหมายถึง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรระดับชาติ ที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ คุณบูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง ก็เป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่ง ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองตรังให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
“พื้นเพของผมเป็นคนภาคกลาง จังหวัดชัยนาท เป็นบ้านเกิดของคุณแม่ของผม ส่วนคุณพ่อของผมเป็นคนอยุธยา ก่อนมาอยู่เมืองตรัง ผมทำงานอยู่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ และได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ จังหวัดตราดอยู่ 7 ปี ต่อมาไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก 6 ปี และเข้ามาเป็นผู้อำนวยการกองการตลาดภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ อีก 1 ปี 2 เดือน และย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่จังหวัดตรัง ตอนนี้ก็เข้ามาอยู่ได้ประมาณ 5 เดือน (ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2552)
ก่อนที่จะเข้ามาประจำที่เมืองตรัง ผมเคยมีโอกาสมาที่เมืองตรังครั้งหนึ่ง เคยคิดว่าตรังเป็นเมืองเล็ก และมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ก็คงเหมือนกับจังหวัดตราด ไม่แตกต่างกันมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากเข้ามาประจำการ ผมพบว่าความใหญ่โตของเมืองตรังใหญ่กว่าเมืองตราด นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาจังหวัดตราด ใช้ระยะทางเพียงแค่ 315 กิโลเมตร เข้ามาก็จะตรงไปเที่ยวเกาะเลย ที่ตราดจึงไม่มีโรงแรมใหญ่ๆ อยู่ในเมือง
แต่จังหวัดตรังมีทั้งโรงแรมใหญ่ และสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จำนวนประชากรก็มากกว่า และคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้ระยะทางถึง 828 กิโลเมตร เมื่อมาถึงก็ไม่สามารถที่จะไปที่เกาะได้ทันที ต้องหาที่เข้าพักในเมืองก่อน ซึ่งในตัวเมืองตรังก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางบก ที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ถ้ำเลเขากอบ หรือพระนอนทรงเครื่องมโนห์รา ที่วัดภูเขาทอง เป็นแห่งเดียวในประเทศไทย บ่อน้ำแร่ (บ้านควนแดง) ที่เปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดตรังค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนทางทะเลที่สามารถดำน้ำได้ก็มีถ้ำมรกต ผมเข้าไปครั้งแรกทึ่งมาก มันเขียวสมชื่อถ้ำมรกตจริงๆ
เกาะท่องเที่ยวของตรังมีหลายเกาะ ทั้งเกาะสุกร เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่น ใครเคยไปเที่ยว เกาะเสม็ด เมื่อ 20 ปีก่อน เกาะลิบง เกาะสุกรก็เป็นแบบนั้น ชื่อเกาะสุกรแปลว่าหมู แต่คนในนั้นส่วนใหญ่กลับเป็นคนมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนเกาะอื่นๆ ที่สามารถดำน้ำดูปะการังได้ก็เยอะมาก เช่น เกาะม้า เกาะเชือก เกาะแหวน ทางบริษัทนำเที่ยวก็มีโปรแกรมทัวร์ พาไปชมเกาะพวกนี้ รวมถึงเกาะมุก เกาะกระดาน ก็มีบังกะโลไว้รองรับนักท่องเที่ยว”
ด้วยความกระตือรือล้นในการทำงาน เพียง 5 เดือนแรกที่คุณบูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ มาประจำการ ก็มีโครงการท่องเที่ยวดีๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย
“อันดับแรกพอมาถึงผมก็จัดทำโครงการ คาราวานกรุงเทพฯ-ตรัง ก็ได้รับความสนใจเยอะกว่าที่คาดไว้ ขับรถจากกรุงเทพฯ มาที่ตรัง พักค้างคืนระหว่างทางที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี 1 คืน และก็มาพักที่จังหวัดตรัง 1 คืน ทั้งหมดก็ 3 วัน 2 คืน ในเรื่องของบนฝั่ง ตรังก็มีสวนพฤกษศาสตร์สากลภาตใต้ (ทุ่งค่าย) เป็นการท่องเที่ยวดูแหล่งพันธุ์ไม้ ถือว่าเป็น หนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย ที่มีเส้นทางเดินไปบนยอดไม้
งานส่วนใหญ่ของ ท.ท.ท. คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และขาย เราก็ต้องออกไปทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย ตามงานต่างๆ เช่น งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย เราก็นำเอเย่นต์ นำโรงแรมไปส่งเสริมการขายทุกภาค เรานำสินค้า OTOP ระดับ 3 ดาว -5 ดาว ออกไปจำหน่าย ที่ตรังก็มีไม้เทพทาโร (ไม้เทพทาโร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้จวง มีลักษณะพิเศษคือ เนื้อไม้มีกลิ่นหอม มีมากที่อำเภอรัษฎา) ที่แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ปลาพะยูน แล้วก็มีการสาธิตด้วย
ในเรื่องของอาหารที่มีชื่อเสียง เค้ก หมูย่าง ปอเปี๊ยะตรัง อะไรที่ติดปากติดใจของคนเราก็นำออกไปส่งเสริมหมด และก็ได้รับการตอบรับที่ดี ขายหมดก่อนจะหมดเทศกาลเสมอ
จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่เงียบสงบ คนที่นี่ก็รักความสงบ ใจกว้าง สร้างแต่ความดี ผมคิดว่าวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเราก็ต้องพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้คนตามทัน ไม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด อย่างเกาะช้าง แค่อาทิตย์-2อาทิตย์ ก็เปลี่ยนไปแล้ว
ตรังมีฤดูกาลการท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือน 11 ถึง เดือน 5 เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ทุกอย่างจะแน่นหมด มีห้องพักนักท่องเที่ยว อยู่ประมาณ 2,200 ห้อง ก็ไม่เพียงพอ ไม่พอเราก็ขยายออกไปจนตอนนี้ เราก็ขยายไปในส่วนอพาร์ทเมนต์ค่อนข้างเยอะ เราก็ปรับกลยุทธ์ อพาร์ทเมนต์ที่จะขายรายเดือน มาเป็นขายรายวันเป็นบางส่วนเราก็เก็บไว้ส่วนหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาพัก เราก็ลดราคาลงมาให้เข้าพักที่ราคาอยู่ที่ห้องละ 300-400 บาท ก็ทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ แต่ช่วงโลว์ซีซั่นเราต้องมาคิดเพิ่มว่า เราจะทำอะไรในช่วงนี้ได้บ้าง
ผมคุยกับกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการฯ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นชมรมโรงแรม สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ได้เตรียมการไว้ว่าเราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวกันในช่วงโลว์ซีซั่นดีด้วย เพราะช่วงนั้น โรงแรมก็ว่าง ร้านอาหารก็ว่าง สายการบินก็ว่าง ผมก็เป็นตัวกลางประสานงานกันให้เกิดการท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นในราคาพิเศษ เพื่อเป็นการขยายตลาดช่วงโลว์ซีซั่น เพราะผู้ประกอบการ เขาก็ต้องการให้มีลูกค้าตลอดทั้งปีอยู่แล้ว
ในส่วนของวิชาการท่องเที่ยว เรื่องการเรียนสอนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การโรงแรม เราก็ทำในเรื่องการอบรม มัคคุเทศก์ สอดคล้องไปด้วย ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยราชมงคล ก็กำลังจะเปิดโรงแรม น่าจะไม่เกินสิ้นปีนี้ หรือกลางปีหน้า ผมเข้าใจว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 80 ห้อง ในส่วนตรงนี้ ตัวทางมหาวิทยาลัยเองก็ทำมารองรับ นักศึกษาที่จบจากแผนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน F&B และก็เป็นโรงแรมที่สามารถนำนักศึกษามาฝึกงานได้ในตัว และสร้างอาชีพด้วย
ตอนนี้โรงแรมในจังหวัดตรังมีค่อนข้างเยอะ แม้เราจะไม่มีหน้าที่ที่จะต้องอบรมโดยตรง แต่เราก็ช่วยส่งเสริม ผลักดันให้ความรู้เพิ่มขึ้น โดยร่วมงานกับการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ในเรื่องของการให้จรรยาบรรณ หรือวิธีการในการต้อนรับนักท่องเที่ยว”
และแน่นอนว่า ในฐานะของผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองตรัง คุณบูรณศักดิ์ ย่อมจะเป็นหนึ่งในผู้มีรสนิยมอันวิไล และรู้แหล่งกินแหล่งเที่ยวดีๆ มากมาย พอที่จะให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างมั่นใจ
“วันแรกที่มาจังหวัดตรังผมแปลกใจนะ คนจังหวัดตรังไม่ทำกับข้าวกิน ไม่กินข้าวที่บ้าน ผมขับรถออกไปก็เห็นร้านอาหารเมืองตรังแน่นขนัดแทบทุกร้าน ผมก็อยากจะลอง และในปัจจุบันนี้ผมก็ได้ลองมาแล้วบ้างพอสมควร
ในส่วนของเรื่องอาหารเมืองตรัง อาหารเช้าที่โดดเด่นของเราก็มี หมูย่าง ติ่มซำ บางเจ้าก็ขายตั้งแต่เช้ามืด ถึงเที่ยง บ้าง เที่ยงถึงเย็นบ้าง เย็นถึงดึกก็มี ดึกก็ต่อเป็นเช้า ที่แตกต่างไปน่าจะเป็นเรื่องของอาหารพื้นเมืองตามร้านอาหารก็มีหลากหลาย ผมก็มีโอกาสได้ไปกินค่อนข้างเยอะ เพราะเราเป็นเมืองรับแขก แขกไหนมาผมก็ต้องรู้ว่าจะพาไปร้านไหน กินข้าวอย่างไร อย่างอาหารจานเดียว ไวๆ ก็ มีร้านริชชี่ และร้านสีฟ้า ซึ่งเน้นไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องของรักษาสุขภาพ มีไอศกรีมที่ไม่มีคอเรสเตอรอลด้วย ถ้าเกิดอยากทานอาหารปักษ์ใต้เลยก็ต้องเป็นร้านข้าวต้มๆ ทั่วไป อย่างร้านกุ๊กศักดิ์ จากนั้นก็ยังมีเรื่องของอาหารทะเล อย่าง ร้านเลตรัง 2 บรรยากาศก็สวยดี
ร้านอาหารบ้านสวนสุดาพร ก็จะเป็นเรื่องของอาหารปักษ์ใต้ คนถ้าชอบเรื่องกิน ถ้ามาเที่ยวตรังก็จะสามารถกินตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น 5 วัน 10 วันไม่ซ้ำกันได้
สำหรับตัวผมเอง อาหารเช้าส่วนใหญ่ผมก็ไปกิน โจ๊ก ข้าวต้ม หมูย่าง ขนมจีบ ซาลาเปา ผมชอบไปกินที่ร้านเรือนไทย ติ่มซำ ร้านนี้เค้านึ่งกันสดๆ ทำให้รสชาติดี จานเด่นๆ ก็มี บักกุ๊ดเต๋ ปลาลวก นอกจากนี้ก็ยังมีร้านนักร้อง ขายติ่มซำตอนเช้า คนก็แน่นกันทั้งนั้น
มีอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกร้านชื่อ ร้านอาหารทางเลือก เพราะสามีคนทำเป็นหมอ ขายบุฟเฟ่ต์อาหารที่ปลอดสารพิษ มีข้าวยำ และอาหารทุกอย่างก็ทำอย่างไม่ใช้ผงชูรส อยู่ตรงถนนเพลินพิทักษ์
อาหารว่างตอนกลางคืนก็จะมีโรตี ชา มีหลักๆ ขายอยู่ที่หน้าหอการค้าฯ ตรงถนนกันตัง แล้วก็ตรงหน้าสถานีรถไฟ ก็จะมีโรตีกรอบ โรตีกล้วย ชากาแฟ คนแน่นมาก กินข้าวเสร็จก็มากินชา กาแฟ โรตีต่อกัน คนเมืองนี้กินตลอด
นอกจากในตัวเมืองแล้ว นอกเมืองตรังก็มีร้านอาหารอร่อยกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ร้านครัวทับเที่ยง หรือถ้าไปอำเภอกันตัง ก็ต้องไปกินราดหน้าร้านโกเกี้ยะซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ ผมไปรับนายที่สนามบิน นายก็บอกผมให้พาไปกินราดหน้าที่กันตัง นอกจากมีจานเด่นคือราดหน้า ก็ยังมี หอยจ๊อทำจากปู แฮ่กึ๊นทำจากกุ้ง ทำมาเป็นจานใหญ่ รสชาติดีมาก อาหารทะเลก็ต้องปูผัดผงกระหรี่ รสชาติสุดยอด!!”
ความอร่อยของอาหารเมืองตรังไม่เป็นสองรองใคร พิสูจน์ได้จากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหลายกิโลกรัมในเวลาไม่นาน
“แค่เดือนแรกเดือนเดียวก็ขึ้นทุกอย่างแล้วครับ ความดัน คอเลสเตอรอล ไตรกรีเซอไรด์ ขึ้นหมดเลย เพราะอาหารที่นี่ที่เป็นแกง กะทิทั้งนั้น หมูที่ใช้ก็หมูสามชั้นตลอด แค่เดือนเดียว ผมน้ำหนักก็ขึ้นอย่างน่าตกใจแล้ว แต่พออยู่ตัวก็ปรับเปลี่ยนวิธีการกินให้ระวังสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังต้องกินทุกอย่างลองทุกอย่าง กินทุกคืน ไปทุกที่ ฟังเพลงแบบไหน ทั้งภาคกลางคืน ภาคเย็น
กิจกรรมภาคกลางคืนที่นี่ยังไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ มีอยู่แห่งสองแห่งที่ชาวตรังนิยมไปกันตอนกลางคืน ก็มี Say yes Pub ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ไปฟังเพลงที่ The Terrace เล่นเพลงเบาๆ สบายๆ ย่านอื่นๆก็มีร้านเพลงเพื่อชีวิตบ้าง ร้านที่เล่นเพลงสากลร่วมสมัยบ้าง อย่างเช่น ร้าน Bang Bar กับร้าน Do Sabai ย่านอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ หรือ ร้าน Warm up ก็จะเป็นแนวร่วมสมัย มีเพลงให้ฟัง แต่ไม่เชิงเป็นผับ ไม่เน้นขายเหล้า เป็นร้านที่สามารถไปนั่งสบายๆ ได้ เหมาะสำหรับหนุ่มสาววัยทำงาน เรื่อยไปจนถึงรุ่นใหญ่
ถ้าเป็นร้านที่วัยรุ่นชอบก็มีอยู่ 2-3 ร้าน เด็กมหาวิทยาลัยในตรังนิยมมานั่งกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านกาแฟแนวทันสมัย
เรื่องกินเรื่องเที่ยวในตรังนี้ ผมต้องสำรวจเอง ทำเอง ต้องไปจริง ไปกินจริงครับ ตอนนี้ผมกำลังจะทำ ร้านอาหาร โรงแรม ในระบบ GPS คือลงพิกัดไว้ในเครื่อง GPS หากมีใครใช้ GPS มาเที่ยวที่ตรัง ก็ สามารถโหลดพิกัดต่างๆ ที่ผมทำแล้วคิดจะลงไว้ใน http://www.tat.or.th/trang พอโหลดมาใช้งานใครอยากไปเที่ยวที่ไหนในจังหวัดตรัง ร้านอาหารที่กินต่างๆ ก็สามารถนำทางได้ นอกจากนำทางแล้วผมยังคิดจะทำเพื่อบอกถึงรายการอาหารเด็ดของร้านนั้น มีรายละเอียดลงไว้ ร้านนี้รายการไหนน่าสนใจ สิ่งใดอร่อย เขียนรายละเอียดแนะนำว่าร้านไหนต้องไปก่อนเวลาเท่าไหร่ ต้องมีการสำรวจที่รู้จริงๆ เราก็จะประสานงานกับผู้ประกอบการร้านต่างๆ ส่งสิ่งที่ต้องการนำเสนอในระบบ มาให้ในเบื้องต้น เราก็คิดให้ระบบการนำเที่ยวของเรามีรูปภาพ มีรายละเอียดในการนำเที่ยว บอกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อให้ พร้อมทุกอย่าง ทุกอย่างก็ทำฟรี เรียกว่า หากมี GPS มาที่ตรังก็จะไม่หลง”
งานส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มีใจรักการท่องเที่ยว และการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ น่าจะเป็นงานที่มีความสุข ซึ่งคุณบูรณศักดิ์เองก็ดูจะมีความสุขกับการทำอะไรดีๆ เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวตรังพัฒนาไปอย่างก้าวหน้าด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน
“ผมคิดว่าการท่องเที่ยวเมืองตรัง สามารถจะทำอะไรได้อีกมาก อย่างน้อย 4 ปี ก็จะตั้งเป้าไว้ให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราที่เติบโตเร็ว อย่างยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของภาคกลางคืน ผมก็อยากจะให้มีไนท์บาซาร์อาจจะเริ่มจาก วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ก่อน เราก็ดึงสินค้าของทางภาคใต้มาขาย ไม่เจาะจงเฉพาะแต่ในตรัง เรื่องของกิน ไม่ต้องพูดถึง อีกทั้งยังอยากให้มี การแสดงเล็กๆ ด้วย มองพื้นที่ที่จะทำแถวๆ สถานีรถไฟ ก็สามารถทำเป็นถนนคนเดิน ให้นักท่องเที่ยวไปเดินในช่วงกลางคืนได้ ปัจจุบันก็มี center point แต่มันเป็นเหมือนแนวตลาดนัดเสียมากกว่า เมื่อทางเราเข้ามาช่วยก็จะทำให้หลากหลายมากขึ้น
เรื่องที่สองเราก็อยากจะผลักดันให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น ผมก็คิดเรื่องของเค้กไว้ ว่าอาจสามารถให้นักท่องเที่ยว หรือคนที่เดินทางเข้ามา ลองทำเองได้ ให้มีประสบการณ์ร่วมมากขึ้น ไม่ใช่แค่มาชิมอย่างเดียว จะสังเกตได้ว่าคนที่เดินทางมาจังหวัดตรัง รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน คนไม่ถือขนมเค้ก ขนมเปี๊ยะ กลับบ้านถือว่าเชยมาก รวมถึงคนตรังที่ไปที่อื่น ก็ต้องนำขนมพวกนี้ไปฝาก เค้กของเมืองตรังไม่เหมือนที่อื่น เป็นเค้กมีรูตรงกลาง ซึ่งผมเข้าใจว่ามันจะทำให้สุกเร็วขึ้น
ตอนนี้กำลังจะเกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นในเมืองตรังของเรา เช่น กิจกรรมล่องเรือคายัค ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองทำ หากทำสำเร็จ ก็จะเป็นแพคเกจกิจกรรมของผู้ประกอบการไป หากฤดูไหนไม่สามารถลงทะเลได้ ก็สร้างกิจกรรมบนบก เสริมเข้าไปทำให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายก็มากขึ้น ตอนนี้ผมมองว่าแหล่งท่องเที่ยวเรามีเยอะแล้ว แต่ต้องทำกิจกรรมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น
อย่างเรื่องหมูย่างที่เรามีชื่อเสียง ปัจจุบันอาจจะเป็นแค่หมูย่าง ที่เขาหั่นๆๆๆ แล้วก็นำไปกิน ผมก็กำลังแจ้งไปทาง ชมรมโรงแรมฯ ว่าอยากให้ทำ หมูย่างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นข้าวหมูย่าง ข้าวผัดหมูย่างเมืองตรัง ข้าวกะเพราหมูย่าง ข้าวผัดพริกหมูย่าง ข้าวคะน้าหมูย่างเมืองตรัง อะไรต่างๆ เหล่านี้เราสามารถช่วยคิดช่วยสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในตัวหมูย่างขึ้นมาให้หลากหลาย มิใช่แค่ขายแต่ตัวหมูย่างอย่างเดียว ก็อยากขยายในจุดนี้”
ได้ฟังหลากหลายไอเดียดีๆ ที่จะผลักดันการท่องเที่ยวตรังให้เดินหน้าไปไกล จากนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรงของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อย่างนี้แล้ว ก็น่าชื่นใจสำหรับเมืองตรัง ที่ได้คนดีมีฝีมือ และมีใจรักในงานที่ทำมาช่วยสร้างความสุขความเจริญให้กับจังหวัดของเรา ซึ่งอีกไม่นาน เราคงได้เห็นภาพธุรกิจท่องเที่ยวของตรังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ต้องสงสัย